![]() |
![]() |
จันทน์กะพ้อ![]() |


ตอน : จีระนันท์ พิตรปรีชา


สีขาว หนุ่มสาวจะไฝ่.............แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา
เรียนรู้ ต่อสู้มายา.................ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน
ชีวิต อุทิศยอมตน................ฝ่าความสับสนเพื่อผลประชา
ดอกไม้บานให้คุณค่า............จงบานช้าๆทว่ายั่งยืน
ที่นี่และที่อื่นๆ......................ดอกไม้สดชื่น...ยื่นให้มวลชน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
จิระนันท์ พิตรปรีชา เกิด เมื่อวันที่ 25 เดือนกุมภาพันธ์ 2498 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรสาวคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน บิดาชื่อ นิรันดร์ มารดาชื่อจิระเคยเป็นครูแล้วลาออกมาเปิดร้านขาย เครื่องเขียน แบบเรียน และหนังสือ ชื่อ ร้านสิริบรรณ
เรียนชั้นประถมและมัธยมที่จังหวัดตรัง และมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม ที่โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ที่กรุงเทพฯ เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
พ.ศ. 2515 -- 2518 เรียนคณะวิทยาศาสตร์ (แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ 2524 ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขารัฐศาสตร์ และศึกษาต่อจนจบในระดับปริญญาเอก ในสาขาประวัติศาสตร์
เนื่องจากชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านขายหนังสือ จึงสนใจงานเขียนมาตั้งแต่ชั้นประถม เริ่มเขียนกลอนในช่วงเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด และประสบความสำเร็จเบื้องต้นได้รับรางวัล ในการประกวดกลอนเรื่อยมา ส่งงานกลอนไปลงตามนิตยสาร ชัยพฤกษ์ และ วิทยาสาร
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เมื่อปี 2515 ถูกเลือกให้เป็นดาวจุฬาและวุ่นวายกับกิจกรรมชมรมต่างๆอยู่พักหนึ่ง ก็เกิดสงสัยในคุณค่าของระบบการศึกษาและสังคมมหาวิทยาลัย จึงผันตัวเองมาร่วมกิจกรรมการเมืองแบบกลุ่มอิสระที่เริ่มต่อตัวในยุคนั้น จึงได้มีโอกาสรู้จักกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น จนกลายเป็นความรักในที่สุด
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทบาทและชื่อเสียงของจิระนันท์เป็นที่รับรู้ไปทั่ว งานเขียนในรูปของบทกวีบางชิ้นได้กลายเป็นหนึ่งในวรรคทองของยุคประชาธิปไตย แต่สภาพการณ์ทางการเมืองที่เริ่มพลิกกลับในปีถัดมา มีส่วนผลักดันให้จิระนันท์ต้องตัดสินใจ "เข้าป่าจับอาวุธ" พร้อมๆกับคู่ชีวิตเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และได้เขียนผลงานฉันทลักษณ์ภายตามประพันธ์ "บินหลา นาตรัง" ช่วงชีวิตที่อยู่ในป่ามีบุตรชายคนแรกชื่อ แทนไท เขาทั้งสองตัดสินใจออกจากป่าเข้ามาสู่เมืองและยุติบทบาททางการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2523 และเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา มีบุตรคนที่สองชื่อ วรรณสิงห์
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ผลงานที่ตีพิมพ์และรางวัลที่ได้รับ
-พ.ศ. 2532 ได้นำบทกวีมารวมเล่ม ชื่อ ใบไม้ที่หายไป ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์ ประเภทกวีนิพนธ์ เมื่อ ปี 2532
-แปลบทกวีของ คิม ซีฮาร์
-งานเรียบเรียง ลูกผู้ชายชื่อ นายหลุยส์
-เรื่องแปล โจรร้ายทั้งห้า ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น และบทบรรยายภาพยนตร์ต่างประเทศ จำนวนมาก
-สารคดี โลกที่สี่ อีกหนึ่งฟางฝัน
-รวมบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ หม้อแกงลิงชะโงกดูเรา
-อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง จาก จิระนันท์ พิตรปรีชา
นามปากกา จิระนันท์ พิตรปรีชา และ บินหลา นาตรัง
ปัจจุบันเป็นนักเขียน และผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์
......................................
