![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...เด็กเดือนกรกฏาโคจรมาเจอกัน ที่เจนีวาก็มีเพื่อน(ข้ามรุ่น)อีกสองท่านที่เกิดปลายเดือนกรกฏาคม คนหนึ่งเกิดวันที่ ๒๙ อีกคนเกิดวันที่ ๓๑ และทั้งสองคนก็มีอายุครบ ๖๐ ในปีนี้...
ตอน : ไปปาร์ตี้วันเกิดเพื่อน (หนึ่ง)
ช่วงนี้เป็นวันเกิดของเพื่อน ๆ หลายคน ไหนจะของสมาชิกศาลานกน้อยอย่างพันนที ป้าทอง (คนเกิดวันพุธแต่คนละเดือน ห้าห้าห้า) น้องกางเขนดง...และมีใครอีกบ้างเอ่ยเด็กเดือนกรกฏาโคจรมาเจอกัน ที่เจนีวาก็มีเพื่อน(ข้ามรุ่น)อีกสองท่านที่เกิดปลายเดือนกรกฏาคม คนหนึ่งเกิดวันที่ ๒๙ อีกคนเกิดวันที่ ๓๑ และทั้งสองคนก็มีอายุครบ ๖๐ ในปีนี้ ซึ่งสำหรับฝรั่งถือเป็นเรื่องใหญ่ (คนไทยกับคนจีนด้วย) ส่วนใหญ่เขามักจะฉลองกันในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนฝูง
เพื่อนคนที่เกิดวันที่ ๒๙ เขาจัดงานวันเสาร์ที่ผ่านมา ตรงกับ ๒๙ พอดีค่ะ คนนี้เป็นชาวอังกฤษ
ส่วนเพื่อนอีกคนที่เกิดวันที่ ๓๑ ซึ่งเป็นวันจันทร์ในปีนี้ เขาไปจัดวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม เพราะไม่สะดวกที่จะจัดวันธรรมดา คนนี้เป็นชาวเยอรมัน และจะมาเล่าเรื่องงานวันเกิดของเขาทีหลัง (เพราะตอนที่เขียนบทความนี้ รจนายังไม่ได้ไปงานที่สองค่ะ)
การจัดงานเหล่านี้ เพื่อนเจ้าของวันเกิด ชื่อคุณโรสแมรี แต่เรื่องสั้น ๆ ว่า โรซี่ เขามองหาร้านอาหารเหมาะ ๆ ทำเลดี ๆ วิวสวย ๆ เพราะเป็นหน้าร้อน เขาจองร้านไว้ล่วงหน้าถึงหนึ่งปีเชียวค่ะ เรียกว่าปิดร้านจัดงานกันเลยทีเดียว
แล้วก็ร่อนบัตรเชิญไปสู่ญาติมิตรที่อังกฤษล่วงหน้าหลายเดือนทีเดียว โดยมารยาทพวกเราต้องตอบรับก่อนวันงานอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพื่อให้เจ้าภาพจองโต๊ะจองอาหารได้ครบจำนวนคน เนื่องจากของแพง จะมาจองเผื่อเหลือถือว่าไม่ค่อยประหยัด
โรซี่บอกว่า ของขวัญที่อยากได้จากพวกเราก็คือให้ช่วยบริจาคเงินช่วยเหลือองค์กรหมอไร้พรมแดนค่ะ (Medicins sans frontiers) ซึ่งพวกเราก็ร่วมอนุโมทนาด้วยดี
งานนี้เราไม่ได้ถือของขวัญไปเป็นพิเศษ ไม่ได้เอาดอกไม้ไปให้ ไม่ได้เอาไวน์ไปฝาก พ่อบ้านบอกว่า หากเราได้รับเชิญไปทานอาหารที่ร้าน เราไม่ควรถืออะไรไปให้เขาค่ะ เพราะไม่ใช่ธรรมเนียม อีกอย่างหนึ่งคือ เขาจะต้องหอบกลับวุ่นวาย....แต่ที่จริง รักใคร่กันก็ถืออะไรเล็ก ๆ ไปให้ได้
