![]() |
![]() |
ปักษิณ![]() |
...ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงที่เป็นต้นเพลิงแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีนั้นเกิดขึ้นมาจากความศรัทธา และความเชื่อของชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยได้ขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาด...
ตอน : บทที่ 14
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงที่เป็นต้นเพลิงแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีนั้นเกิดขึ้นมาจากความศรัทธา และความเชื่อของชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยได้ขึ้นเรือที่ท่าน้ำทรงวาดซึ่งแต่เดิมเป็นท่าน้ำที่ใช้ในการขนส่งสินค้า และมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศจำนวนมาก ชาวจีนที่อพยพมาต้องการกำลังใจในการทำงานในสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง จึงได้ตั้งศาลเจ้าเพื่อเป็นที่เคารพบูชา เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองในการดำเนินชีวิตประจำวัน และทำกิจการค้าโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางออกจากประเทศจีนในสมัยก่อนได้รับความลำบากมาก ดังนั้นการนับถือเทพเจ้าเพราะเชื่อว่าเทพคุ้มครอง และช่วยเหลือ เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือปัญหา ทำให้ตนมีความปลอดภัยประสบความสำเร็จในการทำงาน จึงเปรียบเสมือนกำลังใจที่ทำให้เกิดความมุมานะ และอดทนต่ออุปสรรคในการปฏิบัติงาน ปรากฏหลักฐานซึ่งเป็นระฆังใบใหญ่ในศาลเจ้ามีตัวอักษรจีนจารึกไว้ว่าสร้างในปีที่ 4 ของกษัตริย์เต้ากวงแห่งราชวงศ์ซิง ประมาณปี พ.ศ. 2367 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย จากแผนที่ไฟไหม้ตำบลสำเพ็งวันที่ 4 เมษายน ปี พ.ศ. 2449 แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลปัจจุบัน
เมื่อเกิดไฟไหม้สำเพ็งในครั้งนั้น ตันเต็งกุยพร้อมด้วยล้อบ้วนสูนและกิมเช็งได้ไปช่วยนายหญิงของพวกเขาคือเถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงให้รอดพ้นจากกองเพลิง เมื่อปรากฏว่าเธอเป็นห่วงสมบัติ ขณะที่ขึ้นไปชั้นบนของอาคารเพื่อเอาหีบกำปั่นใส่เครื่องเพชรทองหยกและของมีค่าต่างๆ ลิ้มกิมหงพลันติดอยู่ในกองเพลิงและสำลักควันไฟจนล้มลงไปกับพื้นเกือบหมดสติ หากแต่ตันเต็งกุยได้ขึ้นไปช่วยอุ้มเธอออกมาจากกองเพลิงที่กำลังลุกโชติช่วง ทำให้ลิ้มกิมหงรอดชีวิตจากการที่ถูกไฟครอก โดยสามารถเอาทรัพย์สมบัติรอดออกมาได้แต่เพียงหีบกำปั่นใบเดียว ข้าวของอื่นๆทั้งหมดล้วนถูกไฟครอกมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านไปเพียงชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น
