![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...รจนาก็เป็นคนหนึ่งที่ขี้เกียจออกไปเจออะไรหนาว ๆ พ่อบ้านต้องเข็นให้ออกไปเดินเล่นตอนเย็น ๆ บ่อย ๆ พอออกไปแล้ว กลับรู้สึกสดชื่น ติดใจ ไม่อยากจะหยุดเดินค่ะ...
ตอน : ย้อนไปย่ำหิมะ
ที่จริงตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี ตอนอากาศยังหนาว ๆ มีหิมะปกคลุมภูมิประเทศขาวโพลนแต่โพสต์ครั้งนึงแล้วหลุด ก็เลยหยุดไปค่ะ
ช่วงนี้มีเวลามาสู้ใหม่อีกครั้ง แต่ตอนนี้กลายเป็นหน้าร้อนไปเสียแล้ว
ใครอ่านไปหนาวไปก็ต้องขออภัยด้วย
ชีวิตคนเมืองหนาว พอหน้าหนาวก็ต้องหากีฬากลางแจ้งเล่น เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แข็งแรง และจะได้ต่อสู้กับอากาศหนาวได้
กีฬาที่นิยมก็ไม่พ้นสกีทั้งแบบสลาลม (อัลไพน์) กับแบบข้ามทุ่ง (ครอสคันทรี่) หรือกีฬากับหิมะแบบอื่น ๆ เช่น สเก็ตบอร์ด เลื่อนน้ำแข็ง (สำหรับเด็ก ๆ) หรือเดินในหิมะโดยใช้รองเท้าพิเศษ (แร็กเก็ตต์) หรือออกไปเดินบนภูเขา
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ยิ่งหนาวยิ่งต้องออกไปสู้กับความหนาวค่ะ โดยเฉพาะเวลาหิมะตก แต่แดดออกดี ๆ การอยู่ท่ามกลางหิมะที่สะท้อนแสงสว่างจะทำให้ได้รับความอบอุ่นดี
รจนาก็เป็นคนหนึ่งที่ขี้เกียจออกไปเจออะไรหนาว ๆ ค่ะ ในปีแรก ๆ นั้นไม่อยากย่างเท้าออกจากบ้านเลย พ่อบ้านต้องเข็นให้ออกไปเดินเล่นตอนเย็น ๆ บ่อย ๆ ตอนแรกก็จะต่อรองไม่อยากออกไป แต่พอออกไปแล้ว กลับรู้สึกสดชื่น ติดใจ ไม่อยากจะหยุดเดินค่ะ
พอเวลาผ่านไปสองสามปีก็เริ่มปรับตัวได้ และเข้าใจว่า เราจะอยู่พ้นหน้าหนาวได้ก็ต้องรู้จักออกกำลังกายให้เหมาะกับอากาศด้วย และแต่งกายให้เป็นด้วย
ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งซึ่งเป็นนักเดินเขาตัวยง ก็มาชักชวนออกไปเดินบนภูเขากัน รจนาก็รับปากแบบอิดออด(ตามเคย)
เพื่อนร่วมทางวันนั้นมีชาวเยอรมันทั้งหมดสี่คน ได้แก่ หัวหน้าทีมชื่อว่า ซูซานเน่ (ไปเดินบ่อย) กับลูกทีมได้แต่พ่อบ้าน คุณคริสตอฟ และคุณยาน ทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมงานกับเรา
พอถึงวันเดินทาง เราก็ออกจากบ้านหลังอาหารเช้า แต่งตัวอบอุ่น เอาเสื้อกันหนาวหนา ๆ แบบมีหมวกกันลมได้ไปด้วย มีรองเท้าบู้ตสำหรับเดินในหิมะ ซึ่งจะหนา อุ่น แต่น้ำหนักเบา มีขนสัตว์บุข้างใน ถุงเท้าอย่างหนาเผื่อไปด้วย และไม่ลืมหมวกขนสัตว์ที่อบอุ่น
ทั้งหมดนี้เราค่อยไปใส่ตอนจะออกเดินค่ะ ไม่ต้องใส่ตอนนั่งรถยนต์ เพราะรถมีเครื่องทำความร้อน หากใส่ไปเดี๋ยวนั้นจะเหงื่อแตกเสียก่อนได้เดิน เวลานั่งในรถยนต์ เราก็แต่งกางเกงอุ่น ๆ (ผ้าขนสัตว์) มีถุงน่องหนา ๆ (เหมือนถุงเท้า) ข้างใน ใส่เสื้อยืดแขนยาว กับเสื้อไหมพรม (พูลโอเวอร์) หนึ่งตัวก็พอ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
