![]() |
![]() |
กางเขนดง![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
คงมีไม่กี่คนที่เคยเห็นเหงื่อของฮิปโปโปเตมัสและเห็นมันเป็นสีแดง มันออกจะเป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดสักหน่อยแต่จริงค่ะ ข้อมูลดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature ฉบับ 27 May 2004 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Keio University และ Kyoto Pharmaceutical University ของประเทศญี่ปุ่น
ที่จริงแล้วจะเรียกว่าเหงื่อซะทีเดียวคงไม่ตรงนัก เพราะเจ้าฮิปโปโปเตมัสไม่มีต่อมไขมัน (sebaceous gland) ที่จะผลิตเหงื่อ แต่ของเหลวดังกล่าวสร้างมาจากต่อมที่อยู่ลึกลงไปอีก (subdermal gland) และของเหลวที่ผลิตนี้จะทำหน้าที่เหมือนเหงื่อคือช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เจ้าของเหลวที่ว่าครั้งแรกที่หลั่งออกมาที่ผิวหนังจะเป็นของเหลวหนืด ไม่มีสีค่ะ จากนั้นด้วยความไม่คงตัว มันจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงอยู่หลายชั่วโมงและกลายเป็นของแข็งสีน้ำตาลในที่สุด
ทีนี้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นขี้สงสัย แกก็เก็บเหงื่อของฮิปโปฯ จากหน้าและแผ่นหลังโดยซับด้วยผ้าก๊อซ (ว่ากันว่าใช้เวลานานและใช้ความพยายามมาก) จากนั้นนำไปสกัด และวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี พบว่า เหงื่อนั้นประกอบด้วย สารสี (pigment) สองชนิดค่ะ ชนิดแรกสีแดง ชื่อ hipposudoric acid ส่วนอีกชนิดสีส้ม ชื่อ norhipposudoric acid (ตั้งชื่อตามฮิปโปซะเลย) ซึ่งสารทั้งสองนี้น่าจะมีสารตั้งต้นมาจากพวกกรดอะมิโน เช่น tyrosine และ phenylalanine
จากสูตรโครงสร้างของสารทั้งสองนี้ สามารถดูดกลืนรังสี UV ได้ในช่วงกว้าง 200-600 nm จึงเป็นไปได้ที่ฮิปโปฯ ใช้ประโยชน์จากสารพวกนี้ในการกันแดด นอกจากนี้ สารสีส้ม ยังมีคุณสมบัติในการเป็น antibiotic สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น Pseudomonas aeruginosa และ Klebsiella pneumoniae
อ่านข่าวนี้แล้ว ธรรมชาตินี่ช่างสร้างความสมดุลให้ทุกสรรพสิ่งจริงๆ เลยนะคะ ฮิปโปฯได้ใช้เหงื่อของตัวมันเองช่วยกันแดดในเวลาที่มันต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ ถึงแม้มันจะเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบกก็เหอะ (Hippopotamus amphibious) นอกจากนี้การที่มันชอบต่อสู้กันและทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังยังมีเหงื่อคอยช่วยฆ่าเชื้อที่ผิวหนังให้อีก แหม ประโยชน์สองต่อจริงๆ ค่ะ
การค้นพบดังกล่าวจึงน่าสนใจที่จะนำไปใช้ประโยชน์ อาจพัฒนาต่อไปเป็นสารกันแดดชนิดใหม่ (สีส้ม?) หรือได้ยาฆ่าเชื้อชนิดใหม่ขึ้นมา หรือพัฒนาเป็นครีมกันแดดแบบฆ่าเชื้อที่ผิวหนังได้ แต่เนื่องจากความไม่คงตัวของสารสีเหล่านี้จึงต้องมีการศึกษาต่อไปค่ะ ว่าแล้วก็น่าไปสวนสัตว์กันนะคะไปดูเหงื่อสีแดงของฮิปโปฯ หรือจะไปนั่งสังเกตเหงื่อของสัตว์อื่น เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เผื่อไทยจะได้มีงานวิจัยใหม่ๆ มาแข่งกับเค้ามั่งค่ะ
เมื่อวันที่ : 22 มิ.ย. 2547, 05.51 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...