![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...เราเห็นทุกข์แล้วเราก็มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ความทุกข์เป็นอาจารย์ของเรา แต่ความทุกข์ทางกายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร แต่ความทุกข์ทางใจเกิดจากความคิดผิด ความเห็นผิด เกิดจากมุมมองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง...
วันแรกของการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น เรามีเวลาอยู่ไม่กี่วัน เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามตั้งอกตั้งใจให้มาก เพื่อเราจะได้รับประโยชน์ การปฏิบัติธรรม คือ การให้เวลากับการมารู้จักกับตนเอง พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ชีวิตคือทุกข์ แต่ความหมายของท่านนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตของเราเป็นทุกข์ทุกวินาที หรือชีวิตของเราต้องเป็นทุกข์ตลอดกาลนาน ความหมายของท่านก็คือ ชีวิตของผู้ที่มีกิเลสย่อมมีทุกข์ไม่มากก็น้อย มีกิเลสมากก็ทุกข์มาก มีกิเลสน้อยก็ทุกข์น้อย หมดกิเลสเมื่อไรก็หมดทุกข์เมื่อนั้น
ท่านจึงสอนเรื่องอริยสัจสี่ ทุกข์ เหตุให้การเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ หนทางไปสู่ความดับทุกข์
เราเห็นทุกข์แล้วเราก็มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ความทุกข์เป็นอาจารย์ของเรา แต่ความทุกข์ทางกายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร แต่ความทุกข์ทางใจเกิดจากความคิดผิด ความเห็นผิด เกิดจากมุมมองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
ยุงกัด ถ้ายุงกัดก็เจ็บ เราอาจจะคัน นั่นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ธรรมชาติของยุง ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความทุกข์ทางใจ คือ ความรำคาญ ความไม่ชอบ ความรังเกียจ เป็นต้นนั้น ธรรมชาติไม่บังคับ ไม่ได้เกิดกับคนทุกคน และแม้ตัวเรา ถ้าเรากำลังเบื่อยุงกัดแล้ว มันก็รู้สึกรำคาญมาก เราไม่อยากอยู่ที่นี่อีกแล้ว มันกัดก็ยิ่งทรมานใหญ่
ถ้าเราอยู่ที่ไหน มีความพอใจที่จะอยู่ตรงนั้น ยุงกัดแทบจะไม่สังเกต นั้นอารมณ์ทางใจไม่ใช่ของถูกธรรมชาติบังคับ
ถ้าเราฉลาด เราก็ยังสามารถได้กำไรจากทุกขเวทนา หรือธรรมชาติของกายได้ ถ้ายุงกัด เราก็คิดอยู่ในใจว่า ดีนะ ไม่ง่วง ถ้ายุงไม่กัด สบายเกินไป อาจจะง่วง คิดอย่างนี้ก็ไม่ค่อยจะทุกข์ นั้นการใช้สติปัญญาของเราให้พลิกแนวความคิด จากความคิดที่ส่งเสริมความรำคาญ ทำให้อารมณ์ที่เป็นอกุศลเพิ่มมากขึ้น คิดซะให้เป็นความคิดที่ทำให้ความไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ความยินร้ายลดน้อยลง นี่คือวิธีแก้กิเลสที่เราเรียกว่านิวรณ์
นิวรณ์ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการประพฤตินั้น มีห้าข้อ ข้อที่สองเรียกว่า ความพยาบาท ความพยาบาทมีตั้งแต่หยาบไปหาละเอียด มีความรู้สึกไม่พอใจ ขัดเคืองใจ ไม่ว่าต่อสิ่งนอกตัวเราหรือภายในตัวเรา ก็เป็นนิวรณ์ทั้งนั้น ให้ชื่อว่าพยาบาท พยาบาทนิวรณ์
การประพฤติปฏิบัติคือการฝึกให้รู้เท่าทัน ไม่เชื่อความคิด ไม่เชื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเรา ความเชื่ออารมณ์เป็นอย่างไงก็เพราะเกิดทุกขเวทนาทางกาย ความเจ็บปวด ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดเอว รับรู้แล้ว ก็ปรุงแต่งด้วยความไม่พอใจ ไม่ชอบ
