นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ร้อยใจมังกร #12
ปักษิณ
...ภายหลังจาก ​ที่​ได้ซักซ้อมกันถึงวิธีการ​ที่​จะพาสาวน้อยกฤษณา​ไปส่งคืนยังบ้านของ​พระยาประดิษฐานาเวศน์แบบชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นแล้ว​ สายชลก็จึงคัดลูกน้อง...

ตอน : บทที่ 12

ภายหลังจาก​ที่​ได้ซักซ้อมกันถึงวิธีการ​ที่​จะพาสาวน้อยกฤษณา​ไปส่งคืนยังบ้านของ​พระยาประดิษฐานาเวศน์แบบชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นแล้ว​ สายชลก็จึงคัดลูกน้อง​ที่​เป็นฝีพายเพียงสี่คน​ไป​กับ​เขา ​ส่วนจิวบุ้นเพ้งนั้น​รับอาสา​ที่​จะนั่ง​ไป​พร้อม​กับตันเต็งกุย​และกฤษณาด้วยในเรือประทุน ​โดยมีเล่​และสองสหายแห่งบางลำพูแจวเรือตกกุ้งตามมาติดๆ​

​เมื่อ​ไปถึงท่าเตียนสายชล​ได้จัดรถม้าสองคัน ​ซึ่ง​เขานั่ง​ไป​กับจิวบุ้นเพ้ง​และสองสหายหนุ่มเพลงยาวคันหนึ่ง​ ​ส่วนอีกคันหนึ่ง​​ที่แล่นมาตามหลังนั้น​ มีเล่​และตันเต็งกุยนั่งหน้าคู่​กับคนขับ​โดยมีกฤษณานั่งอยู่​ภายในเก๋ง

ครั้นถึงบ้านของ​พระยาประดิษฐานาเวศน์แล้ว​ ​ทั้งหมดก็​ได้พากันเข้า​ไปส่งกฤษณาถึงภายในบ้าน ในขณะนั้น​คุณหญิงเจือ​และบรรดาบ่าวไพร่ต่างก็​กำลังรอฟังข่าวกันด้วย​ความกระวนกระวายใจ ตะเกียงเจ้าพายุ​และไฟทุกดวงถูกจุดขึ้น​สว่างจ้า​ไปทั่ว​ทั้งบริเวณบ้าน

"กระผมพาคุณหนูกฤษณามาส่งครับ​คุณหญิง" สายชลเอ่ยบอกเจ้าของบ้านด้วยกิริยานอบน้อม ราว​กับว่า​เขามิใช่ตัวต้นเหตุของเรื่อง​ราว​ทั้งหมด​ที่เกิดขึ้น​

"ขวัญเอ๋ยขวัญมากฤษณาลูกแม่ แม่​เป็นห่วงลูกเกือบตาย ไม่รู้​จะทำอย่างไรถูกแล้ว​ลูกเอ๊ย" คุณหญิงเจือโผเข้ากอดรับขวัญธิดาสาวของท่านด้วยน้ำตานองหน้า จากนั้น​ก็หันหน้า​ไปทางหนุ่มสายชลพลางเอ่ยถามด้วย​ความกังขา "แล้ว​นี่พ่อสายชล​ไปพบลูกสาวของฉัน​ได้อย่างไรกันล่ะ?"

"เอ้อ..เรื่อง​มันยาวครับ​คุณหญิง ​คือคุณหนูกฤษณาเธอถูกพวกคนสัปเยกชาวญวนลักพาตัว​ไป​โดยทำร้ายคนลากรถเจ๊กของท่านจนบาดเจ็บด้วยครับ​"

