![]() |
![]() |
SONG-982![]() |
..."ก็หากไม่เคยใช้งวงอย่างที่ควร จะรู้ได้อย่างไร อันไหนหนาม อันไหนระคายเคือง อันไหนร้อนอันไหนเย็น... นี้ที่เห็น ลูกชายมีดีที่เจรจาหวานหู ท่านก็แทบปอกเปลือกกล้วยอ้อยป้อนให้ถึงปาก หากเคี้ยวแล้วคายให้ได้ก็คงจะทำ"...
นางพังชราตาส่อน อายุยืนยาวจนหลงลืมว่าเลอะเลือน หนังหนายับย่นหย่อนยาน เสียดสีตัวเองไปมายามย่างเท้าเทิบทาบ ขนขาวแข่งแทรกรูขุมขน เฟื้อยยาวแบบที่เจ้าตัวแก่ภาคภูมิใจ ว่านี้คือเครื่องหมายแห่งภูมิรู้และประสบการณ์นางเป็นไทเฮาใหญ่ในโขลง คือเป็นแม่ของพญาพลายผู้ลูก ซึ่งบัดนี้ก็ชราย่ำแย่ หูตาเริ่มพร่ามัว มองอะไรไม่ชัดแจ้ง ตัดสินใจต่างๆ ไปตามความคิดเห็น ตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์ ซึ่งนางมารดาภูมิใจนัก เข้าใจว่านำสิ่งที่ตนสั่งสอนไปปรับใช้สม่ำเสมอ
นานวัน เจ้าโขลงยิ่งมีภารกิจ ด้วยว่าความสมบูรณ์ของผืนป่า ทำให้เกิดมีสมาชิกใหม่อีกหลายรุ่น นางพังชรายืนหยัดเฝ้ามอง แม้โลกเปลี่ยนไปอย่างไร โลกของนางยังเหมือนเดิม
เมื่อรุ่นหลานนั้นมีลูก และใกล้วาระพญาพลายจะวางมือ ปล่อยเรื่องราวการคุมโขลงให้รุ่นต่อไป นางพังชราก็หมายมั่น รุ่นเหลนต้องขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยวิธีการสั่งสอนให้เติบโต เช่นเดียวกับที่ตนเคยสั่งสอนผู้เป็นบุตร
นางพังหลานสะใภ้นั้น น่ารักที่สุด เพราะกิริยานบนอบอ่อนหวาน ทำให้นางพังชรายิ่งรักยิ่งหลง ยามหักกล้วยอ้อยทั้งเครือมาเผื่อแผ่ นางอ่อนเยาว์มักโน้มศีรษะ ชูงวงเทินผลหมากรากไม้น้อมให้ ไม่ต่าง... ไม่ต่างจากรุ่นลูก ไม่ต่าง... ไม่ต่างจากยุคที่นางพังชราเป็นเมียของจ้าวโขลง
ผ่านไปกี่สิบกี่ร้อยปีก็จำไม่ได้ แต่อย่าให้ใครมานบนอบ นางพังชราล้วนยืดอกหย่อนคล้อยอย่างภาคภูมิใจ
เหลนน้อยนั้นก็หน่วยก้านดี เป็นช้างได้ลักษณะตามตำราดูพญาช้าง นางแม่มันก็รู้จักสอน จะพูดจากับผู้ชรา ต่อหน้าให้น้อมนบ จะสื่อสารก็อ่อนหวานทั้งหูตา จนนางพังชรารักหลงเหลือแสน วนเวียนเหมือนอยากจะเอามาเลี้ยงดูเสียเอง
"ไทเฮาเจ้าขา ขอลูกไว้ให้ดิฉันเลี้ยงเองเถิดเจ้าค่ะ"
นางหลานสะใภ้เอ่ยขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อเห็นว่าผู้เป็นทวดทูนหัวทูนเกล้า สารพัดอาหารการกิน ล้วนแทบปอกป้อน
"เด็กมันไร้เดียงสา ฉันก็เมตตาไปตามสมควร"
นางพังชราออกตัวยานคาง
"ว่าแต่แม่เถอะ เป็นแม่ประสาอะไร ลูกน้อยตัวเท่านี้ ปล่อยให้ไขว่คว้าหานั่นนี่กินเอง ทำไมไม่หาไม่ป้อน"