ถ้าหากได้รับเชิญไปที่บ้านจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้เจ้าของบ้านจะไม่ขออะไร เราก็อาจติดเอาดอกไม้ ไวน์ ช็อคโกแล็ตไปได้ แต่ดอกไม้นี่ รจนาอยากบอกว่า เป็นภาระของคนรับค่ะ เพราะเขาต้องวิ่งหาแจกันใส่วุ่นวาย บางทีดอกไม้ไม่ได้ขนาดกับแจกันบ้าง (รจนาเคยได้รับลิลี่ก้านยาวเป็นเมตร แต่ไม่มีแจกันสูง ๆ ก็ต้องวุ่นวายตัดแต่ง) เมืองนอกเขาขายดอกไม้เป็นช่อ ไม่นิยมใส่แจกันไปสำเร็จเหมือนบ้านเรา จะให้ดีที่สุดคือ ซื้อไม้ดอกหรือไม้ใบต้นเล็ก ๆ ปลูกในกระถางสวย ๆ ไปดีกว่า ไปถึงเจ้าของบ้านเขาแกะห่อแล้วเอาวางได้เลย ไม่ยุ่งยาก แต่ก็ยากอีกเหมือนกัน หากไม่เคยเห็นบ้านเขา ก็ไม่อยากจะซื้อไปเพราะไม่รู้ว่าจะเข้ากับบ้านกับเฟอร์นิเจอร์หรือเปล่า
นอกเรื่องเพื่อให้รู้ธรรมเนียมการไปมาหาสู่กันน่ะค่ะ
โรซี่จัดงานที่ภัตตาคารนอกเมือง อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เห็นวิวภูเขาสวยงาม บรรยากาศกลางทุ่ง อากาศดีมาก ๆ ในวันที่ไปค่ะ ที่ร้านมีระเบียงกว้างให้ชมวิว และเป็นที่เสิร์ฟเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย ก่อนจะย้ายเข้าไปนั่งข้างใน ข้าง ๆ ระเบียงของเราเป็นทุ่งทานตะวัน แต่วันนั้นพอดีมีงานแต่งงานจัดซ้อนอีกงาน เขาเลยเอาเต้นท์มากาง ทำให้เห็นดอกทานตะวันแค่หน่อยเดียว
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
โรซี่เล่าว่า ทางร้านอาหารโทรมาหาเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อจะขอให้โรซี่ย้ายไปจัดงานในสวน (ตรงเต้นท์ที่ว่า) และจะเอางานแต่งงานมาไว้ในตึกแทน โรซี่ก็ไม่ยอมสิคะ เพราะเขาจองของเขามาตั้งปีนึงแล้ว จะมาเปลี่ยนแปลงกันง่าย ๆ ส่วนหนึ่งคืออากาศนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ หากไปจัดในสวนแล้วฝนตกขึ้นมาก็จะลำบาก (แต่ดูจากเต๊นท์แล้ว หนาแน่นแข็งแรง ดูแล้วคงไม่เปียกฝนง่าย ๆ)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
รจนาแอบถ่ายภาพเจ้าสาวจากงานแต่งงาน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แล้วก็ภาพคนที่มางานแต่งงาน แปลกใจจนหายแปลกใจแล้วว่า ฝรั่งชอบใส่สีดำมาก ๆ แม้ในงานแต่งงาน และในฤดูร้อนก็ยังใส่สีดำ เพราะใส่แล้วดูดี และแต่งเครื่องประดับได้ง่ายกระมัง หรืออาจจะไม่อยากแต่งขาว ๆ ให้แข่งกับเจ้าสาวก็ได้ นึกถึงงานแต่งงานบ้านเราแล้วน่าจะสีสันสวยสดงดงามหลากหลายกว่านี้มาก
เราได้รับเชิญให้ไปถึงงานตั้งแต่หนึ่งทุ่ม แต่เราไปถึงประมาณทุ่มครึ่ง ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมอะไร ไปถึงเขาก็มีเครื่องดื่มทั้งไวน์ขาว ไวน์แดง น้ำส้มขวด น้ำแร่แบบไม่มีฟอง กับแบบมีฟอง มีมันฝรั่งกรอบ กับขนมปังหน้าแฮมชิ้นเล็ก ๆ จำนวนไม่มากนัก เพราะเราจะได้ทานอาหารมื้อใหญ่อยู่แล้ว
