![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...ฟังนิทานมาหลายเรื่องแล้ว มาฟังเรื่องประวัติศาสตร์กับศิลปะของเมืองเชอเนฟกันบ้างดีกว่านะคะ...
ตอน : นักเรียนภาษาพาเพลิน (สิบสอง) - L'histoire et l'art
ฟังนิทานมาหลายเรื่องแล้ว มาฟังเรื่องประวัติศาสตร์กับศิลปะของเมืองเชอเนฟกันบ้างดีกว่านะคะ ใครชอบเรื่องหนัก ๆ เต็มไปด้วยสาระก็เชิญทางนี้เลยค่ะ ใครชอบเรื่องเบาสมอง ค่อยรออ่านนิทานในวันหลังนะคะรจนาอยู่เชอเนฟ (Genève) มาห้าปีกว่าแล้ว ส่วนใหญ่ชอบแต่เรื่องเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือพิพิธภัณฑ์นั่นไม่ค่อยได้เฉียดหรอกแค่ แต่พอแก่ตัวลงทุกวันก็ไม่อยากจะแก่แล้วแก่เลย หาเรื่องเรียนรู้สนุก ๆ ดีกว่า
วันนี้นึกขยันก็ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบ้านใหม่ของรจนามาเล่าสู่กันฟังนะคะ ก่อนอื่นพวกเราต้องรู้คร่าว ๆ ก่อนนะคะว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นเมืองสามภาษาหลัก (เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาเลียน) และหนึ่งภาษาพื้นเมือง (โรมันช์ ซึ่งลักษณะการพูดค่อนไปทางเยอรมัน) เจนีวานั้นอยู่ฝั่งที่พูดฝรั่งเศสและใช้วัฒนธรรมแบบฝรั่งเศสค่ะ
- บันทึกที่ค้นพบแรกสุดเกี่ยวกับเมืองเจนีวาก็คือ เมืองนี้เคยเป็นเมืองหลวงของชนเผ่าเซลติก (Celtic) ค่ะ ใครชอบอ่านนิยายย้อนยุคของฝรั่ง ประเภทอัศวินและหญิงสูงศักดิ์ รักหวานจ๋อยคงจะพอคุ้น ๆ ชื่อนี้ดี
- เมื่อซีซ่าร์เข้าครอบครองเมืองกัลเลีย (Gallia) ของฝรั่งเศส ในระหว่างก่อนคริสต์กาล ๔๐๐ ปีนั้น เจนีวาก็กลายเป็นที่พำนักของท่านบิชอป (กล่าวคือ กลายเป็นเมืองศาสนาแห่งหนึ่ง)
- ในระหว่างที่ชนชาติต่าง ๆ มีการเคลื่อนย้ายในยุโรป ชนเผ่าเจอร์มานิคเบอร์กันเดี้ยน (germanic Burgundians) ก็ไปตั้งรกรากทางทิศตะวันตกของฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นสวิตเซอร์แลนด์ส่วนที่พูดภาษาฝรั่งเศส) และทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (ซึ่งปัจจุบันคือแคว้นเบอร์กันดี) เมืองหลวงแห่งแรกของคนกลุ่มนี้คือ เจนีวา (ก่อตั้งก่อนปี ค.ศ. ๔๔๓-๔๖๑) ชาวเบอร์กันเดี้ยนที่ว่านี้ได้รับเอาวัฒนธรรมแบบกัลโล-โรมัน (แหะ แหะ วัฒนธรรมนี้เป็นยังไงรจนาก็ไม่รู้จักนะคะ ฟังเอาชื่อไว้ก่อนแล้วกันค่ะ)
- ในปีคริสตศักราช ๕๓๔ เจนีวาถูกครอบโดยชนเผ่าเจอร์มานิกฟรังก์ (germanic Franc) ซึ่งเคยตั้งรกรากอยู่ในแถบกรุงปารีสในช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายชนชาติ (the migration of nations) และได้ขยายอิทธิพลทั่วฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ในศตวรรษที่ ๖
