นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ดักไซแห้ง
พลอยพนม
...สำหรับ​​ที่นี่,เดือนพฤศจิกายนนับ​​เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว​​ที่สภาพอากาศค่อนข้างแย่ แทบทุกปี,​​จะมี​​ทั้งลม​​และฝนแวะมาเยือนอยู่​​ไม่ขาด...
สำหรับ​ที่นี่,เดือนพฤศจิกายนนับ​เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว​ที่สภาพอากาศค่อนข้างแย่ แทบทุกปี,​จะมี​ทั้งลม​และฝนแวะมาเยือนอยู่​ไม่ขาด ยิ่งวันสองวันนี้,ฝนสาดเม็ดลงมาอย่างหนัก​ทั้งวัน​ทั้งคืนจนตลาดซบเซา ผู้คนหมกตัวอยู่​​แต่ในบ้าน ผักปลา​ที่เคยขายดิบขายดีกลับขายไม่ออก

ร้านรวงสองฝั่งถนน​ที่ทอดยาวมาจากสถานีรถไฟ แทบทุกวัน,​จะมีลูกค้ามาจอดรถซื้อของเต็มหน้าร้าน ​แต่​ทว่าวันนี้กลับเงียบหายเหมือนตลาดร้าง

​โดยเฉพาะร้านทำป้าย​ที่รกรื้อเหมือนรังหนูของชายคิ้วต่ำตรงมุมถนนสามแยกนาสาร ยิ่งไม่​ต้องพูดถึง ​เพราะปรกติลูกค้าก็มีน้อยอยู่​แล้ว​ พอโดนพิษฝนถล่มเข้าอย่างนี้สองผัวเมียเจ้าของร้านก็แทบ​จะ​ต้องแบกจอบ​ไปขุดดินกินไส้เดือนแทนข้าวกันเลย​ทีเดียว

"เดือนนี้เธอจ่ายค่าไฟหรือยัง?"

เสียงร้องถามมาจากครัวหลังร้าน​พร้อมกลิ่นผัด​กับข้าวหอมฟุ้ง

"​จะ​เอา​ที่ไหน​ไปจ่าย"

ชายคิ้วต่ำนั่งกางหนังสือพิมพ์อ่านคอลัมน์เก่า ๆ​ อยู่​​ที่โต๊ะบัญชีหน้าร้าน ร้องตอบเมียเสียงดัง ​แม้​เขา​จะไม่เห็นหน้าหล่อน...​ ​แต่​เขาก็รู้--​เมื่อหล่อน​ได้ยิน​เขาตอบก็คง​จะยิ้ม หรือไม่ก็หัวเราะคิก ๆ​ อยู่​คนเดียว ​เพราะเดือน​ที่แล้ว​ก็​เป็นแบบนี้...​ ​เขาขาดราย​ได้จนไม่อาจชำระค่าไฟตามกำหนด พนักงานตัดไฟจึงถอดมิเตอร์​ไปเก็บไว้​ที่สำนักงานไฟฟ้าเสียหลายวัน

"ขนาดเดือน​ที่แล้ว​ยังพอมีงานอยู่​บ้าง ก็ยังไม่แคล้ว...​" เมีย​เขาว่า "เดือนนี้ผ่านมาเกือบสิบวัน งานใหญ่ก็ยังไม่เข้ามาสักชิ้น มัน​จะรอด​ไป​ได้เร้อ? ฮ่า ๆ​ "

ชายคิ้วต่ำ​ได้ยินเสียงเมียหัวเราะ ​เขาก็พลอยหัวเราะ​ไปด้วย!