ข้อมูลจากหนังสืิอ 100 นักประพันธ์ไทย ของ ผศ. ประทีป เหมือนนิล
อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง จาก จิระนันท์ พิตรปรีชา
บทกวีอื่นๆในหนังสือ ใบไม้ที่หายไป
สานทราย
ตรงรอยต่อสีขาวเส้นยาวเหยียด
ทรายละเอียดพบสายแดดแผดรังสี
ระยับไหวในละอองทองธาตรี
ลามสุรีย์สุดระยะทะเลทราย
คนสัญจรอ่อนล้า กร้านกว่ากร้าน
เดินโดยสารเวลาหาจุดหมาย
ความหวังตรงเส้นขาว ยาว, ท้าทาย
อาจละลายหลอมร้อนก่อนถึงมัน
แล้วสีเขียวแสนงามยามร้อนจัด
ปรากฏชัด, ธารใสเหมือนในฝัน
คนใกล้ตายตะกายวิ่งหาสิ่งนั้น
ภาพอาถรรพณ์พลันดับไปกับตา
ทะเลทรายรูปขวานกร้านลมแดด
วนในแวดวงเก่า-เขลา, ไร้ค่า
ผู้แสวงหวั่นไหวไกลเกินคว้า
มีแต่ล้ารอตายรอสายธาร
มิถุนายน ๒๕๑๖
บันทึกลับกระบือหนุ่ม
มาจะกล่าวบทไป
ถึงกระบือฝูงใหญ่อนาถา
ถูกขังคอกแคบคับอัปรา
จนตายด้านชินชามานักแล้ว
เขาให้กินเศษกากซากเน่า
ด่าว่าโง่เง่าทั้งเถาแถว
หลอกล่อลวงใช้ไม่รู้แกว
สี่ขาตาแป๋วไว้ไถนา
มีควายย่อมมีคนบนหลังควาย
เคี่ยวเข็ญเป็นนายควายเบิ่งบ้า
เขาทวงคุณขุนเลี้ยงอย่างเลี่ยงนา
ตัวไหนกล้าปฏิวัติ-ซัดด้วยปืน
กูก็เป็นควาย...
งมงายตามประสาหน้าต้องฝืน
แต่เลือดกูหลายหยดเคยรดพื้น
เพราะมันขืนดัดจริตจะขวิดคน
วันนี้กูเกิดเบื่อ
ไม่อยากทำเชื่องเชื่อเมื่อเขาพ่น
แอกหนักขึ้นทุกวันมันเกินทน
เกลียดสายสนตะพายอยากคลายทิ้ง
"เขาแหลมหรือจะสู้ดาบปลายปืน"
กูยืนฟังคำกล้ำนิ่ง
ทางเดียวหรือที่มีจริง
จับกูพิงยิงเป้าให้พ้นเวร
นิสิตนักศึกษา กรกฎาคม ๒๕๑๖
ไฟ-วิญญาณ;
งาน-ชีวิต
ทะเล ภูเขา เทาท้องฟ้า
นกน้อยปรารถนาบินให้ถึง
คาบธุลีจากหาวดาวดึงส์
มาเกลือกกลึงรอยไถในลุ่มนา
ท้าทายอหังการ์ท่าที
ไม่หนีลมคลื่นฝืนฝ่า
สองปีกนี้มีกำลังปกบังฟ้า
รักษามิให้ล่มถมมวลชน
และสำเนียงอมตะจะถี่ก้อง
เพลงนกร้องเฉียบเข้มเต็มข้น
กล่อมน้ำตาแห้งคาตาคนจน
สาปอธรรมทุกข์ทนอัปยศ
กล้าหาญ กล้าหาญ
ปราการเบื้องหน้าปรากฏ
ปราการฐานันดร์หลั่นลด
จักฝ่าไปปลดพันธนา
ฝันถึงสัจจะอิสรภาพ
วันโลกอาบอิ่มงามตามคุณค่า
คนคือคนลุกฟื้นคืนชีวา
สืบตำนานสะท้านฟ้าผาดินดาว
พรุ่งนี้แล้วพรุ่งนี้...