- อาณาจักรของชาวฟรังก์ (The empire of the Francs) ได้เจริญสูงสุดภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ์ชาร์ลเลอมาญน์ (ชื่อนี้เริ่มคุ้นหูแล้วใช่ไหมคะ) ซึ่งขึ้นปกครองในปี ๘๐๐ ราชโอรสทั้งหลายของพระองค์ได้แบ่งแยกอาณาจักรเป็นสามส่วน ในปี ๘๘๗ มีการก่อตั้งอาณาจักรแห่งเบอร์กันดีขึ้นมา เจนีวาจึงมิได้กลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรนี้อีกต่อไป
- อย่างไรก็ดี ท่านเคาน์และท่านบิชอปทั้งหลายแห่งเจนีวาก็ได้ทำการต่อต้านการครอบครองของอาณาจักรฟรังก์อย่างเข้มแข็ง
- จนเริ่มจากศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา ดยุกแห่งซาวอย (ฝรั่งเศส) ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในย่านทะเลสาบเจนีวามากขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี ๑๓๕๘ ท่านเคานท์แห่งเจนีวาได้กลายเป็นขุนนางแห่งซาวอย อาณาจักรซาวอยจึงมีอำนาจอยู่ในภูมิภาคแถบนี้อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง
- ในปี ๑๕๑๙ ประชาชนชาวเจนีวากลุ่มนี้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากซาวอย และได้ต่อรองทำข้อตกลงกับเมืองอื่น ๆ ในอาณาเขตสวิส ได้แก่ เมืองฟรีบูร์กและเมืองเบิร์น (Fribourg and Bern) แต่ผู้ครองซาวอยไม่ยอมค่ะ เลยต้องใช้กำลังเข้าครอบครองเมืองเจนีวาในช่วงนี้
- เจ็ดปีให้หลัง มีการทำข้อตกลงอีกชุดนึง และในปี ๑๕๓๐ ชาวสวิสยุคนั้นก็ได้ช่วยกันปลดปล่อยตัวเองจากกองกำลังซาวอย สภาเมืองได้สิทธิทางการเมืองมากมายหลายประการในเจนีวา เมืองเจนีวาก็เลยกลายเป็นสมาชิกสมทบแห่งสหพันธ์สวิส
- กิลโยม ฟาเรล (Guillaume Farel) ถือเป็นผู้มีผลงานในการฟื้นฟูเมืองเจนีวาคนหนึ่ง ฟาเรลเป็นนักเทศน์ชาวฝรั่งเศสที่ลี้ภัยหนีเงื้อมมืออำนาจของรัฐฝรั่งเศส ฟาเรลได้รับการสนับสนุนจากกรุงเบิร์น (เมืองหลวงของสวิตฯในปัจจุบัน)
- ช็อง คาลแว็ง (Jean Calvin) (นักเทศน์เหมือนกัน) เข้ามาสู่เจนีวาในปี ๑๕๓๖ เขามีชื่อเสียงจากหนังสือที่ชื่อว่า "Christianae religionis institutio (สถาบันศาสนาคริสต์)" คาลแว็งเป็นผู้กำกับการปฏิรูปศาสนจักร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะศรัทธาในระเบียบและกฎแห่งศีลธรรมอันเข้มงวดของคาลแว็งมากนัก แต่ภายใต้ความกดดันทางการเมืองจากเบิร์น การปฏิรูปศาสนจักรก็เป็นการยอมรับการทางเมืองเพื่อต่อต้านบิชอปและดยุคแห่งซาวอย เจนีวาในปัจจุบันจะมีร่องรอยของคาลแว็งอยู่ทั่วไปในแบบของรูปปั้น ชื่ออาคาร ฯลฯ
- ในปี ๑๖๐๒ ดยุคแห่งซาวอยพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะครอบครองเจนีวาอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ
- จ็อง จาร์คส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ถือกำเนิดในปี ๑๗๑๒ ในเจนีวา เขาเป็นนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคแห่งการหลุดพ้น (the age of enlightment) รุสโซเติบโตและได้รับการศึกษาในเจนีวา แต่ใช้ชีวิตที่เหลือส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส และตายที่นั่นในปี ๑๗๗๘
- ในช่วงสงครามนโปเลียน เจนีวาและเมืองยุทธศาสตร์อื่น ๆ ในสวิตฯตะวันตกถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส
- ในปี ๑๘๑๕ เจนีวากลายเป็นสมาชิกเต็มตัวของสหพันธ์สวิส กิลโยม อ็องรี ดูฟูร์ (Guillaume Henri Dufour) คือชาวเจนีวาโดยกำเนิด เป็นผู้รณรงค์ให้ใช้ตรากากะบาดสีขาวบนพื้นสีแดงเป็นธงชาติของสวิสที่จะโบกเหนือธงประจำมลรัฐต่าง ๆ ในช่วงสงคราม (๑๘๔๐) ที่มีชาวไร่ชาวนาหัวเก่าพยายามขัดขวางความก้าวหน้าทางการเมืองของกองกำลังทหาร
- ในปี ๑๘๔๗ อ็องรี ดูฟูร์ได้รับเลือกเป็นนายพล และได้ยกเลิกสงครามกลางเมืองภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น โดยมีการเสียเลือดเนื้อเพียงเล็กน้อยจากทั้งสองผ่าย รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐสวิสแห่งปี ๑๘๔๘ มีพื้นฐานอยู่บนเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชนชั้นชาวนากับชนชั้นติดอาวุธในครั้งนั้น
- นายพลดูฟูร์เป็นผู้บุกเบิกการทำแผนที่สวิสอย่างละเอียด ยอดเขาที่สูงที่สุดในสวิตฯจึงได้ชื่อว่า Dufourspitze หรือ ยอดดูฟูร์
- ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ อ็องรี ดูนังต์ (Henri Dunant) นายวานิชแห่งเจนีวาเกิดความหดหู่ใจที่เห็นผลของสงครามออสเตรีย-ฝรั่งเศสที่เมือง โซเฟริโน่ (Solferino) ที่ผู้คนถูกฆ่าตายเกลื่อนกลาด และที่ยังไม่ตายก็ถูกทิ้งให้ตายช้า ๆ กลางสนามรบ ดูเป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง ในปี ๑๘๖๒ ดูนังต์ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง และในปี ๑๘๖๔ รัฐบาลสวิสก็ได้จัดให้มีการประชุมสากลว่าด้วยงานด้านมนุษยชนในระหว่างสงครม มีชาติที่เข้าร่วมทั้งหมด ๑๒ ชาติ ซึ่งได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาเจนีวา และได้ร่วมกันก่อตั้ง คณะกรรมการกาชาดสากลขึ้นมา โดยถือเป็นองค์กรถาวรที่เป็นกลาง เพื่อให้การดูแลทหารและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ท่านนายพลดูฟูร์ที่กล่าวถึงไปแล้วก็นับเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนองค์กรนี้ในรุ่นแรก ๆ ค่ะ และได้เสนอให้ใช้กากะบาดแดงเป็นสัญญลักษณ์ของกาชาดด้วย
(หมายเหตุ - ปัจจุบันกาชาดสากลทำงานด้านมนุษย์ชนอื่น ๆ ด้วย เช่น ดูแลผู้อพยพลี้ภัยสงคราม ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ทุพภิกขภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือความอดหยาก โรคติดต่อร้ายแรง นักโทษสงครามและการเมือง แต่จะเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อจำนวนผู้ได้รับความเดือดร้อนนั้นมีสูงกว่า ๑๐,๐๐๐ คนในประเทศนั้น ๆ ค่ะ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น ๆ)