รจนาเอากระเป๋าสะพายเล็ก ๆ ไปหนึ่งใบ ใส่น้ำดื่มขวดเล็กกับของกินจุกจิก ใส่กล้องดิจิตัลตัวจิ๋ว นอกนั้นก็มีแค่บัตรประจำตัวกับเงินนิดหน่อย มากกว่านั้นก็หนัก จะเดินไม่ไหวค่ะ
ที่เล่าเสียละเอียดเพื่อจะให้เห็นว่า การใช้ชีวิตในหน้าหนาวนั้นมีขั้นตอนยุ่งยากมากมายแค่ไหน
วันนั้น เพื่อนพาข้ามไปฝรั่งเศส ไปลานสกีที่ชื่อว่า ปราซ์ เดอ ลีส์ (Praz de Lys) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาม็องต์บล็องก์ อยู่ในเมืองทานัญน์ส์ (Taninges) ขับรถไปจากเจนีวาสัก ๘๐ กิโล ขึ้นเขาไปสัก ๑๐ กิโลได้ค่ะ
ระหว่างทางก็เห็นร่องรอยอุบัติเหตุ ถนนลื่น มีรถตกไปในเหวข้างทาง น่าหวาดเสียวไม่น้อย
ลานสกีที่พวกเราไปเดินเล่นนี้ มีลู่เล่นสกีอัลไพน์ (ออกเสียงว่า อัลปาน์ ในภาษาฝรั่งเศส) ความยาวถึง ๖๐ กิโลเมตร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๑,๕๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ เมตร มีลู่สกีทั้งหมด ๕๑ ลู่ มีรถตะกร้าแขวน (นั่งได้หนึ่งคน) ๒๖ ตัว สำหรับนั่งขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อจะได้เล่นสกีดิ่งลงมา (ไม่ต้องเดินขึ้นไปเอง เพราะชันมากค่ะ) รถตะกร้านี้ที่จริงก็คือแกนสำหรับเอาขาสอด มือจับก้านกระเช้าไว้ให้แน่น แล้วก็จะมีการดึงขึ้นไปบนยอดเขาในระดับไล่เลี่ยกับพื้นดิน หากตกมาก็ไม่เจ็บตัว (แต่ขายหน้าเขาค่ะ) เป็นแบบวนขึ้นลงตลอดเวลา ช่วงฤดูสกี กระเช้าที่ว่านี้ก็เรียกว่า ไม่ว่างคนค่ะ คิวยาวเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ราคาขึ้นกระเช้าจะรวมอยู่ในตั๋วสกี
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แผนที่ลานสกี
พวกเราจะเห็นบ่อย ๆ เวลา นักเล่นสกีที่ยังไม่ชำนาญ ก้าวขึ้นนั่งยังไม่ทันจะลงตัวดี กระเช้าก็เคลื่อน ทำให้ตกลงมาแอ้งแม้ง หน้าแตกหน่อย ๆ แต่ที่จริงก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครหัวเราะเยาะใครค่ะ
การแบ่งระดับความยากง่ายของลู่สกี เขาจะให้ไว้เป็นสีค่ะ สีเขียวง่ายสุด ไม่สูงชัน แล้วก็ยากขึ้นตามลำดับคือ สีน้ำเงิน สีแดง และก็สีดำค่ะ
ส่วนสกีข้ามทุ่ง หรือครอสคันทรีในภาษาอังกฤษ และสกีเดอฟ็งด์ในภาษาฝรั่งเศสนี้ ทางลานสกีปราซ์เดอลีส์ เขาก็มีความยาวรวม ๖๐ กิโลเมตรเหมือนกันค่ะ แบ่งระดับความยากง่ายเหมือนสกีอัลปาน์ แต่มีลู่สำหรับหัดเดิน หัดเล่นด้วย
ปกตินักเล่นสกีนั้น เขาจะซื้อตั๋วเป็นฤดูกาล แล้วก็มาเล่นทุกสุดสัปดาห์ จนกว่าตั๋วจะหมดอายุ ส่วนพวกสมัครเล่นก็จะซื้อตั๋วเป็นครั้ง ๆ เช่น ตั๋วหนึ่งวัน หรือตั๋วครึ่งวัน เอาแขวนคอไว้ให้เขาตรวจ (ซึ่งที่จริงก็ไม่มีใครตรวจเท่าไร) ส่วนมืออาชีพที่ซื้อตั๋วเป็นฤดูนั้น จะได้เป็นแถบแบบมีใยเหนียว ๆ สำหรับติดกับแขนเสื้อสกีค่ะ สะดวกดีไม่เกะกะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โรงเรียนสอนเล่นสโนว์บอร์ด