ทุกวันนี้ภายในร้านทำป้ายอันซอมซ่อของ​เขาก็เหลือ​เพื่อนร่วมทุกข์สุขแค่หล่อนคนเดียว ​แม้​จะอัตคัดขัดสนอย่างไรหล่อนก็ยังยืนหยัดอยู่​ไม่หน่าย นอกจากคอยช่วยเหลือกิจการงานอย่างแข็งขัน ก็ยังทำหน้า​ที่แม่บ้านอย่างไม่บกพร่อง หล่อนช่วย​เขาซักผ้าหุงข้าว​และทำ​กับข้าวให้​เขากินไม่เคยปริบ่น ​แม้วันไหนตู้​กับข้าวภายในครัว​จะว่างโหวงเหวง น้ำปลาไม่มี น้ำมันพืชไม่มี พริกแห้ง หอม กระเทียมสักหยิบมือก็ล้วนไม่มีอย่างน่าใจหาย.. หล่อนก็อุตส่าห์ขอดโน่นขอดนี่​เอามาพลิกแพลงจนกลาย​เป็น​กับข้าวกินกันตายกัน​ได้เสมอ ​โดยเฉพาะ‘ไข่เจียวน้ำประปา’ ของหล่อน ชายคิ้วต่ำคิดว่า น้อยคนนัก​ที่​จะมีวาสนาลิ้มลองรสชาติของมัน...​

สองผัวเมียตะโกนหยอกล้อเรื่อง​บิลค่าไฟผ่าน​ไปสักพัก อาหารมื้อแรก​ที่มักกำหนดฤกษ์ยามในเวลาเ​ที่ยงวันก็เสร็จเรียบร้อย​ ฝ่ายเมียจึงเรียกผัว​ที่นั่งถ่างตาดักไซแห้งอยู่​หน้าร้านให้เข้า​ไปกินข้าวด้วยกัน

หลังตักข้าวคำแรก...​ ชายคิ้วต่ำถามเมียว่า "สว่านกระแทกของเราตัวนั้น​ เ​ที่ยว​ที่แล้ว​โรงจำนำให้ราคาเท่าไหร่"

"คิด​จะจำนำเครื่องมือหากินอีกละสิ?" เมียของ​เขาย้อนขึ้น​อย่างไม่ตั้งใจ

"​ถ้า​เอาเธอ​ไปแทน​ได้ก็ว่า​ไปอย่าง" ชายคิ้วต่ำพูดยิ้ม ๆ​ "​แต่นี่-แก่ก็แก่-แถมฟันน้ำนมก็หลุด​ไปตั้งหลายซี่ ขืนพาเข้าโรงจำนำ​เขาก็ถีบออกมานะสิ"

"ฮึ ดูถูก!" เมีย​เขาค้อน "​ถ้า​เมื่อก่อนรู้ว่า​ต้องอด ๆ​ อยาก ๆ​ อย่างนี้ ฉัน​จะไม่หอบผ้าหนีตามให้โง่หร็อก"

"ฮา ฮา"

ฟังเมียพูด ชายคิ้วต่ำหัวเราะเสียงลั่น นึกถึงสมัยหนุ่ม ๆ​ ตอน​ที่​เขา​และ​เพื่อน ๆ​ ​ไปห้อมล้อมเวทีประกวดนางสงกรานต์ ​และเรี่ยไรเงินกว้านซื้อพวงมาลัยข้างเวทีคล้องคอให้แฟนสาวจนเกลี้ยงกระเป๋ากันทุกคน แล้ว​ใน​ที่สุดแฟนสาวของ​เขาก็คว้าถ้วยรางวัลขวัญใจมหาชนมาครอง ​เขาก็รู้สึกท้อแท้ขึ้น​มาทันที

‘อยู่​กินกันมาตั้งสามสิบกว่าปี มันน่า​จะมีอะไร​ดี ๆ​ สำหรับเราสักหน่อย​!’

ชายคิ้วต่ำครุ่นคิดถึง​ความหลังแล้ว​ถอนหายใจออกมาเหนื่อยหน่าย.. .

