![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
ตอน : นักเรียนภาษาพาเพลิน (หนึ่ง) - le cours d'été
ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เขียนเรื่องเรียนภาษาเสียที หลังจากจด ๆ จ่อ ๆ มาหลายพัก แล้วมาสะดุดกับปัญหาคอมพิวเตอร์อยู่สองสามอาทิตย์เพื่อนที่สนใจเรื่องเรียนภาษาตามรจนามาทางนี้เลยค่ะ จะพาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเจนีวา เป็นคอร์สภาษาฝรั่งเศสสำหรับฤดูร้อน (Cours d'été de français)
อยู่เจนีวา หรือเรียกแบบฝรั่งเศสว่า เชอเนฟ (Genève) เมืองคนพูดภาษาฝรั่งเศสมาห้าปี รจนายังไม่เคยได้หยุดเรียนภาษาเลยค่ะ เรียนตั้งแต่มาถึงจนบัดนี้ เรียนบ้าง หยุดบ้าง ช่วงไหนว่างก็เรียนเต็มเวลาประมาณอาทิตย์ละ ๒๐ ชั่วโมง ช่วงไหนยุ่งหน่อย ต้องทำงานด้วย ก็เรียนเบาหน่อย แค่อาทิตย์ละ ๓ ชั่วโมงบ้างค่ะ เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนเวลาผ่านไปแล้วห้าปี ความรู้ด้านไวยกรณ์ (grammaire) ก็แน่นขึ้นเรื่อย ๆ การอ่านถือว่าใช้ได้ดี การฟังพอถู ๆ ไถ ๆ การเขียนแบบง่าย ๆ ก็พอไหวค่ะ การพูดนี่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เรียกว่าเอาตัวรอดได้ ตอบโทรศัพท์ได้ไม่ค่อยพลาด
แต่กระนั้นก็ยังรู้สึกว่า ไม่สามารถสื่อสารภาษาฝรั่งเศสได้มากเท่ากับภาษาอังกฤษ
ปีนี้นึกครึ้มอกครึ้มใจ เลยไปลงเรียนภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัยเจนีวา ไปเห็นหลักสูตรที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เขามีทั้งหมดสี่รุ่นด้วยกัน รุ่นละ ๓ อาทิตย์ จะลงเรียนช่วงไหนก็ได้ เมื่อสมัครแล้วเขาก็มีการสอบเทียบชั้นเพื่อดูว่าเราอยู่ในระดับไหน จะได้จัดให้เข้ากับนักเรียนที่มีความสามารถทัดเทียมกัน
วันแรกที่ไปเรียนก็เป็นวันที่เขาสอบเทียบค่ะ พวกเราไปยืนรอหน้าห้องสอบกันพักใหญ่ รจนาสังเกตเห็นนักเรียนหลากหลายชาติ แต่ไม่มีคนผิวดำหรือคนอาฟริกันเลย (สอบถามดูจากคนอื่น ๆ ก็ได้ข้อสรุปว่า อาจเป็นเพราะหลักสูตรภาคฤดูร้อนนี้ราคาค่อนข้างแพง) มีคนผิวขาวเยอะมาก ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน ชาวยุโรปชาติอื่น ๆ รองลงมาก็คนเอเชียอย่างพวกเรานี่แหละค่ะ ทุกคนไปยืนรอเข้าห้องสอบด้วยความกระวนกระวาย
การสอบเขาก็ไม่ซีเรียสอะไร พวกเราไปเลือกนั่งกันตามสบาย ส่วนใหญ่ก็นั่งห่าง ๆ กัน อาจารย์เขาก็มาอธิบายระเบียบการสอบเป็นสามภาษาทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และสแปนิช ข้อสอบที่ให้ทำก็มีฟังอาจารย์และเขียนตามที่ได้ยินค่ะ (Dictée) เริ่มจากประโยคง่าย ๆ ไปจนประโยคยาว ๆ ยาก ๆ