ถ้าไม่มีสติเลย เราจะกระโดดเลยจากไม่ชอบ เป็นมันไม่ดี นั่นก็ไม่ดี อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ อันนี้ก็แย่มาก นี่คำพูดจากคนไม่มีสติ เพราะพูดจากความรู้สึกของตัวเอง เอาเป็นอาการสากลไปเลย คือเอาเป็นธรรมชาติ เอาไปโทษธรรมชาติว่าไม่ดี อย่างนั้นไม่ดีเลย อย่างนั้นใช้ไม่ได้ แปลเราไม่ชอบ อยากให้เป็นอย่างอื่น เราเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าสิ่งนั้นไม่ดี นอกจากความรู้สึกของเรา และความรู้สึกของเราเป็นเครื่องวัดที่ไว้ใจได้ไหม ในเมื่อความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ความท้อแท้ใจ ความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ความกลัวทุกข์จึงทำให้ชีวิตของเราคับแคบ ความกลัวทุกข์เป็นตัวสำคัญ หลายสิ่งหลายอย่าง เราไม่บรรลุเสียที เราไม่เข้าถึงสักทีเพียงเพราะกลัวความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการแสวงหาสิ่งนั้น หรือในการปฏิบัติเพื่อแสวงหาสิ่งนั้น
เมื่อเรามีสติ เราก็รู้ว่านี่คือแค่ความกลัว ก็เอาอารมณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นที่กำหนด ไม่ตามเหตุผล ตามความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เช่น ถามตัวเองว่า เดี๋ยวนี้มีอารมณ์อะไรอยู่ ความรู้สึกอะไรอยู่ ถ้ามีความจริงใจกับการปฏิบัติจะมีคำตอบว่า กลัวลำบาก กลัวทุกข์ กลัวไม่สบาย
ถ้าถามตัวเองต่อไปว่า แน่ใจหรือว่าจะทุกข์ แน่ใจว่าจะทุกข์อย่างที่คิด เราก็แน่ใจไม่ได้ น่าจะ น่าจะทุกข์ แต่เราก็ไม่รู้ อาจจะยากกว่าที่คิดกว่าก็ได้ อาจจะทุกข์มากกว่าที่คิดก็ได้ แต่อาจจะทุกข์น้อยกว่าที่คิดก็ได้ แต่เราไม่รู้
นี่คือความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้มีปัญญา ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแปรผัน เราไม่มีทางรู้แน่นอน มันจะมีการเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ถึงขั้นที่ว่า บางคนก็ไม่ยอมรับว่าเป็นพุทธศาสนาเป็นศาสนา ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถามเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้
แต่เราควรจะศึกษาเรื่องนี้ให้ดีหน่อย แล้วถามว่า คำว่าพิสูจน์ได้แปลว่าอะไร การพิสูจน์อะไรก็แล้วแต่ ต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาอะไร ความเชื่ออย่างไร เราก็ต้องเชื่อในเครื่องพิสูจน์ของเรา คือเราพิสูจน์อะไร เราก็ต้องมีเครื่องพิสูจน์ แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าเครื่องพิสูจน์ของเราใช้ได้ ต้องเชื่อ งั้นทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องถึงจุดหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่า ไม่รู้ ต้องยอมรับว่า ต้องไว้ใจไว้ก่อน เชื่อไว้ก่อน
อย่างว่าเราถามนักวิทยาศาสตร์ว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย สิ่งที่เคยพิสูจน์ในอดีต พิสูจน์ได้ไหมว่า สิ่งนั้นที่เคย เอ้า สมมติว่าสิ่งที่เราเคยพิสูจน์เมื่อเช้านี้ ซึ่งเราถือว่าเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ไหมว่าพรุ่งนี้มันจะยังเป็นความจริงอย่างนั้น มันพิสูจน์ไม่ได้ การพิสูจน์มันเป็นเรื่องลึกซึ้งกว่าที่เราคิด
แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี่ยังน้อย เรารู้สึกว่า จิตใจของเรายังเป็นเครื่องพิสูจน์ธรรมะที่ไม่สมบูรณ์ ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาที่แท้จริง คือ จิตใจที่ปราศจากนิวรณ์ เหมือนเครื่องมือ มันก็ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จิตใจของเราเหมือนเครื่องมืออย่างหนึ่ง จิตใจของคนธรรมดา จิตใจที่ขาดการฝึกอบรม ยังไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
อานิสงส์ของการฝึกจิตข้อหนึ่ง คือ สภาพที่พระองค์เรียกกว่า กัมมะนีโย หรือ ควรแก่งาน ควรแก่งานอะไร ควรแก่งาน คือการแสวงหาความจริงของชีวิต ที่นี้จิตใจของเราไม่มีความเข้มแข็งพอ เราตั้งใจคิด ตั้งใจพิจารณาเรื่องอะไรก็ตาม จิตใจไม่สามารถจะอยู่กับเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่องได้ ไม่กี่วินาทีมันก็ไปที่อื่น ใช่ไหม อันนี้ก็เห็นได้ง่ายจากการพยายามดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ถ้าจิตใจของเราอยู่ในสภาพใช้งานได้ เราก็น่าจะสั่งมันได้แล้ว อยากจะคิดอะไรก็ให้คิดเรื่องนั้นสักห้านาทีซะ สิบนาทีซะ คิดเรื่องงานก็ให้คิดตามแนวนี้ซะสิบนาที สิบห้านาที แต่เราทำไม่ได้ใช้ไหม บังคับไม่อยู่ เพราะไม่เคย
ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นต้น ไม่กี่วินาทีเรื่องอื่นก็แทรกเข้ามา ดูลมหายใจลมหายใจออก แล้วก็ ตายละ ไปคิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ใช่ไหม ไปคิดถึงเรื่องที่บ้าน ไปคิดเรื่องที่ทำงาน คิดเรื่องปัญหาชีวิต คิดเรื่องคนนั้น เรื่องคนนี้ คิดเรื่องข่าวที่อ่านในหนังสือพิมพ์เมื่อเช้านี้ คิดถึงเพลงที่ฟังในรถเมื่อกี้นี้ คิดเรื่องกีฬา คิดเรื่องซื้อของ คิดเรื่องสารพัดอย่าง
ทุกครั้งที่เราทำอะไร พูดอะไร คิดอะไรด้วยจิตที่ขาดสติ มันก็ทิ้งร่องรอยอยู่ในใจ พอเราจะกำหนดรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตใจก็เลยไม่มีคุณภาพพอ ไม่มีความเข้มแข็งพอ เพราะเต็มไปด้วยของเก่า มีอะไรคั่งค้างอยู่ในจิตเยอะแยะ
ถ้าในการทำสมาธิภาวนา เรามีโอกาสได้รู้ถึงจิตใจของตนว่า อยู่ในสภาพอย่างไร อยู่ในสภาพที่ใช้ได้หรือยัง สภาพที่ใช้ได้เป็นอย่างไร ก็คือสภาพเป็นอิสระ ไม่เป็นอิสระเป็นอย่างไร ก็คือจิตใจวิ่งตามสิ่งที่มากระทบตลอดเวลา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เขาสรรเสริญ ก็ดีใจ นินทาเราก็เสียใจ เป็นอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะพ้นจากสัญชาตญาน พ้นจากระดับตอบสนองตามโดยอัตโนมัติ ตามความเคยชินได้ยากมาก แทบจะไม่มีทาง
แต่เราหลอกตัวเองว่า เราเป็นตัวของตัว หลอกตัวเองว่าเป็นเจ้าของชีวิต หลอกตัวเองว่าเป็นอิสระ หลอกได้ เพราะไม่เคยมองเห็น ไม่เคยดูความจริง
แม้ความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตมักจะมีพื้นฐานมาจากความรู้สึกต่าง ๆ อาตมาตอนที่ยังไม่บวชก็ไปทำงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีเพื่อนสามสี่คนเป็นคอมมิวนิสต์ มีเพื่อนผู้หญิงก็เป็นคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก เถียงกันทุกวัน คุยไปคุยมา การที่เป็นคอมมิวนิสต์เพราะอะไร เพราะพ่อเป็นเจ้าของโรงงาน แล้วเขาเถียงกับพ่อ เกลียดพ่อ ก็เลยเป็นคอมมิวนิสต์ประชดพ่อ แต่เขาไม่ยอมรับ เพราะเขาเชื่อว่าที่เขาชอบเพราะทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซนี่ลึกซึ้งมาก ได้คุยกันไปกันมา ก็ไม่ใช่เท่าไร
แนวความคิดทางการเมือง แนวความคิดเรื่องต่าง ๆ บางทีมันเกิดจากความรู้สึกอคติต่อคนใดคนหนึ่ง หรือปฏิกิริยาหรือประสบการณ์บางสิ่งบางอย่างในตอนเด็กก็ได้ ถ้าเราไม่มองดูข้างในเราก็มองไม่เห็น
