![]() |
![]() |
SONG-982![]() |
กลวาดวิมลเสมอ
ใครยลก็ดลจิตเลมอ
มนถึงคนึงศรี
ในฟ้าจะหาอรสุรางค์
ดุจนางก็ห่อนมี
ในดินจะหาอรยุพี
กลนุชก็สุดหา
ความงามณะสามภพเสนอ
จะเสมอบ่มีมา
ทรามไวยประไพพรศุภา
ผิวเห็นก็เปนบุญ ฯฯ...
ตอน : พระนลคำฉันท์ : น.ม.ส.
ขออนุญาตชาวศาลานกน้อยวางงานพระนิพนธ์ ของพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
เรื่อง พระนลคำฉันท์
ซึ่งนับวันจะหาฉบับอ่านได้ยากเต็มที่....
ปัจจุบันเราจะคุ้นกับ พระนลคำหลวง ใน ร. ๖ กันมากกว่า...
ซึ่งฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ มีพิมพ์เผยแพร่อยู่โดยทั่วไปแล้วครับ
ความนำ : กรุงเทพ ฯ วันที่ ๕ กันยายน ๒๔๕๙
พระนลคำฉันท์นี้เริ่มแต่งในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๖ แลได้ทูลเกล้าฯ ถวายในงานเฉลิมพระตำหนักจิตรลดาระโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคมปีเดียวกันนั้น ๕ สรรคครั้งหนึ่ง ทูลเกล้าฯ ถวายในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๕๗ อีก ๕ สรรคครั้งหนึ่ง. เพราะได้ทูลเกล้าฯ ถวายเช่นนี้ จึ่งมีหนังสือเปนที่จดจำไว้ว่าได้แต่งใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล ๒๔๕๘ จบบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
การแต่งฉันท์นี้มิได้แต่งติดต่อคราวเดียวจบ บาคราวแต่งได้ท่อนหนึ่งแล้วทิ้งทอดไปนานๆ ก็มี เหตุดังนั้นจึงกินเวลานานนักหนา. เมื่อแต่งสำเร็จแล้วได้ให้เสมียนเขียนตัวดีขึ้นดี หวังจะเอาไว้เปนร่างหลายๆ ฉบับ กันต้นฉบับหาย ครั้งเขียนแล้วอ่านสอบดูเห็นผิดมากมาย ถ้าทิ้งไว้มีผู้คัดต่อๆ กันไปสัก ๓ ทอดคงจะเปลี่ยนแปลกไปมาก การคัดผิดนั้นจะเปนเหตุให้ฉันท์ดีขึ้นไม่ได้เปนอันขาด. คิดดังนี้จึงจัดพิมพ์พระนลคำฉันท์ขึ้นเปนครังแรก สำเร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จำนวนฉบับที่พิมพ์เพียง ๖๓เท่านั้น. การพิมพ์ครั้งนี้สำหรับเอาไว้เปนร่างชั้นหนึ่งก่อน ไม่ใช่เพื่อโฆษณาแลจำหน่าย
พิทยาลงกรณ์
********************
พระนลคำฉันท์
สดุดี
วสันตติลกฉันท์
อัญขยมประนมนขประณาม
