![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...คงต้องกล่าวว่ากว่าจะมาถึงวันงานนั้น เฟอร์ดี้ต้องยุ่งยากไม่น้อย เพราะเป็นพ่อหม้าย ต้องจัดการงานคนเดียว ลูกก็ไม่มี พี่น้องก็อยู่ไกล ต้องวุ่นวายทั้งเลือกสถานที่ เลือกร้านอาหาร ส่งบัตรเชิญ...
ตอน : ไปปาร์ตี้วันเกิดเพื่อน (สอง)
อย่างที่เล่าไปตอนก่อนนะคะว่า เดือนกรกฎาคมมีวันเกิดเพื่อนสองคน อายุครบ ๖๐ ขวบทั้งคู่แต่ละคนก็จัดงานใหญ่ มีญาติมิตรไม่ต่ำกว่า ๕๐ คน คนแรกเล่าไปแล้วเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษชื่อ โรซี่ มีเพื่อน ๆ และญาติจากเกาะอังกฤษบินมาร่วมงาน สมทบกับเพื่อน ๆ ในเจนีวาและเขตใกล้เคียงก็ร่วม ๑๐๐ คน งานสนุกสนาน อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ เค้กวันเกิดน่ารักมาก เจ้าของงานขอให้เราช่วยบริจาคให้การกุศลเป็นของขวัญค่ะ
ส่วนงานที่สองเป็นของเพื่อนชาวเยอรมัน เป็นสุภาพบุรุษค่ะ ชื่อคุณเฟอร์ดินันด์ เพื่อน ๆ เรียกชื่อเล่นว่า เฟอร์ดี้ (ไม่ใช่เฟอร์กี้แสนเปรี้ยวนะคะ) มีแขกประมาณ ๕๐ คน ส่วนหนึ่งเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงในเจนีวา อีกส่วนหนึ่งเป็นก๊วนเล่นกอล์ฟที่รักใคร่กันอีก อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อนเก่าและครอบครัวจากบอนน์ (เยอรมนี) ค่ะ
คงต้องกล่าวว่ากว่าจะมาถึงวันงานนั้น เฟอร์ดี้ต้องยุ่งยากไม่น้อย เพราะเป็นพ่อหม้าย ต้องจัดการงานคนเดียว ลูกก็ไม่มี พี่น้องก็อยู่ไกล ต้องวุ่นวายทั้งเลือกสถานที่ เลือกร้านอาหาร ส่งบัตรเชิญ
เฟอร์ดี้เช่าบ้านอยู่ในบริเวณคฤหาสน์หลังใหญ่ริมแม่น้ำโรน บริเวณบ้านสวยงามมาก และเฟอร์ดี้ก็อยากจะจัดงานเลี้ยงอาหารเย็นในสวนข้างบ้าน เพื่อให้แขกได้บรรยากาศอย่างเต็มอิ่ม งานนี้กำหนดจัดวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม จะกำหนดวันล่วงหน้าไว้ประมาณ ๓ เดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ค่ะ บางคนกำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นปีเลย
แต่อากาศในยุโรปนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยจริง ๆ เดือนสิงหาคมอาจจะร้อนสุด ๆ หรือร้อนปนฝนก็ได้ เรากำหนดวันไว้ล่วงหน้าแล้ว เป็นช่วงฤดูร้อน แต่ฝนก็พร้อมจะตกได้ตลอดเวลา เฟอร์ดี้บอกพวกเราว่า นอนไม่หลับอยู่หลายคืน เพราะฝันร้ายว่ามีฝนตกระหว่างจัดงาน

