![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...บริจิตต์ได้รับอุบัติเหตุ ตกลงมาจากระเบียงบ้านระหว่างที่กำลังทำสวนอยู่ อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้บริจิตต์ต้องพิการขาและเดินไม่ได้นับแต่นั้นมา...
ตอน : วันเกิดเพื่อนริมทะเลสาบคอนสแต๊นซ์
พวกเรามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อว่า คุณบริจิตต์ เป็นคนเยอรมัน สามีก็เป็นคนเยอรมัน ชื่อ อูลี่ แต่ทำงานอยู่ในประเทศสวิตฯฝั่งที่พูดภาษาเยอรมันค่ะ เพื่อนคนนี้มาเมืองไทยบ่อย และทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รับจ้างเขียนงานวิจัยสังคมต่าง ๆ มากมายบริจิตต์ กับอูลี่แต่งงานได้หกปีมาแล้ว และมีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นหลังจากแต่งงานได้ปีเดียว คือ บริจิตต์ได้รับอุบัติเหตุ ตกลงมาจากระเบียงบ้านระหว่างที่กำลังทำสวนอยู่ อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้บริจิตต์ต้องพิการขาและเดินไม่ได้นับแต่นั้นมา
พ่อบ้านและรจนาเมื่อย้ายมาเจนีวาก็ได้ไปเยี่ยมบริจิตต์หลายครั้งทั้งที่คลีนิกรักษาตัวและที่บ้าน และได้เห็นการต่อสู้กับความพิการอย่างไม่ยอมแพ้ของบริจิตต์ค่ะ
คือ เขาจะทำกายภาพบำบัดตลอด และหมอที่ไหนที่ว่าดี เขาก็จะไปหาเพื่อดูว่าจะฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเส้นประสาทต่าง ๆ เพื่อให้เดินได้อีกครั้งหรือเปล่า แต่ห้าปีผ่านไปแล้วความหวังก็น้อยลงทุกที
ถึงกระนั้นบริจิตต์ก็พยายามใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด พยายามออกนอกบ้าน ออกกำลังกาย ขับรถเอง (รถสำหรับคนพิการขาโดยเฉพาะ จะมีคันเร่งอยู่ตรงพวงมาลัย กลไกบังคับต่าง ๆ ใช้มือล้วน ๆ) ยังคงรับจ้างทำงานวิชาการ-งานวิจัย (ผ่านเน็ต) เท่าที่ทำได้ ยังพยายามมีชีวิตที่แอกทีฟ ไม่ปล่อยให้ความพิการเป็นอุปสรรค
เป็นตัวอย่างคนสู้ชีวิตที่น่านับถือมาก ๆ เลยค่ะ
ฝรั่งนั้นเขาจะถือว่าวันเกิดที่ครบรอบแต่ละ ๑๐ ปีนี้มีความสำคัญมาก ปีนี้บริจิตต์อายุครบ ๕๐ ปี เขาเลยถือโอกาสจัดงานใหญ่ ใกล้กับที่บ้านค่ะ คือ เขาไปจองบ้านพักเยาวชนไว้ให้พวกเราโดยเฉพาะ โดยจัดงานที่นั่นด้วย พวกเราก็ไปพักและจ่ายค่าเช่าเอง หมู่บ้านที่จัดงานชื่อว่า เมืองเครอ-ส-ลิงเง่น (Kreuzlingen) อยู่ติดทะเลสาบชื่อดังคือ Lake Constance ในภาษาอังกฤษ หรือ Bodensee (ทะเลสาบพรมแดน) หรือ Constanz ในภาษาเยอรมัน Lac Constance หรือ ในภาษาฝรั่งเศส
การจัดงานเขาแบ่งเป็นเลี้ยงน้ำชาและขนมเค้กตอนบ่ายวันเสาร์ที่เพื่อน ๆ เดินทางไปถึง (ส่วนใหญ่มาจากเยอรมนีและในสวิตฯ) พวกเพื่อน ๆ ผู้หญิงก็ช่วยกันทำเค้กไปสมทบ
พอตอนค่ำก็กินเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์ เป็นพวกสลัด มันฝรั่ง เส้นพาสต้า และเนื้อย่างจากเตาบาร์บีคิว เครื่องดื่มพวกน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำเปล่าและไวน์มากมาย ใช้งบประมาณไม่มาก แต่อร่อยและสนุกสนาน แขกส่วนใหญ่จะนำไวน์และแชมเปญไปสมทบ