จากนั้นก็เป็นการฟังอีกเหมือนกัน (compréhension orale) แต่เป็นการฟังแล้วให้ตอบคำถามในกระดาษข้อสอบค่ะ เป็นตอบแบบปรนัย ส่วนที่เหลือเป็นการตอบแบบเติมคำในช่องว่าง เพื่อทดสอบความรู้เรื่องไวยกรณ์และการผันกริยาให้ถูกต้องตามกาล แล้วก็มีคำถามเพื่อทดสอบความเข้าใจด้านศัพท์ด้วย สุดท้ายเป็นการสอบเขียน (expression écrite) โดยให้เราเขียนจดหมายสั้น ๆ สอบถามเรื่องห้องเช่าใกล้มหาวิทยาลัย
เวลาทำสอบทั้งหมดประมาณ ๒ ชั่วโมงไม่ถึงดีค่ะ
รจนาก็ทำข้อสอบแบบสบาย ๆ ค่ะ เพราะเรียนมาถึงห้าปีแล้ว จะไม่รู้อะไรบ้างเลยก็คงจะอายลิง (อิอิ) คิดว่า ไม่กังวลกับผลสอบ เพราะสอบได้อย่างไรก็ได้เรียนอย่างนั้น อาจารย์เขาก็ตลกดีนะคะ เขาบอกว่า หากพวกคุณอ่านแล้วไม่เข้าใจ ทำไม่ได้เลย ก็ไม่ต้องกังวล เราก็จะจัดให้คุณเรียนในชั้นเริ่มต้นก็แล้วกัน
สังเกตเห็นผู้หญิงฝรั่งที่นั่งทำข้อสอบอยู่ข้างซ้ายท่าทางเครียดมากเลยค่ะ รจนาคิดว่าเขาคงทำได้ เพราะเห็นเขียนคำตอบอย่างขมักเขม้น แต่หน้าตาเขาไม่มีความสุขเลย รจนาส่งยิ้มให้ เขาก็ไม่ยอมยิ้มตอบ ก็เลยนึกสงสัยว่า เธอคงจะไม่ค่อยสบายหรือกังวลกับผลสอบก็ได้
ทางอาจารย์ประกาศให้มาฟังผลสอบพรุ่งนี้เช้าที่อีกตึกหนึ่ง ซึ่งจะเป็นที่เรียนของพวกเรา การประกาศนี้ก็จะบอกว่า เราจะได้เรียนชั้นไหน ห้องไหนค่ะ รจนาเลยถือโอกาสหลังจากสอบเสร็จ เดินไปดูตึกที่เราจะเรียนและบริเวณที่จะประกาศผลสอบ ถือเป็นการเตรียมพร้อมไปในตัว
ช่วงเรียนหนังสือนี้ รจนาเดินทางไปกลับโดยรถเมล์ค่ะ โดยปกติจะขับรถไปไหนมาไหนเอง แต่หากไปเรียนอย่างนี้ ต้องไปจอดในที่จอดซึ่งต้องเสียเงิน คิดสะระตะแล้ว คงจะเสียเงินมากกว่าค่ารถเมล์หลายเท่า ก็เลยไม่เอารถไปค่ะ
รจนาซื้อตั๋วรถเมล์แบบตั๋วเดือน เปลี่ยนมาขึ้นรถเมล์อย่างนี้ ต้องเดินจากบ้านไปป้ายรถเมล์ประมาณ ๕๐๐ เมตร และจากป้ายรถเมล์ไปมหาลัยอีก ๕๐๐ เมตรเหมือนกัน แต่หากต่อรถก็เดินน้อยลง
เนื่องจากยังเป็นหน้าร้อน อากาศยังอุ่นใช้ได้ บางวันแดดดีสวยงาม น่าเดิน รจนาจึงไม่ค่อยจะต่อรถ แต่อาศัยเดินเอา ได้ออกกำลังกายไปด้วย ได้สังเกตร้านค้าถนนหนทางต่าง ๆ ไปในตัว สนุกดีค่ะ
อ้อ พูดถึงเรื่องรถ ขอเล่าแทรกนิดนึง คือ มีเพื่อนคนไทยที่เพิ่งมาอยู่เจนีวาไม่นาน เขาสงสัยว่า เขาไปจอดรถตรงถนนที่มีเขียนคำว่า Car ไว้ตัวเบ้อเร่อ ทำไมจึงได้ใบสั่งจากตำรวจ รจนาก็เลยหัวเราะแล้วอธิบายว่า คำว่า คาร์ (car) ในภาษาฝรั่งเศสนั้นหมายถึงรถโค้ชคันใหญ่ ๆ แบบที่ขนนักท่องเที่ยวจ้า ส่วนรถยนต์ขนาดเล็กแบบที่เราขับกันเขาเรียกว่า วัวตูร์ (voiture) หรือ เอาโต้ (auto) แต่คำหลังนั้นไม่นิยมใช้แล้ว ส่วนรถประจำทางนั้นก็เรียก บุส (bus) สำหรับรถเมล์ ทรัม (tram) สำหรับรถราง และ ทราน์ (train) สำหรับรถไฟ