เพื่อน ๆ คนไทยอาจสงสัยว่า ทำไมต้องจัดงานนอกบ้าน ต้องเข้าใจนิดนึงค่ะว่า เวลาหน้าหนาวหรือหน้าอื่น ๆ ผู้คนต้องอุดอู้อยู่ในบ้าน หน้าร้อนเป็นเวลาเดียวที่จะได้อยู่กลางแจ้ง ให้ผิวพรรณได้รับวิตามินดี ได้ชื่นชมกับความงามของธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ และแดดหน้าร้อนของเมืองนอกนั้นไม่รุนแรงเท่ากับเมืองไทย ฝรั่งจึงชอบใช้ชีวิตนอกบ้านมาก และตอนค่ำ ๆ กว่าพระอาทิตย์จะตกดินก็สามสี่ทุ่ม การอยู่กลางแจ้ง หรืออยู่นอกบ้านจึงว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ
รวมทั้งอาคารบ้านเรือนห้องจัดเลี้ยงต่าง ๆ นั้นมักจะอุดอู้และไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฝรั่งเองโดยทั่วไปก็ไม่นิยมเครื่องปรับอากาศ ชอบอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านมากกว่า การไปจัดงานในห้องจัดเลี้ยงจึงไม่เป็นที่นิยมกันเลยค่ะในช่วงหน้าร้อน
กลับมาเล่าเรื่องงานวันเกิด
สามอาทิตย์ก่อนจัดงานเป็นช่วงที่อากาศร้อนมาก แดดแจ๋ทุกวัน เฟอร์ดี้กังวลมาก เพราะรู้ว่าหากอากาศดีติด ๆ กันหลายอาทิตย์ ก็จะเปลี่ยนเป็นพายุฝนได้ง่าย ๆ เฟอร์ดี้เป็นนักบินเครื่องร่อน (เครื่องบินแบบไม่มีเครื่องยนต์ อาศัยมวลอากาศร้อน หรือ เทอร์มัล ในการเลี้ยงตัวอยู่บนอากาศ) จึงอ่านสภาพอากาศเก่ง
ส่วนพวกเราก็คอยติดตามพยากรณ์อากาศแบบใจจดใจจ่อ
แล้วก็เป็นจริงดังที่กังวลค่ะ กล่าวคือทั้งอาทิตย์ก่อนจัดงาน ฝนตกพรำ ๆ ตลอด จนเพื่อน ๆ หลายคนป่วย และอุณหภูมิก็ลดลงจาก ๓๐ องศากว่า ๆ มาเหลือ ๑๘ องศา ซึ่งเย็นเกินไปสำหรับการจัดเลี้ยงข้างนอก
พอวันศุกร์ฝนก็ยังไม่ยอมหยุดตก เฟอร์ดี้ก็เลยยอมแพ้ ประกาศให้เพื่อนฝูงทราบว่าจะจัดงานในห้องจัดเลี้ยง แต่จะเลี้ยงเครื่องดื่มที่บ้านในสวนก่อน
พอเช้าวันเสาร์อากาศกลับดีราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ ฟ้าแจ่ม แดดใส ทั้งวัน พวกเราก็นึกเสียดายแทนเฟอร์ดี้ว่า ต้องไปจัดงานในตึก แต่พอตกเย็น ฟ้าครึ้ม อากาศยังเย็นเหมือนเดิม พวกเราไปถึงงานเลี้ยงที่บ้านประมาณเกือบหกโมง ฝนลงเม็ดเปาะแปะ ลมพัดแรง อากาศเย็นลง ใส่เสื้อสองชั้นก็ยังหนาว
ถึงตอนนั้น เฟอร์ดี้และพวกเราทุกคนสรุปกันว่า ดีแล้วที่ย้ายงานเข้าไปไว้ในตึก
ที่เล่าเสียมากมายก็เพื่อให้เห็นภาพว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศมากมายเพียงไหนนะคะ เรียกว่า ต้องรอความปรานีจากฟ้าดินจริง ๆ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ห้องจัดเลี้ยงค่ะ และโต๊ะทานอาหาร เขาจัดโต๊ะได้เรียบง่ายน่ารักมาก คือ เขาเอาริบบิ้นสีเขียวอ่อนแบบแถบหนา ๆ พาดกลางโต๊ะตามยาว แล้วก็เอาเถาองุ่นหรือใบไม้ที่เป็นก้านยาว ๆ มีรูปใบสวย ๆ หน่อยวางจัดพาดไปตามริบบิ้น ดูเหมือนใบไม้เลื้อยกับริบบิ้นสีเขียว แล้วเอาที่เขี่ยบุหรี่ใส ๆ ทับไว้เป็นระยะ ไม่ให้ใบไม้ดูรุ่มร่าม