วันจัดงานนั้น บริจิตต์โชคดีมาก ที่อากาศดีมาก ๆ ท้องฟ้าสวยงาม อบอุ่น (ปลายตุลาคม) พวกเราออกไปเดินเล่นในทุ่งใกล้กับบ้านพักเยาวชน ซึ่งอยู่ในทำเลที่งดงามริมทะเลสาบคอนสแต๊นซ์ (Lake Constance)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ทิวทัศน์ใกล้ ๆ กับบ้านพักเยาวชนที่พวกเราไปพัก บ้านพักเยาวชนเองเป็นอาคารของผู้มีอันจะกิน(ระดับชาวนา)เก่า ที่แปลงมาเป็นที่พักเยาวชนราคาประหยัด ในทำเลที่แสนสวยงาม
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วิวอีกด้านหนึ่งของทะเลสาบ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
มีปราสาทเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ ด้วยค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
อย่างที่บอกว่า วันนั้นเขาเลี้ยงเนื้อแกะย่าง เตาบาร์บีคิวใหญ่โตเลยค่ะ เขาต้องสั่งไว้ล่วงหน้าเป็นเดือน แต่เนื่องจากเขากะไม่ถูกว่าอากาศจะดีหรือจะร้าย เนื่องจากเดือนตุลาฯนั้นอาจจะฝนตกหนักและหนาวแล้วก็ได้ แต่ก็อาจจะอบอุ่นแดดดีเหมือนวันนี้
แต่เขาตัดสินใจตั้งโต๊ะในตัวตึก เพราะตอนค่ำมาก ๆ จะหนาวขึ้นเรื่อย ๆ หากนั่งข้างนอก พวกเราก็จะอยู่ดึกไม่ได้ค่ะ
โต๊ะจัดเลี้ยงนี่รจนาชอบมากเลยค่ะ ฝรั่งเจ้าของงานเขาจะมาจัดโต๊ะกันเอง เรียกว่า ทางสถานที่เขาไม่ได้มาช่วยคิดให้ (เพราะเขามีคนงานแค่ ๒-๓ คน และค่าแรงก็แพง ดังนั้นเจ้าของงานจึงต้องทำเองหลายอย่าง)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เขาจะจัดโต๊ะตามฤดูกาล คือ ฤดูนี้มีดอกอะไร ผลอะไร ใบอะไรที่เด่น ๆ เขาก็เอามาแต่งค่ะ โต๊ะนี้จะเห็นลูกฟักทองจิ๋ว (เหลือง) ลูกเกาลัดฝรั่ง หรือเชสต์นัท (ดำ ๆ) และเปลือกที่เห็นเป็นหนาม ๆ ใบองุ่น และลูกไม้แดง ๆ เล็ก ๆ ที่รจนาไม่รู้จักชื่อเหมือนกัน เป็นลูกไม้ประดับ ทานไม่ได้ค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ดอกไม้กลีบส้ม ๆ นี่จะเห็นมากเลยค่ะในช่วงนี้ แต่จนใจจำชื่อไม่ได้จริง ๆ ค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
สองสาวนี้เป็นหลานของบริจิตต์ (ลูกของพี่สาว) ค่ะ ชื่อ น่ารักมาก ๆ คนซ้ายมือค่อนข้างจะเงียบ ชื่อ เอียริส คนขวามือคุยเก่งมาก ชื่อเอลเก้ ทั้งคู่เคยมาเมืองไทยแบบลุยทุกที พอเห็นรจนาก็เข้ามาชวนคุยเรื่องเมืองไทยอย่างสนุก ไม่หยุดเลยค่ะ ทำให้รจนามีเพื่อนคุย ไม่ต้องเขิน
พอได้เวลาทานอาหาร สองสาวก็เลยพารจนาไปนั่งด้วย ส่วนพ่อบ้านแอบไปงีบมาเพราะขับรถมาเหนื่อย ๆ ค่อยมาร่วมโต๊ะทีหลังค่ะ รจนาประทับใจน้องสาวต่างชาติทั้งสองมากเลยค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โต๊ะบุฟเฟต์สลัดอย่างง่าย ๆ เราเริ่มทานสลัดก่อน แล้วเขาจึงเอาพวกเนื้อมาวางทีหลัง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บรรยากาศในงานเลี้ยงโดยทั่วไป
