![]() |
![]() |
ลุงเปี๊ยก![]() |
"คนเขียนบทซีรีส์ทีวีไทย ครั้งที่ ๑" เมื่อสองเดือนก่อน
วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ...
ก็ผิดหวังนิดหน่อย แต่ไม่แปลกใจนัก เพราะเป็นการทดลองเขียนบทโดยที่ไม่เคยเห็นบทโทรทัศน์จริง ๆ มาก่อนเลย ลุงเปี๊ยกใช้วิธีค้นคว้าในระยะเวลาสั้น ๆ (เขาให้เวลาเขียน ๑๔ วัน) และเขียนส่งไปตามที่คิดว่าน่าจะถูกต้อง ซึ่งคงจะไม่ถูก และไม่ดีพอนะแหละถึงได้ตกรอบ
ที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟัง ทั้งที่เป็นการขยายขี้เท่อตัวเอง ก็เพราะการเข้าประกวดมันได้ประโยชน์ครับ ลุงเปี๊ยกได้เห็นมุมมองการเขียนอีกแบบหนึ่งที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการแต่งเรื่องได้ดี การเขียนแบบที่พูดถึงคือการเล่าเรื่องด้วยมุมกล้อง เพราะบทโทรทัศน์เป็นการใช้เทคนิคมุมมองต่าง ๆ ช่วยในการเล่าเรื่องด้วยภาพ
ขณะที่ลุงเปี๊ยกพยายามดัดแปลงเรื่องสั้นชื่อ "เจ้าพระคุณ" ซึ่งประพันธ์โดยคุณมนัส จรรยงค์ ให้เป็นบทโทรทัศน์นั้น จำเป็นต้องจำลองคำบรรยายออกมาเป็นภาพที่สื่อความตามต้นฉบับให้ได้ หากต้นฉบับบรรยายฉาก หรือเป็นบทสนทนาของตัวละคร การจำลองเป็นภาพก็ไม่ยุ่งยากนัก..
จะยากและท้าทายความคิดของเรา คือส่วนที่ผู้ประพันธ์ได้บรรยายความคิด ความเป็นไปในสังคม หรือทรรศนะผ่านตัวอักษร การจะทำให้สิ่งอันเป็นนามธรรมกลายมาเป็นภาพผ่านกล้อง เพื่อสื่อสารถึงผู้ชมให้เข้าใจตามได้นั้น คนเขียนบทเป็นได้ใช้ความคิดกันอย่างสนุกเลยล่ะครับ
นอกจากการแปลตัวอักษรเป็นภาพแล้ว ตามที่อ่านพบในคำแนะนำเรื่องการเขียนบท(ตามที่ค้นมาได้จากน้องกุ๊ก) เขายังพูดถึงการย่อเรื่องเพื่อจับประเด็นหลักของเรื่องออกมา หรือที่พูดกันเป็นภาษาเทคนิคว่าการเขียนทรีตเม้นท์ (treatment) ซึ่งประกอบด้วยโครงเรื่องย่อ และโครงเรื่องขยาย ซึ่งน่าจะมีรายละเอียดพอที่จะเรียนกันได้ครบเทอม ลุงเปี๊ยกไม่มีความรู้จริงตรงนี้ ได้แต่ทำความเข้าใจแบบงู ๆ ปลา ๆ จำได้ว่ามีการลำดับโครงสร้างของเรื่องเป็นส่วน ๆ เช่น เริ่มปูเรื่อง ขยายความ จุดพลิกผัน สรุปจบ ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะ เป็นเรื่องทางเทคนิคอะไรทำนองนี้ ขออนุญาตไม่ลงละเอียดเพราะไม่มีความรู้จริง ๆ
