![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...มาพาเที่ยวเดรสเด็น (Dresden) ตามสัญญาค่ะ เมืองนี้อยู่ห่างเบอร์ลินไปทางใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลค่ะ ขับรถกำลังสบาย ๆ เราใช้ออโต้บาห์น (Autobahn)...
ตอน : เหยียบเยอรมนี (สี่) - เดรสเด็น ๑
มาพาเที่ยวเดรสเด็น (Dresden) ตามสัญญาค่ะเมืองนี้อยู่ห่างเบอร์ลินไปทางใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลค่ะ ขับรถกำลังสบาย ๆ เราใช้ออโต้บาห์น (Autobahn) เยอรมัน ซึ่งกว้างขวาง ขับกันเร็ว ๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ ที่เห็น ๆ นั่นไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ กิโลก็มากมาย เขาก็ดูจะไม่ค่อยกลัวความเร็วกันเลย
เราไปกันตามสบาย แวะพักทานอาหารกลางทาง ริมทางด่วน รสชาติใช้ได้ทีเดียว แล้วจะเล่าให้ฟังในคอลัมน์ "ก้นครัวรจนา" นะคะ
เดรสเด็นเป็นเมืองบาร็อค เป็นเมืองเก่าแก่ที่ถูกทำลายจากสงครามไปไม่น้อย แต่ก็ยังคงสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญญลักษณ์ทางใจ ทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไว้มากมาย
ขนาดของเมืองเล็กกว่าเบอร์ลินมากเลยค่ะ ส่วนที่เป็นเมืองเก่านั้นเล็กพอจะเดินเที่ยวได้สบาย ๆ
สถานที่ท่องเที่ยวท็อปฮิตก็พระราชวังซวิงเก้อร์ (Zwinger) หอแสดงโอเปร่าแห่งแคว้นแซกโซนี่ นามว่า เซ็มแปร์โอแปร์ (Semperoper) แนวกำแพงวังเก่าที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์เจ้านายและไพร่ฟ้าประชาชน สะพานข้ามแม่น้ำ มหาวิหารแห่งเดรสเด็น หอศิลป์ มิวเซียม และห้องแสดงกรุสมบัติ
พวกเราไปพักกับเพื่อนชาวเดรสเด็นที่เคยไปทำงานกรุงเทพฯสมัยเดียวกับพ่อบ้าน ชื่อ แกร์ฮาร์ด
คนเยอรมันเขาก็มีแบ่งแยกกันเล็ก ๆ คือ คนที่มาจากเดรสเด็นหรือเบอร์ลินจะถือว่าเป็นคนเยอรมันตะวันออก ที่มีฐานะทางสังคมเหมือนจะด้อย ๆ กว่าชาวเยอรมันตะวันตก (แถบบอนน์ ฮัมบูร์ก แฟรงเฟิร์ต ฯลฯ) ด้วยความที่ปิดประเทศมานาน และโอกาสที่จะได้บุกเบิกไปทำงานกับองค์การสหประชาชาตินั้นมีไม่มากนัก
ดังนั้นจึงมีชาวเยอรมันตะวันออกที่ทำงานอยู่ในองค์การแรงงานที่กรุงเทพฯในยุคที่พ่อบ้านอยู่เมืองไทยแค่คนเดียว คือ แกร์ฮาร์ด
ที่เมืองไทยตอนนั้นภรรยา(ชาวเยอรมัน)ของแกร์ฮาร์ดป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง ลูกชายก็เพิ่งเข้าวัยสิบขวบ ชีวิตเต็มไปด้วยความกดดัน แกร์ฮาร์ดรู้สึกอยากให้ภรรยาไปรักษาที่ยุโรปในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะเชื่อมือหมอมากกว่า (คงจะเรื่องภาษาด้วย)
ก็ได้พ่อบ้านที่รู้เรื่องกฎระเบียบพนักงานดีช่วยวิ่งเต้นให้จนแกร์ฮาร์ดได้ย้ายกลับเจนีวาในที่สุด และหลังจากนั้นไม่เกินปี ภรรยาก็เสียชีวิต ได้ฝังร่างไว้ที่เดรสเด็น
ต่อมาแกร์ฮาร์ดก็เกษียณ (หกสิบสอง) และทำงานรับจ้างเป็นที่ปรึกษาตามความถนัด (วิศวกรไฟฟ้า) อยู่ในเจนีวาต่อมาอีกหลายปี พอพวกเราย้ายไปก็ได้เจอกัน เขาก็มางานแต่งงานของเรา มีอะไรที่พ่อบ้านต้องการความช่วยเหลือในด้านวิศวกรและไฟฟ้า แกร์ฮาร์ดก็ช่วยเหลือเป็นอย่างดี คงเพราะส่วนหนึ่งรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพ่อบ้านด้วย