- มหาวิทยาลัยแห่งเจนีวาก่อตั้งในปี ๑๘๗๓ (ที่รจนาไปเรียนภาษานั่นแหละค่ะ)
- งานฉลองที่สำคัญงานหนึ่งของเจนีวา คือ งานเอสคาหลาด (Escalade) ซึ่งเป็นการรำลึกถึงชัยชนะที่มีต่อดยุคแห่งแคว้นซาวอยในปี ๑๖๐๒ กล่าวคือ มีสุภาพสตรีประเภทย่าโมของเราอยู่สองท่าน ที่ได้รับขนานนามว่าว่า แมร์โรโยม (แม่แห่งอาณาจักร หรือ Mère Royaume) และคุณหญิงเปียเจต์ (Lady Piaget) ที่สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญกลายเป็นวีรสตรีของเชอเนฟ ด้วยการเทซุปร้อน ๆ หม้อใหญ่ใส่ศัตรูผู้รุกรานที่กำลังปีนกำแพงเมืองขึ้นมา
พี่แอ๊ดถามถึงจิตรกรคนสำคัญของสวิตฯ รจนาพอจะค้นเพิ่มเติมได้ดังนี้นะคะ จะเอ่ยถึงทั้งจิตรกรเด่น ๆ ของสวิตฯและของเจนีวาด้วยค่ะ
คนแรกที่น่ารู้จักคือ Adam-Wolfgang Toepffer ค่ะ ทอฟเฟ่อร์ (อย่าเผลอเรียกทอฟฟี่นะคะ) มีอายุอยู่ช่วงปี ๑๗๖๗-๑๘๔๗ เรียกว่าอายุยืนทีเดียวในสมัยนั้น (๖๐ ปี) เป็นจิตรกรที่ชอบวาดภาพทิวทัศน์ของแคว้นเชอเนฟ โดยเฉพาะภาพหมู่บ้านอันงามสงบ โดย ภาพวาดที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งของทอฟเฟอร์คือ L'embarquement de la noce (การลงเรือของคู่แต่งงาน) วาดในปี ๑๘๑๔ เป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด ๘๔ คูณ ๑๑๕ ซม ค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
L'embarquement de la noce โดย ทอฟเฟ่อร์ (ภาพนี้ก็โหลดมาจากเน็ตค่ะ)
อีกคนหนึ่งที่น่ารู้จัก คือ Jean-Pierre Saint-Ours (๑๗๕๒-๑๘๐๙) เป็นจิตรกรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากปารีสอะคาเดมี (l'Académie de Paris) เป็นจิตรกรมีชื่อในอิตาลี แล้วมาดังที่เชอเนฟด้วย เป็นผู้นำเอาภาพวาดแบบโบราณมาสู่ความนิยมอีกครั้ง และนำวิธีการวาดแบบนีโอคลาสสิก (néo-classique) มาใช้ในการวาดภาพประวัติศาสตร์และภาพเหมือน ภาพที่มีชื่อของซ็องท์อูร์ส คือ ภาพ Le tremblement de terre (แผ่นดินไหว) วาดในปี ๑๗๗๙ สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาดภาพใหญ่มากทีเดียว คือ ๒๖๑ คูณ ๑๙๕ ซม (ภาพนี้รจนาได้เห็นของจริงด้วยค่ะ)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
Le tremblement de terre โดย ซ็องท์อูร์ส (ภาพนี้ไปโหลดมาจากเน็ตค่ะ)