ครั้นล้อบ้วนสูนกลับไปบ้านก็พบซิ่วอิงภรรยาของเขาออกมายืนกอดบุ้นป่าบุตรชายร้องไห้มองห้องเช่า ที่บัดนี้เห็นแต่กองเพลิงที่เหลือเพียงควันไฟคุกรุ่น สมบัติที่มีอยู่เพียงน้อยนิดก็หายไปกับกองเพลิงจนเกือบหมด ซิ่วอิงนำสิ่งของออกมาพร้อมลูกน้อยได้แต่เพียงถุงใส่เสื้อผ้าที่จำเป็นและเงินทองก้อนสุดท้ายเท่านั้นเอง ด้วยความรันทดใจเขาจึงพาลูกและเมียย้อนกลับมาหาเถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงที่ยืนรวมกันอยู่กับตันเต็งกุยและกิมเช็ง ส่วนพวกบ่าวไพร่อื่นๆต่างก็พากันหลบหนีไฟแตกกระสานซ่านเซ็นไปจนหมดสิ้น
เถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงซึ่งบัดนี้เหลือเพียงแต่ตัวคนเดียวกับหีบกำปั่น เพราะปรากฏว่าขณะนั้นเจ้าสัวลิ้มไปค้าขายที่เมืองจีนยังไม่กลับ ด้วยความที่เหลือเพียงตัวคนเดียว เธอจึงถามล้อบ้วนสูนพร้อมทั้งตันเต็งกุยและกิมเช็งว่าจะไปอยู่ที่ไหนกัน
ซึ่งล้อบ้วนสูนบอกว่าจะไปเปิดร้านขายยาจีนที่นครปฐมเพราะมีคนได้ติดต่อให้อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดทุนทรัพย์ ไม่แน่ว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน ลิ้มกิมหงจึงบอกว่าจะช่วยออกทุนให้ก่อนส่วนหนึ่งจากเงินในกำปั่นที่รอดมาจากกองเพลิง
ฝ่ายสาวน้อยกิมเช็งบอกว่าจะขอกลับไปช่วยเตี่ยและอาม้าทำเต้าหู้ขายที่บ้านเดิมคือที่นครปฐมเหมือนกัน ลิ้มกิมหงก็บอกว่าจะช่วยออกทุนในการทำโรงเต้าหู้ให้เป็นสิ่งตอบแทนที่กิมเช็งได้เคยรับใช้ช่วยเหลือเธอด้วยดีตลอดมา
ส่วนตันเต็งกุยนั้นเขาได้บอกกับเธอว่า เขารับปากกับเพื่อนที่ชื่อจิวบุ้นเพ้งเอาไว้ว่า จะเดินทางไปนครไชยศรีเพื่อรับงานคุมคนงานจีนซึ่งกำลังก่อสร้างค้างคาอยู่ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ลิ้มกิมหงจึงเอ่ยปากชวนเขาให้ไปเริ่มต้นชีวิต ณ ที่แห่งใหม่ในแผ่นดินสยามจะเอาไหม? เพราะตัวเธอเองแต่เดิมนั้นแซ่เตียก็เป็นชาวเมืองนครปฐมเหมือนกัน กิมเช็งเป็นญาติห่างๆของเธอ กิมหงเป็นลูกชาวสวนผักและชาวนา พ่อแม่ของเธอทำสวนผัก ทำนาและเลี้ยงเป็ดอยู่ที่ตำบลดอนยายหอม ถ้าเขาสนใจที่จะไปทำนาเธอสัญญาว่าจะแบ่งที่นาให้ทำ เพราะครอบครัวเธอมีที่ดินมาก เป็นครอบครัวชาวสวนและชาวนาที่พอมีอันจะกินครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น
ชายหนุ่มตกลงใจเปลี่ยนอาชีพโดยไม่ลังเล เพราะตั้งแต่อยู่ที่เมืองซัวเถาครอบครัวของเขาก็คือชาวไร่ชาวนาลำบากมาก่อน เขายอมหนักเอาเบาสู้ดีกว่าไปเป็นลูกจ้างคนอื่น ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตในชีวิตที่ดีกว่า เขาอาจจะมีโอกาสร่ำรวยได้ถ้ามีความขยันอดทนเพียงพอ