ที่นี่ มีลู่สำหรับคนเดินเท้าโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ต้องเสียเงินค่ะ ไม่ต้องใช้ตั๋ว เขารู้ว่าเราแค่มาเดินเล่น เพราะเราไม่มีรองเท้าสกี ไม่มีไม้ค้ำตัวสกี ลานเดินเล่นของที่นี่มีความยาวรวมกัน ๓๐ กิโลเมตรค่ะ และจะเห็นวิวทิวทัศน์อันงดงามตลอดเส้นทางเดิน มีสูงชัน และลาดต่ำเดินสบายสลับกันค่ะ
วันนั้น รจนากับเพื่อน ๆ ไปเดินแล้วรวมกันได้สัก ๖ กิโลค่ะ เดินขึ้นยอดเขาเสียครึ่งนึง เดินลงเสียครึ่งนึง
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
คณะพรรคย่ำหิมะ เพื่อนบางคนเดินทางมาไกลเพื่อมาประชุม ไม่ได้เตรียมรองเท้าและชุดสำหรับเดินเขามาด้วย ก็เลยใส่เท่าที่มีค่ะ ได้แก่รองเท้าหนังกับโอเว่อร์โค้ท ท่าทางเขาก็สบายใจดี ไม่หนาวเท่าไร คาดว่าคงเคยชินกับความหนาวเย็น
การเดินกลางหิมะนี่ สำคัญคือควรเป็นวันที่แดดดีค่ะ เพราะเดินแล้วจะอุ่นสบาย (แต่ต้องเดินนะคะ) หากเป็นวันครึ้มฟ้าครึ้มฝน หรือมีลมจัดละก้อ จะไม่สนุกเลยค่ะ ทั้งหนาว ทั้งเปียก พาลจะเป็นหวัดกันได้ง่าย ๆ
วันที่พวกเราไปเดินนั้น โชคดีจริง ๆ แดดแจ่มตลอดในช่วงเดินค่ะ หากจะมีเมฆบ้างก็ไม่มาก แต่พอเดินเสร็จแล้วไปกินข้าว อากาศก็เริ่มมัวซัวค่ะ พวกเราดีใจที่เดินทันอากาศดี ๆ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วันฟ้าแจ่ม แดดสวย ขุนเขางดงาม
พอหาที่จอดรถได้ แต่ละคนก็เอารองเท้ามาใส่ เอาเสื้อกันหนาวอย่างกันลมได้ (ไม่จำเป็นต้องหนาหนักมาก เพราะพอเดินไปสักพักจะทำให้หนักตัวเกินไป) เอาผ้าพันคออุ่น ๆ พอกเข้าไป เอาหมวกไหมพรมมาสวมให้ทับหูทั้งสอง จะได้ไม่หนาวมาก แล้วก็เอาแว่นกันแดดมาใส่ค่ะ เพราะหิมะจะสะท้อนแสงทำให้เคืองตาได้ แต่ไม่มีก็ไม่ผิดกติกาอะไร
ตอนเดินแรก ๆ นั้น ยังหนาวอยู่ เพราะร่างกายยังไม่อุ่นค่ะ อุณหภูมิบนยอดเขาสูง ๑,๕๐๐ เมตรขึ้นไปนั้น ต่ำกว่า ๐ องศาแน่นอนค่ะ เดินทีแรก ๆ ยังเป็นพื้นราบ พวกเราก็จ้ำอ้าวกัน เพื่อให้ร่างกายวอร์มอัพเต็มที่
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
พอเดินไปได้สักกิโลกว่า ๆ ก็เริ่มเหนื่อยนิด รจนาก็ชักไม่อยากจะเดินต่อ หัวหน้าทีมก็หันมาถามว่า เราจะเดินไปทางโน้นดีไหม หรือจะพักทานข้าวกันก่อน (ยังไม่เที่ยงดี) ทีมทั้งหมดห้าคนก็หันมาถามรจนาโดยเฉพาะ คงจะเวทนาว่าเป็นผู้หญิงไทยตัวเล็ก ๆ ไม่ชินกับหิมะ รจนาพิจารณาดูแล้ว ยังเร็วเกินไปที่จะทานข้าวเที่ยง (ปกติวันหยุดเราจะทานกันเกือบบ่ายสอง) และคิดว่า อย่ากระนั้นเลย อย่าให้นักเดินเขาชาวเยอรมันหาว่า เราใจเสาะเลย จะเสียชื่อหญิงไทยเสียเปล่า ๆ
ก็เลย (กัดฟัน) บอกว่า เดินต่อจ้ะ
แล้วพวกเราก็เดินดุ่มขึ้นเขา เดินไปคุยไป บางทีรจนาหันกลับไปมองเห็นวิวสวย ๆ ก็คว้ากล้องมาถ่ายรูป (ถือโอกาสพักเหนื่อย) พ่อบ้านก็คอยเดินใกล้ ๆ ตามหลัง คงกลัวรจนาจะหล่นไหล่เขาไปเสียก่อน เดี๋ยวจะไม่มีคนทำกับข้าวให้กิน

