![]() |
![]() |
ปักษิณ![]() |
...ณ มุมหนึ่ง ทางด้านกราบซ้ายของเรือสำเภาหัวแดง ตันเต็งกุยหนุ่มชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วยืนเกาะริมขอบดาดฟ้าเรือเหลียวกลับไปมองชายฝั่งท่าเรือจางหลิน...
ตอน : บทที่ 1
ณ มุมหนึ่งทางด้านกราบซ้ายของเรือสำเภาหัวแดง ตันเต็งกุยหนุ่มชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วยืนเกาะริมขอบดาดฟ้าเรือเหลียวกลับไปมองชายฝั่งท่าเรือจางหลินเป็นครั้งสุดท้ายด้วยดวงใจที่หดหู่และเศร้าสร้อย เขาจำต้องเดินทางจากซัวเถาบ้านเกิดมาแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีญาติพี่น้องติดตามมาส่งเลยสักคนเดียว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความลำบากยากแค้นและขัดสนเงินทองที่จะจับจ่ายใช้สอยในการเดินทางมาส่งในสมัยยุคบุกเบิกสู่แผ่นดินสยามนั้น เมื่อชาวแต้จิ๋วอพยพลงเรือสำเภาหัวแดงจากท่าเรือจางหลินแล้ว จุดหมายปลายทางก็คือ จะพากันไปขึ้นเรือที่ท่าเรือเมืองมงก๊ก หรือ บางกอก หรือกรุงเทพฯ ณ ท่าน้ำราชวงศ์ใกล้สำเพ็ง ตันเต็งกุยหนุ่มน้อยหน้ามนชาวแต้จิ๋วจากเมืองซัวเถา ก็เป็นหนึ่งในผู้อพยพที่โดยสารมากับเรือสำเภาหัวแดงเที่ยวนี้ด้วยเหมือนกัน
เมื่อวันที่ตันเต็งกุยออกเดินทางนั้น หมู่บ้านของเขามีเรือสำเภาเดินทะเลอยู่เกือบสิบลำ สำหรับในการเดินทางลงไปทางใต้ เรือสำเภาเหล่านี้มักจะเดินทางไปยังบางกอกหรือกรุงเทพฯ บรรทุกถั่ว ชา และผ้าไหม เป็นสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะเรือสำเภาลำใหญ่ที่สุดสามารถบรรทุกผู้โดยสารกว่าสองร้อยคน ผู้โดยสารแต่ละคนนั้นมักจะนำไหใส่น้ำซึ่งทำในท้องถิ่น พร้อมกับเสื้อผ้าฝ้ายสำหรับใส่หน้าร้อนสองชุด หมวกฟางกลมๆหนึ่งใบ และเสื่อฟางหนึ่งผืนติดตัวมาด้วย การเดินทางจากซัวเถามายังกรุงเทพฯ กินเวลาราวๆหนึ่งเดือน หลังจากที่ก้าวเท้าลงเรือสำเภาแล้ว ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากภาวนาต่อเทพเจ้าและสรวงสวรรค์ ขอให้การเดินทางตลอดรอดฝั่งโดยปลอดภัยเพียงประการเดียวเท่านั้น
ชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วนั้นได้ชื่อว่าเดินเรือเก่งและต่อเรือเก่งมานานแล้ว ตัวอย่างเช่นอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ อู่ต่อเรือเสม็ดงาม ต.หนองบัว อ.เมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี อันเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้เป็นอู่ต่อเรือโดยร่วมมือกับชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว เมื่อครั้งเตรียมยกทัพไปตีพม่าเพื่อกู้เอกราชชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2310 ดังนั้นชาวแต้จิ๋วจึงเข้าดำเนินกิจการค้าสำเภาซึ่งเป็นวิถีทางเดียวของการอพยพ
การเดินเรือระหว่างอาณาจักรจีนและอาณาจักรสยามในสมัยนั้นต้องเป็นไปตามฤดูกาล กล่าวคือ อาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในการเดินทางจากจีนมายังแผ่นดินสยาม ระยะเวลาดังกล่าวจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ส่วนการเดินทางไปจีนก็ต้องอาศัยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ได้มีการจัดเรือสำเภา สำหรับผู้โดยสารเป็นพิเศษเมื่อมีผู้อพยพจำนวนเพิ่มขึ้นอัตราค่าโดยสารจากจางหลินมากรุงเทพฯหรือมงก๊กหรือบางกอกนั้น เป็นเงิน 6 เหรียญสเปน และเมื่อผู้อพยพมารับจ้างทำงานที่ท่าเรือในกรุงเทพฯ เขาจะได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 3-4 เหรียญสเปน เงินเหล่านี้จะถูกหักไปชดใช้เป็นค่าโดยสาร ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางอพยพไปตั้งหลักแหล่งยังสถานที่แห่งใดก็ได้ตามใจปรารถนา
ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น แผ่นดินสยามมีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ เงินเหรียญสเปนจึงน่าจะเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเงินต่างประเทศ เช่น เงินเหรียญสเปนที่ผลิตใช้ในเม็กซิโกเรียกกันว่าเงินเม็กซิโก เหรียญเงินเม็กซิโกนี้มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง ไทยจึงเรียก "เหรียญนก" เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองสยามแล้ว
สำหรับยุครัชกาลที่ 5 มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลานั้นอยู่ที่ 48 เหรียญนก ต่อเงินไทย 1 ชั่ง (80 บาท) เงิน 1 บาทมีค่าเท่ากับเงิน 2 ฟรังก์ และเงิน 1 เหรียญนกเท่ากับเงิน 3 ฟรังก์ ดังนั้น 1 ชั่งเท่ากับ 150 ฟรังก์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวสอดคล้องกับเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ ร.ศ. 112 กล่าวว่า สมเด็จกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลฯ รัชกาลที่ 5 ว่า จ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2436 เป็นเงินไทยรวม 1,605,235 บาทกับอีก 2 อัฐ*
*โดยอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์สองฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde Illustre' ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) และ หนังสือ The People and Politics of the Far East ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) เขียนโดย Henry Normal
คนจีนชาวแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองสยามในช่วงแรกๆ ล้วนพากันมาลงเรือที่ท่าเรือจางหลิน แต่ครั้นถึงสมัยต่อมาเมื่อมีการเปิดท่าเรือซัวเถาที่เมืองซัวเถาหรือซานโถว (Shantou) ชาวแต้จิ๋วจึงออกเดินทางจากท่าเรือซัวเถา เมืองซัวเถาจึงกลายเป็นศูนย์กลางของเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วและยังเป็นมาจนทุกวันนี้
การเดินทางด้วยเรือสำเภามายังกรุงสยามเป็นไปด้วยความอดอยากกันดารและทุกข์ยากลำบาก ชาวแต้จิ๋วอพยพไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจากไป เพราะความอดอยาก ส่วนใหญ่แล้วผู้อพยพจะถูกจัดให้อยู่บนดาดฟ้าเรือ เพราะใต้ท้องเรือใช้บรรทุกสินค้าจนเต็ม ผู้อพยพจึงต้องตากแดดตากลมในการเดินทางมาตลอดทาง และมักขาดอาหารและน้ำเพราะการเดินทางกินเวลานานเป็นแรมเดือน
หนุ่มตันเต็งกุยเองก็ใฝ่ฝันถึงชีวิตในอนาคตเอาไว้เช่นเดียวกันกับบรรดาหนุ่มชาวจีนอพยพคนอื่นๆทั่วๆไป หากแต่เขาจะเดินทางไปถึงฝั่งฝันหรือไม่นั้น พรหมลิขิตและโชคชะตาบวกกับความวิริยะอุตสาหะของตัวเขาเองเท่านั้นที่จะนำพาไปตลอดรอดฝั่งจนถึงจุดหมายปลายทางได้