"พวกคนสัปเยกชาวญวนหรือ?" คุณหญิงเจือถามด้วยสีหน้าตื่นๆ​

"ครับ​..คุณหญิง พวกคนสัปเยกชาวญวนนี่มันเลวจริงๆ​ครับ​ จากนั้น​พวกมันก็พาคุณหนูลงเรือข้ามฟาก​ไปฝั่งธนบุรี บังเอิญนายบุญธรรม​และ​เพื่อนของ​เขาพบคนลากรถเจ๊กนอนเจ็บอยู่​ สอบถาม​ได้​ความว่าถูกทำร้าย จึงพากันวิ่งตาม​ไปพบ​กับนายเล่​ซึ่ง​เป็นมหาดเล็กของเสด็จในกรมฯแห่งวังนางเลิ้ง​กำลังแจวเรืออยู่​ริมตลิ่ง​ที่ท่าเตียน​พอดี จึงเล่าเหตุการณ์​ที่เกิดขึ้น​ให้นายเล่ฟัง" สายชลหนุ่มนักรักเจ้าเล่ห์อธิบาย​เป็นฉากๆ​ตาม​ที่​ได้ซักซ้อมกัน​เอาไว้

"อ้อ..คุณ​เป็นคนของเสด็จในกรมฯท่านหรือ?" คุณหญิงเจือเอ่ยถามเล่ขึ้น​ด้วย​ความแปลกใจ

"ขอรับ กระผม​กำลังแจวเรือ​เพื่อออก​ไปตกกุ้ง นายกุ่ย​เขาวิ่งตาม​ไปพบ​กับกระผม​และบอกว่า คุณหนูกฤษณานายหญิงน้อยของ​เขา​กำลังถูกคนฉุดพาลงเรือ​ไป มองเห็นเรืออยู่​ลิบๆ​กลางแม่น้ำ"

"โถ..คง​จะเกือบไม่ทันกาลแล้ว​สินะคะ​เนี่ย!?"

"ทันเห็นหลังไวๆ​​พอดีขอรับ กระผม​และสองคนนี่​พร้อม​ทั้งนายกุ่ยคนลากรถเจ๊กจึง​ได้ออกเรือตาม​ไป​เพื่อช่วยเหลือ จนตาม​ได้ทัน​ที่ใกล้โรงยาฝิ่นในคลองบางหลวงนะขอรับ"

"​ไปไกลถึงโรงยาฝิ่นในคลองบางหลวงเชียวหรือนี่!?" คุณหญิงยกมือขึ้น​ทาบอกแสดงท่าทีตกใจอย่างสุดประมาณ

"ใช่ขอรับ..คาดว่าพวกสัปเยกมันคง​จะพา​ไป​ที่ใดสักแห่งในเขตอารักขาของพวกชาวฝรั่งเศสก็อาจ​เป็น​ได้ พวกกระผม​ทั้งสี่คนต่อสู้ไล่จนพวกมันยอมวิ่งเตลิดหนีกัน​ไปจนหมด ​ส่วนนายกุ่ยคนลากรถของท่านไม่อาจสู้พวกมัน​ได้จึง​ได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก​ที่สุดดัง​ที่เห็นนี่แหละ​ขอรับ"

"ขอบใจพ่อเล่​กับพ่อบุญธรรม​และ​เพื่อนมากนะคะ​ ​ที่กรุณาอุตส่าห์ตาม​ไปจนทัน ไม่อย่างนั้น​ลูกสาวของฉันไม่รู้ว่า​จะ​เป็นตายร้ายดียังไง เฮ้อ..ไม่อยาก​ที่​จะคิดเลย​"

"ไม่​เป็นไรหรอกขอรับ กระผมยินดี​ที่​จะช่วยคน​เพื่อ​ความถูก​ต้องเสมอ"

"​ส่วนพ่อกุ่ยคนลากรถเจ๊ก​เอาไว้​เป็นธุระของทางฉันเอง เดี๋ยว​จะให้คน​ไปตามหมอ​ที่อยู่​ข้างบ้านนี่ให้​เขามาดูอาการหน่อย​"

"ดีเหมือนกันขอรับ ท่าทาง​เขาสะบักสะบอมมากเลย​ทีเดียวแหละ​" เล่พูดเสริมขึ้น​

"ฉันเห็นแล้ว​ล่ะ ว่าหน้าตา​เขาบวมปูด​ไปหมด นี่ทางเ​ถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงก็ส่งคนลากรถเจ๊กมาตาม​เขา​ที่นี่คนหนึ่ง​ จอดรออยู่​หน้าบ้าน พบหมอเสร็จแล้ว​​เขาคงกลับบ้าน​ได้​พร้อมกัน"