ปีกนกหลุบหรี่เหน็บหนาว
ถอนใจรับดับฝันอันสกาว
และปวดร้าวกับเลือดเนื้อเมื่อหมดแรง
(คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ)
อหังการของดอกไม้
สตรีมีสองมือ
มั่นยึดถือในแก่นสาร
เกลียวเอ็นจักเป็นงาน
มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ
สตรีมีสองตีน
ไว้ป่ายปืนความใฝ่ฝัน
ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน
มิหมายมั่นกินแรงใคร
สตรีมีดวงตา
เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
มองโลกอย่างกว้างไกล
มิใช่คอยชม้อยชวน
สตรีมีดวงใจ
เป็นดวงไฟไม่ผันผวน
สร้างสมพลังมวล
ด้วยเธอล้วนก็คือคน
สตรีมีชีวิต
ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
คุณค่าเสรีชน
มิใช่ปรนกามารมณ์
ดอกไม้มีหนามแหลม
มิใช่แย้มคอยคนชม
บานไว้เพื่อสะสม
ความอุดมแห่งผืนดิน !
ประชาธิปไตย ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๖
ใบไม้ที่หายไป
เมื่อวันที่ : ๓๐ พ.ย. ๒๕๔๙, ๒๒.๓๒ น.
เกิดวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙
จิระนันท์ พิตรปรีชา
เมื่อสายใยในชาติขาดสะบั้น
สิ้นสายครรภ์มาตุคามไร้ความหมาย
ก่อนกำหนดกฎกำเนิดเกิดเพื่อตาย
เพียงลิ่มเลือดเละร้ายคล้ายเศษคน
ร่างทารกอัปลักษณ์ทะลักหลุด
ซากมนุษย์ที่ชีวิตถูกปลิดปล้น
ประจานเหตุประเทศนี้เกิดวิกล
เกลื่อนถนนก่นสังหาร..ลูกหลานใคร ?
เป็นตราบาปคราบบ้าที่ปรากฏ
ประทับรอยอัปยศครั้งยิ่งใหญ่
ภาพนรกหกตุลาจึงพร่าไป
(สะดวกใจถ้าไม่ต้องเหลียวมองดู)
หากทารกหกตุลายังเหลือรอด
เด็กที่คลอดกลางลานประหารหมู่
กระสุนกราดสาดสั่งเสียงพรั่งพรู
สอนให้รู้หลังตระหนกหกตุลา
เป็นวันเกิดที่มากับการดับสิ้น
ต้องขาดวิ่นสูญวัยไร้เดียงสา
น้ำตาหยาดหมาดแล้วในแก้วตา
เมื่อแผ่นดินมารดากระด้างเกิน
เติบโตและแตกต่างอย่างแกร่งกร้าว
ปวดร้าวคราวปะทะระหกระเหิน
ดาวศรัทธาที่ส่องสร้างเส้นทางเดิน
ร่วงลับเนิน...ฝังสหายอีกหลายคน
คือตำนานเดือนตุลา(ถ้าจะนับ)
ยี่สิบเจ็ดปี.. ที่เกิดดับยังสับสน
ยี่สิบเจ็ดปี...ที่คนขลาดพิฆาตคน
และวิญญาณวีรชนยังวนเวียน
ใครคือ"คนตุลา"?.. อย่าถามไถ่
ถ้าโลกไร้ซึ่งศรัทธากล้าพูดเขียน
ประวัติศาสตร์ขาดหน้าในห้องเรียน
รอแสงเทียนแห่งปัญญามาส่องทาง
ยี่สิบเจ็ดปี.. นิรนามสนามรบ
กี่ร้อยศพกลบหายในความว่าง
เพียงรำลึกรอยอดีตเอาหรีดวาง
ทับรอยจางสีเลือดเหือดไร้รอย..
4 ต.ค.2546