![]() |
![]() |
![]() |
เช้าวันนี้เป็นวันแรกของปี ๒๕๔๙ และเหมือนกับทุกเช้าผมเปิดทีวี มีบรรยากาศเทศกาลแห่งความสุขส่งผ่านมาทางจอสี่เหลี่ยมทุกช่องครับ ...ผมเปิดโน้ตบุ๊คและตั้งท่าจะเคาะแป้นชวนคุยเรื่องอะไรสักอย่างในเช้าวันปีใหม่.. นึกไม่ออกครับ ผมมักจะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ ตั้งท่าว่าจะเขียนแล้วก็เขียนไม่ออก ด้วยความคิดของตัวเองที่ว่า การจะเขียนอะไรออกมาให้ผู้คนอ่าน ผู้เขียนควรจะสื่ออะไรที่เป็นความสุข หรือเป็นประโยชน์ เพื่อว่าผู้อ่านที่ผ่านมาอ่านเข้า จะได้ไม่รู้สึกว่าเสียเวลาไปเปล่า ๆ
ด้วยความต้องการให้มีคุณค่านี่แหละ ทำให้ผมต้องนั่งบื้อ ดูเคอร์เซอร์กระพริบ ๆ เคาะอะไรออกมาให้อ่านไม่ได้เป็นประจำ แถมยังมีความคิดแบบตำหนิตัวเองบ่อย ๆ ว่า ตูข้าเอย.. ไฉนจึงไม่มีปัญญาจะเขียนอะไรออกมาซะเลย
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
Finding Forrester เป็นภาพยนตร์ที่ฉายทางเคเบิ้ลทีวี ฌอน คอนเนอรี่ แสดงเป็น วิลเลียม ฟอร์เรสเตอร์ เป็นเรื่องของนักเขียนใหญ่ที่มีผลงานหนังสือตีพิมพ์เพียงเล่มเดียว ก็ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ จุดสำคัญที่ผมยกมาเอ่ยถึงคือ คำแนะนำการเริ่มงานเขียนที่วิลเลี่ยม ฟอร์เรสเตอร์ สอนให้ "จามาล" เด็กวัยรุ่นที่มีพรสวรรค์ทางการเขียน เขาแนะนำว่า..
"ร่างแรก เขียนด้วยความรู้สึก ขั้นตอนการตรวจทานจึงค่อยใช้สมอง กฏของการเขียนคือ เขียน ไม่ใช่คิด" -วิลเลี่ยม ฟอเรสเตอร์
เคาะแป้นมาถึงตรงนี้ ผมยังทำได้ไม่ดีครับ.. เพราะผมเขียนไปแก้ไปทีละบรรทัด ด้วยความเคยชินเก่า ๆ การเขียนไปแก้ไปแบบนี้ ทำให้ผมเขียนหนังสือช้ามาก จะบอกว่าบทบรรณาธิการเก่า ๆ ที่ผมเขียนไว้ที่นี่ บางบทใช้เวลามากกว่าสามชั่วโมง และบ่อยครั้งเวลาสามชั่วโมงนั้นผลิตได้เพียงงานเขียนแข็งทื่ออีกชิ้นหนึ่ง
ผมคงเป็นคนคิดเยอะเกินไป ถึงได้ทำอะไรช้า แต่ละวันหมดเปลีืองเวลากับการคิดมากเกินไป บางครั้งมีความคิดดี ๆ แว้บเข้ามาในสมอง ผมก็ดันครุ่นคิดแง่มุมอื่น ๆ ประกอบกันอีกหลายมุม เพื่อที่ว่าผ่านไปอีกหลายชั่วโมงความคิดนั้นก็พาผมกลับมายังความคิดเดิมที่คิดไว้แต่แรก แถมบางครั้งจะมีเรื่องอื่นโผล่มาดึงความสนใจไป จนความคิดดี ๆ นั้นถูกละเลยไปซะฉิบ !
ถึงย่อหน้านี้ผมชักจะสนุกกับวิธีการเขียนแบบฟอร์เรสเตอร์แล้วครับ นี่ผมกำลังเคาะแป้นรัวอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ผมหยุดคิดแล้ว เรื่องที่เขียนจะออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไรช่างมันไปก่อน ผมยอมตัวทำตามคำแนะนำอย่างซื่อๆ คือจิ้มคีย์บอร์ดพิมพ์ลงไปตรงๆ ห้ามคิด (แหม.. ง่ายดีจริง) นี่ผมรัวพิมพ์ออกมาได้เยอะเลย แฮ่ๆ เดี๋ยวถึงขั้นตอนการตรวจทาน คงต้องมีการตัดทอนออกไปไม่ใช่น้อย
ประหลาดดีครับเพื่อนรัก การยอมตัวทำตามนี้ ทำให้รู้สึกดี อย่างน้อยที่สุดผมก็ดีใจที่พิมพ์อะไรออกมาได้ ตัวหนังสือที่พรั่งพรูออกมานั้น แม้ในที่สุดจะมีส่วนที่กลายเป็นขยะอยู่เยอะ แต่นั่นยังดีกว่าหน้าจอโล่ง ๆ เพราะเขียนไม่ออกเป็นไหน ๆ
การเขียนกลายเป็นความเพลิดเพลินแล้วครับ (อย่างที่เพื่อนหลายท่านรู้ก่อนหน้าผมมาตั้งนานแล้ว) และไม่รู้สิ.. ผมคิดว่าการเขียนออกมาโดยไม่ต้องคิดนั้น ทำให้ผมได้พบกับสำนวนการเขียนที่มีชีวิตชีวามากขึ้น และหวังว่าจะไม่แข็งทื่อเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว
เพื่อนนักเขียนที่รักครับ เอาเป็นว่าในวันปีใหม่นี้ ลุงเปี๊ยกขอให้บทบรรณาธิการฉบับนี้ เป็นดั่งการส่งผ่านการเรียนรู้วิชาการเขียนชนิดหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ผ่านการกระทำ (Learning By Doing) เป็นการส่งการบ้านชิ้นเล็ก ๆ มาให้ตรวจ และหวังว่ามันอาจเป็นประโยชน์กับเพื่อนนักเขียนที่มักจะตัน เพราะเกิดเขียนอะไรไม่ออกอย่างเดียวกัน
เพื่อน ๆ อ่านแล้วคิดยังไงครับ ส่วนตัวผมรู้แต่ว่า ชักจะติดใจวิธีเขียนแบบนี้ซะแล้ว
จากใจ..บรรณาธิการ,
๐๑ มกราคม ๒๕๔๙
![]() | |
![]() | |
editorial | นิตยสารรายสะดวก |
เมื่อวันที่ : 03 ม.ค. 2549, 18.38 น.
แฺฮ่ๆๆ ดีใจค่ะ ที่ลุงเปี๊ยกเขียนโดยไม่ต้องคิด(มากเกินไป) ซะที พิลว่า การคิดมากเกินไป มันก็คือการเกร็งนี่แหละค่ะ เกร็งมากไป อะไรๆมันก็ไม่ออกมาอย่างเป็นธรรมชาตินะอย่างนี้ดีแล้วค่ะ
ขอบคุณสำหรับบทเรียนที่นำมาเล่าสู่กันฟัง