"ขอบคุณมากครับ​คุณหญิง" ตันเต็งกุยยกมือไหว้คุณหญิงเจือด้วย​ความตื้นตัน​ที่เจ้าของบ้าน​ได้ให้​ความเมตตา

"เอ..แล้ว​พ่อสายชลล่ะ ​ไปประสบ​กับเหตุการณ์เข้า​พอดีเหมือนกันรึ?"

"เอ้อ..มิ​ได้ครับ​ ​คือว่า​ต่อมานายเล่​เขา​ได้​ไปแจ้งให้คนของกระผมทราบ ​เพราะอยู่​ใกล้เขตโรงยาฝิ่นของครอบครัวของกระผม คนของกระผมจึงแจ้งต่อให้กระผมทราบอีกที กระผมจึง​ได้ช่วยจัดหาเรือ​และรถม้าพาคุณหนูมาส่งคืน​ที่บ้านนี่ยังไงล่ะครับ​"

"งั้นฉันก็ถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกๆ​คน​ทั้งหมดนี่เลย​ รวม​ทั้งพ่อสายชลด้วยก็แล้ว​กัน" คุณหญิงเจือเอ่ยบอกด้วยสีหน้าแสดงถึง​ความจริงจังในคำพูดของตน

"นี่..เสี่ยน้อยสายชล ลืมสัญญา​ที่ให้ไว้​กับคุณหนูเสียแล้ว​หรือ?" เล่เอียงหน้ามากระซิบ​ที่ข้างหูของหนุ่มนักรักเจ้ามารยาทำ​เอาเจ้าหนุ่มสะดุ้งโหยง

"เอ้อ..มีอีกอย่างหนึ่ง​​ที่กระผม ​ใคร่อยาก​จะเรียนให้คุณหญิง​ได้รับทราบครับ​" สายชลทำหน้าเจี๋ยมเจี้ยม​เมื่อ​เขาเอ่ยถึงเรื่อง​​ที่​เขา​กำลัง​จะแจ้งให้เจ้าของบ้าน​ได้ทราบตามพันธะสัญญา​ที่​เขา​ได้ให้ไว้แก่กฤษณาก่อน​ที่​จะพาเธอกลับบ้าน

"มีเรื่อง​อะไร​รึพ่อสายชล?"

"​คือกระผมอยาก​จะเรียนให้คุณหญิงทราบว่า ตั้งแต่นี้ต่อ​ไปกระผม​จะไม่มารบกวนคุณหญิงเกี่ยว​กับเรื่อง​​ที่​จะส่งคนมาทาบทามคุณหนูกฤษณาอีกแล้ว​ล่ะครับ​"

"อย่างนั้น​หรือ ​เพราะอะไร​ล่ะ?" คุณหญิงเจือเริ่มมีท่าทีสงสัยในคำพูดของเจ้าหนุ่ม

"​คือหลังจาก​ที่​ได้พบกัน​และพูดคุยกัน​กับคุณหนูกฤษณาเธอแล้ว​ กระผมก็หูตาสว่างขึ้น​"

"หูตาสว่างขึ้น​ หมาย​ความว่าอย่างไรหรือพ่อสายชล ไหนลองอธิบายให้ฉันรู้ชัดๆ​หน่อย​​ได้ไหม?"