พอเดินไป เส้นทางก็ชันขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนก็เหนื่อย หอบ ไม่มีใครคุยกันเท่าไร ร่างกายก็อุ่นจัดขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นก็เริ่มถอดเส้นตัวนอกออก มาพาดกับแขนบ้าง มาผูกกับเอวบ้าง รจนาก็ถอดเสื้อตัวนอกเหมือนกันค่ะ ได้พ่อบ้านช่วยถือให้ตอนเส้นทางชันมาก ๆ (อย่างนี้สิ เรียกว่า รักกันจริง) ทางเดินชัน (แต่กว้าง) จนรจนาต้องเอามือทั้งสองมาไขว้หลัง และเดินค้อมไปข้างหน้าเหมือนคนแก่
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ทุกคนหันมาเห็นท่าเดินของรจนาก็หัวเราะ และก็คว้ากล้องมาถ่ายรูปเสียหนึ่งที
พอเดินไปสูงมากพอควร หัวหน้าทีมก็คงเห็นใจ เลยสั่งให้หยุดพัก พวกเราก็นั่งบนหิมะริมทางนั่นแหล่ะค่ะ อ้อ เอาเสื้อกันหนาวปูเสียก่อน ก้นจะได้ไม่เย็นเกิน หิมะนุ่มตัวดี ไม่ละลายค่ะ
แล้วหัวหน้าทีมก็ควักน้ำมาดื่ม และแบ่งให้กับลูกทีมด้วย รจนากับพ่อบ้านมีน้ำของตัวเอง จากนั้นหัวหน้าทีมก็เอาขนมถุง ๆ มาแจก เป็นลูกเกตกับถั่วแห้ง ๆ ซึ่งให้พลังงานและน้ำตาลดี เหมาะกับการเดินที่เหน็ดเหนื่อยจริง ๆ นึกขอบคุณซูซานเน่ที่รอบคอบมาก ๆ
พวกเราดื่มน้ำ กินขนมนิดหน่อยพอให้มีแรง นั่งพักจนร่างกายเริ่มเย็น ต้องคว้าเสื้อมาสวม
จากนั้นก็ค่อย ๆ เดินกลับลงมาค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ทางเดินลงนึกว่าจะง่าย ไม่ง่ายค่ะ โดยเฉพาะตรงที่ชัน ๆ เราจะต้องเดินอย่างระวัง ไม่ให้ลื่นล้ม ฝรั่งเขาเดินตัวตรง ลงเขากันสบาย ๆ รจนาค่อย ๆ เดินเอียงข้างค่ะ แบบว่าเดินไม่ค่อยเก่ง แต่ก็ผ่านพ้นตรงที่ชัน ๆ ลงมาได้ในที่สุด
กว่าจะเดินไปถึงร้านอาหารก็ทั้งเหนื่อยทั้งหิวกันทุกคน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ร้านอาหารก็คนแน่นมากเลยค่ะ เพราะเป็นเวลาทานพอดี เป็นอาหารแบบเดินเข้าคิวไปสั่งมา กว่าจะได้ทานก็นานพอควร อาหารก็รสชาติอย่างงั้น ๆ ค่ะ เป็นพวกมันฝรั่งทอด ไส้กรอก เนื้อสเต้กรสชาติดีกว่ากระดานนิดนึง กับขนมหวาน ๆ
แต่ก็เข้าใจเขาค่ะ ร้านอาหารในลานสกีเช่นนี้ เขาเน้นของที่ทำเร็ว ทำง่าย ให้พลังงาน มากกว่าความอร่อย
การเดินก็สิ้นสุดลง พวกเราถามกันว่า เส้นทางที่เดินนี่สักกี่กิโล หัวหน้าทีมบอกว่า คงจะสัก ๖ กิโลได้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
รจนาฟังแล้วก็ยิ้มแป้นไปเลยค่ะ อุ๊ย วันนี้ฉันเดินขึ้นเขาตั้ง ๖ กิโล ยังไม่มีอะไรบุบสลาย ขายังอยู่ดีทั้งสองข้าง
คืนนั้น นอนหลับมีความสุขค่ะ ได้ออกกำลังกาย ได้อยู่กลางแจ้งในที่สวยงาม ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ที่น่ารัก และได้เอาชนะความเกียจคร้านและความกลัวหนาวของตัวเอง
เมื่อวันที่ : ๐๑ ก.ย. ๒๕๔๙, ๑๕.๐๒ น.
แวะมาแอบดูคุณรจนาย่ำหิมะค่ะ น่าสนุกนะคะ
อิอิ..แต่โชคดีนะคะไม่ปวดขาในวันรุ่งขึ้น แฮ่ๆ..