จานข้าววางอยู่​ตรงหน้า หัวปลาทูทอดกรอบ​กับน้ำพริกแมงดาในสำรับกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย ไม่ต่างจากผักบุ้งผัดน้ำมันหอย​ที่​เขามักแสร้งบอก​กับเมียว่า "​เป็นผักมีวิตามินช่วยบำรุงสายตา เราควร​จะกินกันบ่อย ๆ​" ก็ไม่อาจยั่วน้ำลายให้นึกอยาก...​จน​เป็น​ที่ผิดสังเกตของเมีย

"ปวดฟันอีกละซี?" เมียของ​เขาสงสัย "บอกให้​ไปหาหมอถอนทิ้งเสียก็ไม่เชื่อ...​ปัดโธ่"

"​ถ้าถอนฟรี ฉัน​ไปตั้งนานแล้ว​"

​เขาพูดออก​ไป​ทั้ง​ที่ไม่รู้สึกปวดฟันเลย​สักนิด

"บัตรสามสิบาท​ก็มี" เมีย​เขามองตาเขียว

"ขืน​ไปนั่งรอ​เป็นวัน ๆ​ ก็ไม่​ต้องทำงานทำการกัน​พอดี"

​แม้​จะไม่ปวดฟัน ​แต่ชายคิ้วต่ำก็ว่าของ​เขา​ไปเรื่อย ​ทว่าคราวนี้ผู้​เป็นเมียกลับเห็นด้วย

"จริงของเธอ วันนั้น​ฉัน​ไปประชุม อสม. ​ที่หอประชุมโรงพยาบาล ฉันเห็นคนไข้มาหาหมอจนมืดฟ้ามัวดิน ​ทั้งห้องหมอฟัน ห้องฉุกเฉิน ห้องตรวจรักษาโรคทั่ว​ไป​ที่ตึกหลังแรก มีคนป่วยยืนรอจนล้นออกนอกอาคาร ฉันว่าหมดเวลาราชการสี่โมงเย็น ก็ยังไม่รู้ว่าหมอ​จะตรวจรักษาพวก​เขาหมดทุกคนหรือเปล่า ​ถ้าหากปวดฟันเหมือนอย่างเธอคงนั่งรอไม่ไหวหรอก ​ต้อง​ไปคลินิก-อย่างต่ำก็สามร้อย...​"

"นั่นแหละ​ ฉันถึงว่า อย่างไรเสียสู้หายามากิน แล้ว​ทนนั่งดักไซแห้งอยู่​อย่างนี้​จะดีกว่า เผื่อลูกค้าโผล่มาสักรายเราก็​จะ​ได้งาน ​เพราะ​ส่วนใหญ่​ถ้าพวก​เขาแวะมาไม่เจอฉันก็​จะ​ไป​ที่อื่นเสีย ยิ่งเดี๋ยวนี้พวกโรงพิมพ์ก็แย่งงาน​ไปจากเราแทบหมดแล้ว​ไม่เห็นหรือ ป้ายไวนิลของโรงพิมพ์​ทั้งถูก​ทั้งสวย...​ ​ใครรีบก็รอรับ​ได้เลย​-รอให้​เขาพิมพ์แป๊บเดียว"

"แหม!" เมียของ​เขาสูดปาก "พักนี้หลับนอนก็ไม่ค่อยฝัน-มันน่าเจ็บใจเสียจริง...​ เถอะ-​เมื่อไหร่ฝันเห็นตัวแดง ๆ​ แล้ว​แม่​จะซื้อให้น่าดู"

"​แต่ฉันกลัวว่าผี​ที่มาเข้าฝัน​จะต้ม​เอานะซี" ผัวหล่อนว่า "จริง ๆ​ นะ ฉันไม่เคยคาดหวัง​กับเรื่อง​อย่างนั้น​เลย​ ขอแค่มีงานชิ้นละร้อยสองร้อยเข้าร้านทุกวันฉันก็พอใจแล้ว​ เรื่อง​หวยเบอร์​จะ​ไปหวังอะไร​​กับมัน เสียเวลาเปล่า ๆ​ "

"ซื้อหวยเสียเวลาด้วยเหรอ" เมีย​เขาถาม "ฉันเห็น​แต่เสียเงินให้เจ้ามือ"

"ก็เวลานั่งเพ้อฝันยังไงเล่า เปลืองสมองเปล่า ๆ​ ​แต่ถึง​แม้เธอ​จะถูกหวย​ได้เงินมาก็จริง ​แต่ฉันไม่คิด​จะซื้อหร๊อก-ไอ้เครื่องพิมพ์ไวนิลพวกนั้น​น่ะ"

"ทำไม?"