และพ่อบ้านก็ได้พูดให้รจนาฟังบ่อย ๆ ว่าเวลาปฏิบัติกับเพื่อนร่วมชาติที่มาจากฝั่งตะวันออก เราจะต้องระมัดระวังตัว ไม่คุยอวดโอ้ตัวเรา เพราะเขาจะรู้สึกด้อยอยู่เสมอ (จะคล้าย ๆ คนไทยกับคนลาวหรือเปล่า) ทว่า รจนาคิดว่า สิ่งนี้ไม่เป็นปัญหาระหว่างพ่อบ้านกับแกร์ฮาร์ดค่ะ
แกร์ฮาร์ดย้ายจากเจนีวากลับเดรสเด็นในที่สุด เพื่อให้ลูกชายที่เป็นหนุ่มแล้วได้กลับไปเรียนหนังสือที่บ้าน รับใช้ประเทศชาติต่อไป เขาชวนพวกเราให้ไปเที่ยวหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เลยได้ไปสมใจ
เขาเพิ่งซื้อแฟลตใหม่ อยู่ชั้นหก (ไม่มีลิฟต์) อยู่นอกเมือง เป็นย่านที่อยู่อาศัยราคาถูก ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเดรสเด็นยังต่ำมาก เพราะไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ แต่กระนั้นก็สะอาด น่าอยู่ อยู่บนเนินนอกเมือง มองเห็นทิวทัศน์ในกรุงเก่าได้แต่ไกล ๆ
แกร์ฮาร์ดหาที่นอนหมอนมุ้งใหม่ไว้ต้อนรับเรา เพราะเขาเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่ถึงปี เขาเป็นช่างไม้ช่างก่อสร้างด้วย ก็เลยทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราซาบซึ้งในน้ำใจที่ต้อนรับเราอย่างดีมาก ๆ เลยค่ะ เรียกว่าในฐานะชายโสด (มีแฟนใหม่ แต่ไม่ได้แต่งงานกัน ต่างคนต่างอยู่) เขาก็ทำหน้าที่เจ้าบ้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ที่เล่ามานี่ก็เพียงจะอธิบายชีวิตชาวเยอรมันที่เราอาจจะไม่รู้จัก ซึ่งจะว่าไปชีวิตคนในโลกนี้ก็ไม่แตกต่างกันนัก มีรัก มีโศก มีพบปะ มีพลัดพราก มีโยกย้ายตั้งหลักฐาน มีน้ำใจ มีน้ำมิตร
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เราไปถึงตอนบ่ายแก่ ๆ อากาศยังพอไหวอยู่ ฝนยังไม่ตก แกร์ฮาร์ดก็เลยพาไปเที่ยวริมน้ำก่อน แล้วก็พาไปทานไอศครีมที่สวนกุหลาบ (Rose garden) ทำนองสวนสามพรานบ้านเรา
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แล้วก็ชมสะพานข้ามแม่น้ำเอลเบ้ที่ทอดผ่านสู่กรุงเก่า พ่อบ้านบอกรจนาว่า หากเราล่องเรือไปตามลำน้ำนี้ เราก็จะไปออกที่ทะเลเหนือตรงบ้านแม่สามีรจนาพอดีเลยค่ะ
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เดรสเด็นนี้อยู่ในแคว้นแซกโซนี่ (Saxony) ที่ถือว่าเป็นแผ่นดินสูงอันอุดมสมบูรณ์ อยู่ในใจกลางทวีปยุโรป มีแม่น้ำเอลเบ้ (Elbe) ไหลผ่าน ถือเป็นเส้นทางการค้าเส้นตรงจากยุโรปตะวันออกไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติค
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บ้านเรือนแบบชาวเดรสเด็น
ในช่วงยุคกลาง แคว้นแซ็กโซนี่เต็มไปด้วยเงิน ดีบุก ทองแดง เหล็ก และอัญมณีมีค่า ทำให้แว่นแคว้นนี้กลายเป็นศูนย์กลางของช่างฝีมือและอุตสาหกรรมเบา พระราชวงศ์แห่งแซกโซนี่มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น "ผู้คัดสรร หรือ elector" เพราะว่ามีเพียงผู้ปกครองแคว้นเจอรมานิก (แถบที่พูดภาษาเยอรมัน) เพียงเจ็ดแว่นแคว้นเท่านั้นที่มีสิทธิคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Emperor)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ตัวกรุงเก่าเมืองมองจากสะพาน