นางว่าไปเพราะลืมเสียแล้ว ว่าตัวเหลนพ้นวัยดูดนมแม่มานาน เข้าใจแต่ว่า ที่ยังงอแง เพราะแม่ไม่ได้ดั่งใจ ต้องวิ่งมาหาย่าทวด คอยหาอาหารมาป้อน เข้ามานอบน้อมสมเยี่ยงกุลคชาชาติ
นางหลานสะใภ้ไม่กล้าโต้แย้ง เข้าใจเสียแล้วว่าเลอะเลือน ครั้งจะยอมให้นางผู้ชราตามอกตามใจผู้บุตรอยู่ต่อไป ก็จะกลายเป็นช้างน้อยง่อยเปลี้ย ได้แต่เก็บความทุกข์เอาไว้ในอก การทุ่มเถียงกับใครๆ ก็แสนง่าย ยกเว้นกับนางพังแก่ที่ยังไม่ยอมตาย
ผู้บิดาของเจ้าเหลนช้าง เห็นเมียเซื่องซึมก็ผิดตา เอ่ยถามด้วยความเป็นห่วง
"เป็นอย่างไรเล่าแม่ ธรรมดาผู้เป็นย่าก็ย่อมรักหลาน จะกังวลไปไย"
"รักหลานนั้นรู้ค่ะคุณพี่ แต่รักอย่างไรเล่าคะ จะถูกทาง เพราะรักจึงทำให้ทุกอย่าง แต่การทำให้ทุกอย่างนั้น เพราะรักจริงๆ หรือคะ"
สามีนิ่งไป ค่อยลำดับความเข้าใจ ก่อนรอนางภรรยาขยายความ
"สัญชาติช้างย่อมมีงวง ย่อมใช้งวงเด็ดหาอาหาร แม้เคยพลาดพลั้งเกี่ยวเอาหนามไหน่ ก็จะไม่มีเป็นหนสอง เขาว่าประสบการณ์คือบทเรียน..."
"ที่ว่านั้นย่อมถูก แล้วจะโศกเศร้าหม่นหมองอะไรเล่า"
"ก็หากไม่เคยใช้งวงอย่างที่ควร จะรู้ได้อย่างไร อันไหนหนาม อันไหนระคายเคือง อันไหนร้อนอันไหนเย็น... นี้ที่เห็น ลูกชายมีดีที่เจรจาหวานหู ท่านก็แทบปอกเปลือกกล้วยอ้อยป้อนให้ถึงปาก หากเคี้ยวแล้วคายให้ได้ก็คงจะทำ"
"อย่างนั้นก็ไม่ถูกแล้วละ อย่างนี้รักไม่ถูกทาง ถ้ารักหลานจริง ต้องสอนให้หลานเดินได้หากินได้เองสินะ"
"นั้นละค่ะที่หนักใจ ใครจะกล้าสั่งสอน ที่บอกยากและน่าสงสารที่สุดก็คือนี้ คือพวกที่ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้"
"อย่างนั้นพี่จะไปปรึกษาพ่อ ท่านเป็นแม่ลูกกัน คงพูดจากันได้"
กล่าวเสร็จ ผู้เป็นสามีก็ผละไป ส่วนนางช้างสะใภ้ก็ได้แต่ทอดสายตาแล นางพังทันยุคสามสี่เชือก คงกำลังทำความเข้าใจ ขอร้องให้นางช้างชราตาส่อน ช่วยสั่งช่วยสอนช้างผู้เหลน ไยทุกตัวจะไม่รู้ ประสบการณ์ของความแก่ชราย่อมมีค่า บทเรียนในอดีต ย่อมช่วยระวังไม่ให้อนาคตเดินซ้ำรอยผิด
อีกอึดใจเดียว นางพังก็แตกฮือไปคนละทิศทาง ด้วยนางไทเฮาตวาดแหวแปร๋แปร๋น ยืนยันว่าที่นางคิดนางทำนั้นถูกต้อง ถูกต้องที่สุด
ช้างน้อยผู้เป็นเหลนยิ้มร่าเริง ด้วยวัยไร้เดียงสา จึงหารู้ไม่ว่า หากตนตกเป็นที่รักของนางชราผู้ทวด จะมีชื่อแค่เพียงหลานเหลนพญาช้าง หาเกียรติยศศักดิ์ศรีอะไรมิได้ เนื่องจากไม่มีสิ่งไรทำได้ด้วยตัวเอง
นางหลานสะใภ้ ค่อยเลียบเคียงเข้าไปหาลูก ชักชวนให้เดินเล่นห่างออกมา แม้ว่าเจ้าตัวไร้เดียงสาจะเริ่มนิสัยเสีย แต่อย่างไร ก็ยังนับถือแม่มากกว่านางช้างชรา