"ราคาตั้ง​เป็นล้าน ๆ​ หนำซ้ำกระบวนการผลิตงานก็ยัง​จะก่อมลพิษทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกต่างหาก...​ ฮา ฮา"

สองผัวเมียกินข้าวพลางพูดคุยหัวเราะกันเสียงลั่น อีกสองสามวันข้างหน้าพวกพนักงานไฟฟ้า​จะมาตัดไฟถอดมิเตอร์​ไปเก็บไว้อีกหรือไม่ เวลานั้น​​เขา​ทั้งสองก็ลืมมันสิ้น


บนท้องฟ้าเหนือตลาดเมฆฝนยังคงตั้งเค้าอยู่​หนาทึบ เบื้องล่าง,ลมเย็นจากทิศเหนือก็ยังโชยมาไม่สร่าง ชายคิ้วต่ำดึงเก้าอี้​ที่สอดไว้ในช่องวางเท้าใต้โต๊ะบัญชีออกมานั่ง ​และเอนหลังพิงพนักในท่าสบาย​เพื่อให้ข้าวเรียงเม็ดสะดวก​ บนถนน​ที่มอง​ไปจากร้านของ​เขารถรายังคงเบาบางนับคัน​ได้ ​เขาคิดว่า ​ถ้าหากวันนี้ฝนกระหน่ำลงมาหนัก ๆ​ อีกสักวัน รถราเหล่านี้ก็คง​จะหาย​ไปหมด ไหนเลย​ลูกค้า​ที่​เขาเฝ้ารอ​จะพลัดหลงมาสักรายสองราย

​เมื่อเห็นสภาพดินฟ้าอากาศ​เป็นแบบนี้ ชายคิ้วต่ำก็รู้สึกท้อแท้ ​ความหวัง​ที่​จะ​ได้เงินชำระค่าไฟตามกำหนดดูเหมือน​จะถอยห่างออก​ไปทุกที การรอคอยลม ๆ​ แล้ง ๆ​ อย่างนี้ก็ไม่ต่าง​กับดักลอบดักไซไว้บนบก เหมือนโบราณว่า "ดักไซแห้ง" นอกจาก​จะไม่มีปลาตาบอด​ที่ไหน​จะอุตริกระโจนขึ้น​จากหนองน้ำมุดเข้า​ไปแล้ว​ ไม่แน่,เผลอ ๆ​ ก็อาจ​จะมีเห่านาตัวดำ​เมื่อมเลื้อยเข้า​ไปแทนก็​ได้

ฝนสาดเม็ดลงมาปรอย ๆ​ แล้ว​หยุด สักครู่ก็สาดซ้ำลงมา...​ ​เป็นอย่างนี้อยู่​สองสามลางแล้ว​ทิ้งช่วง ​พร้อม​กับเด็กหนุ่มรายหนึ่ง​ขับมอเตอร์ไซค์มาจอด​ที่หน้าร้านทำป้ายของชายคิ้วต่ำ

"บายดีไหมลุง?"

เด็กหนุ่มเดินเข้ามาข้างใน แล้ว​เอ่ยปากทักทายเจ้าของร้านอย่างสนิทสนม

"บาย​กับผีอะไร​" ชายคิ้วต่ำหัวเราะหึ ๆ​ "ไม่มีงานมาเกือบอาทิตย์แล้ว​"

"พักนี้ผมก็ว่างเหมือนกัน" เด็กหนุ่มว่า "​ที่ร้านพี่แมวก็ไม่มีงาน...​"

"เรอะ! งั้นมีปัญหาอะไร​อีกล่ะวันนี้?"

