![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
ตอน : พาเพื่อนเที่ยวรอบทะเลสาบเลม็อง
นาน ๆ รจนาจะมีเพื่อนมาเที่ยวจากเมืองไทยเสียทีนึง เพราะค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในสวิตฯนี่แพงไม่ใช่เล่นทำให้คนไทยไม่ค่อยอยากมาเที่ยวกันบังเอิญเพื่อนเก่ารุ่นพี่ของรจนาเขาได้มาประชุมที่สวิตฯพอดี รจนาก็ชวนมาพักและเที่ยวแถว ๆ เจนีวาค่ะ เพื่อนรุ่นพี่คนนี้ชื่อว่า พี่ปราโมทย์ (นามสมมติ)
การท่องเที่ยวคราวนี้ก็เลยเน้นการขับรถรอบทะเลสาบเจนีวา โดยตัดเข้าไปฝั่งฝรั่งเศสก่อนแล้วจึงย้อนกลับมาสวิตฯอีกครั้ง ผ่านเมืองสำคัญ ๆ หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เราสองคนก็จะเม้าท์เรื่องต่าง ๆ หลังจากไม่ได้เจอกันสิบปีมากกว่า
แต่รจนาก็ไม่ลืมทำหน้าที่ไก๊ด์ที่ดี อธิบายความเป็นไปเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ ที่เราไปเที่ยวกัน พี่ปราโมทย์เป็นอาจารย์สอนเรื่องการพัฒนาสังคมให้แก่นักศึกษาปริญญาโท จึงมีความสนใจในเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ ทำให้รจนามีเรื่องโม้มาก (อิอิ)
เราคุยกันเรื่องระบบการเมืองของสวิตฯที่เป็นระบบประชาธิปไตยสายตรง (Direct democracy) คือแม้ว่าจะมีผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ในการบริหารประเทศก็จริง แต่การตัดสินใจสำคัญ ๆ ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เขาใช้ระบบโหวตทั่วประเทศค่ะ เนื่องจากเป็นประเทศเล็ก ประชากรไม่ถึง ๗ ล้านคนดี ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงทุกมุมเมือง จึงทำได้ไม่ยาก พี่ปราโมทย์สนใจเรื่องนี้มาก ถึงกับบอกว่า จะเอาไปเล่าให้นักศึกษาฟังว่า อาจารย์ไม่ได้มาเที่ยวเปล่า ๆ นะจ๊ะ ยังได้ความรู้กลับเมืองไทยด้วย รจนาก็เลยพลอยปลื้มใจไปด้วยค่ะ
มาว่าเรื่องเที่ยวกันนิ เราขับรถรอบทะเลสาบอย่างที่บอกนะคะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
จุดแรกที่เราไปเที่ยวกันก็คือ เมืองเอเวียง (Evian) เมืองแห่งน้ำแร่ชื่อดังค่ะ ที่เมืองนี้เขามีคาสิโนให้คนมาเล่นพนันด้วย
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
น้ำแร่ที่ว่านี่ไหลอยู่ใต้เมือง ทางบริษัทหัวใสเขาก็เอาน้ำนั้นมากรอกใส่ขวดขายส่งไปทั่วโลกจนร่ำรวย บ้านเราก็ไม่รู้ว่าขายขวดเท่าไรนะคะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
มีจุดที่เขาทำน้ำพุเล็ก ๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวมาชมและลองดื่มน้ำกัน คนส่วนใหญ่ก็จะแบบเอาขวดพลาสติกกันมาหลาย ๆ ขวด มากรอกน้ำไปทานกันค่ะ น้ำเขาหวานเย็นชื่นใจสะอาด ดื่มได้จากก๊อกที่เห็นนั่นเลยค่ะ