เดรสเด็นกลายมาเป็นเมืองสำคัญก็ในช่วงท้ายของประวัติศาสตร์แห่งแซกโซนี่ ในราวปี ค.ศ. 1485 ที่บรรดาพระราชาผู้คัดเลือกทั้งหลายได้แปรพระราชฐานมาอยู่ ณ เมืองนี้ ทำให้เดรสเด็นพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง ในแง่ของการสะสมงานศิลปะ และในแง่นวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรม นับจาก ค.ศ. 1697 ถึง 1763 เมื่อพระราชาผู้คัดเดลือสองพระองค์แห่งแคว้นแซกโซนี่ก็เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นผู้ปกครองมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปในยุคนั้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
อนุเสาวรีย์ของพระเจ้าจอห์นนักกวี หน้าพระราชวังซวิงเก้อร์ (Zwinger) บริเวณลานแห่งโรงละคร
กล่าวกันว่าพระมหากษัตริย์นักกวีพระองค์นี้ชื่นชมสนทนาธรรม เอ๊ย สนทนากวี กับคุณหมอคาร์ลกุสต๊าฟ คารุส ซึ่งเป็นทั้งหมอ ทั้งกวี ทั้งจิตรกรโรแมนติก โดยพระองค์เป็นผู้แปลและปรับแต่งผลงานที่ชื่อว่า "Divine Comedy" ของคุณหมอคารุส ซึ่งมีการตีพิมพ์โดยในนามปากกาว่า ฟิลาเลเตส ซึ่งได้ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานแปลงานของดังเต้เป็นภาษาเยอรมันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
พระราชวงศ์สุดท้ายสิ้นสุดลงใน ปี ค.ศ. 1918 เมื่อแคว้นแซกโซนี่รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีในยุคใหม่ แม้ว่าเมืองเดรสเด็นจะได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบียบของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ แต่ศิลปะสมบัติได้มีการเก็บผนึกไว้อย่างดีและอยู่รอดมาให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน จนทำให้เดรสเด็นเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของเยอรนีแห่งหนึ่งทีเดียว
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แนวกำแพงของ The House of Wettin ที่ทำตัวกระเบื้องเคลือบชั้นดีถึง ๒๔,๐๐๐ ชิ้น
กำแพงนี้บอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์ผู้คัดเลือก (Electors) พระราชา และเจ้าชีวิต จำนวนทั้งสิ้น ๓๕ พระองค์ โดยทำเป็นภาพผนังกำแพงก่อนโดยวิลเฮล์ม วัลเธ่อร์ แต่พอเห็นว่าจะทนดินฟ้าอากาศไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องเคลือบแทนค่ะ โชคดีที่ไฟสงครามจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นไม่ได้ทำลายแนวกำแพงนี้ให้เสียหายมากจนไปนัก
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บริเวณหน้ามหาวิหารที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ในวันอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน บริเวณนี้เรียกขานกันอีกนามหนึ่งว่า ลานแห่งโรงละคร (Theatre Square)
ว่ากันว่าเป็นเมืองหนึ่งในสามเมืองเอกของเยอรมนีที่ชาวเยอรมันอยากจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณ คงเพราะมีของเก่า ๆ ทั้งนั้น
รจนามาคิดเล่น ๆ ก็เห็นว่าเมืองนี้สวยงามสงบจริง ๆ น่ามาพักใจเสียนี่กระไร