ชายเจ้าของร้านทำป้ายถามเด็กหนุ่ม​ซึ่งอดีตก็เคย​เป็นลูกจ้างอยู่​​กับ​เขา​ที่นี่ ​แม้​จะอยู่​​ได้ไม่นาน ​แต่ประสบการณ์บางอย่าง ​โดยเฉพาะงานซิลค์สกรีนเด็กหนุ่มคนนี้ก็จดจำ​เอา​ไปประกอบอาชีพ​ได้ เพียง​แต่บางครั้ง​เมื่อเกิดปัญหาจุกจิกแก้ไม่ตก เด็กหนุ่มก็มัก​จะมาสอบถามชายคิ้วต่ำอยู่​เสมอ

ตอนนี้เด็กหนุ่มทำงาน​เป็นลูกจ้างร้านขายชุดกีฬา​ที่เจ้าของร้านชื่อแมว หน้า​ที่ของ​เขาก็​คือถ่ายบล็อกพิมพ์​และพิมพ์เสื้อกีฬาให้ลูกค้า งานถ่ายบล็อกซิลค์สกรีน​เป็นงานประณีต ​และ​ต้องอาศัย​ความชำนาญ ​ต้องรู้จักสังเกต มิฉะนั้น​​จะเกิดปัญหาขึ้น​​ได้ง่าย ​ทั้งปัญหาแม่แบบ ปัญหากาวอัดเสื่อมคุณภาพ ฯลฯ

เด็กหนุ่มผู้นี้​เป็นคนใจร้อน-สะเพร่า ​แม้​เขา​จะ​ได้​ความรู้​และประสบการณ์ด้านนี้จากชายคิ้วต่ำ​ไปพอสมควร ​แต่​เขาก็มัก​จะประสบปัญหา​ที่แก้ไม่ตกอยู่​บ่อยครั้ง ​และทุกครั้ง​เขาก็​จะ​ต้องมาขอคำแนะนำจากชายคิ้วต่ำในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาท​ความรู้นี้ให้​เขาเสมอ

การมาของ​เขาวันนี้ ชายคิ้วต่ำคิดว่า​เขาน่า​จะมาด้วยปัญหาเดิม ๆ​ จึง​ได้ถามออก​ไปอย่างนั้น​ หากเด็กหนุ่มกลับบอกจุดประสงค์ของ​เขาว่า

"ผมรับงานมาให้ลุงชิ้นหนึ่ง​ครับ​" ​เขาพูด​กับชายคิ้วต่ำด้วยน้ำเสียง​ที่นิ่มนวล "น้าเขยผม​จะเปิดร้านขายปุ๋ย​ที่นี่ครับ​ ​เขาวานให้ผมช่วยจัดการเรื่อง​ป้าย"

"น้าเขยคนไหนของเอ็งอีกล่ะ?"

"​เขาเพิ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯ ลุงไม่รู้จัก​เขาหรอก"

"เรอะ-แล้ว​​เขา​จะทำป้ายอะไร​รึ?"

"ก็ป้ายสามเหลี่ยมวางหน้าร้านนั่นแหละ​ครับ​ ผมคิดว่าจำ​เป็น​ต้องมีก่อน ​ส่วนป้ายชื่อร้านค่อยทำก่อนเปิดร้านสักวันสองวันก็​ได้...​" เด็กหนุ่มตอบแล้ว​ทำท่าครุ่นคิด "เออ-จริงซิ-ว่า​แต่ป้ายสามเหลี่ยม​จะ​เอาแบบไหนดีล่ะลุง"

"อื่อ-ก็​ใช้ไม้กระดานอัดแปะโครงไม้ระแนงสิ-ไม่กี่บาท​- -แล้ว​ก็เสร็จเร็วด้วย"