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โต๊ะอาหารจานหลัก เขามีการตักแจกให้ด้วย วันนั้นเขาเสิร์ฟเนื้อให้จานแรกคนละนิดเดียวเองค่ะ สงสัยเขาจะกลัวไม่พอ คนเสิร์ฟก็หน้าดุ ๆ เราเลยไม่กล้าขออีก แต่พอเราไปทีหลังก็มีมาเสริม เข้าใจว่าค่อย ๆ ย่างมาเติม แล้วเราก็เติมจนพอทานค่ะ จะว่างานนี้กินข้าวไม่อิ่มก็คงจะได้ แต่ขนมนมเนยก็มากมายพอกินค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เจ้าหน้าที่ของบ้านพักเยาวชนมายืนกำกับการแจกอาหาร
การจัดงานแบบฝรั่งก็ดีอยู่อย่างหนึ่งคือ แขกที่รับเชิญควรต้องถามล่วงหน้าว่าเจ้าภาพอยากได้ของขวัญอะไร จะได้หามาให้ถูกใจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่า การซื้อของขวัญที่ถูกใจคนให้ แต่ไม่ถูกใจคนรับนั้น ไม่มีประโยชน์ เพราะคนรับไปแล้วอาจจะเอาไปทิ้งหรือเอาไปเก็บซุก ๆ ไว้เป็นภาระเปล่า ๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องถาม
และเจ้าภาพที่ดีเขาจะไม่บอกว่า อะไรก็ได้ แต่เขาจะมีรายการของที่อยากได้ ส่วนใหญ่ก็จะราคาไม่แพง
ที่รจนาพบส่วนใหญ่คือ เจ้าภาพจะขอให้เราบริจาคตามศรัทธากับองค์กรการกุศลที่พวกเขาเลื่อมใส หรือบางทีเขาอาจอยากได้ของใช้ หนังสือ หรือของประดับบ้านอื่น ๆ ที่อาจจะราคาสูง เราก็รวมเงินกับเพื่อนคนอื่น ๆ ที่ไปงานเดียวกันช่วยกันซื้อได้ค่ะ เช่นบางทีงานวันเกิดเด็ก ๆ เด็กเจ้าของวันเกิดอยากได้จักรยานใหม่ เราก็เอาให้เงินเท่าที่เราพอให้ไหวไป แล้วเขาก็เอาเงินไปรวมซื้อกันเอง
ในกรณีของบริจิตต์เขาทำน่ารักค่ะ เขาบอกว่า เราให้ของขวัญเขาได้สามทาง คือ หนึ่ง บริจาคให้องค์กรเพื่อเด็กพิการ (โดยให้เงินกับเขาหรือฝากเข้าบัญชีขององค์กรฯ) สอง ช่วยกันซื้อฉลากเพื่อจับของขวัญ โดยรายได้จากฉลากเขาก็จะเอาไปซื้อเครื่องมือสำหรับผู้หญิงพิการในประเทศอินเดีย และสาม คือ ช่วยกันประมูลซื้อของที่เขาจัดมา เพื่อเอาเงินไปทำบุญอีกนั่นแหละ
วันนั้นพวกเราก็ได้ช่วยทุกอย่าง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
หลังอาหาร เราก็คุยกันไป ดื่มกันไป เด็กน้อยที่เป็นลูกหลานของบริจิตต์ก็พากันมาขายสลากค่ะ หนุ่มน้อยเสื้อขาวนี่โชคดีค่ะ ได้รางวัลใหญ่หลายชิ้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
หน้าตาของ "ฉลาก" แบบฝรั่ง หลากสี น่ารักดีค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
นี่คือของขวัญที่บริจิตต์ได้รับจากพวกเรา นอกเหนือจากของขวัญสามแบบที่กล่าวไปแล้ว รจนาเองกับพ่อบ้านก็ถือแชมเปญไปช่วยงานด้วย (ขวามือ) เพราะรู้ว่างานแบบนี้จะเปลืองเครื่องดื่มมาก และซื้อกล้วยไม้ทั้งต้นให้บริจิตต์หนึ่งต้น (กลางโต๊ะ ห่อพลาสติก) เป็นอะไรสวย ๆ พอเป็นกำลังใจค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ดอกไม้ในงาน ไม่รู้ใครจัดมาให้ เห็นสวยดีค่ะ เหมือนภาพวาดของวานโก๊ะห์หน่อย ๆ นะคะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