รจนากับเพื่อนก็ยังกรอกน้ำกันมาดื่มขวดนึงค่ะ เป็นที่ระลึก
นึกถึงว่า หากเป็นเมืองไทย คงมีชาวบ้านหัวใสมากรอกใส่ขวดไปขายกันสนุกสนานนะคะ
จุดถัดไปเราไปเที่ยวปราสาทแห่งชิญ็อง (Château de Chillon) ที่รจนาเคยเขียนถึงนานแล้ว คราวนี้ก็เหมือนไปเที่ยวทบทวนความหลัง เป็นการไปเที่ยวครั้งที่สี่ของรจนาแล้วค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โมเดลของปราสาทค่ะ เขาทำให้เราเห็นว่าปราสาทนี้หน้าตาเป็นอย่างไร
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โมเดลอีกด้านหนึ่งเพื่อให้เห็นว่าตัวปราสาทนั้นตั้งอยู่บนเกาะที่เป็นหินทั้งก้อน ที่จมอยู่ในน้ำ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
รจนากับเพื่อนก็เดินสำรวจดูจนทะลุปรุโปร่งค่ะ เข้านอกออกในทุกห้อง สุดท้ายก็ไปจบที่หอคอยซึ่งมีหน้าต่างให้ดูวิวทุกด้าน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ก็เลยเก็บวิวจากช่องหน้าต่างมาให้ดูนะคะ ด้านนี้เห็นทางเดินด้านหน้าปราสาท ตรงที่เราเดินเข้ามา
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แล้วก็ทางรถวิ่งอีกด้านหนึ่ง มองเห็นเมืองม็องโทรซ์ (Montreux) อยู่ไม่ไกล เราไปกินข้าวกลางวันกันที่เมืองนี้แหละค่ะ วันนั้นทานอาหารจีนกัน (คนไทยสองคนไปเที่ยว ย่อมจะไม่ไปทานอาหารฝรั่งอยู่แล้ว)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
คุ้งน้ำที่ดูอ้างว้าง บรรยากาศแบบฤดูใบไม้ร่วง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บรรยากาศอันครึ้มฟ้าครึ้มฝนเหนือทะเลสาบเลม็อง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วิวของทางเดินเล่นในปราสาท
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ทางเดินเล่นอีกมุมนึง มีสีเขียว ๆ ด้วย ทำให้ความแข็งของหินผาซอฟท์ลงมานิดนึงนะคะ
จากปราสาทชิญ็องพวกเราก็เดินทางไปเที่ยวเมืองโลซานน์ต่ออย่างรวดเร็ว แดดตกและฝนก็ตก ก็เลยเที่ยวโลซานน์แบบนั่งรถเที่ยว ไม่ได้เดินเที่ยวค่ะ เรียกว่า แว่บผ่านก็คงจะได้
วันรุ่งขึ้นอากาศก็ดี ๆ ร้าย ๆ เดี๋ยวมีฝน เดี๋ยวแดดออก แต่พวกเราก็พากันไปเที่ยวกรุงเก่าในเมืองเชอเนฟ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ได้ภาพมหาวิหาร (Cathedral) มาฝากอีกแล้ว
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
และก็ตบท้ายด้วยวิวเหนือทะเลสาบเจนีวา (Lac de Genève) จากหมู่บ้านชื่อว่า Chambésy (ฌ็องเบซี) ค่ะ เพื่อน ๆ คงจำได้ว่า ทะเลสาบเจนีวาที่จริงก็ทะเลสาบเดียวกับทะเลสาบเลม็อง (Lac Leman) นะคะ