ลิ้มกิมหงบอกทุกคนว่าตัวเธอเองนั้นก็จะกลับไปอยู่บ้านที่ดอนยายหอมเหมือนกัน เพราะเธอเบื่ออาชีพที่ต้องปั้นหน้าเป็นเถ้าแก่เนี้ย คบแต่พวกผู้ดีคุณหญิงคุณนาย วางท่าทางเป็นผู้ดีมีเงินเพื่อที่จะอยู่ในสังคมเมืองกรุง ทั้งที่รู้ดีว่ากำพืดของใครเป็นมาอย่างไร เอาแต่ใส่หน้ากากเข้าหากันเท่านั้น
เมื่อพวกเขาทั้งสามคนพากันถามว่าแล้วกิมหงไม่กลัวเจ้าสัวลิ้มจะตามกลับไปหรือ เธอก็บอกว่านั่นมันเป็นอนาคตจะเอามาคิดให้เปลืองสมองทำไม สู้ทำวันนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า จะให้เธอบากหน้ากลับไปหาอาซ้อคนอื่นๆเพื่อพึ่งพาอาศัยรอเจ้าสัวกลับจากเมืองจีนนั้น เธอคงไม่เอาด้วยหรอก ปล่อยให้เจ้าสัวเขามีความสุขของท่านไปคนเดียวเถิด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เวลาต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง ลิ้มกิมหงก็ได้ว่าจ้างเรือประทุนที่จอดเทียบอยู่ ณ ท่าเรือวัดสำเพ็ง* (*วัดปทุมคงคา ในปัจจุบัน) ให้แจวไปส่งล้อบ้วนสูนและครอบครัวพร้อมทั้งส่งกิมเช็งที่คลองเจดีย์บูชาแห่งเมืองนครปฐม และจากนั้นก็ได้ว่าจ้างต่อให้ไปส่งเธอและตันเต็งกุยที่บ้านดอนยายหอมโดยยินดีให้ราคาว่าจ้างเป็นพิเศษ
ทั้งกิมเช็งและล้อบ้วนสูนพร้อมครอบครัวได้พากันกล่าวแสดงความขอบคุณแก่เถ้าแก่เนี้ยผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาอารีแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีท่าทีรังเกียจและหวังสิ่งตอบแทนเลยแม้แต่น้อย เธออวยพรให้กิมเช็งและครอบครัวล้อบ้วนสูนประสบความสำเร็จดังที่ได้ตั้งใจไว้ด้วยดี
เมื่อลิ้มกิมหงและตันเต็งกุยได้เดินทางไปถึงบ้านดอนยายหอมแล้ว ตันเต็งกุยก็เริ่มต้นอาชีพใหม่ของเขาด้วยการทำสวน ทำนาและเลี้ยงเป็ดเช่นเดียวกับครอบครัวของลิ้มกิมหง โดยกิมหงได้แบ่งที่นาที่เป็นมรดกของเธอจำนวน 10 ไร่ให้เขาทำไปพลางๆก่อนเป็นการเริ่มต้น โดยตกลงกันว่าเขาจะต้องใช้หนี้ค่าที่นาให้เธอเป็นจำนวนข้าวเปลือกปีละ 2 เกวียนเป็นเวลา 10 ปี ต่อจากนั้นก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาโดยสมบูรณ์ เพียงแต่เขาจะต้องมีเมียคนไทยหรือหญิงที่เกิดในเมืองไทยเพื่อที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายในการครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้นเอง เพราะกว่าจะถึงเวลา 10 ปี เขาก็คงจะมีคู่ครองที่เป็นสาวไทยเป็นตัวเป็นตนแล้ว
เรื่องนี้บรรดาเหล่าชาวนาที่ดอนยายหอมต่างก็ล้วนสงสัยและพากันลือว่าตันเต็งกุยนั้นคือสามีใหม่ของกิมหง ซึ่งทั้งคู่ได้พากันอพยพหลบหนีกลับมาอยู่ด้วยกัน เพียงแต่แยกกันอยู่พอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้น่ารังเกียจเป็นที่ครหานินทาได้เท่านั้น