นอกจากไวน์แล้วเขามีน้ำหวานผลไม้สะกัด รินผสมกับไวน์ (หากต้องการด้วย) เพื่อให้กลิ่นรสหอมหวานของผลไม้แห่งคิมหันตฤดู เพื่อนคนหนึ่งมาบอกทีหลังว่า ไม่ควรดื่มไวน์ผสมน้ำผลไม้สะกัดที่ว่านี้เลย เพราะทำให้ปวดหัวในวันรุ่งขึ้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
พระอาทิตย์ไม่ยอมลับขอบฟ้าง่าย ๆ กว่าจะได้ย้ายเข้ามานั่งข้างใน ก็เริ่มโพล้เพล้ และเป็นเวลาสามทุ่มกว่าแล้ว (เป็นบ้านเราท้องคงร้องจ๊อก ๆ หรือไม่ก็ทานกันอิ่มใกล้กลับบ้านแล้ว)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
มีโต๊ะกลมแบบงานเลี้ยงประมาณ ๑๐ โต๊ะค่ะ โต๊ะละ ๘ คน แต่ละโต๊ะเขาจะเขียนป้ายชื่อไว้ให้แล้ว คือเจ้าภาพเขากำหนดให้เรานั่งร่วมกัน ซึ่งเขาก็จัดดีมาก คือให้มีคนที่รู้จักกันแล้วอย่างละครึ่งโต๊ะ ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ขัดเขินมาก รจนาไปนั่งเร็ว ขณะที่พ่อบ้านมัวแต่เม้าท์อยู่ เราก็เลยไม่ได้นั่งติดกัน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคุณผู้ชายที่นั่งข้างรจนาชื่อ เดวิด ก็น่ารักมาก เขาจะลุกให้พ่อบ้านมานั่ง แต่เราสองคนตัดสินใจแยกกันนั่งดีกว่า จะได้ทำความรู้จักคนอื่นด้วย พ่อบ้านก็นั่งข้างภรรยาเดวิดไป เดวิดชวนรจนาคุยตลอด เรียกว่าเป็นสุภาพบุรุษทีเดียว แต่เราก็ไม่ผูกขาดการคุย เดี๋ยวเราก็หันไปคนละทาง ไปคุยกับคนอื่น บ้าง หันซ้ายบ้าง ขวาบ้าง คุยข้ามโต๊ะบ้าง คุยสองคนบ้าง คุยสามคนบ้าง เหล่านี้เป็นมารยาทการเข้าสังคมจริง ๆ ค่ะ จะทำเงียบ ๆ ยิ้มเฉย ๆ ถามคำตอบคำนี่จะถือว่าไม่ค่อยสุภาพค่ะ และจะคุยกับสามีหรือภรรยาเราคนเดียวก็ไม่ดี เขาจะหาว่าเข้าสังคมไม่เป็นอีก
ก่อนที่จะเสิร์ฟอาหารจานแนก ลูกสาวของโรซี่ซึ่งทำงานกับคณะละครสัตว์ มีเพื่อนชายที่เก่งมากคนหนึ่ง เพื่อนชายคนนี้มาสร้างบรรยากาศก่อนเปิดงานด้วยการเล่นควงไม้เบสบอลสามอัน ทำท่าเหมือนจะหล่นแต่ไม่หล่นให้พวกเราสนุกสนานเล่น (ไม่มีรูปค่ะ) ถือเป็นการเปิดงานภาคนั่งโต๊ะนี่น่ารักทีเดียว
อาหารค่ำมื้อนี้เป็นแบบสามคอร์สค่ะ อาหารจานแรกเป็นปาเต้ตับเป็ดแต่งด้วยถั่วพิซตาชิโอ้บดกับลูกมะเดื่อแห้ง จานนี้อร่อยมากค่ะ เพราะตับเป็ดนี่ของโปรดของรจนาอยู่แล้ว
อาหารจานที่สองเป็นพาสต้าเม็ดข้าว ซอสผักโขม เขียวเป็นพระอินทร์มาเลยค่ะ แต่รสนุ่มนวลอร่อย มีปลาแซลม่อนอบสีส้มประดับมาด้านบน ทุกคนชมเป็นเสียงเดียวว่า เชฟอบปลาได้เก่งมาก กำลังพอดี คือสุกทั่วถึง แต่เนื้อปลาไม่แข็งกระด้าง และทำเป็นร้อยจานไม่ผิดพลาด
