![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
ตอน : คริสต์มาสกับครอบครัวเยอรมัน (สอง)
ตอนนี้ว่าด้วยการประดับต้นคริสต์มาสค่ะ![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ต้นคริสต์มาสที่บ้านมาเรียน กับลูกสาวตัวน้อย "โซฟี" ....จะเห็นว่าบ้านนี้เขาประดับต้นคริสต์มาสแบบเรียบง่าย ไม่มีลูกแก้วแดง ๆ มากเหมือนที่เคยเห็นที่อื่น ข้างหลังต้นคริสต์มาสก็คือเตาผิง
บ้านมาเรียนเขาใช้เซรามิคและของเล่นไม้เป็นหลักในการประดับ และใช้เทียนจริง ๆ กับเชิงเทียนค่อนข้างดี ไม่ได้ใช้ไฟราวประดับเหมือนที่เคยเห็นที่อื่น และไม่มีพู่สีแดง ๆ เขียว ๆ พันรอบต้นไม้....ก็เป็นอีกสไตล์นะคะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
รจนาไปยืนพิจารณาดูว่าเขามีอะไรห้อยบนต้นคริสต์มาสบ้าง ก็เลยได้เห็นตุ๊กตาจุ๋ม ๆ จิ๋ม ๆ มาฝาก หนูน้อยนั่งเล่นดนตรีอยู่บนพระจันทร์เสี้ยวบ้าง เป็นหนูน้อยนั่งเล่นดนตรีอยู่บนดวงดาว มีเชิงเทียนประดับต้นคริสต์มาสอยู่ข้าง ๆ มีขบวนรถไฟทำด้วยไม้ ทาสีสวยเชียวค่ะ...เข้าใจว่าน่าจะเป็นของเล่นของเด็ก ๆ สมัยยังเล็ก ๆ กันอยู่
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
หรือ กระดิ่งเซรามิคเนื้อดี.....
เท่าที่ทราบ แต่ละบ้านเขาหลังจากเทศกาลผ่านไป เขาก็จะเก็บของประดับต้นคริสต์มาสไว้อย่างดี พอถึงเทศกาลในปีถัดไป ก็จะเอามาประดับกันอีก อาจจะหาอะไรมาเพิ่มเติมบ้าง แล้วแต่แฟชั่นในปีนั้น ๆ
ที่บ้านรจนาก็มีของประดับต้นคริสต์มาสเหมือนกันค่ะ แต่ได้ใช้แค่สองครั้ง ตอนนี้ก็ยังนอนอยู่ในกล่องในห้องใต้ดิน
อ้อ...ลืมเล่าเรื่องการให้ของขวัญกันค่ะ
พ่อบ้านบอกว่า เด็ก ๆ มักจะตื่นเต้นอยากเห็นของขวัญเร็ว ๆ และจะไม่มีความอดทนที่จะรอทานข้าวเสียก่อน ทางฮารัลด์กับมาเรียน (แฟน) ก็เลยแจกของขวัญให้ลูก ๆ ก่อนทานข้าว แต่เขาแจกไม่หมดค่ะ เลือกเอาแค่บางชิ้น ใต้ต้นคริสต์มาสจะมีของขวัญกองพะเนิน ส่วนพวกเราเองก็มีของขวัญมาสองถุงใหญ่ มาเรน (น้องสาว) ก็มีอีกสองตะกร้าใหญ่
รอบแรกนี้พวกเราไม่รู้ ก็ร่วมแจกของขวัญเสียหมด เพราะไม่ทราบว่าจะมีอีกสองรอบ แต่ก็ค่อย ๆ ทะยอยให้ เรารอให้เด็ก ๆ ได้รับเกือบหมดเสียก่อน เราจึงค่อยหยิบมาให้ทีละอย่าง และร่วมกันตื่นเต้น ร้อง อูว์ อาว์ ให้ได้บรรยากาศ มีการถ่ายรูป หัวเราะกันร่าเริง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แม่เวร่าเอาของขวัญให้พ่อบ้านกล่องหนึ่ง แต่พอเปิดออกมากลายเป็นผ้าพันคอผู้หญิง พวกเราก็เลยหัวเราะกันครืน แม่เวร่าต้องเอาของใส่กล่องคืน แล้วเอาไปให้น้องจูเลียแทน สนุกสนานดีค่ะ
พอรอบแรกเสร็จ เด็ก ๆ ก็สงบพอที่จะทานข้าวได้ ไม่งอแงรบเร้า หลังจากนั้นก็มาแจกกันอีกรอบ รจนาก็ประหลาดใจว่า ของขวัญมากมาย เด็ก ๆ ได้รับคนละไม่ต่ำกว่า ๑๐ อย่าง....มาทราบทีหลังว่า ของขวัญหลายชิ้นมาจากปู่ย่าตายายบ้าง จากญาติที่ไม่ได้มาร่วมบ้าง จากเพื่อนบ้าง จากพ่อของเด็ก ๆ (ที่กำลังจะหย่ากับแม่) บ้าง....เห็นได้เลยว่า เด็ก ๆ ได้รับการทะนุถนอมเอาใจและรักใคร่แค่ไหน จากของขวัญที่ได้รับ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