นายเดชซึ่งเป็นนักเลงหัวไม้คนดังประจำหมู่บ้าน เคยชอบสาวกิมหงอยู่ก่อนที่เธอจะไปอยู่บางกอกได้ฉวยโอกาสที่หญิงสาวกลับมาอยู่บ้านเดิม เมื่อทราบข่าวว่ากิมหงกลับมาอยู่บ้านเดิม เขาจึงหวนกลับมาก้อร่อก้อติกกับเธออีกครั้ง และทุกครั้งเมื่อเดชเห็นเธอยืนคุยอยู่กับตันเต็งกุยอย่างสนิทสนม ทำให้เขารู้สึกขัดหูขัดตาและไม่พอใจ แม้เขาจะรู้ว่าชาวบ้านพากันนินทาว่ากิมหงเป็นเมียของเต็งกุยแล้ว แต่เขาก็ไม่ปลงใจเชื่อ เพราะคนทั้งคู่แยกกันอยู่คนละบ้านโดยเต็งกุยปลูกกระต๊อบอยู่ท้ายหมู่บ้านคนละแห่งกับบ้านของเถ้าแก่เตียซู่ลิหรือเถ้าแก่ลิผู้เป็นเตี่ยของกิมหงนั่นเอง
เดชเป็นลูกชายของนายมะเด่นผู้เป็นนายบ้านหรือกำนันคนแรกของบ้านดอนยายหอม ความที่เป็นผู้กว้างอยู่ก่อนในฐานะลูกกำนัน จึงทำให้เดชรู้สึกเขื่องและวางโตไปทั่ว น้อยคนนักที่จะกล้าขัดใจเขา ทั้งนี้ก็เพราะต่างพากันเกรงบารมีของนายมะเด่นผู้เป็นพ่อ ยิ่งนานวันเขาก็ยิ่งได้ใจ ทำอะไรตามอำเภอใจมากขึ้นทุกที ครั้นวันนี้เขามาที่บ้านของเถ้าแก่ลิบังเอิญเห็นกิมหงกำลังยืนคุยอยู่กับเต็งกุยด้วยท่าทีร่าเริงสนุกสนาน ก็อารมณ์บูดขึ้นมาทันที
"กลับมาอยู่บ้านคราวนี้ดูสดชื่นขึ้นมากนะจ๊ะกิมหง?" เดชพูดพลางชายหางตาไปทางเต็งกุยด้วยสีหน้าดูถูกดูแคลน
"บ้านเราอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องก็ต้องสดชื่นเป็นธรรมดาแหละจ้ะพี่เดช" หญิงสาวยังคงหน้าระรื่นเจรจาโต้ตอบเหมือนไม่มีเหตุผิดปกติ
"วันนี้พี่คิดว่าจะมาชวนน้องกิมหงไปเที่ยวงานบุญที่วัดโคกขนาก ไปด้วยกันนะจ๊ะ?" เดชส่งสายตากระลิ้มกระเหลี่ยให้กิมหง
"ที่วัดโคกขนากเขามีงานอะไรหรือจ๊ะ?"
"มีงานบุญปิดทองพระประจำปีจ้ะ ไปทำบุญร่วมกันไว้เถอะนะจ๊ะคนดีของพี่?"
"ขอโทษนะพี่เดช พอดีวันนี้หงไม่ว่าง"
"ไม่ว่าง..มีเรื่องสำคัญสิ่งใดด่วนหรือเปล่าน้องกิมหง?"
"ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือเรื่องด่วนอะไรหรอกพี่เดช เพียงแต่หงติดธุระไปช่วยเต็งกุยเขาหาแขกมาช่วยดำนานะจ้ะ"
"ดำนาแปลงไหนกันล่ะกิมหง พี่จะได้บอกคนของพี่ไปช่วย?"
"แปลงข้างลำประโดงท้ายสวนนั่นแหละจ้ะ เป็นนาลุ่มแปลงที่ยกให้เต็งกุยเขาทำ ทีนี้เมื่อเขาทำเทือกไว้แล้วแต่เต็งกุยเขาไม่รู้จักใครที่นี่สักกี่คน หงเลยกะว่าจะไปช่วยบอกแขกชาวบ้านแถวนี้เขาให้มาช่วยกันเพื่อเอาแรงกันไว้"
"ยกที่นาให้นายเต็งกุยเนี่ยนะรึ?"
"ยกให้แกมขายแบบให้เขาผ่อนส่งเป็นรายปีน่ะ เขาลำบากตกทุกข์ได้ยากมา คนเราก็ต้องช่วยเหลือกันเป็นธรรมดาไม่ใช่หรือ?"
"พี่ก็ไม่ได้ว่าอะไรสักหน่อย เพียงแต่ถามดูเท่านั้นเอง เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พี่จะให้คนของพี่ไปช่วยเขาสักสี่ห้าคนก็คงจะพอ แล้วเราไปเที่ยวงานบุญที่วัดโคกขนากกัน ตกลงนะจ๊ะ?"