จานนี้รจนาชวนชิมให้คะแนนเต็มร้อยเลยค่ะ (ไม่รู้จะทำให้เขาขายดีขึ้นหรือเปล่านะคะ

กว่าจะทานอาหารสองจานแรกเรียบร้อยก็สี่ทุ่มกว่าค่ะ คือเขาต้องเสิร์ฟทั้งหมดร้อยคน กว่าจะถึงคนที่ร้อย คนที่หนึ่งก็เกือบจะอิ่มแล้ว อ้อ เวลาอาหารมาถึงโต๊ะ เขามักจะเสิร์ฟให้สุภาพสตรีก่อน แล้วจึงเสิร์ฟสุภาพบุรุษค่ะ มีบางครั้งเหมือนกันที่เขาเสิร์ฟผู้ชายก่อน เหตุเพราะว่าเป็นอาหารต้องทานร้อน ๆ และเสิร์ฟผู้หญิงที่หลัง คุณผู้หญิงจะได้ทานร้อน ๆ ไงคะ
เราต้องรอให้ทุกคนได้อาหารพร้อมก่อน จึงจะเริ่มทานได้ แม้จะอยากชิมแทบขาดใจก็ต้องอดกลั้นไว้ ปกติเมื่อครบแล้ว ผู้หญิงคนใดคนหนึ่งควรจะเริ่มก่อนและพูดชักชวนว่า "บ็ง อัปเปติ" หรืออะไรทำนองว่า ขอให้ทานให้อร่อยนะคะ แล้วคุณผู้ชายจะจึงเริ่มทานค่ะ เป็นธรรมเนียมความสุภาพของหมู่ชนที่นี่ค่ะ แต่ก็อย่าถือเป็นกฎตายตัวนะคะ หากมีสุภาพบุรุษอาวุโสก็รอให้ท่านเริ่มก่อนก็ได้ เหมือนผู้น้อย(อายุ)กับผู้ใหญ่ บ่อยครั้งก็ต่างคนต่างเริ่ม ไม่มีพิธีมาก แต่หลัก ๆ ก็ยังคงต้องรอให้ครบทุกคนก่อนอยู่ดี
ไม่มีภาพอาหารมาอวดนะคะ เพราะค่อนข้างมืด ไม่อยากถ่ายภาพใช้แฟลช เนื่องจากจะดูไม่มีมารยาท แล้วพ่อบ้านก็ทำตาขวาง ๆ ห้ามไว้


ระหว่างมื้ออาหารแต่ละจาน พวกเราก็คุยกันออกรส ถามเรื่องครอบครัว เรื่องงาน เรื่องการเดินทาง เรื่องความคิดเห็น แต่ไม่มีเรื่องการเมืองกับศาสนา (ปลอดภัยหน่อย ไม่ต้องเถียงกัน) เรื่องอาหารที่เพิ่งทานไป ไปงานแบบนี้ต้องพกเรื่องไปพูดมากทีเดียว ส่วนใหญ่รจนาก็ตามน้ำค่ะ เขาพูดอะไร เราก็หาอะไรเสริมไป นักสนทนาที่ดีจะเป็นผู้คอยป้อนคำถามให้เราตอบ และเขาจะถามอย่างมีมารยาท ไม่จาบจ้วงเรื่องส่วนตัว
สังเกตว่า เดวิดที่นั่งซ้ายจะคอยหาคำถามมาถามรจนาเวลาเริ่มเงียบ ๆ ไป (เพราะอิ่ม) ส่วนลินน์ที่นั่งด้านขวา (เพื่อนร่วมงาน) ก็ขยันถาม ถามเสร็จพอเราตอบแล้ว เขาก็จะมีเรื่องมาเสริมจ้อย ๆ ค่ะ ลักษณะเป็นคนชอบคุย และคุยสนุกทีเดียว เรียกว่าเราต้องคอยตื่นตัว เขาคุยอะไร ก็ต้องเค้นหาคำถามที่เหมาะ ๆ เพื่อแสดงว่า เราสนใจในเรื่องที่เขาพูด (ซึ่งหลายเรื่องก็น่าทึ่ง) จริงๆ