"ย่าทวดแก่แล้ว ลูกแค่ปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่อยาก"
"แล้วพอลูกชิน กับที่ท่านปรนเปรอ จะเป็นอย่างไร รู้บ้างหรือไม่"
"ลูกถึงต้องมีพ่อแม่คอยสั่งสอน คนอื่น อย่างไรก็เป็นคนอื่น ถึงจะมีเชื้อมีสายกันมา ก็ไม่ได้สนิทใจเท่าครอบครัว ย่าทวดท่านคงมีชีวิตไปได้อีกไม่นาน คงไม่ทันที่ลูกจะเสียช้าง"
"แม่หวังแต่ว่า ลูกจะรู้คิด และไม่หลงละเมอว่าสิ่งที่ถูกบำรุงบำเรอนั้นถูกต้องเหมาะควร"
ช้างลูกชาย เห็นเพื่อนรุ่นๆ รวมกลุ่มกันเล่นล้อมอยู่รอบกล้วยดงใหญ่ หูก็กระดิกดีดดิ้น อยากเร่เข้าไปร่วมวง
"แม่รู้หรือไม่ เจ้าพวกนั้น ล้วนเห็นท่านไทเฮาเป็นตัวตลก เวลาหิวก็โน้มหัวโน้มงวงเข้าไปหา เดี๋ยวก็ได้ของมาแบ่งปันกันอิ่มหนำ แล้วก็พากันหัวเราะลับหลัง พวกมันว่ามีปัญญาหากินเองได้ แต่ช้างโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของช้างฉลาด"
ฟังคำนี้ของผู้บุตร นางพังผู้เป็นแม่ต้องรีบปราม
"ท่านไม่ได้โง่นะลูก อย่าพูดอย่างนั้นเป็นเด็ดขาด ท่านแค่แก่ชรามากเกินไป คิดว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นถูกต้อง ก็แค่นั้น"
พูดจบ นางช้างก็พยักหน้าให้บุตรไปรวมกลุ่มกับเพื่อนฝูง พอใจแล้วที่ลูกตนจะได้เติบโตไปตามประสา วิ่งตามประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะชอกช้ำหรือเจ็บปวด สุขสมหรือขมขื่น นางหวังใจว่า ไม่นานหรอกวันคืนจะสั่งสอน นางจะเป็นเพียงผู้ประคับประคอง มิให้ออกนอกลู่ทางเกินไปนัก แต่จะไม่ปอกป้อนผลหมากรากไม้ให้เด็ดขาด
ขณะดำริเช่นนั้น พญาพรายจ้าวโขลงก็เดินเข้ามาพร้อมบุตรชาย คือสามีของนางเอง
"อย่ากังวลไปเลยแม่น้อย"
บิดาของสามีกล่าวอย่างอาทร
"มารดาเราเลอะเลือนไปตามกาล วันและวัยฉุดรั้งความเห็นผิดเอาไว้ไม่ได้ หากเราถือสาก็จะพลอยทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไรก็ทำของเรา นางไม่มีหน้าที่ไร ก็ได้แต่รอให้วันเวลามาพรากจากไป"
"แต่... แต่ลูกหลาน จะพลอยเสียชาติช้าง ด้วยการตามอกตามใจในทางที่ผิด"
"หรือแม่น้อยไม่มั่นใจในลูกตัว เป็นพ่อแม่ น้อยที่สุดคือต้องอยู่ฝ่ายเดียวกับลูกหรือมิใช่ ลูกเจ้า ลูกเขาหรือลูกใครๆ ล้วนแตกต่างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ตัวพ่อตัวแม่ก็มีวิธีการสั่งสอนไปตามสภาพ เชื่อพ่อเถิดแม่น้อย อย่างไรเสียลูกน้อยมันก็ต้องรักเทิดทูน ผู้ที่สอนมันใช้งวง มากกว่าจะทำแค่หาอาหารมาบำเรอ"
"แต่..."