ชีวิตของเรามันจึงเหมือนหุ่นกระบอกมากกว่าจะเป็นชีวิตของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่มีเงินมีทองไปไหนก็ไปได้ แต่มันก็ยังอยู่ในกรอบที่คับแคบ กรอบที่คับแคบหมายถึงความคิดเห็น ความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ
การทำสมาธิจิตไม่สงบเลย ดี เราจะได้ไม่ลืมตัว ไม่หลงตัว เราจึงรู้ว่ามีงานต้องทำเยอะ จิตใจของเราไว้ใจไม่ได้ จิตใจของเรายังเป็นเหยื่อของอารมณ์ พอเกิดความรู้สึกว่าชอบ วิ่งตามสิ่งตนเองชอบ ต้องเอาให้ได้ นี่ลักษณะของเด็กไม่ใช่ลักษณะของผู้ใหญ่ เจอสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่เอา เห็นไหม นี่ลักษณะของเด็กหรือผู้ใหญ่ อาตมาว่าเป็นลักษณะของเด็กนะ
เช่น เด็กอายุสองขวบกว่า มันจะมีช่วงหนึ่งจะพูดแต่คำเดียวว่า ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา ตลอดเวลา แต่จริง ๆ แล้ว เราก็ยังเป็นกันอยู่ทุกคน เพียงแต่ว่าไม่กล้าพูด มันเด็กไร้เดียงสา แต่ภายในใจเราก็ยังร้องดังลั่นอยู่ ว่า ไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ฝึกจิตก็เป็นไปตามสัญชาตญานนี้อยู่ตลอดเวลา ชีวิตอย่างนี้ไม่มีคุณภาพ ถ้าเราฝึกจิตลำบากก็จริง แต่ว่ามันก็มีประโยชน์ จำเป็นไหม
ก็แล้วแต่จะจำกัดความของคำว่าจำเป็น จะว่าไปแล้ว หายใจเข้า หายใจออกก็จำเป็น เพราะหายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตาย อย่างนั้นอาตมาจะถามต่อไปว่า มีชีวิตจำเป็นไหม มันจำเป็นอย่างไร เอาอะไรเป็นหลักตัดสินว่า อะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น เอาแค่มีชีวิตหายใจได้ว่าจำเป็น หรือว่าจะเอาอะไรว่าจำเป็น บางคนฆ่าตัวตายเพราะเห็นว่าชีวิตไม่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องอยู่ งั้นเราต้องคิดให้ดีใช่ไหมว่า ต้องการชีวิตอย่างไร ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร ชีวิตที่เราภูมิใจได้เป็นอย่างไร
ท่านเจ้าคุณพุทธทาสบอกว่า ต้องการ ควรจะปฏิบัติให้มีชีวิตที่ว่าทบทวนตอนกลางคืนว่า วันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง พูดอะไรบ้าง ไหว้ตัวเองได้ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าใช้ได้ ไหว้ตัวเองได้ อยากจะไหว้ตัวเอง เพราะมันดีมันงาม สร้างประโยชน์ตน สร้างประโยชน์คนอื่น
อย่างว่าบางคนบอกว่า ไม่ต้องลำบากลำบน ทรมานตนเอง ตื่นแต่เช้า ทานมื้อเดียว สองมื้อเนี่ยทรมานเปล่า ๆ มันไม่ใช่ทรมานเปล่า ๆ มันทรมานมีประโยชน์ เรื่องทรมานไม่ห้ามหรอก แต่ขอให้ทรมานมีความรู้ความเข้าใจในเหตุผล สิ่งที่รู้สึกว่าทรมานแรก ๆ อยู่ไปอยู่มาก็ไม่ทรมานเลย บางทีก็ทรมานเพราะความคิดเสียมากกว่า
แล้วก็บอกว่ามันอยู่ที่ใจ เคยได้ยินไหม มันอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่า มันอยู่ที่กาย มันอยู่ที่วาจา มันอยู่ที่ใจ แล้วพระพุทธองค์จำกัดความของบัณฑิตผู้มีปัญญาว่า ผู้ไม่เบียดเบียนตน ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่คำว่าเบียดเบียนนี่เป็นคำลึกซึ้งเหมือนกัน
แต่ในที่นี้ขอสังเกตเพียงแค่ว่า ท่านเอาพฤติกรรมเป็นเครื่องวัดปัญญา เอาปัญญาเป็นเครื่องวัดพฤติกรรม พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบเหมือนกับการล้างมือ มือหนึ่งคือศีล มือหนึ่งคือปัญญา ล้างซึ่งกันและกัน ศีลก็ล้างปัญญา ปัญญาก็ล้างศีล