"ขอบคุณพี่เดชมากจ้ะ ที่ได้กรุณาจะให้คนของพี่มาช่วยเต็งกุยเขา เรื่องไปเที่ยวงานบุญที่วัดเนี่ย เอาไว้วันหลังได้ไหมล่ะจ๊ะพี่เดช?" กิมหงทำเสียงอ้อนด้วยสำเนียงอ่อนหวาน
"อ้าว..ทำไมล่ะจ๊ะ?" เดชเลิกคิ้วท่าทางไม่พอใจ
"คือหงมีธุระจะไปคลองจินดาให้เตี่ยเขาช่วงบ่ายนี้น่ะจ้ะพี่เดช"
"ดีเหมือนกัน เอ้อ..ถ้าอย่างนั้นพี่จะไปเป็นเพื่อนน้องกิมหงเอง"
"พี่ไม่ไปวัดโคกขนากแล้วหรือจ๊ะ อุตส่าห์ตั้งใจจะไปงานบุญมิใช่หรือ?"
"เอาไว้เรากลับมาจากคลองจินดาแล้ว ตอนเย็นค่อยพายเรือเลยไปเที่ยวก็ยังทันนี่จ๊ะ พี่ขอรับอาสาเป็นคนดูแลความปลอดภัยให้น้องกิมหงเอง"
"แหม..หงเกรงใจไม่อยากรบกวนพี่เดชหรอก อีกอย่างตอนนี้หงเองก็ไม่ใช่สาวใช่แส้แล้ว เดี๋ยวบรรดาสาวๆแถวนี้เขาจะพากันมาแหกอกหรือค้อนหงเอาได้นะจ๊ะพี่"
"สาวที่ไหนจะกล้ามาค้อนน้องกิมหงของพี่กันล่ะจ๊ะ เพราะสาวๆแถวนี้ทั้งบางต่างก็พากันรู้ดีอยู่แล้วว่าพี่กับน้องกิมหงเคยเป็นอะไรกันมาก่อน จริงมั้ยล่ะ?"
"พี่เดชพูดอย่างนี้ หงเสียหายนะจ๊ะ เพราะหงไม่ใช่ตัวคนเดียวอีกต่อไปแล้ว!" กิมหงพูดสะบัดเสียงทำหน้างอ
"เลิกพูดเรื่องเจ้าสัวลิ้มได้แล้วล่ะจ้ะน้องกิมหง พี่ไม่สนใจหรอกว่าใครจะว่าอย่างไร ตอนนี้น้องของพี่กลับมาอยู่บ้านเราแล้วจะไปกลัวอะไรกับปากคน พี่ขอรับรองด้วยเกียรติของลูกผู้ชายชาตินักเลงว่าจะไม่ทำให้น้องกิมหงต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างเด็ดขาด!" เดชทำเสียงให้ดูขึงขังพร้อมกับทำไม้ทำมือแสดงท่าทางประกอบคำพูด
"ถ้าพี่เดชจะเอาอย่างนั้นก็ตามใจ เราไปตามหาคนของพี่เดชมาช่วยเต็งกุยเขาเดี๋ยวนี้เลยดีกว่า จะได้เริ่มงานกันไวๆ" กิมหงมีท่าทางอ่อนอกอ่อนใจในการตื๊อของเดช แต่เนื่องจากเพื่อมารยาทเธอจึงยอมตามอย่างเสียไม่ได้
"ไปสิจ๊ะน้องกิมหง อ้าวเฮ้ย!..ไอ้เต็งกุย..ลื้อมัวยืนเซ่ออยู่ทำไมล่ะวะ รีบตามมาสิ จะได้ไปรับคนมาช่วยลงแขกดำนาไงล่ะ!" เดชส่งเสียงร้องบอกเต็งกุยด้วยท่าทีเหยียดๆ
"ครับๆ..ไปเดี๋ยวนี้ครับ!" หนุ่มจีนใหม่ทำท่าทางผงกศีรษะยึกๆคำนับจนตัวงอเหมือนกุ้งด้วยความเกรงใจ
ประเพณีการลงแขก คือการหา การวาน เพื่อมาช่วยกันทำงานโดยไม่มีค่าจ้าง ลักษณะเป็นการแสดงน้ำใจในการช่วยเหลือกัน ซึ่งชาวนาในแต่ละบ้านจะหมุนเวียนช่วยกันไปเรื่อยๆ จากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง โดยเจ้าบ้านจะมีการจัดแต่งข้าวปลาอาหาร เหล้าไห ไก่ตัว เป็นการตอบแทน บางทีมีการร่ายรำไปด้วย ก่อให้เกิดเพลงเต้นกำรำเคียวที่มีชื่อเสียง จะเห็นได้ว่าการลงแขกคือ การบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่เกินกำลังของคนในครอบครัว หรืองานที่รีบเร่งต้องให้เสร็จในเวลาที่สั้นๆ เช่นการลงแขกดำนา