แล้วก็แต่งโต๊ะด้วยแก้วไวน์สามใบเรียงสามขนาด ผ้าเช็ดปากสีชมพู พับง่าย ๆ แล้วก็เอากระดาษทิชชู่เช็ดปากสีเขียวแทรกตรงกลาง เพื่อให้เกิดสีที่สมดุลกับแถบริบบิ้นสีเขียวอ่อน
ง่าย ๆ แค่นี้เอง แต่ดูดีค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
อาหารเย็นนั้นเป็นบุฟเฟต์นานาชาติค่ะ เนื่องจากเฟอร์ดี้คิดว่าจะจัดเลี้ยงกลางแจ้ง อาหารหลักก็เลยเป็นเนื้อย่างบาร์บีคิวหลากชนิด ทั้งเนื้อซี่โครงแกะ เนื้อวัว เนื้อไก่ ไส้กรอกเนื้อแกะ และปลาแซลม่อนเสียบไม้ย่าง แต่ละอย่างก็มีซอสให้ทานคู่กัน และมีโพเลนต้า คือแป้งข้าวโพดกวนกับนมแบบอิตาเลียนให้ทานคู่กัน แทนมันฝรั่งบด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ส่วนเครื่องเคียงก็มีหลากหลายอย่าง เช่น สลัดมอซซ่าเรลล่าชีสกับมะเขือเทศ ทาบูเลต์ (ข้าวฟ่างผสมเครื่องเทศแบบเลบานีส) สลัดผัก สลัดพาสต้า สลัดถั่วเลนทิล สลัดแครอตขูด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บรรยากาศในงานยามสังสรรค์พูดคุยกันค่ะ ที่เห็นเสื้อผ้าไหมสีแดง ๆ นั่นของรจนาเองค่ะ และมีคนรู้จักกันเขาก็ใส่เสื้อผ้าไหมเหมือนกัน ลายสวยมากเลยค่ะ
อากาศแบบนี้ทำให้แขกที่เป็นสุภาพสตรีแต่งตัวลำบากมาก เพราะหากอากาศครึ้ม ๆ เขาแทบจะถือเป็นกฎเลยว่า ไม่ใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด แต่จะใส่สีโทนขรึม ๆ ให้เข้ากับบรรยากาศ หรือไม่ก็ใส่สีดำไปเลย แล้วเลือกสร้อยคอหรือผ้าคลุมไหล่หรือเสื้อคลุมให้มีสีสันหน่อย
ปกติหน้าร้อน ผู้หญิงมักจะใส่สายเดี่ยวเปิดไหล่กัน แต่อากาศเย็นอย่างนี้ก็ต้องงดไปค่ะ แล้วยังต้องพกเสื้อคลุมหรือผ้าคลุมไหล่กันให้วุ่นวายเพื่อไม่ให้หนาวเกิน พอเข้าในตึกก็ถอดเสื้อตัวนอกออกได้ ดูหวาน ๆ สมเป็นสุภาพสตรีมากขึ้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
การจัดงานแบบเยอรมันเขาทำแปลกค่ะ คือเขาไม่มีธรรมเนียม จุดเทียนวันเกิดแล้วเป่าเค้ก คือเขาเอาขนมนมเนยมาวางไว้ หน้าตาน่าอร่อยและเต็มไปด้วยไขมันและน้ำตาลทั้งนั้น แต่ก็ทำมาอย่างสวยงาม แล้วแขกก็ทะยอยไปรับขนมซึ่งจะมีพนักงานคอยเสิร์ฟให้เรา ซึ่งก็ดีค่ะ ทำให้ไม่วุ่นวายเลอะเทอะ
รจนาไปถามเพื่อนเยอรมันสองสามคนว่า เอ๊ะ ไม่มีจุดเทียนและเป่าเค้กวันเกิดหรือ ทุกคนบอกตรงกันว่า ธรรมเนียมเยอรมันหากทานอาหารเย็นและเสิร์ฟเค้กหลังอาหาร เขาไม่มีระเบียบเป่าเทียนหน้าเค้กจ้ะ จะทานเค้กเหมือนของหวานปกติ และการเป่าเทียนนั้นเขาถือว่าเป็นเรื่องของเด็ก ๆ และการเลี้ยงวันเกิดเด็ก เขาจะเลี้ยงตอนบ่ายแก่ ๆ พร้อมน้ำชากาแฟกับของหวานเป็นตัน ๆ
อืมม์ ก็เป็นความรู้ใหม่ของรจนา หลังจากที่แต่งงานกับคนเยอรมันมา ๕ ปี
