![]() |
![]() |
![]() |
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ
พวกเราจำนวนมากคงเคยได้ยินได้ฟังได้ผ่านตากับโลกนิติคำโคลงบทนี้กันแล้ว และคงรู้จักความหมายของคำโคลงเป็นอย่างดี
กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นโคลงเปรียบเทียบคนที่มีความรู้เพียงเล็กน้อย (หรือมีโลกทัศน์อันคับแคบเหมือนสระน้ำเล็ก ๆ) แล้วหลงภูมิใจว่าตนมีความรู้มากหรือมีโลกทัศน์อันกว้างขวาง โดยหารู้ไม่ว่า นอกเหนือจากกรอบความรู้ของตัวเองแล้ว ยังมีโลกอันกว้างใหญ่อยู่ข้างนอก (ชเลไกล-กลางสมุทร)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ซึ่งบ่อยครั้งความทะนงตนหรืออัตตาเช่นนี้นำมาซึ่งความสมเพชเวทนาของคนที่เห็นโลกมามากกว่า มีประสบการณ์สูงกว่า จนต้องมีการเปรียบเทียบคนที่มีความคิดแคบ ๆ เช่นนี้ว่า เหมือน "กบในกะลาครอบ"
เป็นการนำธรรมชาติของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมาเปรียบเทียบกับนิสัยของมนุษย์ที่คมคายอย่างยิ่ง
ที่จริงแล้วกบไม่ได้มีความผิดอะไร มันเพียงแต่ดำรงชีวิตไปตามวิถีของมัน มันจะรู้จักแค่น้ำบ่อน้อยก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
แต่มนุษย์มีสิ่งท้าทายในชีวิตมากกว่ากบ และมนุษย์ไม่ควรถูกจำกัดด้วยกะลาแคบ ๆ เพราะเรามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้มากมายนัก
ในโลกของนักเขียนนั้น ฉันเชื่อว่านักเขียนทุกคนต่างก็ต้องการจะมีมุมมองแบบ "ชเลไล-กลางสมุทร" ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเป็นกบในกะลาครอบ แม้ในงานเขียนที่เจาะลึกในประเด็นที่เล็กที่สุด ก็ยังต้องการความรู้ที่แตกฉานในประเด็นนั้น ความรู้นี้อาจจะมาจากการศึกษาเล่าเรียน จากประสบการณ์ชีวิต และจากการสังเกตอย่างคมคายของนักเขียน
แต่เรารู้แน่หรือว่า สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นมหาสมุทร (วิธีคิด ความรู้ ข้อมูล การนำเสนอ) นั้นไม่ใช่แค่น้ำในบ่อน้อย? ไม่ใช่การสะท้อนในลักษณะของกบในกะลา?
เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้อื่น ได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และรู้จักเปิดกว้างทางความคิด รู้จักศึกษาค้นคว้า
การจะเปิดกว้างได้ต้องใช้ความถ่อมตนอย่างยิ่ง ถ่อมตนว่าเราไม่ได้รู้ไปเสียทั้งหมด ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว ไม่ได้ถูกอยู่คนเดียว และยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยใจเบิกบาน
การจะแง้มกะลาออกมาสู่ชเลไกลนั้นก็ต้องการความกล้าหาญอย่างยิ่ง เหมือนกับการก้าวออกจากโลกที่เคยชิน อบอุ่น ปลอดภัยของบ่อน้อยมาเจอกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ที่ไม่รู้จัก
นักเขียนจะเรียนรู้ปรับปรุงงานเขียนของตัวเองได้หลายวิธี-หลายเส้นทาง สำหรับฉันเห็นว่ามีสองเส้นทางที่สำคัญแห่งการเรียนรู้ (ในหลาย ๆ เส้นทางที่เป็นไปได้)
ประการแรกคือ ตัวนักเขียนเองว่ามองเห็นผลงานของเองเช่นไร และรู้จักตัวเองดีแค่ไหน คือ การรู้จากภายใน
ประการที่สอง คือ เสียงสะท้อนที่นักเขียนได้รับจากครูอาจารย์ เพื่อนนักเขียน และนักอ่าน คือ การรู้จากภายนอก
การเรียนรู้จากภายในต้องการความจริงใจและความเคารพตัวเองของนักเขียน ส่วนการเรียนรู้จากภายนอกต้องการความถ่อมตนและศิลปะในการรับฟังอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง
การมีความรู้เพียงแค่น้ำบ่อน้อยไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจในตัวของมันเอง แต่การปฏิเสธว่าไม่มีทะเลไกล-กลางสมุทรและไม่ยอมเรียนรู้ต่างหากที่ส่อให้เห็นว่านั่นคือ "กบในกะลา" และอาจบั่นทอนความก้าวหน้าของนักเขียน
วันนี้ ฉันเห็นท่าจะต้องลองแง้มกะลาของตัวเองออกไปดูโลกภายนอกเสียบ้าง
ภาพประกอบ "Frog Peeking From Pond" โดย Ariel Matzuk
บรรณาธิการรจนา
จากใจ..บรรณาธิการ,
๐๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
![]() | |
![]() | |
editorial | นิตยสารรายสะดวก |
เมื่อวันที่ : 04 มิ.ย. 2553, 08.44 น.
การเปรียบเสมือนกบในกะลา ดูเหมือนจะเป้นวัฒนธรรมสากลหรือเปล่านะ
พิลกริมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ change management เขาก็มีทฤษฎี boiled frog เหมือนกัน ประมาณว่า กบอยู่ในหม้อน้ำที่กำลังตั้งไฟ น้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน ทนเอา จนในที่สุดก็สุกแหงแก๋ อุปมากับคนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ผลสุดท้ายก็ไปไม่รอด