พระสยามสวามี
เชลงฉันท์ประพันธสดุดี
นรเทพเถกิงไกร
จักรพรรดิขัตติยนรินทร์
ปถพินทร์ทิพาลัย
ดั่งรามราฆพไผท
กิติศักดิ์ประจักษ์จินต์
สมเด็จปรเมนทรมหา
วชิราวุธาวนินทร์
เอกองค์พระมงกุฏสิริน
ทสุคันธ์สมัญญา
นามเมืองก็เรืองกิติวิมล
เพราะยุบลพระราชา
นามราชก็เรืองกิติประภา
กรเหตุประเทศเรือง
โสภาวิชาภรณแพร้ว
กลแก้วกำจายเมือง
โสภณพิมลสตยเนือง
นิติธรขจรธรรม์
ในสรวงก็แสงสุริยส่อง
ทิวก่องณะกลางวัน
สิ้นสูรย์ก็แสงศิศิรจัน
ทรจ้าณะราตรี
สูรย์จันทร์ก็ปันทินนิศา
จกรานุจรมี
เวรเปลี่ยนและเวียนศศิรวี
ปริวัตระผลัดกัน
อันองค์พระมงกุฏกษัตริย์
ทนุรัฐนครฃัณฑ์
วันคืนพระยืนจิตกระสัน
ธุรม่งพระองค์เดียว
เชอดชาติพระราชประยุรรัก
มนภักดิกลมเกลียว
เสนาประชานรก็เหนียว
จิตรักสมัคคุณ
ครองดินอรินทมนเรนทร์
ประเมนทร์มฆาดุลย์
เดชเปรื่องกระเดื่องพระยศบุณ
ยโศลกสิเรนทร
สรวมคุณพระไตรย์สรณรัตน์
สิริภัทร์อุบัติพร
ยิ่งกี้พระกีรติขจร
ทิศเทอดคุณาธาร
พุทธานุภาพผริตผล
สุขดลอดูลย์ดาล
ธรรมานุภาพพิมลภูล
ชยเชอดชลอธรรม์
จำเริญพระชนม์ธนสุขี
พลศรีสอางพรรณ
ไร้โรคนิราศภยนิรัน
ตรทุกขถอยไกล
ฃ้าบาทประดิษฐ์พจประพันธ์
บทฉันท์ชลอใจ
ดำเนิรนิทานพระนลไน
ษธเบื้องฉบับบรรพ์
ทูลแทบพระราชบทมาลย์
มหิพาลวิบูลย์ธรรม์
หวังเสริมสราญกมลกรรณ
พระนราธิราชา ฯฯ
(มีใครเคยวางคณะฉันท์แบบนี้บ้างไหมหนอ...หุหุหุ...)
-***************************
อธิบายคำในสดุดี
๑. สดุดี แปลว่า ชม, สรรเสริญ
๒. นรเทพ แปลว่า เทวดาในหมู่คน
๓. รามราฆพ แปลว่า พระรามผู้เป็นวงศ์พระระฆุ กษัตริย์สูรยวงศ์
๔. อวนิ แปลว่า ภูมิ , แผ่นดิน
๕ ศิศิร แปลว่า เย็น หนาว
๖. ศศิ แปลว่า ทรงไว้ซึ่งกะรต่าย คือพระจันทร์
๗. อรินทม แปลว่า ทรมานศัตรู
๘. มฆ แปลว่าความสำราญ ในพระเวทแปลว่าอำนาจ ทรัพย์
๙. บุญยโศลก แปลว่า บุคคลผู้ซึ่งกวีได้แต่ลกลอนสรรเสริญแล้ว
เป็นชื่อเรียกพระราชาที่ทรงพระนามเลื่องลือในโบราณกาล
คือ พระยุธิษฐิร แล พระนลเปนต้น
๑๐. กีรติ คือ เกียรติ
๑๑. ไนษธ แปลว่า ชาวเมืองนิษัธ เป็นชื่อ พระนล
*************************
นิทานเรื่องพระนล