ตอนที่เราไปดูภาพนี้กันที่มิวเซียม ไก๊ด์ของเราอธิบายได้เก่งมากค่ะ เขาให้เราดูใบหน้าของผู้ใหญ่ซึ่งบิดเบี้ยวแสดงความหวาดกลัว และสะท้อนกับภาพใบหน้าทารกทั้งสองในอ้อมแขนของแม่และพ่อซึ่งมีลักษณะหลับอย่างสงบ ไม่รู้เดียงสาหรือรู้ถึงภัยที่กำลังเผชิญ (เป็นข้อธรรมะให้เราเอามาคิดต่อได้เหมือนกัน) เราจะเห็นว่าภาพคนจะเอียงตัวไปที่มุมหนึ่งของภาพ ขณะที่ขอบภูเขาหินด้านหลังจะเอียงไปอีกทางหนึ่ง สร้างมุมที่ขัดแย้งกันอย่างลงตัว คงไม่ต้องนับเรื่องแสงสีที่ตกกระทบร่างกายของคนในรูป ความอ่อนช้อยของเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ ที่ขณะเดียวกันก็หลุดลุ่ยเพื่อแสดงถึงความรีบร้อนของการอพยพหนีภัยแผ่นดินไหวด้วยพร้อมกัน หญิงผู้เป็นแม่มองไปเบื้องบนฟากฟ้า เหมือนกับจะตั้งคำถามกับพระเจ้าว่า "ทำไมต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ด้วย" หรือเหมือนกับจะวิงวอนขอความปรานี
จิตรกรเอกจึงได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรเอกก็เพราะสิ่งที่เขาสามารถสื่อออกมาจากภาพเขียนเช่นนี้นี่เอง......รจนาคงได้แต่ชอบคุณไก๊ด์ผู้แสนเก่งของเราที่อธิบายจนเราซาบซึ้งไปกับภาพที่ดูมาก ๆ เลยค่ะ
จิตรกรคนที่สามที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ Jacques-Laurent Agasse เป็นจิตรกรมีชื่อที่คงจะรักสัตว์เป็นอย่างยิ่ง เพราะภาพวาดของอากัสส์จะเป็นภาพสัตว์ โดยเฉพาะ ภาพสุนัขค่ะ ภาพที่มีชื่อคือ Un saint-Hubert, un pointer et quatre épagneuls วาดในปี ๑๘๐๘ สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๙๕ คูณ ๑๑๗ ซม รจนาเองก็ได้เห็นภาพของเขาหลายภาพที่มิวเซียม เป็นภาพหมาเกือบทั้งนั้นเลยค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ภาพนี้จำชื่อไม่ได้ค่ะ แต่ที่แน่ ๆ คือ ฝาแฝดโรมิลุสกับรีมุสที่แม่หมาป่าเอามาเลี้ยง ก็เป็นฝีมือนักวาดภาพที่รักสัตว์เช่นอากัสส์นี่ค่ะ ภาพนี้รจนาถ่ายเอง
นอกจากนั้นก็มี Alexandre Calame เจ้าของภาพ Orage à la Handeck (พายุที่ฮันเด็ก) วาดในปี ๑๘๓๙ มี François Diday เจ้าของภาพ La cascade de Pissevache (น้ำตกแห่งพิซเซวาช - ฟังเหมือน "น้ำตกพิศวาส" เลยแฮะ) วาดในปี ๑๘๕๒ เป็นสีน้ำมันบนผ้าใน กับ Barthélemy Menn เจ้าของภาพเหมือนตัวเองชื่อว่า Autoportrait au chapeau de paille วาดในราวปี ๑๘๖๗ ในน้ำมันบนกระดาษทากาวบนไม้อีกทีนึง ค่ะ (ไม่มีภาพจริงให้ดูนะคะ)
จะกล่าวถึงสำนักวาดภาพแบบเจนีเวียน (Ecole Genevoise) สักนิดนึง คือ คำว่า Ecole ในภาษาฝรั่งเศส หรือ School ในภาษาอังกฤษนั้น หากแปลตรงตัวก็คือ โรงเรียน แต่ในที่นี้จะกินความหมายเหมือน "สำนัก" คือ ลักษณะความเชื่อ ความนิยม การสอนต่อ ๆ กันมา โดยมักจะมีนักคิดหลัก ๆ เป็นผู้กุมหัวใจของสำนักแต่ละสำนักค่ะ