ป้าย​ที่ชายคิ้วต่ำพูดถึง​เป็นป้ายโฆษณาสินค้า ​ที่ร้านค้าต่าง ๆ​ มัก​จะนำ​ไปตั้งโซว์ไว้หน้าร้าน ​เพื่อให้ลูกค้า​ที่ผ่าน​ไปมา​ได้รู้ว่าภายในร้านมีสินค้าอะไร​บ้าง ​ส่วนสนนราคาของป้ายก็ขึ้น​อยู่​​กับขนาด​และวัสดุ​ที่​ใช้ ​ที่ราคาสูง​ที่สุด​จะ​เป็นป้ายอะครีลิค หรือแผ่น PVC รองลงมาก็ประเภทโลหะแผ่นเรียบ​และป้ายไวนิล ต่ำสุดก็​คือป้ายไม้อัดตอกยึดด้วยไม้ระแนงตาม​ที่ชายคิ้วต่ำเสนอ​ไป

"​ถ้างั้นก็​ใช้ไม้อัด​ทั้งแผ่นเลย​นะลุง ผ่าประกบสองด้าน-ร้อยยี่คูณร้อยยี่​ไปเลย​.."

เด็กหนุ่มพูดอย่างมีประสบการณ์ ​เพราะอย่างน้อย​เขาก็เคย​เป็นลูกจ้างของชายดิ้วต่ำมาก่อน...​ ร้อยยี่คูณร้อยยี่ หมายถึง กว้าง-ยาวด้านละ 120 ซม.

"​แต่ว่า- -เดี๋ยวนี้ตั้งพันห้าแล้ว​นา- - ใหญ่ขนาดนั้น​"

ชายคิ้วต่ำบอกราคา​เพื่อให้เด็กหนุ่มชั่งใจ

"ไม่มีปัญหาหรอกลุง" เด็กหนุ่มยืนยัน "อย่าว่า​แต่พันสอง...​ ต่อให้ห้าพันขนหน้าแข้งของ​เขาก็ไม่ร่วงหรอก น้าเขยของผมคนนี้ตังค์ให้หาบ"

"เรอะ! ฮา ฮา-งั้น​เอาอย่างนั้น​ก็​ได้ ​แต่ขอเวลาลุงสักวันสองวันนะ หมู่นี้ฝนตกถี่-งาน​ที่​ใช้สีน้ำก็​ต้องช้าหน่อย​"

"ไม่​เป็นไรครับ​" เด็กหนุ่มพูด "ผมกลับก่อนล่ะ อีกสองวันผม​จะมารับงาน​และจ่ายตังค์ให้ลุงนะครับ​"

"เออ-​ไปเหอะ ขอบใจมาก-ขับรถดี ๆ​ ล่ะ...​"

​เมื่อเด็กหนุ่มขับมอเตอร์ไซค์จาก​ไปแล้ว​ ชายคิ้วต่ำก็ถอนหายใจโล่งอก

สวรรค์ทรงโปรด คราวนี้ก็เห็น​จะหมดห่วงเสียที ราคาป้ายตั้งพันห้า ​เมื่อหักต้นทุน​และนำ​ไปจ่ายค่าไฟเสร็จแล้ว​ อย่างน้อย, ร้อยสองร้อยก็คงเหลือให้เมียเก็บไว้ทำทุนต่อ​ไป



ตังค์ให้หาบ!

ชายคิ้วต่ำนึกยิ้ม ๆ​ ​เพราะมันหมายถึง​ความร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติเหลือกินเหลือ​ใช้ ต่อให้ใส่สาแหรกหาบ​ไปผลาญก็ผลาญไม่หมด ​ทว่าค่ำวันนี้, ​เขา​กับเมียกลับ​ต้องจุดเทียนไขเล่มเท่านิ้วก้อยปัก​ที่โต๊ะกินข้าวราว​กับ​ได้ฉลอง​ความรักกันอีกครั้งหนึ่ง​แล้ว​...​ ‘ตังค์ให้หาบ’ ตามคำคุยของเด็กหนุ่มไม่อาจช่วยเหลือพวก​เขา​ได้!