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
นี่ก็หน้าตาบุฟเฟต์ขนมต่าง ๆ มีผลไม้พวกกล้วย สับปะรด และผลไม้รวมด้วย สังเกตจากจำนวนของขนมหวาน ก็พอเดาได้ว่า ชาวเยอรมันรักและชื่นชมการทานของหวาน ๆ ไม่น้อยทีเดียว จำนวนขนมมากพอ ๆ กับอาหารคาวเลยทีเดียว
การเข้าสังคมในงานแบบนี้ก็ไม่มีอะไรมากมาย หลัก ๆ ก็คือ พร้อมที่จะยิ้ม พร้อมที่จะทำความรู้จักคนอื่น ชักชวนและพูดคุยกับคนอื่น ๆ ถามเรื่องครอบครัว เรื่องงาน เรื่องกีฬา เรื่องงานอดิเรก เรื่องศิลปะ เรื่องการเดินทาง หรือถามว่าเป็นอะไรกับเฟอร์ดี้ เป็นญาติหรือเพื่อนทางไหน แค่นี้ก็มีเรื่องคุยต่อแล้วค่ะ
การคุยก็อย่าผูกขาดเป็นคนพูดเสียฝ่ายเดียว ต้องเป็นฝ่ายถามบ้าง
รจนากับพ่อบ้านตัดสินใจแยกกันนั่งคนละโต๊ะค่ะ เพราะทำให้เราได้รู้จักคนอื่น รจนาไม่ค่อยจะเขินอายเหมือนสมัยก่อน ๆ นั่งไหนก็นั่งได้ ตราบใดที่เขาพูดภาษาเรารู้เรื่อง ถ้าไม่รู้เรื่องก็ส่งยิ้มกับภาษาใบ้ไปชั่วคราวก่อน
มานึก ๆ ดู ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีกล้า มีเก่ง มีเคร่งขรึม มีสนุกสนาน มีขี้อาย มีมั่นใจ รจนาพบว่า รอยยิ้มที่จริงใจ ความพร้อมที่จะเป็นมิตร การรู้จักมารยาทสังคมอีกนิดหน่อย เป็นใบเบิกทางที่ดี ทำให้เราไปไหนก็ไปได้ค่ะ
แต่ก็มีบางช่วงที่เพื่อนร่วมโต๊ะชาวเยอรมันเริ่มเหนื่อยพูดภาษาอังกฤษ เขาก็หันไปพูดภาษาบ้านเขากัน รจนาก็เลยนั่งเฉย ๆ พักหู พักปากไปชั่วคราว แล้วก็แอบเดินไปถ่ายภาพอาหารบ้าง ไปเข้าห้องน้ำบ้าง
สังเกตว่า เพื่อนที่พูดภาษาอังกฤษบางคนก็จับกลุ่มคุยแต่พวกของตัวเอง ไม่ได้คุยกับฝั่งเยอรมันเท่าไรเลยค่ะ นานาจิตตัง บางคนก็ถนัดเข้าพวกกับคนอื่น ๆ บางคนก็ไม่ถนัด ไม่ว่ากัน
โดยทั่วไป เราอาจจะนั่งโต๊ะใดโต๊ะหนึ่งจนทานอาหารครบทุกอย่าง หรือจนทานอาหารคาวหมด แล้วเราอาจจะสลับไปนั่งโต๊ะอื่น ๆ บ้างก็ได้ เฟอร์ดี้ ทำตัวเป็นตัวอย่าง โดยแวะเวียนไปคุยจนครบทุกโต๊ะ ถือเป็นมารยาทของเจ้าภาพที่ดี ไม่คุยกับกลุ่มไหนกลุ่มเดียว พอเฟอร์ดี้ลุก ที่นั่งเขาก็ว่าง คนอื่นก็ไปแจมได้ แต่ที่จริงแต่ละโต๊ะก็นั่งกันไม่เต็ม มีเก้าอี้ว่างอย่างน้อยโต๊ะละหนึ่งตัว ทำให้การสลับโต๊ะทำได้สะดวก
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
นี่ขนมของรจนาค่ะ ได้มาอย่างละนิดละหน่อย นี่ยังไม่หมดที่เขามีเสิร์ฟนะคะ มีเค้กมะนาว (หน้าเมอแร็งก์ขาว ๆ) เชอร์เบ็ตมะม่วง เชอร์เบ็ตราสป์เบอร์รี่ สับปะรด ครีมคาราเมล ลูกมะเดื่อเชื่อม กับแอปเปิ้ลชตรูเดิ้ล (พายยัดใส้แอปเปิ้ล ลูกเกด และผงอบเชย) ค่ะ