สำนักวาดภาพแห่งเจนีวานี้เป็นสำนักที่นิยมชมชอบภาพแบบของ Saint-Ours ที่นำเสนอประวัติศาสตร์และภาพเหมือนบุคคลโดยเฉพาะ ส่วนภาพวาดแบบอากัสส์ก็เป็นภาพวาดสัตว์อย่างที่เล่าไปแล้ว ขณะที่ภาพของทอฟเฟ่อร์ จะเด่นในเรื่องของทิวทัศน์ภูมิประเทศ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ตัวอย่างภาพทิวทัศน์ที่จิตรกรเชอเนฟนิยมวาด ซึ่งมักเป็นภาพธรรมชาติสวยงาม แสดงความยิ่งใหญ่ บ่อยครั้งจะเป็นภาพตอนพายุคะนอง ให้เห็นต้นไม้ใบหญ้าที่ลู่เอน บางครั้งก็เป็นภาพที่สงบนิ่งแต่บอกเรื่องราว
ส่วน สำนักวาดภาพแบบสวิส (Ecole Suisse) มีจิตรกรสองท่าน (เท่าที่ค้นมาได้) ที่โดดเด่นอยู่ คนแรกคือ Ferdinand Hodler (เฟอร์ดินันด์ ฮ็อดเล่อร์) (๑๘๕๓-๑๙๑๘) เป็นชาวกรุงเบิร์นที่มาตั้งรกรากอยู่ที่เชอเนฟตั้งแต่ปี ๑๘๗๒ เป็นสมาชิกของกลุ่มเวียนนา (Sécession de Vienne) และเป็นต้นแบบสำคัญสำหรับงานวาดแบบสัญญลักษณ์ (symbolisme) ในสวิตเซอร์แลนด์ (ที่มิวเซียมในเจนีวาที่รจนาได้ไปดูมา จะมีงานของฮ็อดเล่อร์หลายภาพทีเดียว เป็นภาพธรรมชาติ ภูเขา เมฆ หมอก ท้องฟ้า) และจะออกแนวแอ็บสแตร็กท์หน่อย ๆ ภาพที่มีชื่อภาพหนึ่งของฮ็อดเล่อร์ คือ La rade de Genève à l'aube (ภาพพระอาทิตย์ขึ้นเหนือทะเลสาบเจนีวา) ปี ๑๙๑๘ สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๖๑.๒ คูณ ๑๒๘ ซม
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
La rade de Genève à l'aube โดย ฮ็อดเล่อร์ (รจนาก็ได้เห็นภาพจริงเหมือนกันค่ะ)
และจิตรกรคนสุดท้ายที่อยากแนะนำ เป็นชาวโลซานน์โดยกำเนิด แต่ไปเปลี่ยนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสในภายหลัง คือ Félix Valloton (เฟลิกซ์ วาลโลต็ง) ก็เป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง Salon d'Automne แห่งปารีสด้วย เป็นคนที่นิยมวาดภาพประวัติศาสตร์แบบแหวกแนว แบบไม่กลัวคำวิจารณ์ ภาพวาดดังของวาลล็อตต็ง คือ Persée tuant le Dragon (พิฆาตมังกร) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑๖๐ คุณ ๒๒๕ ซม
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
Persée tuant le Dragon หรือ แทงพิฆาตมังกร โดย วอลโลต็ง (โหลดมาจากเน็ตเหมือนกัน)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ภาพนี้แถมค่ะ (รจนาถ่ายเอง) แม่หญิงกับหนังสือเล่มน้อยในมือ เธออ่านแล้วก็ทำหน้าครุ่นคิด เอามือแตะปาก ยิ้มนิด ๆ แบบมีเลสนัย ก็ไม่รู้จะเป็นนิยายรักสิบสตางค์ หนังสือตลกเสียดสีสังคมของท่านวอลแตร์ (ฆานฑิต Candide หรือเปล่า?) หนังสือสวดมนต์ หรือตำราทำกับข้าว หรือบันทึกส่วนตัว หน้าตาของเธอทำให้เราอยากรู้จริง ๆ ใครรู้ช่วยบอกด้วยจ้ะ
เมื่อวันที่ : ๑๘ พ.ย. ๒๕๔๙, ๑๗.๔๕ น.
เที่ยวนี้ได้ทราบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนเลยนะคะ.....ภาพเขียนสวยค่ะคุณรจ....โดยเฉพาะภาพการลงเรือของคู่แต่งงาน..แก้วชอบมากเชียวค่ะ....ทริปนี้ขอมอบ
ให้เหมือนเดิมค่ะ