สิ่งที่รจนาสังเกตว่า ฝรั่งรับได้ยากคือการที่เราไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ค่ะ ทีแรก ๆ ก็เป็นความกดดันของรจนาเหมือนกัน เพราะต้องมาคอยแก้ตัว บางทีก็ต้องดื่มตามมารยาท แต่ตอนหลังก็คิดได้ว่า เราไม่ควรผิดศีลเพื่อเข้าสังคม แต่เราควรรักษาศีลและจริงใจต่อการรักษาศีลนั้น หากใครถามก็บอกตรง ๆ ทำใจตามสบาย ๆ ว่า เราเป็นคนพุทธ เราถือศีลไม่ดื่ม พอดื่มแล้วเราไม่ค่อยสบาย (เมา) ก็เลยเลิกดื่ม ไม่ได้เอาหลักศาสนามาอรรถาธิบายให้เขาถกเถียง ส่วนใหญ่เขาก็จะรับฟัง แต่บางคนก็จะบอกว่า แหม เวลาผมเข้าสังคม หรือกลับจากทำงานเหนื่อย ๆ ได้ดื่มอะไรสักหน่อยก็ผ่อนคลายดีเหมือนกันนะ เราก็รับฟังจุดยืนเขา ไม่ได้รับ ไม่ได้เถียง ไม่ได้พยายามจะเอาชนะว่า การดื่มไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะทุกคนก็ต้องเลือกทางของตัวเอง เราไม่ดื่ม เราก็ไม่ได้ไปตำหนิคนที่ดื่ม (อย่างมีสติ)
นอกเรื่องอีกแล้ว(หรือเปล่าเนี่ย)
เชื่อไหมคะว่า กว่าจะได้ทานอาหารจานหลักก็เกือบห้าทุ่มค่ะ เป็นเนื้อสันในวัวย่างที่นุ่มมาก ๆ เลยค่ะ เสิร์ฟมากับเกรวี่ของเนื้อนั่นเอง เป็นเกรวี่น้ำใส (ไม่ใส่แป้ง) และมีแครอตบดกับถั่วแขกอบเสิร์ฟเคียงกันมานิดนึง เขาให้เนื้อชิ้นไม่ใหญ่ ซึ่งก็ดีมาก ๆ เพราะจานที่สามแล้ว พวกเราก็อิ่มแล้ว (แต่ยังไม่ถึงกับจุก เพราะทานไป คุยไป ช้า ๆ) รจนาไม่ใช่คนชอบทานเนื้อทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เมื่อได้ทานก็อร่อย เพราะเนื้อที่ทวีปนี้นุ่มดีจริง ๆ ค่ะ (เขาเลี้ยงวัวบนภูเขา กินหญ้าสะอาด) จานนี้ให้ห้าดาวเหมือนไก่ย่างบ้านเรา

ระหว่างทานอาหาร นักดนตรีที่จ้างมาหนึ่งคน ก็เปิดเพลง เล่นดนตรี และร้องให้เราฟังไปด้วย เป็นคนฝรั่งเศส แต่เพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงอังกฤษ เพราะเจ้าของงานเป็นบริติช
พอทานอาหารจานสุดท้ายเสร็จสักพัก เขาก็เปิดดนตรีให้เข้มข้นขึ้น เป็นร็อคแบบผู้ใหญ่ค่ะ ถูกใจรจนา เพราะปกติไม่ชอบดนตรีที่หนักหูอยู่แล้ว เจ้าภาพกับลูกสาวก็ทะยอยออกไปเต้นกันก่อน ไปทีละโต๊ะสองโต๊ะ แล้วพวกโต๊ะรจนาก็ไปแจมกับเขาด้วยค่ะ
สังเกตว่าเจ้าภาพคงจะเอ็นจอยกับเครื่องดื่มต่าง ๆ มาก เดินทรงตัวไม่ค่อยจะอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกตาสำหรับรจนา เพราะตั้งแต่เคยจัดเลี้ยงหรือไปงานเลี้ยงมาก พบว่าฝรั่งจะคอแข็งกันจริง ๆ ดื่มเข้าไปตั้งมากมาย อาการไม่เปลี่ยนเลยค่ะ พ่อบ้านไม่เคยแสดงอาการเมาอ้อแอ้ให้เห็นเลย แต่จะบ่นปวดหัววันรุ่งขึ้นอยู่บ้าง สงสัยว่างานนี้ทุกคนคงดื่มไม่อั้นจริง ๆ รวมทั้งอากาศยังค่อนข้างร้อนอยู่ (สำหรับฝรั่ง) คงทำให้เกิดอาการเร็วขึ้น