รจนาพบว่า ตึกที่เราจะใช้เรียนกันนั้น เขาเรียกว่า Uni Bastions แปลว่า แนวกำแพงเมือง เป็นตึกเก่าแก่สวยงามทีเดียว มีทางเข้าสองด้าน ด้านหลังก็อยู่ติดถนนที่ร่มรื่น มีต้นไม้ปกคลุม ส่วนด้านหน้าเป็นลานกว้าง มีสนามหญ้าล้อมรอบ ด้านหน้านี้จะหันไปทางกรุงเก่า มีรูปปั้นหินอ่อนหรือหินสลักของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สวิสตั้งอยู่เป็นอนุสรณ์ มีทางเดินปูด้วยหิน ซึ่งเรียงรายไปด้วยต้นเกาลัด (Châtaignier) ฝรั่งทั้งสองข้าง ร่มรื่น สงบ สวยงาม มีเก้าอี้นั่งพักตลอดเส้นทาง
กล่าวถึงการเรียน พอวันรุ่งขึ้น รจนาก็ไปดูผลสอบแต่เช้า ปรากฎว่าได้เรียนในระดับก้าวหน้า (supérieur) ค่ะ ห้องเรียนใหญ่โตเป็นห้องฟังเล็คเช่อร์รวม แต่มีพวกเรานักเรียนแค่สิบกว่าคน ดูโหลงเหลงดีค่ะ ส่วนที่เหลือเขาก็กระจายกันไป หลักสูตรที่รจนาเรียนนี้เป็นรุ่นสุดท้ายของปีนี้พอดี ดังนั้น จึงมีนักเรียนบางส่วนที่เคยเรียนรุ่นอื่นมาแล้ว ไม่ใช่หน้าใหม่เสียทั้งหมด ในห้องเรียนของรจนาก็มีคนอเมริกันสองคน สวีดิชคนนึง เตอรกิชคนนึง คานาเดี้ยนอีกสองคน อิตาเลียนหนึ่ง สแปนิชหนึ่ง เยอรมันคนนึง สวิสเยอรมันสองคน บราซิลเลียนหนึ่งคน ญี่ปุ่นคน แล้วก็ไทยหนึ่งคน (รจนา) ค่ะ เป็นชายแค่สามคน ที่เหลือเป็นหญิงค่ะ
หลักสูตรฤดูร้อนใช้เวลาสามอาทิตย์เต็ม เรียนจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเช้าเป็นภาคบังคับ-ทฤษฏีภาษา ช่วงบ่ายเป็นวิชาเลือก ได้แก่ ไวยกรณ์ชั้นกลาง และชั้นสูง การวิเคราะห์ข่าวหนังสือพิมพ์ สำนวนภาษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม การอ่านนิทาน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่น่าสนใจค่ะ แถมยังมีห้องแล็บให้หัดออกเสียงให้ถูกต้องด้วย
เพื่อนบางคนเคยเรียนมาแล้วหนึ่งรุ่น เขาก็จะรู้แกว เขาจะเรียนเฉพาะช่วงเช้า ตอนบ่ายบางทีเขาก็ไม่เรียน แต่ไปทำอย่างอื่น เพราะอาจารย์ช่วงบ่ายเขาจะไม่คอยเช็คชื่อ แต่รจนาไปเรียนทุกวิชาที่เรียนได้ และไม่เหนื่อยเกินไปค่ะ คือบางวิชาเขาก็สอนตรงกัน เราต้องเลือกเองว่า จะไปเรียนวรรณกรรม หรือจะไปเรียนประวัติศาสตร์ดี
ส่วนห้องแล็บ (Phonétique) นั้น รจนาก็จะเข้าเกือบทุกวัน ๆ ละสองคาบค่ะ เนื่องจากเห็นว่า การออกเสียงให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญมาก (เนื่องจากตัวเองออกเสียงไม่เก่ง) ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่านะคะ แต่ก็ทำให้คุ้นเคยกับการออกเสียงมากขึ้น และหูก็คุ้นว่า การออกเสียงที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร
เพื่อนในห้องรจนาไม่มีใครยอมไปเรียนออกเสียงที่แล็บเลยค่ะ หลบกันหมดเลย อาจารย์เขาไม่บังคับค่ะ แต่รจนาฟังสำเนียงหลายคนแล้ว น่าเป็นห่วงจริง ๆ เพราะเขาพูดฝรั่งเศสสำเนียงคานาเดี้ยนแจ๋วแหวว....ฟังยังไงก็ไม่เหมือนฝรั่งเศส (ฟังแล้วต้องแอบอมยิ้มในใจ) ขนาดอาจารย์ในชั้นเรียนบอกว่า เธอควรไปเข้าแล็บออกเสียงนะ เขาก็ยังไม่ยอมไปกันค่ะ นักเรียนที่นี่เขาไม่กลัวอาจารย์กัน
นักเรียนส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนจริง ๆ บางคนเรียนศิลปะ บางคนเรียนประวัติศาสตร์ บางคนเรียนภาษา บางคนเรียนอย่างอื่น (เช่น คนสวิสเยอรมัน) แต่มาใช้เวลาฤดูร้อนเรียนฝรั่งเศสเพิ่มเติม ยังเป็นคนหนุ่มสาว
อีกส่วนหนึ่งเป็นแม่บ้านเหมือนรจนาค่ะ อายุมากกว่ากลุ่มแรก บางคนก็มีลูกแล้ว บางคนกำลังท้อง (มีสองคน) บางคนเพิ่งจะแต่งงาน บางคนเพิ่งจะหมั้น เรียกว่า คุณผู้หญิงเราขยันเรียนกันดีทีเดียว
นักเรียนกลุ่มที่สองนี้จะแต่งตัวกันสวย ๆ หลายคนค่ะ (ยกเว้นรจนา) บางคนเหมือนกันหลุดออกมาจากแคตตาล็อกทีเดียว เพราะรูปร่างเขาสูง ขายาว หุ่นสะโอดสะอง ผมบลอนด์ ใส่อะไรก็ดูดี ดูเก๋ไก๋ไปหมด เห็นแล้วก็เพลินดีค่ะ
พวกนักเรียนชายนี่เขาสมกับเป็นนักเรียนชายจริง ๆ คือ เรียน ๆ ไปเดี๋ยวก็หายตัวกันไป ไม่ค่อยมาชั้นเรียน จนอาจารย์ต้องเตือนว่า หากเข้าเรียนไปครบ ๗๐ % จะไม่ได้ใบประกาศ (diplome) นะ เขาจึงไม่กล้าหายตัวไปอีก ส่วนนักเรียนหญิง สังเกตว่า มีวินัยดี ไม่ค่อยจะขาดเรียนเท่าไร
นักเรียนส่วนหนึ่งสมัครสอบ (examen) เพื่อเอาประกาศนีบัตรด้านภาษาสำหรับเทียบเข้ามหาวิทยาลัย (ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส) ด้วย จึงตั้งใจเรียนอย่างขมักเขม้น มีแบบฝึกหัดพิเศษ
ส่วนอาจารย์ (professeur) ของพวกเราเป็นสุภาพสตรีค่ะ ที่จริงเธอเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม (littérature) แต่มาสอนภาษาด้วย พวกเราสังเกตว่า เธอไม่ถนัดการสอนภาษาเท่าไรนัก แต่ก็ยังถือว่าเป็นอาจารย์ที่ดี แต่เธอไม่ค่อยจะให้การบ้าน ไม่ค่อยจะตรวจการบ้าน เลือกแบบฝึกหัด (exercices) ไม่ค่อยเก่งเท่าไร นักเรียนอย่างพวกเราก็ออกจะเบื่อ ๆ เป็นบางครั้ง แต่ก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปค่ะ รจนาเองก็พยายามขยันทำการบ้าน (devoirs) ทำแบบฝึกหัดที่มีอยู่ในหนังสือแบบเรียน ส่วนใหญ่จะทำล่วงหน้าไว้เยอะเลย เวลาเขามาทำกันจริง ๆ เราก็เลยสบาย นั่งทำอย่างอื่นไป (ที่เป็นเรื่องเรียนเหมือนกัน)
การเรียนติดต่อกันสามอาทิตย์นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งยวด รจนาสังเกตเห็นความก้าวหน้าของตัวเองได้ทันทีเลยค่ะ วันแรก ๆ จะยังพูดไม่ค่อยคล่อง แต่พอตอนท้าย ๆ ก็พูดสบาย ๆ ไม่เกร็ง และได้ออกไปนำเสนอ (présentation) หน้าชั้นเรียนด้วย (ทุกคนต้องออกหน้าชั้นหนึ่งครั้ง สังเกตว่า ส่วนใหญ่พูดได้ดี ออกเสียงถูกต้อง) เรื่องไวยกรณ์ก็แม่นขึ้น