สรรคที่ ๑
วสันตติลกฉันท์
ยังมีกษัตริย์นิษธราษฎร์
นลราชสมัญญา
ลือฃามพระนามนลนรา
ธิปทั่วไผทศรี
เฉกฉัตรอุบัตินิษธร่ม
อภิรมยะลาภี
สมบัติพิพัฒนะธนี
ธรณีระบือบุญ
ทรงศักดิ์ประจักษ์จิตประจำ
รสธรรมธิราดุลย์
นานาคุณานุคุณจุน
จิตเหิมเฉลิมรมย์
ทรงเดชวิเศษศรวิสิฎฐ์
อภิฤทธิ์ปรากรม
เลี้ยงราษฎร์พระราชอุปสดมภ์
อดิเรกอเนกนันท์
ทรงโฉมประโลมจิตประเจิด
สิริเลิศะรังสรรค์
อำไพประพลพิมลพรรณื
ผิวพิศก็ติดตา
แคล่วคล่องทำนองอศวชาติ
จรผาดผยองพา
เปนปิ่นมหารถมหา
รถอื่นบ่ขืนแขง
รู้หลังประจักษ์จตุรเวท
นรเศรษฐะกำแหง
เชิงชั้นพนันนลระแวง
จิตรักตระหนักนัย
อวยทานอุทารอุทยเทอด
นรเลิศสุฃาลัย
บรรเิทิงสเริงสริระไภ
ยพิบัติบ่บีฑา
เสนาพลาธิกพหล
นรชนระบือชา
เหิ่มหาญทยานหทยทา
นพแทตย์บ่เทียมทาน
เกริกเกียรติ์กระหลบพิภพแม้น
ภพแมนมโหฬาร
เสมอศักดิ์ศักระมฆวาน
สุรสิทธิ์รังสรรค์ ฯฯ
ยังมีพระภีมะมรุเดช
นคเรศวิทรรภ์ฃัณฑ์
ครองราชย์บำราศบรถวัล
ยเถลิงเถกิงศรี
ไพร่ฟ้าประชากรเกษม
สุขเหมหทัยทวี
เรืองรมยะร่มนิคมมี
พิตภัทระภูลเพ็ญ
แต่องค์พระภีมะนิรรม
ยะระทมระทวยเข็ญ
หมายปองและหมองมนลำเค็ญ
เพราะบ่สิทธิสมหมาย
เหตุไร้พระราชบุตระบุตรี
มหิษีฤดีดาย
กำศรดระทดหทยวาย
อุระร้อนบ่ห่อนมี
บำเพ็ญกุศลผลก็ไร้
มนไหม้มลายศรี
หลายหลากประจากธนมณี
พรพิตก็นิษผล
วันหนึ่งมนีวิริยกล้า
ตละฌานะโกศล
สู่ราชสถานถิรถกล
ชชวาลตระการตา
จึ่งภีมะราชและมหิษี
ิจิตปรีดิหรรษา
ซาบซ่านสราญกมลมา
นิตน้อมประฌามเธอ
เชิญองค์พระดาบสสถิต
ยณะอาศน์อุไรเลอ
สององคะทรงบำรุบำเรอ
ปฏิบัิติพระโยคี
เมื่อนั้นมุนีสถิรธรร
มอรัญยะวาสี
เปี่ยมปิติในหทยมี
มนเหมเกษมศานติ์
อวยพรถวายนฤบดี
มหิษีวิมลมาลย์
จงทรงพระราชสิริสราญ
สุรฤทธิธำรง
อันใดพระใคร่จิตกระสัน
สุขหรรษะจำนง
อันนั้นประสบศุภประสงค์
พรสิทธิสมบูรณ์
หมายมีบุตรีบุตระประเสริฐ
ฉวิเฉิดฉมามูรธ์
เปนศรีมหานครคูณ
กิติเลื่องระบือไกร
จงสบมโนรถประสง
คจำนงมนุญใน
ไป่คลาดพระราชหฤทัย
ดุจอาตมะอวยถวาย
ครั้งเสร็จประสิทธิ์พระพิพัฒน์
พระวนัสถะผันผาย
ทูลลานราธิปและหมาย
ทิศถิ่นพนาลัย ฯฯ