พวกเราเต้นรำย่อยอาหารกันสนุกสนาน พวกที่เหนื่อยก็ออกไปสูดอากาศ หรือสูบบุหรี่ที่ระเบียงข้างนอก รจนาต้องชมฝรั่งที่มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คือ บนโต๊ะอาหารเขามีที่เขี่ยบุหรี่ให้ แต่คนที่สูบบุหรี่ก็รู้ตัวว่าคนอื่นไม่ชอบ เขาก็ลุกไปสูบข้างนอกห้อง พอสูบพอใจแล้วก็กลับมาใหม่ ทำให้เราไม่ต้องเหม็นควันบุหรี่เลยค่ะ
จากนั้นลูกสาวของโรซี่ก็มาประกาศให้แต่ละโต๊ะสลับที่นั่งกันค่ะ เขาให้แขก ๔ คนจากโต๊ะหนึ่ง ไปสลับกับโต๊ะหกอะไรประมาณนี้ ก็วุ่นวายนิด ๆ รจนากับพ่อบ้านก็ตัดสินใจย้ายค่ะ เพราะเห็นว่าคนอื่นไม่อยากย้าย เราได้เพื่อนใหม่โต๊ะใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเคยรู้จักกันมาแล้ว (เพื่อนร่วมงาน)
แล้วนาทีที่รอคอยก็มาถึง พนักงานของร้านพากันขนขนมเค้กวันเกิดที่แต่งมาบนกิ่งไม้และจุดเทียนเล่มใหญ่ น่ารักทีเดียว ตอนนี้แหละที่พ่อบ้านหันมาแซวรจนาว่า ออกไปถ่ายภาพได้แล้วจ้ะ (เพราะทุกคนต่างก็วิ่งไปเก็บรูปกันหมด)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ก่อนที่โรซี่จะอธิษฐานและเป่าเทียน พวกเราก็ร้องเพลงอวยพร และดนตรีก็บรรเลง โรซี่ออกมายักย้ายร่างกายตามจังหวะดนตรี ก่อนที่จะเป่าเทียนค่ะ สนุกทีเดียว
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เป่าเสร็จแล้ว พนักงานของทางร้านก็ช่วยกันตัดขนมเค้ก (เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำ) ใส่จาน พวกแขกก็ทะยอยกันไปรับขนมเค้กค่ะ งานนี้ไม่ต้องไปเสิร์ฟให้ชักช้า
เค้กวันเกิดเป็นครีมชีสรสมะนาว หวานเปรี้ยวถึงใจ โรยด้วยผลไม้แห่งฤดูร้อน รจนาสังเกตว่าเขาจะตัดเค้กให้ได้ลูกเบอร์รี่สีแดง จานละลูก เชฟเขาคงฉลาดที่ใช้ลูกเบอร์รี่เป็นเครื่องหมายว่าจะต้องตัดเค้กก้อนจะกี่ชิ้นจึงจะให้แขกได้ครบคน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
อร่อยค่ะ แต่พอคำหลัง ๆ รู้สึกชักจะหวานมากขึ้นทุกที แต่ก็ทานจนหมด
หลังจากเค้กแล้วพวกเราก็คุยกันอีกหน่อย มองนาฬิกาก็เห็นกว่าเที่ยงคืนครึ่งแล้ว เห็นทีต้องลาเจ้าภาพ (ที่ตัวโงนเงนขึ้นทุกที) กลับเสียที
ถึงบ้านตีหนึ่งกว่า เข้านอนตีหนึ่งครึ่ง วันรุ่งขึ้นตื่นเจ็ดโมง ออกไปเดินเล่นริมทุ่งค่ะ ดีที่เราไม่ได้ดื่มเมื่อคืน เลยไม่มีอาการแฮงก์ แต่เพลีย ๆ อยู่เพราะนอนดึก ส่วนพ่อบ้านบ่นปวดหัวนิดหน่อย โชคดีเป็นวันอาทิตย์ พวกเราก็เลยทำตัวตามสบาย ๆ พักผ่อนเอาแรงกันทั้งวันด้วยประการฉะนี้ค่ะ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เมื่อวันที่ : ๑๘ ม.ค. ๒๕๕๐, ๑๕.๕๑ น.
บ้านเมืองเขาสวยนะอิจฉาจังได้ไปเที่ยว