เล่าเรื่องเที่ยวแล้วก็ต้องบอกว่า เพื่อนมาเที่ยวนี้รจนาทำอะไรให้ทานบ้าง ที่จริงรจนาได้ทำแค่มื้อเดียวเองค่ะ เป็นอาหารง่าย ๆ ส่วนมื้ออื่นนั้นออกกินนอกบ้าน (เพราะออกไปเที่ยว) และมีคนเชิญไปกินข้าวที่บ้านเขาอีกหนึ่งมื้อ สำหรับพี่ปราโมทย์คิดว่า การได้ไปทานข้าวบ้านคนอื่นก็ทำให้ได้เรียนรู้ธรรมเนียมฝรั่งและได้รู้จักบ้านฝรั่งเพิ่มเติมด้วย
มื้อแรก พี่ปราโมทย์มาถึงดึกแล้ว เกือบสี่ทุ่ม ดังนั้นไม่ค่อยหิวเท่าไร รจนาก็เลยเจียวไข่ให้ทานค่ะ ใส่หอมผักชีกับโหระพาเสร็จสรรพ พ่อบ้านก็ทานด้วยความเอร็ดอร่อย และมีต้มจับฉ่ายทำไว้อย่างอร่อย ก็เสิร์ฟเป็นซุปให้คล่องคอ ที่เลือกอาหารไม่เผ็ดก็เพราะจะได้ย่อยง่าย นอนหลับสบาย จริง ๆ พี่ปราโมทย์ถูกใจก็น้ำปลาพริกที่โรยไข่เจียวนี่แหล่ะค่ะ
ส่วนตอนออกไปเที่ยวรอบทะเลสาบก็ทานอาหารจีนอย่างที่เล่าไปแล้ว
และเย็นวันเดียวกันที่ออกเที่ยว รจนาก็ไม่ต้องทำกับข้าวเพราะเพื่อนพ่อบ้าน คือ คุณพอล และ คุณมารีโรส เชิญพวกเราไปทานวันเกิดที่บ้านเขา เพราะคุณพอลเกิดวันเดียวกับพ่อบ้าน (๑๐ พฤศจิกายน) พี่ปราโมทย์ก็ได้รับเชิญด้วย
งานนี้รจนาทำเอาเจ้าภาพวุ่นวายทีเดียวค่ะ ต้องสารภาพ คือตอนแรกเขาบอกว่า จะทำอาหารที่ได้จากสัตว์ที่เขาล่าตามฤดูกาล (ใบไม้ร่วง) เพราะเป็นที่นิยมตามฤดูกาล ร้อนถึงพ่อบ้านต้องบอกเพื่อนแทนรจนาว่า รจนาคงทานไม่ได้เพราะไม่เคยทาน(และไม่ชอบ)สัตว์ล่า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกวาง กระต่ายป่า หรือนก/เป็ดป่า ประมาณนั้น เพื่อนก็ดีใจหาย รีบคิดเมนูใหม่โดยพลันเพื่อเอาใจพวกเราคนไทย
พ่อบ้านก็บ่นว่ารจนาเรื่องมาก อาจจะเข้าข่ายไม่สุภาพได้ รจนาก็เลยต้องอธิบายว่า เวลาแขกมาบ้าน รจนาก็มักจะถามก่อนเสมอว่า ทานอะไรไม่ได้ (เช่น เป็นมังสวิรัติ หรือมีข้อห้ามทางศาสนา หรือแพ้อาหารบางอย่าง ฯลฯ) เพราะไม่อยากทำกับข้าวแล้วไม่มีใครทาน อีกอย่างเห็นว่า เพื่อนพ่อบ้านสนิทกันก็เลยกล้าบอก ดีกว่าให้เขาทำเนื้อกวางหรือเนื้อกระต่ายมาแล้วเราทานไม่ได้ อย่างนั้นยิ่งไม่สุภาพมากกว่า
สุดท้าย คุณพอลเขาอบซี่โครงแกะให้ทานค่ะ คุณมารีโรสหุ่งข้าวบาสมาติกับใบสะระแหน่ หอมอร่อยมากทีเดียว คือเป็นอาหารฝรั่งปนอินเดีย เพราะคุณมารีโรสเขาเคยแต่งงานกับคนอิหร่านค่ะ นอกจากนั้นก็ยังมีสลัดผักชามใหญ่ มีผักต้ม ผักผัด (แบบฝรั่ง) หลายแบบให้เลือก ผักต้มนี่เขาก็ใส่พริกแขกนิดหน่อย มีรสเผ็ดแซ่บ ๆ ชวนให้ทานข้าวอร่อย