ฝ่ายองค์พระปินนรวิทรร
ภสุธรรมะธรไท
อีกนางพระยายุวประไพ
อภิลาษลออองค์
จำเดิมมุนีวิริยเดช
วรเวทธำรง
เธอช่วยอำนวยพระพรมง
คลสิทธิสมปอง
แต่นั้นสุรางคะมหิษี
ธก็มีบุตรีสนอง
สวาดิ์แสนเสน่ห์สนิทสอง
ปฏิพัทธะเพียงใจ
อีกมีพระราชดนุชสาม
ทมะนามเกรียงไกร
หนึ่งทานตะหนึ่งทมนะไช
ยะยศาภิศักดิ์ศรี
ฝ่ายราชบุตรีสิริยโศ
ธรทัมะยันตี
พรายเพราพระเยาวะดรุณี
สุขุมาลละลานเลอ
ทรงศรีฉวีวรวิลาส
กลวาดวิมลเสมอ
ใครยลก็ดลจิตเลมอ
มนถึงคนึงศรี
ในฟ้าจะหาอรสุรางค์
ดุจนางก็ห่อนมี
ในดินจะหาอรยุพี
กลนุชก็สุดหา
ความงามณะสามภพเสนอ
จะเสมอบ่มีมา
ทรามไวยประไพพรศุภา
ผิวเห็นก็เปนบุญ ฯฯ
ฝ่ายองค์นิษัธฃติยนาถ
นลราชระลือคุณ
ภๅโฉมประโลมนยนะสุน
ทรทั่วไผทศรี
ทราบศัพท์ยุบลนลอนันต์
ณะวิทรรภะธานี
จวบองค์พระราชวรบุตรี
ธก็รู้ระหัสสาร
ปางปวงประชานิษธราษฎร์
ก็นินาทะพิสดาร
ภๅลักษณ์ยุบลวิมลมาลย์
พระวิทรรภะนารี
จวบจนพระนลธก็ตระหนัก
วรลักษณ์พระบุตรี
ต่างองค์ก็ต่างกมลมี
ปฏิพัทธะผูกพัน
ยิ่งยินระบินยุบลภๅ
ก็ระบือหทัยศัลย์
นางใคร่จะยลพระนลครัน
นลใครจะยลนาง ฯฯ
เมื่อนั้นพระนลพิมลโฉม
อุระโซมระคางขนาง
หมายน้องและหมองกมลหมาง
เพราะบ่เหมือนกมลหมาย
วันหนึ่งพระจึ่งจรประพาศ
พนราชสราญกาย
องค์เดียวพระเที่ยวทุรณะทาย
บทท่องระโหฐาน
ยลหงส์หิรญวิมลเมิล
มนเพลินพิบูลย์บาน
สำเริมประเทิงหทยะลาน
จิตเล่นบ่เห็นองค์
ปางนั้นนราธิปกษัตริ์
ยนิษัธะธำรง
ซอกซอนและซ่อนคณะพิหง
คและหงสะหลงเผลอ
เมียงเมิลดำเนิรบทบ่แกรบ
จรแอบกำบังเฌอ
จับได้สุโนคพระนลเธอ
ก็แจร่มจรูญปรีดิ์
ฝ่ายหงสะเหมวรวิหค
ก็สทกสท้านมี
ใจกลัวระรัวสริระตี
อุระข้อนคนึงครวญ ฯฯ
หงส์ทูลพระนลว่า
อ้าองค์พระทรงสุรมเห
ศรศักดิ์นเรศวร
ภูวนาถพระบาทยุคลควร
ภพพึ่งสำนึงนาน
แม้นทรงพระคุณกรุณโปรด
สละโทษมิสังหาร
ขอรองลอองพระบทมาลย์
กลทูตนำทูลเสนอ
แด่นางพระราชปิยยุพา
พระธิดาวิทรรภ์เธอ
สำแดงพระคุณอดุลเลอ
นรราชนเรสูร
นางทราบยุบลพระนลแล้ว
ฤจะแคล้วอุราดูร
จักครวญจะใคร่หททภูล
จิตเล่ห์เสนหา ฯฯ
ฟังหงส์ทำนูลมธุรวาท
นลราชหรรษา
ปลดปล่อยพิหคพิหคลา
จรรีบระเห็จหน
พาพวกพิหงคะคณะหมาย