บนดาดฟ้าเรือสำเภาหัวแดงจากท่าเรือจางหลินที่กำลังมุ่งหน้าสู่เมืองสยามเที่ยวนี้ มีเพื่อนร่วมเดินทางเป็นชาวแต้จิ๋วรุ่นเดียวที่มีวัยไร่เรี่ยกันกับตันเต็งกุยอยู่คนหนึ่ง ทั้งคู่พูดคุยถูกคอกัน หนุ่มคนที่ว่านี้แซ่จิวมีชื่อว่าบุ้นเพ้งหรือเรียกชื่อเต็มๆว่าจิวบุ้นเพ้ง ซึ่งจิวบุ้นเพ้งผู้นี้ได้เล่าให้ตันเต็งกุยฟังว่าเขาเป็นกำพร้าไม่มีพ่อแม่ อาศัยอยู่กับลุงที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสามเดือนก่อนที่เขาจะตัดสินใจออกเดินทางโดยสารเรือเพื่อไปเสี่ยงโชคที่เมืองสยามเหมือนคนอื่นๆเขาบ้างตามกิติศัพท์ที่ร่ำลือกันว่าเป็นแผ่นดินทอง มีช่องทางทำมาหากินและมีโอกาสที่จะร่ำรวยเงินทอง ผลักดันตัวเองให้เป็นเจ้าสัวได้โดยไม่ยากนัก เพียงแต่มีความขยันหมั่นเพียรและอดทนต่อความยากลำบากสักหน่อยเท่านั้นเอง
"เมื่อสักครู่พวกกลาสีเรือบอกอั๊วว่าอีกสามวันเท่านั้นพวกเราก็จะเดินทางถึงเมืองบางกอกแล้ว"
จิวบุ้นเพ้งเอ่ยบอกตันเต็งกุยตอนบ่ายวันหนึ่งที่อากาศสดใสแต่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวทำให้เหงื่อไหลย้อยออกมาจนชุ่มหลัง รวมทั้งตามลำคอและใบหน้า ทำให้เขาต้องเอาผ้าด้ายดิบผืนบางสีขาวมอๆเพราะความเก่าที่พาดไหล่อยู่ยกขึ้นซับเหงื่อตลอดเวลา
"จริงหรือบุ้นเพ้ง?" ตันเต็งกุยถามด้วยความตื่นเต้น ท่าทางดีใจฉาบให้เห็นอยู่บนสีหน้าอย่างชัดเจน
"จริงสิ พวกเขาคุยกันตรงท้ายเรือโน่น แต่เสบียงอั๊วหมดตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้วล่ะ ทั้งอาหารแห้งและน้ำดื่มด้วย!" จิวบุ้นเพ้งพูดบอกเพื่อนร่วมทางด้วยสีหน้าละห้อย พยายามที่จะกลืนน้ำลายอันแห้งผากลงคออย่างยากเย็น
"อาหารแห้งของอั๊วก็เพิ่งจะหมดเมื่อเช้านี้เหมือนกัน คงต้องอดข้าวกันไปถึงสามวันแน่ๆเลย แต่ยังดีที่อั๊วยังพอมีน้ำดื่มเหลือติดก้นไหอยู่อีกนิดหน่อย อาจจะพอประทังกระหายได้จนถึงพรุ่งนี้เช้า แต่ในเมื่อลื้อหิวน้ำอั๊วจะแบ่งให้ลื้อจิบบ้างก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นน้ำที่เหลืออยู่นี่ก็คงจะหมดเกลี้ยงก่อนเย็นวันนี้อย่างแน่นอน" ตันเต็งกุยกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมเดินทางในยามยาก
"ขอบใจลื้อมากเต็งกุย อั๊วจะไม่ลืมบุญคุณของลื้อในครั้งนี้เลย เมื่อพวกเราเดินทางถึงเมืองสยามแล้ว ถ้าหากมีโอกาส สักวันหนึ่งอั๊วคงได้ทดแทนบุญคุณของลื้อบ้าง อั๊วขอให้สัญญา" จิวบุ้นเพ้งจ้องลึกเข้าไปยังดวงตาของตันเต็งกุยพลางเอื้อมมือไปบีบแขนชายหนุ่มอย่างสำนึกในความเอื้ออาทรของเขา
"ไม่เป็นไรหรอกเพื่อน เราร่วมเดินทางด้วยกันมาตั้งเกือบเดือนหนึ่งแล้ว และเราก็สนิทสนมกันจนแทบเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนรักกันแล้วนะ จริงไหม?" พูดจบตันเต็งกุยก็เลื่อนไหน้ำดื่มไปตรงหน้าและยื่นส่งให้จิวบุ้นเพ้ง ซึ่งจิวบุ้นเพ้งก็ได้ค่อยๆบรรจงยกขึ้นจิบกลั้วคออย่างหิวกระหาย
"ใช่เลย..ถ้าอย่างนั้นเรามาสาบานเป็นเพื่อนตายกันดีไหม?" จิวบุ้นเพ้งเอ่ยอย่างหนักแน่นภายหลังได้กลืนน้ำลงคอไปแล้ว และในนาทีนั้นเองจิวบุ้นเพ้งก็ยื่นมือซ้ายออกมาข้างหน้าพลางถลกแขนเสื้อขึ้นเหนือข้อศอก พลิกฝ่ามือขวาเลื่อนเอามีดพกที่ซ่อนไว้ในมือเสื้อออกมาอย่างรวดเร็วมองแทบไม่ทัน จรดปลายมีดลงบนท้องแขนด้านซ้ายข้างนั้น ตันเต็งกุยสะดุ้งนิดหนึ่งในขณะที่มองอากัปกิริยาของจิวบุ้นเพ้งโดยไม่ทันได้ระวังตัว ในที่สุดเขาก็กล่าวตอบด้วยสีหน้าพอใจในคำพูดของสหายร่วมทาง
"ตกลง..บุ้นเพ้ง อั๊วยินดีสาบาน!"