"ใน​เมื่อกระผมรู้ว่าคุณหนูกฤษณา​เขาไม่​ได้สนใจหรือรัก​ใคร่ในตัวกระผมเลย​​แม้​แต่น้อย จึงทำให้กระผมเข้าใจ ​และสัญญา​กับเธอว่า​จะไม่มาตอแยอีกให้เสียน้ำใจกัน​ทั้งสองฝ่าย"

"หนู​ได้บอกคุณสายชล​เขา​ไปแล้ว​ว่าเรา​ทั้งคู่ต่างไม่มีอะไร​ผูกพันกัน นอกจาก​ความ​เป็น​เพื่อนในฐานะคนรู้จักกันเท่านั้น​ค่ะ​คุณแม่" กฤษณาพูดเสริมบอกมารดา​เพื่อหวังให้ผู้อาวุโสเข้าใจ​ความหมาย​ได้ดียิ่งขึ้น​

"อ้อ..กระนั้น​หรือ ​แต่ก็ดีเหมือนกันนะ​ที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน​ได้แล้ว​ ​เพราะตาม​ที่ฉัน​ได้บอกทางท่านขุนจำนงฯบิดาของพ่อสายชลไว้แล้ว​ว่า ​ต้องการ​ที่​จะปลูกเรือนตามใจผู้อยู่​ ตอนนี้จึงทำให้ฉันสบายอกสบายใจขึ้น​​เป็นกอง ​ที่พูดเนี่ยไม่​ได้หมาย​ความว่าทางฝ่ายฉันรังเกียจรังงอนดอกนะพ่อสายชล" คุณหญิงเจือทำท่าทางโล่งอกออกมาอย่างเห็น​ได้ชัด

"ข้อนั้น​กระผมเข้าใจดีครับ​ กระผมเลย​ถือโอกาสนี้ ขอลากลับเลย​นะครับ​ ​เพราะดึกมากแล้ว​"

"เชิญตามสบายเถิดค่ะ​ ยังไงก็ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้ง​ที่​ได้ช่วยเหลือลูกสาวของฉันให้รอดปลอดภัย​และกลับบ้าน​โดยสวัสดิภาพ"

"พวกกระผมขอกราบลาคุณหญิงก่อนล่ะขอรับ" เล่กล่าวลาขึ้น​​เป็นคนสุดท้าย ทำให้พรรคพวก​ที่มาส่งหญิงสาวด้วยกัน​ทั้งหมดต่างพากันยกมือไหว้เจ้าของบ้าน​พร้อมๆ​กัน


บุคคล​ที่เรียกว่า "คนสัปเยก" นี้มีชื่อตามภาษาอังกฤษว่า "Subject" หมายถึง คนในบังคับ ​เป็นคำเรียกกลุ่มคน​ที่​ได้รับสิทธิพิเศษ ​เนื่องมาจากการทำหนังสือสัญญาทาง​พระราชไมตรี​ระหว่างกรุงสยาม​กับต่างประเทศ ​ระหว่าง พ.ศ. 2398 -- 2481 คำว่า สัปเยกนี้เดิมหมายถึง พลเมืองของประเทศ​ที่ทำสัญญา​กับกรุงสยาม ​ต่อมา​เมื่อประเทศมหาอำนาจตะวันตก​ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบครอง ดินแดนบาง​ส่วนในแถบทวีปเอเชีย ดังนั้น​คำว่า "คนสัปเยก" หรือคนในบังคับก็​ได้กิน​ความ​ไปถึงคนในอาณานิคม​และรัฐอารักขาของชาตินั้น​ๆ​ด้วย

​แต่​เนื่องจากสาเหตุ​เพราะชาวเอเชียชาติต่างๆ​ เช่น จีน ญวน แขก มอญ ​ที่ไม่​ได้​เป็นอาณานิคมหรืออยู่​ภายใต้อารักขาของชาติใด ​แต่​ได้เข้ามาประกอบอาชีพตั้งบ้านเรือนอยู่​ในกรุงสยาม​และเกิดหวังในผลประโยชน์จากการ​ได้รับสิทธิพิเศษตามสัญญาทาง​พระราชไมตรี​ที่กรุงสยาม​ได้ทำ​กับต่างประเทศแถบยุโรป จึง​ได้สมัคร​เป็นคนในบังคับของประเทศมหาอำนาจในแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ​และฮอลันดาฯลฯ จึงเท่า​กับ​เป็นการทำให้อำนาจ​และอิทธิพลของชาวต่างชาติในกรุงสยามเพิ่มมากขึ้น​ ​ซึ่งมีผลกระทบต่อการปกครอง​และ​ความมั่นคงของสยามประเทศอย่างยิ่ง รัฐบาลของ​พระเจ้าแผ่นดินสยาม​ต้องเผชิญ​กับ​ความยากลำบากในการยกเลิกสิทธิพิเศษของคนในบังคับต่างชาติอย่างมาก ​ทั้งทางด้านการปกครอง ด้านการค้า​และด้านการศาล รวม​ไปถึงปัญหาคดี​ความ ปัญหาด้านกฎหมาย​ระหว่างประเทศ ​เมื่อคนในบังคับของต่างชาติกระทำ​ความผิดก็ไม่ยอมมาขึ้น​ศาลไทย ​ไปขึ้น​ศาลกงสุลแทน กฎหมายไทยจึงไม่​สามารถควบคุมคนเหล่านี้​ได้ ทำให้เสียสิทธิทางการศาล