"เชื่อพ่อเถิด พ่อก็ย่างเข้าชราภาพ เห็นโลกมาไม่น้อย โลกเป็นเช่นนี้ แม่น้อยมีหน้าที่ สอนให้ลูกเอาตัวให้รอด ทำหน้าที่ของตนให้ดี ผู้อื่น อย่างไรก็ไม่ใช่เรา อย่าเอาเขามาเป็นอารมณ์"
แล้วทั้งสามช้าง ก็เห็นบรรดาช้างน้อยๆ ยกโขยงไปทางนางพังชราตาส่อน พอถึงที่ก็โน้มหัวลู่หาง คลอเคลีย ให้ผู้มากวัยเอื้อมเด็ดรวงผึ้งหลวงรังใหญ่ แรงกระเทือนทำให้น้ำผึ้งกระเซ็น ผึ้งทหารกรูกันออกมาป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่มัน
เห็นไกลๆ ช้างน้อยทั้งหลายโขยกกรูวิ่งหนี ปล่อยนางช้างชราค่อยย่างเยื้องเทิบทาบ ความหนาของผิวหนัง ความรุงรังของขุมขน แม้ช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวด กระนั้นส่วนหูตาและเนื้ออ่อน ล้วนถูกทิ่มตำด้วยเข็มพิษ
นางพังชราตาส่อน ยังเชิดหัวชูงวงด้วยความภาคภูมิ แม้ตนจะเจ็บจะปวด แต่ยังพอใจนักที่ได้มีช้างน้อยมานบนอบ และตั้งปฏิญาณ จะกระทำการเฉกนั้นต่อๆ ไป หากยังคงได้รับมธุรสจากน้ำคำ จะไม่สนใจใครๆ เลยว่า ตนจะเสียชาตินางช้างไทเฮา โทษฐานไม่รู้จักสอนลูกหลานให้ใช้งวงอย่างถูกวิธี
ตราบใดลมหายใจสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด อึดใจถัดไป ไม่ว่าเรื่องอะไรๆ นางก็จะหลงลืมไปหมดแล้ว
ความแก่ชราเป็นเช่นนี้
เหลือเพียงไม่หลงลืมการใช้งวงประทังชีวิต เผื่อแผ่ไปได้ยังลูกหลาน โดยไม่ต้องเกรงใครเข้ามาทักท้วง
ย่างสู่สนธยากาล นางพังชราตาส่อน ยืนหลับสงบนิ่ง เพราะแก่เกินจะงอข้อขาเข่า น้ำตาอาบไหลด้วยความเจ็บปวดจากพิษเหล็กใน ที่หลอกตัวเองว่านั้นคือน้ำตาแห่งปีติความภาคภูมิใจ ที่นางยังยืนหยัดอยู่ได้แม้ยามหลับตานอน
เจ็บปวดน่ะหรือ... ช่างมัน...
วันพรุ่งผู้เป็นลูกหลาน ก็มาหาใหม่ แล้วนางก็จะใช้งวงอันแข็งแกร่ง ปรนเปรอลูกละอ่อนทั้งหลายนั้นต่อไป...
และต่อไป...
*******************