ถ้าเรามีปัญญา ศีลเราจะบริสุทธิ์ จะรักษาศีลง่าย เพราะเห็นโทษในการไม่รักษา เห็นคุณประโยชน์ในการรักษา มีความฉลาดในการหากุศโลบายในการรักษาศีลของเราไม่ให้มีมลทิน
เมื่อศีลเราบริสุทธิ์แล้ว จิตใจปราศจากความเดือดร้อน มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไว้ใจตัวเองได้มากขึ้น จิตใจไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ไม่เสียดาย ไม่มีอะไรปิดบังอำพราง ไม่มีอะไรที่จะต้องอาย ไม่มีอะไรที่จะต้องเขิน จิตใจสงบระดับ ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในชีวิตก็เพิ่มก็ผุดขึ้นมาตลอดเวลา เรียกว่า เป็นนักศึกษาโดยแท้ เจออะไรในชีวิต แทนที่จะวิ่งไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น ว่าชอบหรือไม่ชอบ สามารถเรียนรู้ สามารถได้กำไร แม้จากสิ่งที่เราไม่ชอบ
งั้นชีวิตของผู้มีแต่กิเลส มีแต่นิวรณ์เต็มสมอง เต็มหัวใจ ก็เป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกของชีวิตก็เป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกของผู้ที่สามารถน้อมนำจิตใจอยู่เหนือนิวรณ์เหนือกิเลสก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราก็พูดกันได้ยากเหมือนกัน คือหลายสิ่งหลายอย่างอาศัยประสบการณ์
แม่คุยกับลูกเรื่องความเป็นแม่ ถ้าลูกยังไม่มีลูกของเขา ก็ไม่มีวันจะเข้าใจอยู่ดี เพราะต้องมีประสบการณ์ มันต้องรู้เอง หลายสิ่งหลายอย่างก็เหมือนกัน หรือว่าภาพสองมิติ กับ ภาพสามมิติ สมมติว่า คนเคยเห็นแต่ภาพสองมิติ แล้วอยากจะรู้ว่าภาพสามมิติเป็นอย่างไร อธิบายยากใช่ไหม เพราะเขาไม่เคยเห็น
บางสิ่งบางอย่าง รู้ก่อนจึงค่อยทำ บางสิ่งบางอย่างรู้ก่อนไม่ได้ ต้องทำจึงจะรู้ ที่นี้ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน แต่ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ มีศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศรัทธาในพระอริยสงฆ์ พระสาวกของพระพุทธองค์ทั้งหลาย ว่าท่านสอนจริง ท่านรู้จริง ท่านแนะนำอย่างไรก็ต้องเชื่อ
มีไหมที่เราเคยอ่านคำสอนพระพุทธเจ้าที่ไม่ตรงกับประสบการณ์ของเรา ที่เราพิสูจน์ได้เลยว่าไม่ใช่ ไม่มีใช่ไหม ดังนั้น เมื่อเราเชื่อว่าพระพุทธองค์ตรัสสิ่งใดก็ตรัสเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแด่มวลมนุษย์ เราก็พยายามปฏิบัติตาม พยายามทำให้เห็น ทำให้รู้เอง เป็นประสบการณ์ตรง
เบื้องต้นต้องฝึกจิตไม่ให้หลงใหลกับอารมณ์ มาปฏิบัติธรรมแล้ว เราออกจากบ้าน ออกจากสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นเคยเพราะอะไร เพราะไม่มีสัญญาเก่าที่จะดึงจิตออกจากปัจจุบัน มาอยู่ที่นี่ ถึงแม้ว่าเราเป็นผู้มีครอบครัว มีคุณพ่อคุณแม่ มีสามีภรรยา มีลูกมีหลาน สองสามวันนี้ต้องทำตัวเองให้เป็นผี เรียกว่า มีแต่เราคนเดียว ช่วงนี้วางซะ ความผูกพัน ความวิตกกังวลต่าง ๆ ไม่ใช่เวลาที่จะต้องไปคิด ไม่ต้องไปกังวลในเรื่องต่าง ๆ ถ้าเอาเรื่องจากทางบ้าน เรื่องจากที่ทำงานมาคิด ก็เสียเวลาในการปฏิบัติ
สองสามวันนี้ อนุญาตให้เห็นแก่ตัวเต็มที่ แต่เห็นแก่ตัวในการสร้างสรรค์ และประโยชน์ที่ได้จากฝึกจิต ไม่ใช่ว่าเราจะเก็บได้ไว้คนเดียว พอเรากลับไปถึงบ้าน มันก็จะเป็นประโยชน์ และจะแผ่ออกไปสู่คุณพ่อคุณแม่สามีภรรยาลูกหลานอย่างแน่นอน
เพราะเมื่อใจเราสงบระงับ มีความสุข เรารู้สึกเหมือนเศรษฐี มหาเศรษฐี คือมีเงินมีทองมาก ให้คนนั้นคนนี้ได้ เมื่อเรามีความสุขอยู่ในใจ เราก็รู้สึกให้คนอื่นได้ ไม่เสียดาย แต่คนที่ไม่ค่อยมีความสุขอยู่ในใจ จะกลัวความสุขเราจะหมดไป ไม่ค่อยกล้าไม่ค่อยอยากให้คนอื่น กลัวตัวเอง กลัวของตัวเองจะหมดไป