"ดี..ถ้าอย่างนั้นก็จงยื่นแขนออกมา เราจะกรีดเลือดและดื่มร่วมสาบานกันเดี๋ยวนี้เลย"
"เอาอย่างนั้นเลยหรือ?"
"ใช่แล้วเต็งกุย..เพื่อมิตรภาพที่จะคงยั่งยืนไปตลอดกาล ก่อนที่เราจะแยกทางกันเมื่อเรือแล่นถึงเมืองบางกอกแห่งกรุงสยาม"
"ดี เอ้านี่แขนอั๊ว" ตันเต็งกุยยื่นแขนออกไปข้างหน้าให้จิวบุ้นเพ้ง
"ต่อแต่นี้ไป เราทั้งสองจะเป็นพี่น้องร่วมสาบานกันจนกว่าจะตายจากกัน"
จิวบุ้นเพ้งพูดพลางกรีดมีดลงบนท้องแขนซ้ายให้เลือดไหลหยดลงไปในไหน้ำนั้นทันที ซึ่งตันเต็งกุยก็ทำตามเช่นเดียวกัน
"อั๊วขอสาบานต่อหน้าม้าจ้อโป๋เทพเจ้าแห่งท้องทะเลว่าเราจะไม่ทอดทิ้งกัน คอยช่วยเหลือกันตลอดไปเมื่อมีโอกาส" จิวบุ้นเพ้งกล่าวคำสาบานนำขึ้นก่อน พร้อมกับยกไหน้ำผสมเลือดขึ้นดื่ม
"อั๊วก็ขอสาบานต่อดินฟ้าและมหาสมุทรว่าจะไม่ลืมบุ้นเพ้งเพื่อนรักตลอดไปเหมือนกัน" ตันเต็งกุยกล่าวตาม ชายหนุ่มยกไหน้ำผสมเลือดขึ้นดื่มจนหมดถึงหยดสุดท้าย พลางคว่ำไหลงกับพื้นดาดฟ้าเรือ
หลังจากวันนั้นมาจนถึงวันสุดท้ายก่อนที่เรือจะเข้าเทียบท่าราชวงศ์แห่งเมืองบางกอก ตันเต็งกุยพยายามที่จะสอดส่ายสายตามองหาจิวบุ้นเพ้งเพื่อนรักเพื่อกล่าวคำอำลา แต่ก็ไม่สามารถที่จะตามหาตัวเพื่อนร่วมสาบานได้ เขารู้สึกประหลาดใจและเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวคำล่ำลาเพื่อกำหนดนัดหมายที่จะพบกันในอนาคต แต่ในใจลึกๆเขาคิดไปในทางที่ดีว่าจิวบุ้นเพ้งคงจะมีแผนการหรือความจำเป็นอะไรสักอย่างก่อนที่เรือจะจอดเทียบท่า จึงไม่ได้แสดงตัวให้ใครเห็น
วันที่ตันเต็งกุยเดินทางมาถึงกรุงเทพฯโดยเรือสำเภาได้เข้าเทียบท่าราชวงศ์ในวันแรกนั้นเป็นเวลาสายมากแล้ว ชายหนุ่มจีนใหม่หรือไอ้หนุ่มซิงตึ๊งหิวแทบขาดใจ ทั้งน้ำและอาหารไม่ได้ตกถึงท้องมานานกว่าสองวันแล้ว หน้าตาซูบผอมซีดเซียว เขาแทบจะก้าวเท้าเดินลงจากเรือไม่ได้ มันหมุนเวียนเคว้งคว้างไปหมด สุดท้ายเขาก็หมดสติวูบม้วนตัวพร้อมกับเสื่อฟางและกระเป๋าผ้าทอด้ายดิบที่แม่ของเขาเย็บให้กลิ้งหลุนๆลงไปกองกับพื้นของท่าเรืออย่างไม่เป็นท่า ชายหนุ่มทอดกายลงนอนเหยียดยาวหายใจรวยรินอยู่ครู่หนึ่ง หูก็พลันได้ยินเสียงตะโกนเรียกด้วยภาษาจีนแต้จิ๋ว พร้อมทั้งเขย่าตัวเขาโยกไปมาอย่างแรง
"เฮ้ย..อาตี๋ๆ..ลุกขึ้นโว้ย เดี๋ยวโดนเหยียบตายห่า.."