แต่ทีเด็ดก็คือ ของกินเล่นค่ะ คุณพอลเขาทำเอสคาโกต์ (Escargots) ให้ลองชิมด้วยค่ะ คนไทยคงจะเคยได้ยินชื่อ เพราะเอสคาโกต์ก็คือหอยทากฝรั่งนี่เองค่ะ เป็นอาหารชั้นเลิศ ราคาแพง แต่รจนาน่ะไม่ค่อยจะพิศวาสเท่าไร เพราะไม่ค่อยชอบพวกหอยโข่งหอยขมอยู่แล้ว (แต่ชอบหอยลาย หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยกาบ) หอยนี้บางทีเขาอบมาในเปลือกของหอยเอง หรือบางทีก็เอาแต่เนื้อไปอบกับเนยใส่ผักสมุนไพรเขียว ๆ กระเทียม พริกไทยเยอะ ๆ ค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วันนั้นคุณพอลทำแบบเอาเนื้อหอยกับซอสใส่ชามมีหลุมเหมือนพิมพ์ขนมครกเรา แล้วเอาเข้าเตาอบ มาเสิร์ฟร้อน ๆ กินกับขนมปัง เขาเกรงใจพวกเรามาก กลัวว่าจะทานไม่ได้ บอกว่า อยากให้ลองชิมสักชิ้นนึง และหากชิมแล้ว พวกเรา (คนไทย) ไม่ชอบทาน เขาก็จะเอาปลาแซลม่อนรมควันมาเสิร์ฟแทน
พี่ปราโมทย์กับรจนามองหน้ากันแล้วก็บอกว่า "สู้ก็สู้ (ฟะ)" ก็เลยช่วยแบ่งกันทานหนึ่งพิมพ์เป็นการเอาใจเจ้าของบ้าน พี่ปราโมทย์มากระซิบว่า "นี่ รจ เมืองไทยน่ะของแพงนะจ๊ะ ดังนั้นเราจงดีใจที่ได้ทาน"
แล้วก็จริงดังพี่ปราโมทย์ว่าค่ะ ว่าพอทานจริง ๆ เราสองคนก็ติดใจ (แต่ไม่ได้ขอเพิ่ม) เห็นว่ารสชาติทนได้จริง ๆ ไม่เหม็นคาวหรือแหยะ ๆ ต่อลิ้นแต่ประการใด เราก็เลยทานหนึ่งจานกันหมดค่ะ และกลายเป็นว่า รจนาก็เกิดชอบขึ้นมาจริง ๆ เหมือนกัน ถือว่าตอนนี้กินเป็นแล้ว....แฮ่ม....แต่คงไม่ไปหาซื้อมาทำหรอกค่ะ
ในภาพข้างบน คือ พี่ปราโมทย์กำลังเอาจานหอยวางบนโต๊ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เย็นนั้นคุณมารีโรสจัดโต๊ะสวย ผ้าเช็ดปากเขาเอาที่รัดเป็นตุ๊กตาพื้นบ้านน่ารักทีเดียว เป็นของเอกวาดอร์ค่ะ (คุณมารีโรสมาจากประเทศนี้) พวกเราเห็นไอเดียดีก็เลยเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
ส่วนเที่ยงวันสุดท้ายก่อนพี่ปราโมทย์จะบินจากไป รจนาไม่รู้จะพาไปทานอะไร ไม่ได้ทานข้าวบ้านเพราะเราอยากจะออกเที่ยวกัน ก็เลยพาไปทานไก่ย่างเจนีวาค่ะ มื้อนี้พ่อบ้านก็ออกจากที่ทำงานมากินข้าวเที่ยงด้วยกัน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ไก่เขาย่างและขายจานละครึ่งตัว (เล็ก) เสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งทอด และสลัดผัก ราคาทั้งชุดตก ๑๔ ฟรังก์ต่อคน ซึ่งถือว่าถูกมาก ๆ สำหรับเมืองเจนีวา แต่ที่รจนาชอบไปเพราะเขาย่างไก่ได้กรอบ และหมักไก่ได้เค็มอร่อยมีรสชาติ รวมทั้งมันฝรั่งเองก็ปรุงรสและทอดได้อร่อยมาก ไม่เลี่ยนน้ำมันเลยค่ะ แถมยังมีสลัดผักให้ทานเพิ่มวิตามินอีก
พี่ปราโมทย์บอกว่าประทับใจได้เที่ยวอย่างสนุกและทานอร่อยทุกมื้อ ที่สำคัญคือพวกเราได้พบหน้ากันอีกครั้งหลังจากห่างกันไปตั้งสิบปีนะคะ
หวังว่าเพื่อน ๆ เที่ยวกับรจนาคงได้รับความเพลิดเพลินทางสายตาไม่มากก็น้อยนะคะ และคงไม่ทำให้หิวมากเกินไปกับภาพสุดท้ายนะคะ เที่ยวกับรจนาก็มักจะเที่ยวไปกินไปค่ะ
เมื่อวันที่ : ๒๘ พ.ย. ๒๕๔๙, ๒๑.๔๒ น.
น่าหนุกจังจ้ะ รจนา