ดังนั้น การภาวนาเป็นสิ่งที่เราพยายามต้องเอ็นจอย เมื่อเช้านี้ก็พูดเรื่องนี้แล้วว่า ฝึกให้เป็นคนเอ็นจอยขณะปัจจุบันเป็น เอ็นจอยลมหายใจเข้า เอ็นจอยลมหายใจออก ถ้าเราเอ็นจอยลมหายใจได้ แหม สบายเลย ไปที่ไหน เราก็เอาลมหายใจไปด้วย เห็นไหม อยู่ที่ไหนอย่างไร ชีวิตทางโลกจะเจริญจะเสื่อมอย่างไร จะรวยจะจนอย่างไร จะมีคนเข้าใจเราหรือมีคนไม่เข้าใจเรา เราก็มีลมหายใจอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลา ถ้าเราสามารถหลับตา เอ็นจอยลมหายใจเข้า เอ็นจอยลมหายใจออก ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกแล้ว ไปที่ไหนก็ไม่เหงา ไปที่ไหน มีเพื่อน
ดูลมหายใจเข้า เพื่อให้จิตใจพอใจที่จะดูลมหายใจเข้า พอใจที่จะดูลมหายใจออก ถ้าเรารู้สึกพอใจ รู้สึกเอ็นจอยธรรมชาติ คือ ลมหายใจ นิวรณ์แทบไม่มีช่องเข้าไปครอบงำจิตใจเราได้ พอจิตใจมันเผลอ เพราะเราไม่พอใจกับลมหายใจใช่ไหม จิตใจมันอยากไปหาสิ่งอื่น จะเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว เรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะอะไร เพราะไม่พอใจที่จะอยู่ในปัจจุบันกับลมหายใจ
เมื่อเราอยู่ในปัจจุบัน อารมณ์เกิดขึ้นเราก็รู้ว่านี่คืออารมณ์ สักแต่ว่าอารมณ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันดับ เราก็รู้ว่าเป็นสักแต่ว่าอารมณ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นมันมาก
ถ้าเราไม่อยู่ในปัจจุบัน เรารู้เท่าทันอารมณ์ ปล่อยวางอารมณ์ หลุดพ้นจากอารมณ์ไม่ได้
นี่เราปฏิบัติธรรม มันอยู่ที่ใจก็จริง มันอยู่ที่กายด้วย ที่วาจาด้วย ที่นี้ก็มีปัญหาว่า กายเรามันก็มักจะมีปัญหา แทบจะไม่มีใครที่มีสังขารร่างกายที่ไม่สร้างปัญหาแก่เราเลย มีโรคประจำตัวบ้าง ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดอะไร
และก็เปรียบเทียบด้วยว่า ขอมองอย่างนี้ได้ไหม เหมือนผู้มีอุปการคุณต่อเรา อย่างเช่นคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย ผู้ที่เราเรียกว่าบุพการี ผู้ที่มีบุญคุณต่อเรามาก แต่มีนิสัยเสียบางอย่าง เรารู้สึกอย่างไรไหม เราก็ยอมรับว่า นิสัยบางอย่าง จะเป็นความหงุดหงิด จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ แต่เมื่อเราเทียบกับความดีความรักความเมตตาที่ท่านให้กับเราตลอดชีวิต รู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เราก็ไม่ได้ถือสาอะไร
ที่นี้เมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งที่เราได้จากสังขารร่างกายนี้ ก็เทียบกับความเจ็บปวดความทรมานมากกว่าหลายเท่า งั้นอย่าไปโกรธ อย่าไปว่าสังขารมาก เพราะเป็นบุพการี เป็นผู้มีพระคุณ เพราะเรามาที่นี่วันนี้ ไม่ได้มาแต่ใจใช่ไหม เอากายมาด้วย ถ้ากายไม่ยอมมา มาแต่ใจไม่ได้ใช่ไหม นอกจากว่าจะมีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ ส่งกายทิพย์มา แต่ส่วนมากก็ต้องเอากายนี้มา
เพราะฉะนั้น กายนี้ก็เป็นผู้มีพระคุณ เราไปวัดไปวา เราปฏิบัติธรรม เพราะกายเรายอม เพราะกายเราพาไป ที่นี้กายก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ทรมาน ปวดขา ปวดหลัง เราก็ไม่ถือสา สงสารมัน
นี่หัวใจเราเต้นนาทีละกี่ครั้ง ชีวิตเราเคยเต้นกี่ครั้ง ไม่เคยผิดพลาดเลยใช่ไหม น่าอัศจรรย์ หัวใจเราดีมากเลยใช่ไหม เต้นทุกวัน ทุกเสาร์อาทิตย์ ทุกวันไม่มีพักร้อน ลมหายใจเข้าหายใจออกทุกเวลานาที ไม่เคยขอพัก นี่มันมีบุญคุณต่อเรามาก