มนบ่ายโพยมบน
ฉิวฉิวละลิ่วอำพรดล
ณะวิทรรภะธานี
ลงยังพระราชอุทยาน
ยุวมาลย์พระบุตรี
ชมพรรณ์กุสุมสุขุมปรี
ดิจรัสจรูงราม
เมื่อนั้นพระองค์อรธิดา
ทศนาสุโนคงาม
คิดใคร่จะได้ก็จรตาม
บริษัทก็ตามองค์
แอบอ้อมแลล้อมคณะสุโนค
และกระโชกจะจังหงส์
หวุดหวิดกระชิดจิตพวง
ผิวใกล้วก็ไป่ทัน
ปางราชยุพาพรประไพ
จรไล่พิหคหัน
หนีนางและห่างคณะกำนัล
ก็สุโนคเสนอสาร ฯฯ
หงส์ทูลนางว่า
อ้าองค์พระราชวรบุตรี
ศุภศรีฉวีกาญจน์
เพ็ญพักตร์พิมลกลสุมาลย์
อรเอี่ยมอุไรพรรณ์
อันในนิษัธฃติยะนาถ
อธิราชยะรังสรรค์
ไพศาลพิศลย์ผลอนันต์
นลผู้ผดุงเมือง
อันองค์พระนลพิมลเฉิด
ฉวิเลิศวิไลยเรือง
บุญญาภิฤทธิ์พิชิตเปลือง
ปรภาพบ่พึงเผยอ
คนธรรพ์อุรุคสุรและราก
ษสมากบ่มีเสมอ
ดาวเดือนบ่เหมือนพระนลเธอ
นิติธรนิกรพิง
ฉันใดพระองค์อรประเสริฐ
สิริเลิศณเหล่าหญิง
ฉันนั้นพระนลวิมลจริง
จิตรเลิศณะเหล่าชาย
ชายเลิศผิร่วมสมรเลิศ
จะประเสริฐะแหล่หลาย
โลกหล้าจะหาอุภยะผาย
ภทระเหมือนมิพึงมี ฯฯ
เมื่อนั้นยุพาพรลำเภา
อรเยาวะสุนทริ
ปางทรงสดับสกุณปรี
ดิก็ตอบยุบลไป
ดูราพิหคกนกหงส์
จะประสงค์ประการใด
จงเร่งระเห็จอำพรไคล
ณะนิษัธนครฃัณฑ์
บรรยายยุบลกลประสงค์
ดุจหงส์จำนงสรร
ทูลองค์พระนลพลอนันต์
กลที่ทำนูนเรา ฯฯ
บัดนั้นสุโนคสิรประณต
วรนุชนงเยาว์
ทูลลายุพาอรลำเภา
จรเหิรระเห็จคลา
ถ่องทูลพระนลนรบดี
ธก็ปรีดิหรรษา
ปลื้มเปรมเกษมกมลมา
ลยะแผ้วพิมลศรี ฯฯ
จบสรรค์ที่ ๑ ในนิทานเรื่องพระนล
*******************************
อธิบายคำในสรรค์ที่ ๑
๑. นิษธราษฎร์
- นิษธ หรือ นิษัธ นี้เปนชื่อแว่นแคว้นซึ่งพระนลครอบครองอยู่ในภาคตวันออกเฉียงใต้แห่งอินเดีย. หนังสือบางแห่งกล่าวว่า เมืองหลวงชื่อกรุงอละกา ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำ อลกานันทา ราษฎร์ นั้นแปลว่า แว่นแคว้น แลว่า ประชาชนก็ได้
๒. นล
- พระนลเปนโอรสท้าววีรเสน ท้าววีรเสนต่อไปจะกล่าวนามใน ฉันท์นี้ กษัตริย์ในอินเดียมีวงศ์ใหญ่อยู่ ๒ วงศ์ คือ วงศ์เกิดจากพระอาทิตย์เรียกว่า สูรยวงศ์พวกหนึ่ง