แผ่นดินสยามในสมัย​พระบาท​สมเด็จ​พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่​หัวฯ จึง​ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบทางด้านการศาล​และปรับปรุงกฎหมายไทยให้​เป็น​ที่ยอมรับ พัฒนาบ้านเมืองให้มี​ความทันสมัยทัดเทียม​กับนานาอารยประเทศ ​เพื่อให้​ได้สิทธิบางประการกลับคืนมา ​โดย​ได้จ้างนักกฎหมาย​และ​ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศหลายคนมา​เป็น​ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย​และการต่างประเทศ รวม​ทั้งการส่งเสริมสนับสนุนให้​พระราชโอรส​และ​พระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงเสด็จ​ไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ ​เพื่อนำ​ความรู้ในด้านต่างๆ​มาพัฒนาประเทศ​และหาวิธีดำเนินการแก้ไขสัญญาทาง​พระราชไมตรี​ระหว่างกรุงสยาม​กับประเทศต่างๆ​ตลอดมา หลังสงครามโลกครั้ง​ที่ 1 สหรัฐอเมริกา​เป็นประเทศแรก​ที่ยอมแก้ไขสนธิสัญญา​กับไทยใน พ.ศ. 2464 ​โดยคนในบังคับอเมริกัน​ต้องขึ้น​ศาลไทย​เมื่อเกิดคดี​ความ

​ต่อมาภายหลัง ​พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ​ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ​ได้ช่วยเจรจาให้ประเทศต่างๆ​ยอมแก้ไข สัญญาทาง​พระราชไมตรี​กับประเทศไทย ​และคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ไทยในปี พ.ศ. 2481 ตามสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์​และการเดินเรือ​กับประเทศโปรตุเกส​และในบทเพิ่มเติมสนธิสัญญา​ที่ทำ​กับประเทศฝรั่งเศสว่าด้วย​ความตกลงเกี่ยว​กับการพาณิชย์​และศุลกากร​ระหว่างไทย​กับอินโดจีนของฝรั่งเศส ​ซึ่ง​เป็นผลทำให้ประเทศไทย​สามารถขจัดปัญหาเกี่ยว​กับคนในบังคับต่างชาติ​ได้หมด มีอธิปไตยทางการศาล​ได้อย่างสมบูรณ์เตราบเท่าทุกวันนี้


​เมื่อบรรดาผู้​ที่พากฤษณามาส่งทุกคน​ได้กลับ​ไปแล้ว​ คุณหญิงเจือจึงสั่งให้คน​ไปตามหมอบุญส่ง​ที่อยู่​บ้านใกล้เรือนเคียง​กับบ้านประดิษฐานาเวศน์มาทำการรักษาบาดแผล​และรอยฟกช้ำของตันเต็งกุย จากนั้น​คุณหญิงก็​ได้ให้บ่าวไพร่พาชายหนุ่ม​ไปขึ้น​รถเจ๊กของบักยู้คนลากรถ ​ซึ่งเ​ถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหงส่งให้มาตามรับ​เขากลับบ้าน ​ทั้งนี้​เพราะนายจ้างตระกูลลิ้มรู้สึก​เป็นห่วงตันเต็งกุยด้วยเห็นว่าหายตัว​ไป​และเลย​เวลากลับนานแล้ว​ ​และ​ต่อมาในวันรุ่งขึ้น​เธอ​ได้สั่งให้บักยู้​ไปนำรถลากคันของตันเต็งกุยกลับคืนมาจากท่าน้ำท่าเตียน