บางทีก็ยังท้วงอาจารย์ได้ ไม่ใช่ว่าจะอวดเก่งกว่าอาจารย์หรอกค่ะ เพราะบางทีมันหลงหูหลงตาก็ช่วยกันดู ส่วนใหญ่เรื่องไวยกรณ์ รจนาจะเรียนได้เร็วและแม่นมาก (ของชอบ) แต่เรื่องฟังยาว ๆ นี่จะยอมแพ้ค่ะ ฟังได้หน่อยเดียวก็หลุด เพราะไม่ค่อยมีสมาธิ ถึงกระนั้นก็พบว่า ฟังวิทยุและทีวีได้เข้าใจดีขึ้นมาก เรื่องการอ่าน ก็เข้าใจมากขึ้นและเร็วขึ้น ไม่รู้สึกเครียดเวลาต้องอ่านภาษาฝรั่งเศสเหมือนสมัยก่อน สามารถตีความสำนวนภาษาได้ใกล้เคียงมากขึ้น
สิ่งที่เราเรียนมีอะไรบ้าง? อย่างแรก เราได้หนังสือแบบเรียนระดับสูง supérieur มาหนึ่งเล่ม ในนั้นก็จะมีแบบฝึกหัดให้ทำไวยกรณ์ยาก ๆ เช่น subjonctif présent, subjonctif passé, subjonctif plus-que-parfait, lexique et proverbes, reformulation, synthèse, pronominalisation, pronoms rélatifs, pronoms démonstratifs, passé simple, passé antériorité เป็นต้นค่ะ เราเรียนเรื่องคำพังเพยนิดหน่อย การแก้ไขประโยค การย่อความข่าวจากหนังสือพิมพ์และตอบคำถาม และการลองทำข้อสอบภาษาแบบต่าง ๆ นอกจากหนังสือแล้ว อาจารย์ก็จะหาบทความมาให้พวกเราอ่าน วิเคราะห์ แล้วก็นำเสนอหน้าชั้น และหาแบบฝึกหัดไวยกรณ์ต่าง ๆ มาให้ทำด้วย นี่ว่าเฉพาะที่เรียนภาคเช้านะคะ
เขามีการเรียนการสอนทั้งวัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงบ่ายสามโมง มีช่วงพักประมาณสิบห้านาทีระหว่างแต่ละชั้นเรียน แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า ภาคบังคับของเราคือตอนเช้า ตอนบ่ายนั้นขึ้นอยู่กับเราเอง ทีแรกรจนาก็เรียนรวดตั้งแต่เก้าโมงถึงบ่ายสาม แล้วยังไปต่อห้องแล็บถึงสี่โมงครึ่งอีก ทำได้สองวันก็เหนื่อยเลยค่ะ เพราะไม่มีเวลากินข้าวกลางวันนานพอ มีแค่สิบห้านาทีต้องรีบวิ่งไปกิน นับว่าไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไร แล้วทำให้เรียนไม่รู้เรื่องตอนบ่ายด้วย ตอนหลังก็เลยปรับเป็นเรียนถึงเที่ยง และงดเข้าชั้นเรียนตอนเที่ยงถึงบ่าย ไปหาข้าวกินสบาย ๆ พักสมอง แต่ก็อ่านแบบเรียนไปด้วย ก่อนจะกลับเข้าเรียนตอนบ่ายโมงอีกครั้งหนึ่ง แบบนี้สบายหน่อยค่ะ ไม่เครียดจนเกินไป
สิ่งที่รจนาเลือกเรียนเพิ่มเติมจากไวยกรณ์ก็มีแต่เรื่องสนุก ๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ เรามีเรียนเพลงฝรั่งเศสด้วย (Chansons françaises) อาจารย์ผู้หญิงเขาก็เอาเพลงมาเปิด แล้วก็ให้เราหัดร้องทีละท่อน เปิดเนื้อให้ดูผ่านจอฉายแผ่นใสด้วย พอเราคล่องท่อนแรกก็ไปท่อนถัดไป ระหว่างเรียนร้องเพลง อาจารย์ก็จะให้พวกเราถามศัพท์ และอธิบายศัพท์ไปด้วย ทำให้เราได้ความรู้ไปพร้อมกับการร้องเพลง ตอนแรกก็จะเปิดเพลงควบไปกับเราร้อง แต่ตอนหลังจะมีเฉพาะทำนอง ไม่มีเนื้อร้อง เราก็ต้องร้องให้ถูก โอย เวลาผ่านไปสี่สิบห้านาทีไม่รู้ตัวเลยค่ะ เพลินมากเลย