เกิดจากพระจันทร์เรียกว่า จันทรวงศ์พวกหนึ่ง พระนลจะอยู่ในสูรยวงศ์ หรือ จันทรวงศ์ นักปราชญ์ในเวลานี้ก็ไม่กล่าวยืนยันลงไปได้ ถ้าเปนจันทรวงศ์ก้เก่ามาก เพราะครองราชย์อยู่ใน นิษัธ พร้อมกับพระฤตุบรรณ์ผู้เปนสูรยวงศ์ครองราชย์อยู่กรุง อโยธยา นับว่า พระนล ก่อน พระราม ถึง ๑๔ ชั่วกษัตริย์ แต่ถ้าพระนลเป็นกษัตริย์ใน สูรยวงศ์ ดัง ซึ่ง กาลิทาส กล่าวใน นโลทัย พระนลก็ต้องเปน ที่ ๔ ต่อ พระราม ลงมา
๓. มหารถ
- แปลว่า ผู้ชำนาญรบในรถ อาจสู้ทหารรถอื่นได้ตั้งหมื่น
๔. จตุรเวท
- พระเวททั้งสี่
๕. พนัน
- ข้อที่กล่าวว่า พระนลชอบพนันนี้ หมายความว่าชอบสกา แต่ การชอบเล่นสกา(unksaparupeeya...ถ่ายเสียงจากสันสกฤต:song982)จะเปนความดีอย่างไรหรือ จึงนำมากล่าวในเวลาแสดงคุณพระนลเช่นนี้ ในกาพย์กลอนของชาวฮินดู กล่าวถึงกษัตริย์เล่นสกาบ่อยๆ แต่ถือกันว่าเปนของไม่ดี ก็เมื่อฉนั้นเหตุใดจึงเอามากล่าวในเวลาแสดงคุณพระนลเล่า มอเนีย วิลเลียมซ์ กล่าวว่าถือ unksaparupeeya คือชอบนับจำนวน หรือ วิชาเลขจะเหมาะกว่า แลความเข้ากันดีกับสรรคที่ ๒๐ แต่ฉบับสํสกฤตเป็น unksaparupeeya ทุกฉบับ ก็ต้องแปลว่าชอบเล่นสกา
๖. อุทาร
- ส(ม. อุฬาร) แปลว่าใหญ่ Geat, สูง Lofty (Childer) Noble; generous (Voc. Nal.)
๗. ทานพ
- (ส. ทานว) อสูร เปน เหล่ากอนางทนุ
๘. แทตย์
- (ส. ไทต'ย) อสูรเปนเหล่ากอนางทิติ
๙. ศักร
- (ส. ศก'ร ม. สัก์โก) พระอินทร์
๑๐. วิทรรภ์ (วิทร' ภ)
- เมืองนี้อยู่ในตวันตกเฉียงใต้แห่งแว่นแคว้นซึ่งอังกฤษเรียกเบ็งคอล เมืองวิทรรภ์เดี๋ยวนี้เรียกว่า Berar หรือ นาคปุระในโบราณมีเฃตตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำ กฤษณา ถึงราวๆ ฝั่งแม่น้ำ นร'มทา บางทีเรียก มหาราษฏร์เพราะเฃตใหญ่ เมืองหลวงโบราณเรียก กุณฑินปุระบ้าง เรียกวิทรรภาบ้าง เมื่องที่ อังกฤษ์เรียก Beder ในปัจจุบันบางคนเข้าใจว่าคือ กรุง กุณฑินเก่า อนึ่งมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งชื่อ วรทา แบ่ง วิทรรภ์ออกเปน ๒ ภาค คือ ภาคเหนือแลภาคใต้ มีเมืองหลวงทั้ง ๒ ภาค
๑๑. ห่อน