กว่าจะใกล้งานเลิก เราก็ได้ทำความรู้จักกับหลายโต๊ะหลายคนเพิ่มขึ้นค่ะ ขนาดเดินไปเข้าห้องน้ำ รจนาก็ยังไปผูกมิตรกับคุณผู้หญิงชื่อ อังเจลิก้า เลยทีเดียว เพราะทีแรกยังไม่เจอหน้ากัน ไปเจอกันในห้องน้ำครั้งแรก หาเรื่องคุยได้สารพัด ดินฟ้าอากาศ อาหาร งานที่ทำ
ชาวเยอรมันที่พบในคืนนั้นหลายคน เคยไปเมืองไทยกันมาแล้ว รู้จักต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ ตลาดน้ำ คลองบางกอกน้อย วัดพระแก้ว ภูเก็ต เกาะสมุย....เราเป็นคนไทยก็เลยยืดเป็นธรรมดาว่า เขารักชอบประเทศของเรา หลายคนมาเที่ยวมากกว่าหนึ่งครั้ง
สำหรับของขวัญวันเกิด เฟอร์ดี้ไม่ได้ขออะไรเป็นพิเศษสำหรับวันเกิด เพื่อนของพวกเราชื่อ คาริน ก็เลยมาชวนพ่อบ้านกับรจนาว่า เราเชิญเฟอร์ดี้ไปเที่ยวสุดสัปดาห์กับพวกเราที่สปารีสอร์ตสักแห่งดีไหม พ่อบ้านกับรจนาก็เห็นด้วย ปกติเฟอร์ดี้สนิทกับพวกเราค่อนข้างมาก เพราะพ่อบ้านก็เป็นนักบินเหมือนกัน ดังนั้นไปไหนไปกันจึงถูกใจพวกเรามากค่ะ
แล้วรจนาก็มาคิดว่าจะทำเป็นของขวัญอย่างไร ก็เลยไปซื้ออัลบั้มใส่ภาพ และพิมพ์การ์ดสีหวาน ๆ แบบเขียนเป็นคำอวยพรวันเกิด ให้พลิกอ่านทีละหน้า แล้วก็บอกว่า ของขวัญวันเกิดของพวกเราสามคนคือ เชิญเฟอร์ดี้ไปเที่ยวกับพวกเราสุดสัปดาห์ โดยมีสถานที่ให้เลือก ๓-๔ แห่ง และบอกว่าพวกเราว่างในช่วงวันหยุดไหนบ้าง แล้วจะมาวางแผนรายละเอียดกันอีกทีว่าวันไหนที่ไหนแน่ ๆ
ทั้งหมดนี้รจนาออกแบบสีสันสดใส มีรูปสถานที่ มีภาพสนามกอล์ฟ มีภาพเครื่องร่อน และหน้าสุดท้ายเป็นลายเซ็นอวยพรของพวกเรา มีภาพเราสามคนกำกับด้วย ใช้เวลานั่งดีไซน์อยู่สองวันค่ะ
คารินชอบอกชอบใจกับไอเดีย....
แล้วถ้าได้ไปเที่ยวสปาวีคเอ็นด์เมื่อไรจะมาเขียนเล่าให้ฟังนะคะ
ปล. ขอโปรดอย่าคิดว่า รจนาเป็นแม่บ้านไฮโซมีแต่เรื่องเที่ยวนะคะ รจนาเป็นคนธรรมดา ติดดิน ครอบครัวก็เป็นชาวนา คุณพ่อเป็นทหารยศน้อย พ่อบ้านรจนาเองก็มาจากครอบครัวข้าราชการธรรมดา แต่ตัวเขาขยันเรียนก็เลยมีหน้าที่การงานดีหน่อย รวมทั้งเราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ก่อสร้างหนี้สิน เงินเดือนที่ได้มาก็เลยพอใช้
ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตปกติของชาวยุโรป ไม่ได้ถือเป็นเรื่องหรูหราแต่ประการใด ชาวยุโรปยากดีมีจนอย่างไร เขาก็มักจะจัดงบประมาณให้ครอบครัวได้ไปเที่ยวฤดูร้อนกันเสมอค่ะ เที่ยวแบบถูกหน่อย (แค้มปิ้ง พักบ้านเพื่อน) หรือราคาปานกลาง (โรงแรมสามดาว) หรือราคาแพง (โรงแรมห้าดาว) ก็ว่ากันไป
เมื่อวันที่ : ๐๑ ก.ย. ๒๕๔๙, ๒๒.๑๖ น.
อู้ฟู่ทั้งสองงานเลยจ้ะ ตามมากินซะอิ่มเลย
เอ สงสัยจัง แล้วคุณพ่อบ้านกับรจนา ฉลองวันเกิดมีเป่าเทียน ตัดเค้กหรือเปล่าจ๊ะ