ตันเต็งกุยค่อยๆลืมตาพร้อมกับยันกายลุกขึ้น โดยมีผู้ที่เขย่าตัวเขาช่วยพยุงอีกแรงหนึ่ง เขามองดูชายผู้ที่ช่วยพยุงพลางเอ่ยขอบคุณเป็นภาษาแต้จิ๋ว ชายผู้นั้นเป็นคนสูงอายุ ผมเริ่มหงอกประปราย ใบหน้าเข้มคิ้วดกท่าทางแข็งแรง ร่างกายกำยำล่ำสันทะมัดทะแมง ไม่สวมเสื้อนุ่งกางเกงขาก๊วยตัวเดียว มีผ้าสีแดงซีดๆคาดพุงอยู่ผืนหนึ่งเท่านั้น ประคองพาเขาไปนั่งบนขดเชือกใหญ่ที่วางกองอยู่ริมท่าเรือ เอ่ยถามด้วยท่าทางเป็นห่วง
"ลื้อเป็นอะไรวะอาตี๋ ไม่สบายหรือยังไง?"
"ผมหมดแรงล้มลงเฉยๆไม่ได้เป็นอะไรหรอกครับอาเจ็ก" เขาพูดตอบผู้อาวุโสกว่าอย่างนอบน้อม
"คงจะหิวข้าวล่ะมั๊ง..อั๊วว่า?"
ตันเต็งกุยพยายามทรงกายยืนนิ่งพร้อมกับพยักหน้า ชายหนุ่มทำตาลอยคล้ายกับจะหมดเรี่ยวแรง หน้าซีดอย่างเห็นได้ชัด ท่าทางราวกับจะเป็นลมฟุบลงไปอีก
"เฮ้ย..นี่ลื้อไม่ได้กินข้าวมากี่วันแล้วล่ะ?" ชายสูงอายุเอ่ยถามต่อด้วยเสียงแสดงความกังวลต่อภาพที่เขาประสบเบื้องหน้า
"วันที่สามเข้านี่แล้วครับอาเจ็ก"
"ไอ๊หยา..แล้วน้ำท่าล่ะวะ ลื้ออดมานานหรือยัง?"
"น้ำก็..เอ่อ..หมดพร้อมๆกันนั่นแหละครับ"
"เฮ้อ..เจ๊กอั๊กซี่..เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ยังงั้นลื้อนั่งรออั๊วอยู่ที่นี่ประเดี๋ยวนะ เดี๋ยวอั๊วกลับมา อย่าไปไหนเสียล่ะ!"