งั้นมองร่างกายในแง่ดี ขอบคุณ เมื่อมันช่วยเราถึงขนาดนี้ เราก็ต้องปฏิบัติทางใจให้ดี อย่าเสียเวลา อย่างเช่น เรื่องการมาภาวนากันสองสามวัน ที่นี้ก็ไม่อยากจะให้เครียดมาก ก็ไม่อยากจะมีข้อบังคับ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรมากมาย แต่ว่า ต้องการให้เราทุกคนเห็นประโยชน์ในการไม่พูดไม่คุย เพราะพูดจากประสบการณ์ของอาตมาเอง ประสบการณ์ของลูกศิษย์ลูกหาฝ่ายสงฆ์ พูดจากประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ของอาตมา และนักปฏิบัติทุกยุคทุกสมัย
ท่านจะพูดเสียงเดียวกันว่า การพูดคุยเรื่องทางโลกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิ เราก็พยายามปล่อยความคิดต่าง ๆ ทีนี้ ถ้าเราทำสมาธิตั้งแต่เช้าจนเย็นจนกลางคืน จิตใจเราจะ sensitive มาก พูดคุยไม่กี่นาที ก็ทิ้งร่องรอยไว้ที่ต้องใช้เวลาชำระหลายนาที หรือว่า อาจจะทำให้จิตใจเศร้าหมองตลอดวันก็ได้
เผลอห้านาที มีผลกระทบต่อการทำสมาธิชั่วโมงสองชั่วโมงได้ นานกว่านั้นได้ ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ ดังนั้น การพูดคุยคืออาการของคนไม่ฉลาดในการปฏิบัติ ก็ถือว่า เข้า retreat แล้วพูดคุย ก็คือการแสดงว่าตัวเองยังไม่เข้าใจ
ถ้าเราสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของจิตใจ สังเกตความเจริญความเสื่อมของสมาธิภาวนาของเรา จะเห็นว่าขึ้นอยู่การกระทำทางกายทางวาจาเรามาก ดังนั้น การเข้า retreat ช่วยให้เราเห็นชัดเลยว่า ศีล สมาธิ ปัญญาแยกออกจากกันไม่ได้ เห็นอยู่ในการปฏิบัติของตัวเอง ในชีวิตประจำวันจะไม่ชัดเพราะมีกิจกรรมมันที่หลายอย่าง ยากที่จะเห็นความต่อเนื่องของอารมณ์ เหมือนที่เราสามารถทำที่นี่
ถ้าเราทานข้าวด้วยความสำรวม ทานเสร็จต้องดูอารมณ์ตัวเอง ถ้าเราไม่สำรวมในเวลาทานข้าว ดูอารมณ์ มันต่างกันไหม คือนี่ไม่ใช่ทฤษฎีที่ต้องเชื่ออาจารย์ นี่มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ยากเลย ที่เราเน้นเรื่องความสำรวม สำรวมตา สำรวมหู สำรวมใจ เพราะมีผลต่อการปฏิบัติ
ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เราต้องฉลาดในสิ่งที่สนับสนุน เป็นเครื่องหนุนการปฏิบัติ และสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค เราก็ต้องพยายามขจัด พยายามลดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การปฏิบัติไม่ต้องมีการคาดหวัง แต่ตั้งเป้าหมายไว้กับตัวเอง ตั้งเป้าหมายไว้ที่การทำความเพียรอย่างเต็มความสามารถก็ได้ ถ้าไม่มีเป้าหมาย การปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นการปฏิบัติเลื่อนลอยไปได้ นั่งสมาธิแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่าพอนั่งขัดสมาธแล้วต้องเริ่มดูลมหายใจทันที ดูสภาวะจิตของตัวเองก่อนว่า พร้อมไหม แล้วก็ดูนิวรณ์ต่าง ๆ ว่า มีไหม หรือว่ามีแนวโน้มที่จะมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งไหม
ดังนั้น ถ้ารู้สึกระสับกระส่ายนิดหน่อย ก็รู้ว่า เออ นี่ก็เป็นนิวรณ์ ต้องระมัดระวัง หรือว่าถ้าทำท่าจะง่วง เราก็จะระมัดระวังไม่ให้ง่วง หรือถ้าจิตกำลังมีเรื่องกำลังอยากจะคิด เราก็จะได้ป้องกันอันตราย ไม่อย่างงั้นบางทีก็มีอยากอะไรสักอย่างหรือมีนิวรณ์อะไรบางอย่าง แต่ไม่รับรู้ มันจะกลายเป็นความขัดแย้งในใจ ใจหนึ่งอยากจะภาวนา ใจหนึ่งก็อยากคิดอยากจะปรุงแต่งในเรื่องนั้น จิตใจก็เลยไม่สงบ