พ่อบ้านกำลังคุยออกรส เด็กชายผิวดำนี้เป็นลูกบุญธรรมของผู้หญิงเยอรมันผิวขาวคนหนึ่งค่ะ สุภาพเรียบร้อยดีเชียว และชอบบาสเก็ตบอลมาก ๆ เลยค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
นี่เป็นบรรยากาศตอนคนเข้าไปออ-รอรับรางวัลค่ะ เขามีเป็นร้อยชิ้น พวกเราช่วยซื้อฉลากหมดเงินไปสิบกว่ายูโร ได้รางวัลเป็นของจุ๋มจิ๋มสามรางวัล ได้แก่กระเป๋าใส่ตังก์ ราวโลหะแขวนพวกตะหลิวในครัว และพาสต้าอีกห่อนึง (แหม เหมาะกับแม่ครัวอย่างรจนาจริง ๆ เลย)
ส่วนเด็กน้อยคนที่ขายฉลากเองได้รางวัลใหญ่ ๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ เช่น เครื่องออกกำลังกาย ทำเอาผู้ใหญ่อิจฉาไปตาม ๆ กัน
ส่วนเพื่อนบางคนก็มาบ่นว่าซื้อไปตั้งเยอะไม่ได้สักรางวัล ของอย่างนี้มันอยู่ที่ดวงจริง ๆ เลยค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ตอนนี้ทุกคนกำลังลุ้นประมูลของพิเศษ ซึ่งวันนั้นมีลูกฟุตบอลแบบที่ใช้ในฟุตบอลโลก มีวิสกี้อย่างพิเศษหนึ่งขวด และมีเก้าอี้นั่งวาดรูปกับเฟรมวาดภาพหนึ่งชุด
บริจิตต์คือคนที่อยู่บนรถเข็น
รจนานึกแล้วสะท้อนใจเพราะรู้สึกว่า ลูกฟุตบอลนั้นมีความหมายมากกว่าแค่เป็นฟุตบอล แต่หมายถึงกีฬาอย่างหนึ่งที่ผู้พิการขาอยากจะเล่นใจจะขาด ก็ไม่ได้เล่น ไม่ว่าจะเป็นบริจิตต์เองหรือเด็กพิการที่พวกเราร่วมกันบริจาคเงินช่วยเหลือค่ะ เมื่อนึกย้อนกลับไปก็คิดว่า เขาพยายามหาของที่มีความหมายมาประมูล แต่เงินที่ได้รู้สึกไม่มากเท่าไร เพราะพวกเราตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะประมูลเอาไปทำอะไร รจนากับพ่อบ้านเองตั้งใจจะร่วมบริจาคเงินให้มูลนิธิอยู่แล้วก็เลยไม่ได้ตั้งใจประมูลเท่าไร
คืนนั้นหลังจากประมูล ทุกคนก็สนุกสนานเฮฮา เต้นรำ ดื่ม คุย กันจนดึกดื่น รจนาเข้านอนห้าทุ่ม พ่อบ้านเข้านอนประมาณเที่ยงคืน ได้ข่าวว่า คนอื่นอยู่จนถึงตีสาม ห้องนอนของเราอยู่ใต้ห้องจัดเลี้ยงพอดี เลยได้ยินเสียงลากเก้าอี้ตลอด แต่มางานอย่างนี้ก็ไม่มีอะไรจะบ่น เพียงแต่ไปหาสำลีมาอุดหูจะได้นอนสบายหน่อย
ถึงกระนั้นก็ตื่นเช้าอย่างอ่อนเพลีย และเป็นคู่แรกที่ลงมาทานอาหารเช้า มีชากาแฟแล้วก็ขนมปังกับแยม แฮมกับชีสอีกหน่อย มีพวกมูสลี่และโยเกิร์ตด้วย
พอทานเสร็จเราก็ตรงไปบ้านบริจิตต์ เจ้าของบ้านก็เพิ่งตื่นได้ไม่นานเหมือนกัน ชวนพวกเราทานกาแฟกับเขาอีกครั้ง เราคุยกัน ให้กำลังใจ มอบเงินบริจาคใส่ซองอีกส่วนหนึ่งเพื่อช่วยคนพิการ ก่อนจะลาจากมา
ได้แต่หวังว่า กุศลจากการจัดงานครั้งนี้จะทำให้บริจิตต์ได้รับความเข้มแข็ง พ้นจากเคราะห์กรรมครั้งนี้ มีใจเบิกบาน และเกิดชาติหน้าฉันใดก็อย่าได้พบกับความพิการในทางใด ๆ เลยเทอญ
ดูภาพเก็บตกสองภาพค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บรรยากาศที่ร้านอาหารที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักเยาวชนค่ะ เราไปทานอาหารเที่ยงกันที่นั่นในวันงาน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วิวสวย ๆ ของทะเลสาบคอนสแต๊นซ์อีกครั้งหนึ่ง