จูเลียได้ผ้าคลุมไหล่สีดำสวย โซฟาแบบปรับเป็นที่นอนได้ หนังสือ สร้อยคอ ผ้าปูที่นอน ฯลฯ นับไม่ไหวค่ะ ส่วนน้องน้อยโซฟีก็ได้เสื้อคลุมกันหนาว ผ้าปูที่นอน ชุดน้ำชาเด็กเล่น หนังสือ และอะไรอีกมากมาย เรียกว่า ดูกันจนตาลายทีเดียว
ส่วนรจนาเองได้รับอะไรหลายอย่าง แม่เวร่าให้ถ้วยน้ำชากับถ้วยใส่คุ๊กกี้ลายขาวดำเข้าชุดกัน สวยถูกใจมาก ๆ มาเรนให้เทียนหลากสีชุดใหญ่ กับรวมเรื่องสั้นที่เขียนโดยคนไทย แต่เป็นภาษาอังกฤษ ขายในเทศกาลหนังสือไทยในฮัมบูร์ก (รจนาตะลุยอ่านจนเสร็จในสองวัน ยอมรับว่าเขียนได้ดีมาก แต่บางอย่างออกจะไม่ตรงกับธรรมเนียมไทยเท่าไร แต่อาจจะเป็นเพราะเขียนให้ฝรั่งอ่านก็เลยต้องปรับให้เข้ากับความเข้าใจของคนอ่านก็ได้) ฮารัลด์ให้เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิน้ำชา (ถูกใจมาก) กับโถใส่ใบชา และชารสคริสต์มาส (มีส่วนผสมของเครื่องเทศ ดอกไม้ ผลไม้) พ่อบ้านแอบไปซื้อกระเป๋าถือใหม่สีเทอร์ควอยซ์ เก๋ถูกใจอีกเช่นกัน และยังมีของจุกจิกอื่นที่นับไม่หมด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
สิ่งที่รจนาพบว่าเป็นความลำบากในการอยู่ร่วมกับครอบครัวต่างชาติในช่วงคริสต์มาสก็คือ วาระนี้เป็นวาระของครอบครัว ทุกคนก็อยากจะแลกเปลี่ยนข่าวสาร คุยกันเป็นภาษาของตัวเอง การจะพูดภาษาอังกฤษนาน ๆ เพื่อรจนาคนเดียวกลายเป็นเรื่องลำบากสำหรับเขาในที่สุด และก็อาจจะเพราะเหนื่อยด้วย ทุกคนก็เลยลืมพูดภาษาอังกฤษกับรจนาไปชั่วคราว ทำให้เราวางตัวลำบาก เพราะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกันก็เลยไม่อาจจะมีส่วนร่วมด้วย แล้วก็เพราะเหนื่อยด้วยเหมือนกัน (ดึกแล้ว) รจนาก็เลยถือโอกาสผล็อยหลับกับไหล่พ่อบ้านไปพักใหญ่ (จะหนีไปอ่านหนังสือก็ไม่ได้ เขาถือว่าผิดธรรมเนียมแขกที่ดี) ทุกคนก็ถามพ่อบ้านว่า รจนาเป็นอะไรไป (เพราะที่จริงต้องถือว่าเสียมารยาทที่มาหลับคอพับคออ่อนในบ้านเขา) พ่อบ้านก็เลยบอกว่า ก็ไม่มีใครคุยกับรจนาเลยสักคน เขาก็เบื่อและหลับไปเป็นธรรมดา.....นี่คือ การต่อว่าแบบพ่อบ้านค่ะ....
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ที่จริงรจนาไม่ได้ถือโทษหรอกค่ะ....รับได้ว่าเป็นเรื่องปกติ หากพ่อบ้านมาสังสรรค์กับครอบครัวรจนา เราก็คงว่าภาษาไทยสนุกสนานกันเหมือนกัน แต่คนเยอรมันนั้น อย่างที่รู้ว่าเจ้าระเบียบและมากมารยาท....เขาเองรู้ตัวว่า การไม่พูดกับแขกด้วยภาษาที่แขกเข้าใจนั้นถือว่า เสียมารยาทและขาดการศึกษาค่ะ....แต่หลังจากดื่ม กิน คุยกันทั้งค่ำ เขาก็ย่อมเหนื่อยและอยากพูดภาษาตัวเองเป็นธรรมดา.....อีกอย่างเรามีเด็ก ๆ สองคนที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษด้วย.....