ตันเต็งกุย​ต้องนอนพักฟื้นอยู่​ถึงห้าวันกว่า​ที่​เขา​จะเริ่มฟื้นตัว ช่วงเวลานั้น​เ​ถ้าแก่เนี้ยลิ้มกิมหง​ได้ให้สาวน้อยกิมเช็งมาคอยดูแล​และอำนวย​ความสะดวก​ให้​กับคนเจ็บ จาก​ความเอื้ออาทร​และ​ความใกล้ชิดสนิทสนมของครูสอนภาษาสาว ทำให้ตันเต็งกุยอาการดีขึ้น​อย่างรวดเร็ว

เช้า​วัน​ที่สองหลังจาก​ได้รับบาดเจ็บ กิมเช็งก็เดินเข้ามาบอก​เขาว่ามีหนุ่มชาวสยามสองคนมาขอเข้าเยี่ยม​โดยพวก​เขาบอกว่า​เป็น​เพื่อนสนิท​กับตันเต็งกุย หาก​เมื่อทันที​ที่พบหน้ากันหนุ่มคนลากรถเจ๊ก​ที่นอนป่วยอยู่​ก็อุทานขึ้น​ด้วย​ความดีใจ

"เฮ้..อาบุญธรรม​และอาหมาน"

"พวกเรา​เป็นห่วงอาการของลื้อ ​ที่โดนพวกมันซ้อมเสียงอม​พระราม จึงแวะมาเยี่ยมดูเสียหน่อย​" นายถึกหรือบุญธรรมเอ่ยบอกในขณะ​ที่ยื่นผลไม้ชะลอมใหญ่ส่งให้คนป่วย

"ขอบใจนะ​ที่อุตส่าห์มาเยี่ยมอั๊ว"

"​แต่​ความจริงแล้ว​อั๊ว​ต้อง​เป็นฝ่ายขอบใจลื้อมากกว่าอากุ่ย ​ที่ช่วยสานฝันของอั๊วให้​เป็นจริง"

"สานฝันให้​เป็นจริงยังไง อั๊วไม่เห็นเข้าใจเลย​?" เต็งกุยตีสีหน้าเซ่อจนทำให้สองสหายพากันหัวเราะเบาๆ​กันอย่างครื้นเครง

"ก็เรื่อง​เพลงยาวยังไงล่ะ ลื้อลืมแล้ว​หรืออากุ่ย" หมาน​เป็นคนบอก​เพื่อฟื้น​ความทรงจำ

"เพลงยาว อ๋อ..หนังสือหรือจดหมาย​ที่พวกลื้อฝากให้อั๊ว​เอา​ไปให้คุณหนูกฤษณานั่นเองใช่ไหม?"

"นั่นแหละ​ ไอ้ถึก เอ๊ย..นายบุญธรรม​เขาถึง​ได้บอกว่า อากุ่ย​เป็นคนช่วยสานฝันของ​เขาให้​เป็นจริงยังไงล่ะ?" หมานพูด​พร้อม​กับทำท่าทางพยักพเยิด

"แน่ะ..กิมเช็งยกน้ำชามา​พอดี เชิญดื่มชากันก่อน​ทั้งสองคน เอ้อ..กิมเช็ง..นี่​เพื่อนอั๊ว อาบุญธรรม​และอาหมาน ​และพวกลื้อสองคนรู้จัก​กับกิมเช็งไว้เสียด้วย อากิมเช็ง​เขา​เป็นครูสอนภาษาไทยให้อั๊วเอง"

"สวัสดีค่ะ​คุณบุญธรรม​และคุณหมาน ยินดี​ที่​ได้รู้จักค่ะ​"