อย่างต่อไป คือ เรียนรูปแบบการใช้ภาษาฝรั่งเศส (Stylistique française) การเรียนตรงนี้เราต้องรู้จักไวยกรณ์หลักอย่างดีจึงจะตามทัน อาจารย์ที่สอนเคยเป็นนักเรียนเก่าของมหาวิทยาลัย ตอนนี้ก็กลายเป็นอาจารย์สอนด้านภาษาโดยเฉพาะ เป็นผู้ชายค่ะ แกสอนสองคาบเลย ดูเหมือนจะน่าเบื่อ เพราะแกพูดเรียบ ๆ แต่สำหรับรจนา พอฟังรู้เรื่องแล้วไม่เบื่อเลยค่ะ นั่งฟังเพลิน มีคนเรียนเต็มห้องเป็นร้อยคนค่ะ (เหมือนเรียนเพลง) อาจารย์ก็อธิบายไป โดยอ้างถึงบทที่เท่านั้น หน้าที่เท่านี้ จากหนังสือที่อาจารย์เขียนเอง แล้วก็มีแบบฝึกหัดทำรวมกันในชั้น ใครรู้ก็ตอบ แล้วอาจารย์ก็บอกว่าผิดหรือถูก นักเรียนฝรั่งนี่ไม่ค่อยอายค่ะ อาจารย์ถาม เขาก็ตอบ ตอนหลัง ๆ รจนาเห็นคนอื่นไม่อาย ก็แอบตอบไปบ้างเหมือนกัน เอาเฉพาะที่ตัวเองรู้ชัวร์ แหะ แหะ หากไม่ชัวร์ก็กลัวปล่อยไก่ค่ะ
คอร์สนี้นั้น อาจารย์จะนำเอาบทกวี หนังสือของนักเขียนชื่อดัง (ในอดีต) มาวิเคราะห์วิธีใช้ภาษา และความหมายที่ซ่อนเร้น อาจารย์เขียนคู่มือ (manuel) ออกมาขายด้วย (แต่ในชั้นเรียนอาจารย์จะทำสำเนามาแจกทุกคน เรียกว่า ไม่บังคับให้ซื้อ) คู่มือนี้รจนาเอามาอ่านเล่นที่บ้าน แบบฝึกหัดของอาจารย์สนุกจริง ๆ ค่ะ คือ หากเข้าใจภาษา และความหมายซ่อนเร้น เวลาอ่านแล้วจะขำ และถึงบางอ้อตามอาจารย์ไปด้วย
อาจารย์ชายคนเดียวกันนี้เขาก็สอนไวยกรณ์ด้วย แต่อยู่คนละคาบ และมีแบบฝึกหัดดี ๆ ให้เราทำกัน อาจารย์คนนี้สอนไวยกรณ์เก่งกว่าอาจารย์ผู้หญิงประจำชั้นเรียนของเราเสียอีกค่ะ มีนักเรียนตามมาเรียนกันตรึมเลยค่ะ
อีกคอร์สนึงที่รจนาติดตามก็คือ การเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในสวิตฯ (Mouvements du féménisme en Suisse) อาจารย์คนที่สอนเป็นคนเดียวกับที่สอนร้องเพลง ท่าทางเธอเป็นหญิงห้าวหาญ พูดเสียงดังฟังชัด โดยไม่ต้องใช้ไมค์เลยทีเดียว คนเรียนกันเต็มห้อง (เป็นร้อยคน) อีกเหมือนกันค่ะ อาจารย์สอนดี ลูกเล่นเยอะ มีเทคนิคให้เราจำเหตุการณ์และปีที่สำคัญ ๆ ในด้านสิทธิสตรีของสวิตฯได้ ที่แน่ ๆ ค่ะ สตรีสวิสเพิ่งมีโอกาสได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เท่านั้นเอง น่าประหลาดใจไหมค่ะ รจนาเข้าใจว่า สตรีไทยนั้นมีสิทธิเลือกตั้งนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา และประกันการคลอดของสตรีที่ทำงานเพิ่งมีผลบังคับใช้ใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๔ และมีสตรีที่ได้รับสิทธิประโยชน์คนแรกในปี ๒๐๐๕ ค่ะ (ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงที่ทำงานจะลาออกจากงานเมื่อคลอดลูก และกลับเข้าทำงานใหม่ในภายหลัง หรือบางที่ ที่ทำงานก็เก็บตำแหน่งไว้ให้ โดยจ้างคนอื่นทำไปชั่วคราวก่อน) เป็นเรื่องน่ารู้เหมือนกันว่า ในประเทศที่ก้าวหน้าทางเภสัชกรรมและนวัตกรรมอื่น ๆ แต่สิทธิสตรีกลับงอกงามอย่างเชื่องช้าในบางด้าน