ที่เล่าให้ฟังเพราะอยากสะท้อนว่า การเป็นสะใภ้ครอบครัวต่างชาติที่เราต้องทำตัวให้กลมกลืนกับเขานี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นสะใภ้ของคนเยอรมันแต่พูดได้เฉพาะภาษาอังกฤษก็ต้องทำใจนะคะ ข้อดีก็คือ ไม่ต้องรับฟังปัญหาในครอบครัวของเขาให้ปวดหัวไปด้วย มองโลกอย่างนี้ดีกว่านิ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วันที่ ๒๕ พวกเราตื่นกันสายหน่อย แต่ก็ไม่ช้ากว่า ๑๐ โมง เพราะโรงแรมเสิร์ฟอาหารเช้าถึง ๑๑ โมงเท่านั้น
พอทานข้าวเช้าเสร็จ แค่รองท้องกันหิว พวกเราก็เช็คของออกจากโรงแรม แล้วก็ไปพบกับครอบครัวที่บ้านมาเรียน พวกเราจะออกไปทาน brunch ด้วยกันค่ะ ฮารัลด์จองโต๊ะไว้สำหรับพวกเราทั้งหมด ๘ คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่ ๖ เด็ก (โต) ๒ คน
ร้านอาหารที่ไปก็ครึกครื้นด้วยผู้คนที่ล่วงหน้าไปถึงก่อนเราแล้ว เราจองโต๊ะไว้ตอนบ่ายโมง อาหารมื้อเช้าควบกลางวันนี้ เขาทานกันได้จนถึงเกือบสี่โมงเลยค่ะ
ในร้านเขาก็ใช้ไฟแรงต่ำ และประดับเทียนเป็นหลัก รจนาไม่ค่อยชอบไฟสลัว ๆ เท่าไร โดยเฉพาะสำหรับทานอาหารกลางวัน แต่ดูทุกคนก็พอใจกับบรรยากาศกันดี คงได้อารมณ์คริสต์มาส ข้างนอกฟ้าก็ยังครึ้มเต็มไปด้วยหมอก ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันเลยค่ะ
แต่อาหารของเขาก็เยี่ยมมาก มีพวกของกินเรียกน้ำย่อยให้ชิมเกือบสิบอย่าง เหมือนบุฟเฟ่ต์ชั้นดีทั่วไป มีขนม ๗-๘ อย่าง ส่วนอาหารจานหลักคือ เป็ดอบที่หนังกรอบละลายเวลาเข้าปาก และเนื้อนุ่มนวลเหมือนสำลีเลยค่ะ รสชาติก็เค็มหวานกำลังอร่อย และมีพวกปลาอบให้ทาน กับพาสต้าและซอสเนื้อสับให้เด็ก ๆ ที่อร่อยอีกอย่างหนึ่งก็คือซุปฟักทองค่ะ เขามีเม็ดฟักทองคั่วให้โรยด้วย ส่วนขนมหวานก็มีวาฟเฟิ้ลโรยน้ำตาลไอซิ่ง เข้าใจว่าเป็นของกินเช้าวันคริสต์มาสตามธรรมเนียมเยอรมัน แต่ก็มีขนมอื่น ๆ ให้ชิมด้วย เช่น ลูกพลัมกวน ไอศครีมกลิ่นอบเชย เครมบรูเลย์แบบฝรั่งเศส (เหมือนคาราเมลหน้าน้ำตาลไหม้) และอะไรอีกสองสามอย่างจาระไนไม่หมดค่ะ
พวกเราค่อย ๆ กิน ค่อย ๆ คุยกันไป ที่อิ่มแล้วอิ่มอีกก็ยังทานต่อไปได้เรื่อย ๆ (ประมาณว่าเสียดายตังค์ เพราะเขาคิดหัวนึงตั้ง ๓๐ กว่ายูโร ไม่นับค่าเครื่องดื่ม) เนื่องจากคุยกันออกรสดี
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
หลังจากมื้อกลางวันอันแสนหนักแล้ว เราก็แวะไปบ้านมาเรียนเพื่อดื่มกาแฟกัน ก่อนจะร่ำลา การประดับโต๊ะที่บ้านมาเรียนก็สวยน่ารักเช่นเคย
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ขนาดอิ่มแล้วก็ยังมีคุ้กกี้คริสต์มาสที่มาเรียนทำเอง และชุดน้ำชากาแฟที่แสนน่ารัก กระดาษเช็ดปากก็ลายคริสต์มาสค่ะ