"ครับ"
ชายชาวจีนสูงอายุหายลับไปชั่วสองอึดใจก็รีบพรวดพราดกลับมาพร้อมกับห่อใบบัวยับย่นที่พับปิดและมัดไว้เรียบร้อยด้วยเชือกกล้วย พร้อมทั้งกาน้ำและถ้วยชาเคลือบลายมังกรสีฟ้าขาวเล็กๆ 2 ใบ
"เมียอั๊วอีทำข้าวหน้าหมูพะโล้แห้งห่อมาให้กินกลางวัน อีห่อใบบัวแน่นปั๋ง เราแบ่งกันกินสองคนน่าจะอิ่มพอได้อยู่..เอ้านี่..น้ำชาร้อนๆดื่มให้ชุ่มคอก่อนอาตี๋"
แกพูดพลางรินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้ชายหนุ่ม ซึ่งตันเต็งกุยก็เอื้อมมืออันสั่นเทาไปรับมาดื่มแต่โดยดี นี่เป็นน้ำอึกแรกที่เขาได้ลิ้มรสในวันที่เดินทางมาถึงเมืองมงก๊กหรือเมืองบางกอกจุดหมายปลายทางในวันแรก พร้อมด้วยความมีน้ำใจจากเพื่อนร่วมชาติที่อพยพมาก่อนอย่างชายสูงอายุผู้มีพระคุณผู้นี้ ความอบอุ่นฉาบไปทั่วหัวใจและเรือนกายของเขาอย่างสุดที่จะประมาณได้ ความหวนหาอาวรณ์ถึงถิ่นกำเนิดและความชุ่มชื่นใจที่มาพบแผ่นดินใหม่ซึ่งให้ความมีมิตรไมตรีและเอื้ออาทร ราวกับว่าตัวเขายังอยู่ ณ บ้านเกิดเมืองนอนที่เพิ่งจะจากมาเพียงเดือนเดียวไม่ผิดเพี้ยน ชายหนุ่มน้ำตาเอ่อล้นด้วยความปีติเมื่อคิดมาถึงตอนนี้ เขารินน้ำชาดื่มเองอีกสองถ้วยด้วยความกระหาย
"ลื้อชื่ออะไรวะอาตี๋?"
"ผมแซ่ตันชื่อเต็งกุย เอ่อ..ผมชื่อ..ตันเต็งกุยครับ"
"ยินดีที่ได้รู้จักไอ้หลานชาย อั๊วแซ่ล้อชื่อบ้วนสูน ลื้อจะเรียกอั๊วว่าอาเจ็กบ้วนสูนหรืออาเจ็กสูนก็ได้ อั๊วทำงานที่ท่าเรือนี้มาปีกว่าแล้ว มีอะไรจะให้ช่วยก็บอกอั๊วได้ แต่ก็คงช่วยได้เล็กๆน้อยๆเท่าที่พอจะช่วยได้เท่านั้นแหละนะ"
"แค่นี้ก็เป็นพระคุณอย่างสูงแล้วล่ะครับอาเจ็กบ้วนสูน ผมไม่อยากรบกวนให้อาเจ็กต้องลำบากเพราะผมอีกหรอกครับ" ตันเต็งกุยเอ่ยตอบแบบเกรงอกเกรงใจผู้มีพระคุณ
"ไม่เป็นไรตอนนี้ยังไม่ต้องบอกอั๊วก็ได้ เรามากินข้าวกันก่อนดีกว่า มาลองชิมฝีมือแม่ซิ่วอิงเมียของอั๊วกันหน่อยดีกว่า ว่ายังจะพอเทียบกับฝีมือแม่ครัวคนในเมืองจีนได้ไหม ในฐานะที่ลื้อเพิ่งจะจากบ้านมาใหม่ๆ เชิญเลยไอ้หลานชาย"
ล้อบ้วนสูนพูดพลางก็แก้เชือกที่ห่อใบบัวออก ฉีกใบบัวแบ่งครึ่งออกเป็นสองส่วน จากนั้นก็จัดการแบ่งข้าวสวยและหมูพะโล้แห้งแบบแต้จิ๋วที่ห่อโปะมาบนข้าวสวยจนแน่นห่อออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน เสร็จแล้วก็ยื่นครึ่งที่แบ่งให้ชายหนุ่มด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขและฉาบไปด้วยมิตรไมตรี