วันนั้น​,หลังจากเด็กหนุ่มกลับ​ไปแล้ว​ ชายคิ้วต่ำ​กับเมียของ​เขาก็เริ่มงานทันที...​ ​แม้ฝน​จะตกพรำตลอด​ทั้งวัน ทำให้อากาศเย็นชื้นจนสีทาป้ายแห้งช้า​ไปสักหน่อย​ ​แต่​ทว่าเพียงแค่สองวันเศษ ๆ​ ชายคิ้วต่ำ​กับเมียของ​เขาก็ช่วยกันทำป้าย​ที่เด็กหนุ่มสั่งไว้จนเสร็จ ​โดยมิ​ได้เฉลียวใจสักนิดว่า ​เขา​ทั้งสอง​จะ​ต้องพบ​กับ​ความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง​...​ โชคชะตาช่างชอบเล่นตลก​กับพวก​เขาเสียจริง ​เพราะแทน​ที่​จะ​ได้เงินค่าป้าย​และค่าแรง​ที่อุตส่าห์ลงทุนนำสว่านกระแทกตัวนั้น​เข้าโรงจำนำ พวก​เขากลับถูกเบี้ยว เงินทุน​ที่​ได้มาก็หมด​ไป​กับการหาซื้อวัสดุ, ​ทั้งสี​และไม้กระดาน​เอามาทำป้าย...​ ​และ​เมื่อทำเสร็จแล้ว​ ​เขาสองคนก็ตั้งตารอ...​ ​และรอกระทั่งวันสุดท้าย​ที่ขอผัดผ่อนค่าไฟรุดมาถึง ชายคิ้วต่ำจึงตัดสินใจ​ไป​ที่ร้านขายชุดกีฬา​ที่เด็กหนุ่มทำงานอยู ่ ​ทว่าเด็กหนุ่มไม่มาทำงาน​ที่นั่นกว่าสองอาทิตย์แล้ว​

กลับถึงร้าน, ชายคิ้วก็ต่ำโทรศัพท์​ไปหาเจ้าของป้ายตัวจริงตามหมายเลข​ที่ระบุให้​เขาเขียนลงในป้ายแผ่นนั้น​ ​แม้​จะ​เป็นการกระทำ​ที่ไม่เหมาะสม ​เพราะ​ถ้า​จะคิดให้ดีเรื่อง​นี้ไม่เกี่ยว​กับเจ้าของป้าย​โดยตรง...​ ​และ​ที่สำคัญ​เขาเองก็ไม่เคยกระทำเช่นนี้มาก่อน ​แต่​ทว่าตอนนี้​เขา​กำลัง​จะถูกตัดไฟ ​เขาจึง​ต้องฝืนใจ...​ จนใน​ที่สุดชายคิ้วต่ำก็​ได้รับคำตอบ​เป็น​ที่น่าพอใจว่า

"ผมก็​กำลังหาตัวมันอยู่​เหมือนกันครับ​" เสียงตอบเ​คือง ๆ​ มาตามสาย "​ทั้งค่าป้าย​และค่าตกแต่งภายในร่วมแสนบาท​​ที่ผมมอบให้มันช่วย​เป็นธุระจัดการ ก่อน​ที่ผม​จะขึ้น​​ไปติดต่อสั่งของ​ที่กรุงเทพฯ​เมื่อสามสี่วันก่อนถูกมันเชิด​เอา​ไปเกลี้ยง - - เอ่อ- - ผมว่า-งานนี้ฤกษ์ไม่ดีเสียแล้ว​ เรื่อง​ป้าย​กับเรื่อง​เปิดร้านเห็นที​จะ​ต้องชะลอไว้ก่อน"




***********************

 

F a c t   C a r d
Article ID A-3509 Article's Rate 0 votes
ชื่อเรื่อง ดักไซแห้ง
ผู้แต่ง พลอยพนม
ตีพิมพ์เมื่อ ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องสั้น
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๕๘๓ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๖ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : นาม อิสรา [C-18062 ], [110.49.205.71]
เมื่อวันที่ : 01 ก.พ. 2554, 16.25 น.

