![]() |
![]() |
![]() |
แต่ฉันโชคดีที่ "รู้หนังสือ" และบ้านเราเป็นบ้านที่รักการอ่านแม้ว่าเราจะมีหนังสืออ่านอยู่ไม่กี่ประเภทก็ตาม
แม่เคยเล่าว่า พ่อมีหนังสือของยาขอบเป็นตู้ๆ แต่หนังสือเหล่านั้นไม่ตกมาถึงเรารุ่นลูกหลานเพราะอาของฉันยึดไปหมด แม่บ่นเสียดายเสมอ ยังดีที่เรามีหนังสืออิเหนาเหลืออยู่ติดบ้าน แม้ว่าแม่จะจบแค่ ป. ๔ เขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว แต่แม่ก็อ่านอิเหนาจบไม่รู้กี่เที่ยว และอ่านด้วยความซาบซึ้ง...เพราะความรู้หนังสือ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
จนฉันโตเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นหนังสือที่บ้านก็มีหนังสือไม่กี่ประเภทที่อ่านแล้วอ่านอีกจนเก่าเปื่อย หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นก็มีเรื่องของ กีย์ เดอ โมปาซซัง ซึ่งเป็นเรื่องเสียดสีสังคมฝรั่งเศสที่ฉันอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเป็นสาวจึงเริ่มเข้าใจนัยยะของเรื่องสั้นที่ชื่อว่า "ก้อนไขมัน" ซึ่งเป็นหญิงงามเมืองรูปร่างอ้วนเหมือนก้อนไขมัน ที่เดินทางไปพักผ่อนทางรถไฟ แต่เกิดติดขัดจนต้องเอาตัวเข้าแลกกับนายทหารกลัดมัน เพื่อให้รถไฟเดินทางต่อไปได้ กลุ่มคนผู้ดีในรถไฟได้ประทังความหิวจากอาหารที่เธอเอาใส่ตะกร้าไปอย่างเหลือเฟือในตอนแรก และยุยงให้เธอเอาตัวเข้าแลกเพื่อพวกเขาจะได้เดินทางต่อ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้อนรับเธอกลับมาที่ตู้รถไฟอย่างเย็นชาและรังเกียจ ทั้งลืมบุญคุณของเธออย่างง่ายดาย โดยไม่คิดจะแบ่งปันอาหารที่ตัวเองได้มาระหว่างที่เธอเอาตัวไปปรนเปรอนายทหาร พวกเขาปล่อยให้เธอเดินทางต่อไปด้วยความหิว แม้เธอจะเป็นหญิงงามเมือง แต่เธอก็มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ถูกเหล่าผู้ดีมองเมินเมื่อพวกเขาได้อิสรภาพสมใจแล้ว ... การจะเข้าใจนัยยะของเรื่องราวเหล่านี้ต้องการมากกว่าความรู้หนังสือ ฉันยังต้องการชั่วโมงบินจากการอ่าน จากการเรียนรู้ชีวิต จากการเข้าใจวัฒนธรรมเปรียบเทียบ จากการค้นหาความหมายระหว่างบรรทัด... ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาอัตโนมัติจากการรู้หนังสือ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ เช่นกันหากไม่รู้หนังสือ Photo credit here
หนังสือชุดที่ตรึงใจที่สุดคือ ชุดบ้านน้อยในป่าใหญ่ ฉันไม่รู้ว่าพี่คนไหนซื้อไว้ เป็นหนังสือที่สร้างจินตนาการอย่างยิ่งใหญ่ อ่านได้อ่านดีทั้งบ้าน เป็นชุดหนังสือที่ทำให้ฉันรู้โลกมากขึ้นก็เพราะการรู้หนังสือ
ส่วนหนังสือที่เรียบเรียงโดย มรว คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ที่เคยอ่านไม่เข้าใจอย่างไร ก็ยังคงไม่เข้าใจอย่างนั้น เพราะความรู้หนังสือของฉันก็ยังมีจุดบอด และไม่ลุ่มลึกพอที่จะเข้าใจความหมายที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อ
เมื่ออายุมากขึ้น ฉันกลับเริ่มอ่านหนังสือจริงๆ น้อยลง โลกไซเบอร์หรือโลกเวอร์ช่วลทำให้การอ่านฉาบฉวยขึ้น หลากหลายขึ้น มากมายเกินจะย่อยได้ แต่ก็สั้นลง ตื้นเขิน แหว่งๆ วิ่นๆ กินพลังงานทางอารมณ์ แต่พิสูจน์สาระได้ยากขึ้น ความรู้หนังสือเริ่มสับสน เพราะฉันเริ่มแยกแยะได้ยากมากขึ้นว่า สิ่งที่ได้จากการอ่านนั้น เป็นความรู้ที่มีชีวิต เป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นแค่เศษขยะบนหน้าจอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันขอบคุณชีวิตก็คือ การมีโอกาสได้รู้มากกว่าหนึ่งภาษา คือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส - และการเสพงานในแต่ละภาษาก็ใช้ความรู้หนังสือคนละชุดกัน บ่อยครั้ง ฉันใช้ชุดพิจารณาของภาษาหนึ่งเพื่อไตร่ตรองความหมายในภาษาหนึ่ง มันเป็นความสวยงามที่น่าหลงไหล แต่บางทีก็เป็นความเข้าใจผิดแบบปล่อยไก่เต็มเล้า ถึงกระนั้น ฉันก็เชื่อว่าเพียงแค่ภาษาแม่ของฉันก็แสนจะเหลือเฟือที่จะได้เสพงานดีๆ จากวรรณกรรมอมตะที่ฉันไม่ได้เคยได้อ่านตอนเป็นเด็กๆ และเพิ่งมาเริ่มมาตลุยอ่านหลังปลดเกษียณตัวเอง ขณะที่ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสคือของแถมที่ช่วยให้รู้ทันโลกนอกเขตภาษาไทยมากขึ้น
ฉันคิดว่า การรู้หนังสือคือของขวัญอันเลอค่าของความเป็นมนุษย์ และการรู้ว่าจะใช้ทักษะชีวิตตัวไหนควบคู่กับความรู้หนังสือนั้น น่าจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของเราทุกคน
รจนา ณ เยอรมนี
จากใจ..บรรณาธิการ,
๑๙ กันยายน ๒๕๕๗
![]() | |
![]() | |
editorial | นิตยสารรายสะดวก |
เมื่อวันที่ : 27 ก.ย. 2557, 17.36 น.
ค่อยๆอ่านบทความของพี่รจนา
แม้จะอ่านจากสื่ออิเลคทรอนิกส์
แต่ภาษาและเนื้อความ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าได้อ่านจากหน้าหนังสือ
ที่เราสามารถรู้สึกถึงสีและเหมือนได้สัมผัสกับเนื้อกระดาษอันอบอุ่น
ยอมรับเลยค่ะว่า พักหลังอ่านหนังสือน้อยลง แม้แต่เขียนก็เช่นกัน
แต่ถัางานของโลกจริงเสร็จเมื่อไหร่ จะกลับมาละเลียดอ่าน และละไมเขียนให้มากขึ้นค่ะ
ปล.คิดถึงพี่รจนะคะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