ส่วนคอร์สโปรดของรจนาคือ คอร์สที่ว่าด้วยการวิเคราะห์ข่าวหนังสือพิมพ์ค่ะ (Presse)อาจารย์ผู้หญิงสาวสอนเก่งจริง ๆ ค่ะ เป็นคนรื่นเริง หน้าตาสวย ตลก แจ่มใส ทำให้ลูกศิษย์พลอยครึกครื้นไปด้วย อาจารย์ใช้ไมค์ลอย และจะมีหนังสือพิมพ์เก่า ๆ มาแจกทุกครั้ง อาจารย์ชวนเราพลิกหน้านั้นหน้านี้ แล้วก็สอนว่า คอลัมน์แบบนี้เรียกว่า อะไร หนังสือพิมพ์แบ่งเป็นกี่ส่วน การผลิตหนังสือพิมพ์ทำอย่างไร คงเหมือนคอร์สนิเทศน์ศาสตร์ประมาณนั้นนะคะ การเรียนของเราไม่ใช่เพื่อจะรู้จักหนังสือพิมพ์สวิสเท่านั้น แต่เพื่อรู้จักศัพท์แสงต่าง ๆ ในวงการ และทำให้ได้รู้ข่าวสำคัญและสิ่งที่มวลชนสวิสสนใจอ่านด้วยค่ะ
ก็เพราะชั้นเรียนนี้แหละทำให้รจนาพบว่า ที่สวิตฯมีหนังสือพิมพ์ฟรี (journaux libres) ให้อ่านด้วย ที่เจนีวา (ภาษาฝรั่งเศส) มีสองเล่มเป็นอย่างน้อยค่ะ เขาจะมีข่าวรายวันให้อ่านทุกรูปแบบ แต่ละฉบับพยายามเน้นข่าวที่ไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ที่ต้องซื้อ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคอยากอ่าน หนังสือพิมพ์ฟรีนี้ประกาศตัวว่าเป็นกลาง และเสนอข่าวโดยไม่สอดแทรกความคิดเห็นทางการเมืองและการค้าใด ๆ ทั้งสิ้น (แต่ก็มีโฆษณาแหละนะ) แต่นักวิเคราะห์ก็เถียงว่า หนังสือพิมพ์จะเป็นกลางได้อย่างไร เพราะแค่การเลือกข่าวมาลงก็ถือว่าไม่เป็นกลางแล้ว นี่ก็เถียงกันไปนะคะ
แต่คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือผู้อ่านอย่างไร ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์ (๒.๕๐ ฟรังค์ค่ะ) แต่ข่าวสารที่ได้รับก็อาจจะด้อยคุณภาพ ขาดความละเอียดหน่อย และเป็นข่าวชาวบ้านซู่ ๆ ซ่า ๆ เสียส่วนหนึ่ง (เพื่อให้คนอยากหยิบอ่าน)
นอกจากการเรียนในชั้นแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังจัดทัศนศึกษาหลายแห่งในราคาสุดแสนประหยัด คือ เขาคิดเงินเฉพาะค่าเข้าชมสถานที่ (หากไปเยี่ยมพิพิภัณฑ์) ซึ่งก็มักจะเป็นราคานักเรียน และหากต้องขึ้นรถไฟ ก็ได้ราคานักเรียนเหมือนกันค่ะ และทางรถไฟเขาจะกันตู้โดยสารหนึ่งตู้ให้กลุ่มนักเรียนโดยเฉพาะ เดินทางสะดวกสบายมากค่ะ รจนาเลือกไปเที่ยวกับมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่อยู่เมืองสวิตฯมาห้าปีแล้ว เหตุหนึ่งเพราะได้ไปกับเพื่อน ๆ สอง มีคนนำเที่ยวและอธิบายอย่างน่าสนใจ สาม ได้ฝึกภาษาด้านการท่องเที่ยวไปด้วย
เรื่องเที่ยวนี้ รจนาจะนำมาเล่าต่างหากนะคะ ตอนนี้ว่าด้วยเฉพาะการเรียนทั้งหมดก่อนค่ะ