เรื่อง​แบบนี้ผมซึมซาบอยู่​ทุก​เมื่อเชื่อวัน นอกจาก​จะบันทึกไว้ในไดอารี่ก็จำไว้ในสมองมากมาย​

​แต่เชื่อไหม! กว่า​จะปั้นพวกมันให้​เป็นรูปร่างพอจับ​ต้อง​ได้สักชิ้นสองชิ้น บางครั้งก็กินเวลา​เป็นปี ๆ​ ​โดยเฉพาะปีนี้ ผมปั้นออกมา​ได้แค่ 2 ชิ้นเท่านั้น​

ชิ้นแรก​ได้ตีพิมพ์​ไปแล้ว​​ที่เนชั่นรายสัปดาห์ ​และชิ้นนี้​กำลัง​ใคร่ครวญว่า​จะร่อน​ไปไหนดี

​ส่วนชิ้น​ที่ตีพิมพ์ในเนชั่นฯสำหรับท่าน​ที่ยังไม่​ได้อ่าน กรุณารออีกสักนิด ผม​จะนำมาโพสต์ให้อ่านกัน ​และขอสาบานว่าไม่ใช่​จะนำมาคุยโม้ ​แต่​จะนำโพสต์​เป็นกรณีศึกษา เปรียบเทียบ​ความก้าวหน้าเรื่อง​งานเขียนของผม

​และผมก็อยากซาวด์เสียงด้วยครับ​!

"ซาวด์เสียง"เขียนแบบหรือเปล่าไม่แน่ใจ

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : นกหัวขวาน [C-18064 ], [125.24.56.66]
เมื่อวันที่ : 01 ก.พ. 2554, 16.53 น.

อ่าน​ไปแล้ว​รอบนึงครับ​พี่..
ยังไม่มีคอมเม้นท์..
​แต่เดี๋ยวค่อยมาเมาท์กัน
ตอนนี้..ก็ขอแสดง​ความยินดี​กับงาน​ที่​ได้ดีพิมพ์ก่อน

ขอให้มีข่าวดีมาบอกเรื่อยๆ​นะครับ​
ตามต้นฉบับ​​ได้ครบ พอรวมเล่ม​เมื่อไหร่
รีบลงมือเลย​นะพี่
รอเก็บงานอยู่​ครับ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : ทิดอินทร์ [C-18065 ], [124.122.154.22]
เมื่อวันที่ : 01 ก.พ. 2554, 17.15 น.

ขอแสดง​ความยินดี​กับพี่นามฯด้วยครับ​ สำหรับเรื่อง​​ที่​ได้ลงในเนชั่นสุดสัปดาห์

สำหรับเรื่อง​นี้​เป็นเรื่อง​ร้าย​ที่ปนอารมณ์ขำ ​แม้ไม่ทำให้ก๊าก​แต่ผมเชื่อว่านั้่นไม่ใช่เจตนาของคนเขียน อ่านแล้ว​ผมอดอมยิ้ม​และรู้สึกชื่นชมในรักแท้​และทัศนคติเชิงบวกของสามีภรรยาคู่นี้ไม่​ได้

อารมณ์ขึ้น​​และลงในเนื้อเรื่อง​​แม้ไม่ถึง​กับดึงให้สูงสุด ​แต่ตอนลงก็​ได้จังหวะดีครับ​

จากทรรศนะ​และดอกไม้ ของทิดสึกใหม่นะครับ​พี่นามฯ

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : นาม อิสรา [C-18067 ], [110.49.193.193]
เมื่อวันที่ : 02 ก.พ. 2554, 07.35 น.

ขอขอบคุณไมตรีจิตน้องท่าน​ทั้งสอง​เป็นอย่างยิ่งครับ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๕ : ทอรุ้ง [C-18071 ], [118.173.64.249]
เมื่อวันที่ : 03 ก.พ. 2554, 10.40 น.

อะไร​ๆ​ ดูลงตัวดีจังเลย​ค่ะ​ ​แต่ยังไม่ เออเว๊ย!

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๖ : นาม อิสรา [C-18072 ], [110.49.205.64]
เมื่อวันที่ : 03 ก.พ. 2554, 11.32 น.

^
^

ฮา ฮา

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น