มีขนมคริสต์มาสแบบเยอรมันผสมกับปันฟอร์เต้ของรจนาค่ะ แบบเยอรมันเรียกว่า คริสชตอลเล่น มีสีเหลืองอ่อน เป็นเค้กเนื้อนุ่ม สอดไส้อัลม่อนด์กวนและใส่ลูกเกด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ส่วนปันฟอร์เต้คือ ขนมชิ้นที่สีเข้ม ๆ เป็นเค้กผลไม้แห้งสารพัดชนิดผสมกับถั่วหลายชนิด ให้น้ำผึ้งเป็นตัวประสาน และโรยผงช็อคโกแล็ตก็เลยออกสีเข้ม (ใครอยากได้สูตรก็ต้องเปิดไปที่คอลัมน์ "เปิดครัวรจนา" นะคะ)
ทานอิ่มแล้วก็กลิ้งออกจากบ้านเขา ร่ำลาเจ้าของบ้าน พวกเราเดินทางต่อไปคุ๊กซฮาเฟ่น บ้านของคุณแม่เวร่า เราไปพักกับแม่เวร่าสามคืน คุณแม่ก็ดูแลอย่างดี แม้ว่าเราจะทานน้อยลง แต่ก็ยังจุกทุกมื้ออยู่ดี ระหว่างอยู่บ้านแม่เวร่า พวกเรานอนกับกิน และอ่านหนังสือกันเป็นหลัก เรียกว่าพักผ่อนกันจริง ๆ นอนเกือบตีหนึ่งทุกวัน และตื่นประมาณ ๑๐ โมง...แฮ่ม เรียกว่านอนกินบ้านกินเมืองจริง ๆ ค่ะ
เนื่องจากแม่เวร่าต้องเหน็ดเหนื่อยดูแลพวกเรา เราก็เลยชวนออกไปทานข้าวนอกบ้านเสียบ้าง คุณแม่จะได้ไม่ต้องทำกับข้าว ร้านรวงต่าง ๆ ปิดวันที่ ๒๕ และ ๒๖ เราก็เลยไปกันวันที่ ๒๗ เป็นวันพุธ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ที่เมืองนี้ พวกเราชอบไปทานกุ้งต้มทะเลเหนือตัวเล็ก ๆ ก็เลยชวนแม่เวร่าไปที่นั่น เขาเสิร์ฟกุ้งต้มกับไข่เจียว (ซึ่งทอดออกมาหน้าตาถูกใจคนไทย) กับมันฝรั่งผัดกับเบค่อนรองอยู่ข้างล่างค่ะ ขนาดรจนาสั่งจานเล็กสำหรับคนแก่ก็ยังทานแทบไม่หมดเลยค่ะ
วันสุดท้าย ๒๘ ธันวา พวกเราลาแม่เวร่าหลังอาหารเช้า แล้วขับรถสองชั่วโมงกว่ามาขึ้นเครื่องบินที่ฮัมบูร์ก ระหว่างทางได้เจอหิมะตกเป็นครั้งแรกของปีนี้ แต่อากาศแย่ค่ะ ครึ้มตลอด ก็เลยไม่ตื่นเต้นเท่าไร
ที่ฮัมบูร์กเราไปเดินซื้อของกันอีกครั้ง เพราะพ่อบ้านชอบซื้อเสื้อผ้าที่เยอรมนีมากกว่า เนื่องจากมีไซซ์ใหญ่ถูกใจโก๋.....
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เดินผ่านร้านเบอร์เก้อร์คิงของฮัมบูร์ก ก็เลยเก็บรูปมาฝาก เพราะอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นร้านอาหารจานด่วนที่ได้ทำเลสวยมากที่สุดร้านหนึ่ง...ออกจากโบราณ คลาสสิกผิดกับภาพลักษณ์ของความเป็นร้านแฮมเบอร์เก้อร์ทีเดียว
ความทรงจำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคริสต์มาสในเยอรมนีกับคนเยอรมันนะคะ
เมื่อวันที่ : ๐๒ ม.ค. ๒๕๕๐, ๐๒.๓๗ น.
แก้วตามมาชมบรรยากาศฉลองคริสต์มาสต่อค่ะ
....ความรักนี่สร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามจริงๆนะคะ... แก้วขอบอกว่า พ่อบ้านของคุณรจโชคดีมากค่ะ ที่มีภรรยาน่ารักๆแบบคุณรจอ่ะค่ะ
น่าสนุกดีนะคะ... โดยเฉพาะตอนได้ของขวัญนี่แหละค่ะ... อิ อิ
แก้วขอชื่นชมคุณรจนะคะ... คุณรจเป็นสะใภ้ต่างชาติที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจริงๆค่ะ... คุณรจมองโลกในแง่บวก และปรับตัวได้อย่างกลมกลืน เข้ากับครอบครัวเยอรมันได้ดีเยี่ยมเชียวค่ะ