เพียงคำแรกที่ตันเต็งกุยได้ลิ้มรสข้าวสวยและหมูพะโล้แต้จิ๋ว ที่หั่นเป็นชิ้นบางๆ ความรู้สึกสัมผัสด้วยลิ้นของเขาบอกว่าอร่อยมากอย่างที่ชายหนุ่มไม่เคยได้ลิ้มรสชาติแบบนี้ที่ไหนมาก่อนเลย แถมข้างใต้ยังมีเต้าหู้ที่เอาไปทอดแล้วนำมาปรุงทำเป็นพะโล้อีกด้วยอร่อยจริงๆ
"เป็นยังไงมั่งวะ ฝีมือแม่บ้านของอั๊ว?" ผู้อาวุโสล้อบ้วนสูนเอ่ยถามยิ้มๆ
"ยอดเยี่ยมเป็นเลิศ อย่างที่ผมไม่เคยได้ลิ้มรสชาติแบบนี้ที่ไหนมาก่อนเลยครับอาเจ็ก" ชายหนุ่มตอบตรงกับใจและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
"นี่ถ้าซิ่วอิงได้ยินคงจะดีใจจนน้ำหูน้ำตาไหลเลยเชียวแหละ ไอ้หลานชาย แล้วอั๊วจะเล่าให้อีฟังเองเย็นวันนี้"
"นับว่าฝีมืออาซิ่มนี่สมกับเป็นแม่บ้านของอาเจ็กบ้วนสูนผู้มีน้ำใจประเสริฐโดยแท้ ผมว่าเหมาะสมกันจริงๆทั้งสองคน ดังที่เขาเรียกว่าสมกันยังกับกิ่งทองใบหยกนั่นเลยทีเดียว"
"ลื้อนี่ปากหวานกับเขาเป็นเหมือนกันนะไอ้หลานชาย อั๊วยิ่งเป็นคนบ้ายออยู่ด้วย อิ่มแล้ว..นั่งบนกองเชือกนานๆแล้วปวดหลังว่ะ อีกอย่างหนึ่งแดดก็ไล่ที่แล้วด้วย เมืองไทยนี่แดดแรงกว่าเมืองจีน อั๊วว่าเราย้ายไปนั่งคุยกันต่อในร่มที่ใต้ชายคาโกดังนั่นดีกว่า ไปกันเถอะ"
ย้ายไปคุยกันต่อที่ใต้ชายคาโกดังเก็บของสักครู่ก็ใกล้เวลาที่ล้อบ้วนสูนจะต้องเข้ากะทำงาน หลังจากนั้นเขาก็รีบพาชายหนุ่มไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ในฐานะที่เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองอย่างถูกต้องเรียบร้อย ก่อนที่จะจากกันเขาหันมาเอ่ยถามตันเต็งกุยอย่างเป็นงานเป็นการอีกว่า
"ลื้อทำงานอะไรได้บ้างวะเต็งกุย?"
"ผมทำได้ทุกอย่างครับ"
"ทำงานได้ทุกอย่างจริงหรือ?"
"ครับ แล้วก็คือ เอ่อ..ผมไม่เลือกงานหรอกครับ"
"เป็นช่างฝีมือบ้างหรือเปล่าล่ะ?"
"ผมทำงานช่างไม้เป็นพอใช้ได้ครับ แต่ถ้าไม่มีงานช่างไม้ หากมีงานอะไรอื่นๆให้ทำ ผมก็คิดว่าถ้าพยายามก็คงจะทำได้ไม่ยาก"
"ยังงั้นก็ดี ลื้อพร้อมที่จะเริ่มทำงานได้เลยไหมล่ะ?"
"ผมพร้อมครับ ถ้าอาเจ๊กจะกรุณาช่วยหางานให้ผมทำ"
"เอาอย่างนี้ ลื้อเตร็ดเตร่รออั๊วอยู่แถวท่าเรือนี่จนกว่าอั๊วจะเลิกงานได้ไหม พอได้ยินเสียงหวูดเลิกงาน ก็ให้ลื้อกลับมายืนรออั๊วอยู่ที่ตรงนี้ เย็นนี้อั๊วจะพาลื้อไปฝากให้ทำงาน"
"ฝากทำงานหรือครับ?" เต็งกุยทวนคำถามด้วยความตื่นเต้นในโชควาสนาของตัวเองที่จะมีคนฝากให้ทำงานตั้งแต่วันแรกที่เขาได้เดินทางเหยียบลงบนผืนแผ่นดินใหม่
"งั้นสิ..ฝากทำงาน อั๊วรับรองว่าลื้อต้องชอบแน่ๆ ท่าทางทะมัดทะแมง หุ่นดีๆเท่ห์ๆและหน้าตาหล่อๆแบบนี้ อั๊วว่าลื้อเหมาะกับงานนี้มาก"
"งานอะไรหรือครับ อาเจ็ก?"
"เออน่า..เดี๋ยวเมื่อถึงเวลาลื้อก็รู้เองนั่นแหละ"