"ยินดี​ที่​ได้รู้จักเช่นกันครับ​คุณกิมเช็ง" สองสหายเอ่ยขึ้น​เกือบ​จะ​พร้อมๆ​กัน

"เอ้อ..​และขอขอบคุณ​ที่ช่วยเฮียเต็งกุยด้วยนะคะ​ แล้ว​ก็นี่น้ำชาเชิญค่ะ​" หญิงสาวรินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้​กับบุคคล​ทั้งสามทีละคนในขณะ​ที่พูด

"ไม่​เป็นไรพวกเราสามคน​เป็น​เพื่อนกัน ก็ย่อม​ต้องช่วยกันอยู่​แล้ว​จริงไหมอากุ่ย?"

"คงยังงั้นแหละ​ อ้อ..กิมเช็ง อั๊วขอถามอะไร​หน่อย​?"

"ถามอะไร​หรือเฮีย?"

"หนังสือ​ที่เรียกกันว่าเพลงยาวนี่มัน​คืออะไร​กันหรือ?"

"เพลงยาวก็​คือกลอน​ที่​เขาเขียนส่งให้กัน​ระหว่างคนสองคน เอ้อ..ชาย​และหญิง​ที่​เขารักกันยังไงล่ะ..เฮียถามทำไมหรือจ๊ะ​ มี​ใครส่งเพลงยาวให้เฮียยังงั้นหรือ?"

"อ๋อ..อั๊วเข้าใจแล้ว​ ไม่มี​ใครส่งเพลงยาวให้อั๊วหรอก ​แต่มีคนฝากเพลงยาวให้อั๊ว​เป็นคนนำ​ไปส่งให้เธอน่ะ"

"แล้ว​​ได้ผล​เป็นอย่างไรบ้าง​ล่ะเฮีย?" กิมเช็งตีหน้าซื่อถาม

"ไม่รู้เหมือนกัน ​แต่วันนี้​เขาเพิ่งมาบอกว่า เฮีย​ได้ช่วยสานฝันของ​เขาให้​เป็นจริง ​ซึ่งอั๊วก็ยังงงๆ​อยู่​เลย​ว่าสานฝันเนี่ย มัน​คืออะไร​กันแน่?" เต็งกุยพูดพลางหันหน้า​ไปจ้องมองหน้าหนุ่มบุญธรรมเจ้าของเพลงยาว

"ก็แสดงว่าเฮีย​ได้ช่วยให้​ความรักของ​เขาสมหวังนะสิ" กล่าวจบกิมเช็งก็เริ่มหน้าแดงพลางหัวเราะร่วน​พร้อม​กับก้าวเท้าเดิน​ไปทางหน้าประตู เธอหันมายิ้มหวานให้คน​ทั้งสามอีกครั้งก่อน​ที่​จะเดินออก​ไปนอกห้อง

"​ถ้าอย่างนั้น​ก็หมาย​ความว่า อาบุญธรรม..ลื้อ​กับคุณหนูกฤษณา​ทั้งสองคน ต่างสมหวังใน​ความรักกันแล้ว​ล่ะสิ ใช่ไหม?" ตันเต็งกุยพูดกลั้วเสียงหัวเราะ​ที่ยังพลอยค้างอยู่​จากการ​ที่กิมเช็ง​ได้ทิ้งท้าย​เอาไว้ให้

"​คือตอนนี้พวกเราสองคนเนี่ยนะ ​สามารถ​ที่​จะเข้าออกบ้าน​พระยาประดิษฐานาเวศน์​ได้อย่างไม่มี​ใครกังวลหรือระแวงสงสัยในตัวพวกเราแล้ว​ล่ะ..อากุ่ย" บุญธรรมบอกเต็งกุยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างมี​ความสุข

"ตกลงว่า ทีนี้ลื้อก็​ได้เจอ​กับคุณหนู​เขาทุกวัน ​โดยไม่​ต้องให้อั๊วคอยส่งเพลงยาวให้อีกต่อ​ไปแล้ว​สินะ?" หนุ่มลากรถเจ๊กอมยิ้มอย่างมีเลศนัยในขณะ​ที่พูด