ใกล้จะจบคอร์ส รจนาเห็นว่าตัวเองเริ่มชำนาญพอ น่าจะหาซื้อดิกภาษาฝรั่งเศสเป็นฝรั่งเศสดี ๆ สักเล่ม ก็เลยถามอาจารย์ว่า น่าจะซื้อดิกฯยี่ห้อไหนดี อาจารย์ก็แนะนำมา ๓-๔ ยี่ห้อ รจนาก็ไปเลือกซื้อ le petit Larousse ปี ๒๐๐๗ แบบมีภาพประกอบค่ะ เป็นดิกฝรั่งเศสแปลเป็นฝรั่งเศส และมีตัวอย่างการใช้คำ การสร้างประโยคจากคำ ๆ นั้นด้วย ขนาดหน้าประมาณสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง เพราะคิดว่า เรียนมาถึงระดับนี้แล้ว ต้องใช้ดิกที่คุณภาพสูง มีคำเยอะ ๆ จะได้อ้างอิงได้ถูกต้องกระจ่างและลึกซึ้งขึ้น รจนายังมีดิกฝรั่งเศส-อังกฤษเล่มขนาดเขื่อง ๆ อยู่ ซื้อจากเมืองไทย แต่ตอนหลังพบว่า ความต้องการด้านภาษาของเรามากกว่าที่ดิกเล่มเก่าจะช่วยได้เสียแล้ว บางครั้งยังไม่มีคำที่เราต้องการค้นหาด้วยซ้ำ ก็เลยไปลงทุนซื้อเล่มใหม่ค่ะ
วันสุดท้ายที่ปิดเรียน พวกเราก็นัดกันหาของกินง่าย ๆ มากินในชั้นเรียนก่อนเลิกเรียนนิดนึงค่ะ เพื่อนอเมริกันบอกว่า อยากทานสะเต๊ะ รจนาก็เลยทำสะเต๊ะไก่ไปสมทบ ส่วนเพื่อนก็นำผักสดจิ้มน้ำจิ้มสลัดมาค่ะ บางคนก็เอาเครื่องดื่มมา พวกเราทานเลี้ยง (Fête) กันสนุกสนาน แต่ก็อย่างรีบร้อน เพราะมีชั้นเรียนประวัติศาสตร์ (Histoire) ต้องมาใช้ห้องของพวกเราต่อค่ะ ก่อนจากกันก็เลยได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
อาจกล่าวได้ว่า จากทั้งชั้นเรียน รจนามีสนิทอยู่กับคนเดียว ชื่อ มาริอันน์ เป็นคนอเมริกัน อายุรุ่นราวคราวเดียวกับรจนา มีลูกหนึ่งคน ย้ายมาอยู่ที่นี่ห้าปีกว่า ๆ เหมือนรจนาค่ะ เราก็เลยเข้ากันได้ดี เวลาเจอหน้าก็พูดภาษาฝรั่งเศสกันบ้าง อังกฤษบ้าง เลิกเรียนแล้วก็ยังติดต่อกัน
และยังมีที่ชอบพอกันอีกคนสองคนที่อายุน้อยกว่า นอกนั้นก็ไม่ได้สนิทอะไรเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะคนหนุ่มสาว (ยังโสด) เขาต่างมีความสนใจที่ต่างจากเราก็ได้ และอีกส่วนหนึ่ง ชั้นเรียนเป็นแบบนั่งหันหน้าไปทางเดียว รจนาชอบนั่งหน้าสุด ก็เลยไม่ค่อยจะได้เห็นหน้าเพื่อน ๆ ไม่เหมือนชั้นเรียนแบบโต๊ะกลม เราเห็นหน้ากันทุกวัน ย่อมสนิทสนมกันง่ายกว่า
เล่าอย่างยาวเลยนะคะ แต่ไม่ได้นำภาษาฝรั่งเศสมานำเสนอเลยค่ะ ส่วนหนึ่งเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ถนัดภาษาอังกฤษมากกว่า ก็เลยไม่อยากสร้างความเบื่อหน่ายให้คนอ่านด้วยการนำเสนออีกภาษานึงนะคะ แต่ก็แทรกศัพท์ฝรั่งเศสบางคำ พอให้ได้บรรยากาศค่ะ
เมื่อวันที่ : ๒๖ ต.ค. ๒๕๔๙, ๑๓.๓๗ น.
อยากไปบ้างจังครับ ยิ่งพี่เล่าก็ยิ่งอยากไปจนเนื้อเต้น แต่ติดที่ตนเองไม่ได้เรียนภาษานี้มา จะไปก็คงจะยาก เก็บมาเล่ากันอีกนะครับ เห็นแล้วเหมือนได้ไปจริง (Virtual Jouney)