การทำนานั้นเป็นงานที่หนักและรอบหนึ่งปี ต้องใช้แรงงานถึง 4 วาระ คือ ช่วงดำนา ช่วงเกี่ยวข้าว ช่วงตีหรือนวดข้าว และช่วงเอาข้าวเข้ายุ้งฉาง อีกทั้งมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ต้องรีบเร่ง เช่น เรื่องน้ำในนา หากน้ำมีน้อย หรือฝนตกทิ้งระยะห่างเกินไป ชาวนาส่วนมากจึงนิยมลงแขกช่วยงานกันทดน้ำและวิดน้ำเข้านา เพื่อจะได้ทำเทือกดำนากันต่อไป
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เนื่องจากตันเต็งกุยนั้นเป็นจีนใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาสู่วงการทำนาในเมืองสยามใหม่ๆ เขาต้องประสบกับความยากลำบากเอามากๆเป็นธรรมดา แต่ในเมื่อเขามีเถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงคอยช่วยเหลือเกือบจะทุกอย่าง จึงทำให้เหตุการณ์ที่ดูยากค่อยคลายเข้าสู่ภาวะที่ค่อนข้างจะเรียบร้อยได้โดยไม่ยาก
ฉะนั้นวันนี้กิมหงจึงให้คนในบ้านของเธอเป็นธุระเรื่องจัดอาหารการกิน สำหรับแขกซึ่งเป็นคนในอาณัติของเดช ที่มาช่วยลงแรงโดยไม่มีค่าจ้างตามประเพณี ฉะนั้นเหล้ายา อาหารจึงไม่ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย และเต็งกุยก็ตกปากรับคำว่าจะไปช่วยเอาแรงลงแขกทำนาคืนให้แก่พวกที่เคยมาช่วยเขาด้วยความเต็มใจ
ชาวบ้านที่เดชบอกหรือไหว้วานให้มาช่วยตันเต็งกุยทำนานั้นมีด้วยกันห้าคน เป็นชาวนาบ้านดอนยายหอมสองคนคือนายวันและนายเบี้ยว แล้วอีกสามคนนั้นเป็นชาวนาบ้านตาลเดี่ยวคือนายสั้น นายคง และนายหยอย ทั้งหมดล้วนเป็นลูกหนี้ของกำนันมะเด่นทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อเดชออกปากบอกพวกเขา จึงไม่มีใครกล้าที่จะบิดพลิ้วเลยสักรายเดียว
"พ่อกุ่ยเป็นอะไรกับแม่กิมหงเขาหรือ?" นายวันถามด้วยสีหน้ายิ้มๆขณะที่มือของเขาก็กำลังปักต้นกล้าลงในนาข้าว
"เป็นอะไร..นายวันหมายความว่ายังไง?" เต็งกุยย้อนถามด้วยความสงสัย
"ก็หมายความว่าเป็นผัวเมียหรือเป็นญาติกันแน่นะสิ จะอะไรเสียอีกล่ะ?"
"เปล่าน่อ..ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่างนั่นแหละ อั๊วมาทำนาใช้หนี้เขาน่ะ"
"อ้อ..เป็นหนี้เขาเหมือนกันดอกรึ โธ่ถัง..นึกว่าเป็นผัวเมียกันเสียอีก!" นายวันอุทานแบบปลงอนิจจัง
"ทำไมนายวันถึงคิดว่าเราสองคนเป็นผัวเมียกันล่ะ?" เต็งกุยถามด้วยความกังขา
"ก็ชาวบ้านแถวนี้เขาลือกันให้แซ่ด ว่าพวกลื้อสองคนเป็นชู้กัน แล้วก็พากันหลบหนีเจ้าสัวลิ้มผัวของแม่กิมหงเขามาจากบางกอก แอบหลบมาอยู่ด้วยกันที่ดอนยายหอมนี้นะสิวะ" นายเบี้ยวผสมโรงอธิบายให้เต็งกุยฟัง ทำเอาชายหนุ่มถึงกับสะดุ้งเฮือก