"ก็คง​จะทำนองนั้น​แหละ​ ​แต่ใน​เมื่อลื้อเคยมีน้ำใจ​กับอั๊ว พวกเราก็ยินดี​ที่​จะ​เป็น​เพื่อนเกลอกัน​กับลื้อนะอากุ่ย ต่อ​ไป​ถ้าหากว่ามีสิ่งใด​ที่พวกเราพอ​จะช่วยลื้อ​ได้ก็ขอให้บอกก็แล้ว​กัน อย่า​ได้เกรงใจ" บุญธรรมเอื้อมมือ​ไปบีบมือ​ทั้งสองข้างของหนุ่มคนลากรถเจ๊ก

"อั๊วก็ยินดี​ที่​จะ​เป็น​เพื่อน​กับลื้อสองคนเช่นเดียวกัน ว่า​แต่พวกลื้อแน่ใจนะ​ที่​จะช่วย ​ถ้าอั๊วขอร้อง?"

"แน่ใจสิ"

"อ๋อ..​ถ้าอย่างนั้น​ก็​พอดีเลย​ อั๊วมีเรื่อง​​ที่​จะไหว้วานพวกลื้อสองคนหน่อย​" เต็งกุยดีใจครั้นสบโอกาส​เมื่อนึกถึงเรื่อง​สำคัญ​ที่​เขา​ได้นัดแนะ​กับจิวบุ้นเพ้ง​เอาไว้

"รีบบอกพวกเรามา​ได้เลย​ อากุ่ย​เพื่อนรัก"

"​คืออั๊วอยากให้ลื้อ​ไปพบ​กับอาบุ้นเพ้ง ​เพื่อนของอั๊ว​ที่โรงยาฝิ่นคลองบางหลวงหน่อย​​จะ​ได้ไหม?"

"​ได้สิ ทำไม​จะไม่​ได้ล่ะ ลื้อมีธุระสำคัญอะไร​​จะบอก​เขาหรือ?"

"​เขานัด​กับอั๊วว่า​จะเดินทาง​ไปนครชัยศรีด้วยกันในวันนี้ ​แต่อั๊วยังป่วยอยู่​ พวกลื้อช่วย​ไปบอก​เขาว่าไม่​ต้องรอ ​เอาไว้​เมื่ออั๊วหายป่วยดีแล้ว​​จะตาม​ไปเองทีหลัง"

"โถ..เรื่อง​เล็กน้อยแค่นี้เอง เดี๋ยวพวกเรา​จะรีบ​ไปกันเดี๋ยวนี้เลย​"

"ดีทีเดียว ​เพราะ​เขานัดอั๊วไว้ตอนสายๆ​วันนี้ให้รีบ​ไปหา หวังว่าพวกลื้อคง​จะ​ไปทันก่อน​ที่​เขา​จะออกเดินทางกลับ​ไปนะ"

"​ถ้าอย่างนั้น​ เราก็รีบ​ไปกันเถอะหมาน แล้ว​พวกเรา​จะแวะมาเยี่ยมลื้อใหม่นะอากุ่ย พวกเรา​ไปก่อนละ ขออวยพรให้ลื้อหายวันหายคืน"

"โชคดี​เพื่อนรัก​ทั้งสอง" ตันเต็งกุยโบกมือลา ​เขาเหลียวมองคน​ทั้งคู่​ซึ่ง​กำลังเดินตามสาวน้อยกิมเช็ง​ที่​ได้กลับเข้ามาพาพวก​เขาก้าวพ้นประตูลับตัว​ไป...​

 

F a c t   C a r d
Article ID S-3555 Article's Rate 1 votes
ชื่อเรื่อง ร้อยใจมังกร --Series
ชื่อตอน บทที่ 12 --อ่านตอนอื่นที่ตีพิมพ์แล้ว คลิก!
ผู้แต่ง ปักษิณ
ตีพิมพ์เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องยาว ซีรีส์
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๑๒๗ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๐ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t

สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น