งั้นถ้ามีเรื่องกังวลอยู่ในใจ อย่าไม่ต้องดูลมหายใจหรอก ดูว่า ปล่อยนะ ปล่อยนะเรื่องนี้ ยังไม่ต้องคิดนะ ปล่อยวางก่อน หรือใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งจัดการกับเรื่องนี้ ตกลงกับตัวเองว่า ช่วงนี้ไม่คิดเรื่องนั้นแล้ว
ถ้ารู้สึกง่วงมากจะไม่ไหว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนการภาวนา ถ้ารู้สึกว่าง่วงเมื่อไร ดูลมหายใจแล้วจะสัปหงก ก็แสดงว่า ถ้าอย่างนั้น เอาอย่างอื่นดีกว่า ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจเราปลาบปลื้ม อาจจะเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีที่เราเคยทำไว้ การทำบุญที่เราภาคภูมิใจก็ได้ เพราะจิตใจมีกำลัง จิตใจมีกำลังแล้ว จึงดูลมหายใจ
ก่อนจะเริ่มดูลมหายใจ อาจจะกวาดความรู้สึกจากศีรษะลงไปถึงเท้า สักสองสามครั้งก่อนจะเริ่มดูลมหายใจ แล้วจะพิจารณาเกศา โลมา นขาต่าง ๆ ตะโจ ก็ได้ พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กลับไปกลับไป
ถ้าจิตใจรู้สึกอยากจะคิด ไม่อยากจะสงบ มันอยากจะคิด ฝืนไม่ได้ ก็ปล่อยให้มันคิดซะ แต่ให้คิดตามเรื่องที่เรากำหนดให้มัน อย่าปล่อยให้มันคิดเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องร่างกาย หรือว่าคิดอย่างนี้ คิดเหมือนหน้าอกนี้มีซิป ซิปเปิดออกมา เอาอวัยวะออกมาวางไว้ต่อหน้าเรา เอาหัวใจออก เอาตับ เอาไต เอาลำไส้ออก ออกมาเรียงไว้ ตามอาการสามสิบสอง เล็งแล้ว ดูให้ดีแล้ว ก็เอาใส่เข้าไปไหม สนุกดี
คือเรามีอาณาปาณสติ เป็นวิธีหลัก แต่บางครั้งนี่มันไม่ไป ก็ไม่เป็นไร ถ้าเรารู้จักปรับตัวให้พอดี คือปรับการปฏิบัติของเราให้ได้ผล บางทีก็ดูเกศา โลมา นขา ทันตะ ตะโจ ดูความไม่สวยไม่งามของร่างกาย หรือว่า พิจารณาธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ พิจารณาไป พิจารณามา ก็รู้สึกพอแล้ว จิตใจก็หายจากนิวรณ์ที่รบกวนเมื่อกี้นี้ได้แล้ว ก็ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกต่อ
การดูลมหายใจนี้เป็นงานที่ละเอียดหน่อย ดังนั้นต้องให้จิตใจเราพร้อม จิตใจเราละเอียดพอที่จะเจริญในทางนี้ได้
เรามีเวลาไม่นานแค่สองสามวัน สำหรับคนบางคนอาจเป็นการฟื้นฟู สำหรับคนบางคนทำทุกวันก็เป็นการเพิ่มความเข้มข้นไปสักหน่อยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขอให้เราใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แต่ที่สำคัญคือตั้งอกตั้งใจตัดเรื่องอดีตเรื่องอนาคตออกจากใจเราให้มากที่สุด
ช่วงนี้ถือว่า เหมือนกับเราไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เราก็พยายามทำตัวเองให้เหมือนกับอยู่คนเดียว ถึงจะนั่งอยู่หลายสิบคน ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว นั่งแล้วก็อยู่คนเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ขอให้มีความเกรงใจต่อเพื่อน จะเดินเข้าเดินออกขอให้ตรงต่อเวลา ขอให้ส่งเสียงให้น้อยที่สุด มีสติในการเคลื่อนไหว คือ หลักไม่รบกวนเพื่อน เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ฉะนั้น เย็นนี้ก็ได้แสดงธรรมพอสมควรแก่เวลา พอเป็นการแนะนำในการเข้า retreat สำหรับวันนี้ แล้วก็ขณะนี้ แล้วก็เอวังก่อนแล้วกัน แล้วก็จะพูดต่อ เอวัง
ถอดเทปโดย รจนา ณ เจนีวา (หากผิดพลาดประการใด ผู้ถอดเทปขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว)
เมื่อวันที่ : 14 พ.ค. 2548, 15.25 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...