- คำนี้แปลว่า เคย แต่ในกาพย์กลอนของเราใช้แทน "ไม่" โดยมาก เช่น "เบื้องนั้นนฤนารถผู้ สยามมินทร์ เบี่ยงพระมาลาผิน ห่อนพลั้ง" ในพระนลคำฉันท์ห่อน และว่า ไม่ เกือลเสมอ นับว่าผิดความเดิมแต่คำที่เลือนเช่นนี้ยังมีอีกหลายคำ
๑๒. มุนี
- ฤษี องค์นี้ ชื่อ ทมนะ
๑๓. วนัสถะ - นักบวชอยู่ป่า, ฤษี
๑๔. สวาดิ์ - คำนี้น่ากลัวเปน สํสกฤต แต่จะต้อง สกด ท กระมัง
๑๕. สาม
- พระโอรสทั้ง ๓ นั้น ทรงนาม ทมะ องค์หนึ่ง ทานตะ องค์หนึ่ง ทมนะ องค์หนึ่ง
๑๖. ทัมะยันตี (ทมยัน'ตี) - แปลว่านางผู้ืทรมานชาย เป็นชื่อนางเอกในเืรื่องนี้
๑๗. ประพาศ
- คำนี้ในที่ สกดด้วย ศ หมายความอย่างที่ใช้กันโดยมากในกาพย์กลอน คือ แปลว่าไปเที่ยว ไม่จำเพาะอยู่แรม ถึงไปป่าเช้าชั่วบ่ายหรือเีที่ยวสวนครู่หนึ่งก็ใช้ศัพท์ประพาศเหมือนกัน บางทีถึงกับว่า ชม, เช่น "นางเสด็จลดเลี้ยวเที่ยว ประพาศ รุกขชาติช่อซามงามไสว" เปนต้น ในพระนลคำฉันท์นี้ ถ้าถึงที่สกด ส หมายความว่า ไปจากบ้านของตน
๑๘. หิรญ
- (ส. หิรัญ'ย ม. หิรัญ์ญํ) แปลว่า ทอง ว่าเงิน ศัพท์หิรัญนี้ แปลว่าทองบ่อยกว่าแปลว่าเงิน ในพระนลคำฉันท์ศัพท์นี้แปลว่าทองเสมอ
๑๙. นเรสูร
- คำนี้ใช้อย่างที่เคยเห็นใช้กันมา แลเคยได้ยินแปลว่า กล้าในคน คือ นร กับ สุร แต่จะเปน นเรสูร ได้อย่างไรหาทราบไม่
๒๐. อร
- คำนี้ใช้มากในกาพย์กลอน แปลกันว่า งาม ใช้เป็นอร นั่น อรนี่ ก็ได้ เรียกผู้หญิงว่าอรก็ได้ ในพระนลคำฉันท์ก็ใช้ อร อย่างที่กล่าวนี้ อันที่จริง ศัพท์นี้มีใน อภิธานเขมรแปลว่า เปนที่ยินดี เปนที่พอใจ
๒๑. สมร
- คำสมรนี้มี ๒ คำ คือ สมร แปลว่า การรบคำหนึ่ง อีกคำหนึ่งคือ ส'มร แปลว่าความรำลึก ความรัก และเปนชื่อกามเทพด้วย ไทยเราใช้เรีกยนางว่า สมร ดังที่ใช้ในหมายเลข ๑๙ นี้น่าจะเห็นว่าไม่สู้ตรงความเดิม เพราะ ส'มร เปน ชื่อเทวดาผู้ชาย
ที่มา: ตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับ - พระนลคำฉันท์ฯ, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางเสนางควิจารณ์(ใหญ่ อุทยานานนท์) ๒๔๙๘.
เมื่อวันที่ : ๑๔ ก.ค. ๒๕๔๘, ๑๖.๐๗ น.
โอ.. วิเศษครับ ขอชื่นชมในอุตสาหะ และความตั้งใจอันดีงามครับ
เอาดอกไม้ไปเต็มตะกร้าเลย