แต่ด้วยความไม่รู้นี่แหละ ทำให้ตื่นเต้นที่ได้รู้.. ว่าบทละครเขามีการวางโครงสร้างกันอย่างเป็นระบบแน่นหนาพอดู ซึ่งในงานเขียนนิยายเราก็อาจจะนำโครงสร้างคล้าย ๆ แบบนี้มาใช้บ้างก็ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เราพอจะมองภาพรวมของเรื่องกลางอากาศที่กำลังหมกมุ่นแต่งอยู่นั้น เห็นเป็นโครงร่าง (outline) ที่แจ่มชัดขึ้นได้อีกวิธีหนึ่ง
นี่แหละคือประโยชน์ที่ได้จากการทดลองเข้าประกวดคราวนี้ และด้านล่างนี้ คือเรื่องย่อเรื่องที่ส่งเข้าประกวด และ บทโทรทัศน์ของลุงเปี๊ยก (รวมทั้งต้นฉบับเรื่องสั้น) ที่ส่งเข้าไปตกรอบมาแล้ว ทำลิงก์ให้ดาวน์โหลดไปอ่านดู เผื่อว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ทีวีไทยเขาจัดประกวดอีกเป็นครั้งที่ ๒ และเพื่อนนกน้อยท่านใด เกิดสนใจร่วมประกวด จะได้รู้พอเป็นแนวทางว่า
ต้องเขียนให้ดีกว่านี้นะจ๊ะ เพราะแบบนี้น่ะ ตกรอบ! แฮ่ ๆ
----
บทละครเรื่อง "คนขี้โกง"
จากเรื่องสั้นชื่อ เจ้าพระคุณ ประพันธ์โดย มนัส จรรยงค์
เขียนบทโดย ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์
[โครงเรื่องย่อ]
คนขี้โกง ๒ คนรวมหัวกันทำพระสมเด็จปลอมไปหลอกขาย เพื่อนเตือนว่าอย่าทำเพราะมีคนเคยทำแบบนี้แล้วเคราะห์ร้าย ทั้งสองก็ไม่ฟัง สุดท้ายทำพระไปขายและประสบชะตากรรมจริง ๆ
[โครงเรื่องขยาย]
ณ หมู่บ้านในชนบทขนาดใหญ่ เฒ่าหนูได้ข่าวว่าผู้ใหญ่เริ่มเพิ่งขายนาได้เงินมากกำลังต้องการเช่าพระสมเด็จ ราคาไม่เกี่ยงขอให้เป็นของแท้ จึงชวนเฒ่าเหมือนผู้เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ทำการปลอมพระไปหลอกขาย เฒ่าโพล้งเพื่อนอีกคนเป็นผู้ชำนาญการดูพระของตำบล บังเอิญรู้เรื่องนี้จึงได้ห้ามไว้ โดยให้เหตุผลว่าเคยมีคนทำแบบนี้แล้วเคราะห์ร้ายโดนรถทับถึงกับต้องตัดขาทิ้ง
ด้วยความโลภ เฒ่าหนูกับเฒ่าเหมือนจึงไม่ฟังคำเตือน ลงมือสร้างพระปลอมออกมาอย่างประณีต และนำมาเสนอขายผู้ใหญ่เริ่มในราคา ๒ พันบาท
ผู้ใหญ่เริ่มไม่ชำนาญการดูพระ จึงขอให้เฒ่าโพล้งช่วยดูให้ ด้วยความเกรงใจเพื่อนและไม่อยากร่วมโกหก เฒ่าโพล้งจึงขอให้นำพระปลอมองค์นี้ไปร่วมประกวดพระสมเด็จที่กำลังจะจัดขึ้นที่ตัวอำเภอ และให้ข้อคิดแก่ผู้จะซื้อว่าถ้าชนะประกวดก็ถือว่าเป็นพระแท้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ให้ถือว่าปลอม ตกลงกันเช่นนั้น
วันประกวดพระมาถึง กรรมการ ๙ ใน ๑๐ คนลงคะแนนให้พระปลอมของเฒ่าหนูได้รางวัลที่ ๑ เฒ่าโพล้งซึ่งเป็นกรรมการคนสุดท้าย ไม่ยอมลงคะแนน อ้างว่าดูแล้วองค์พระดีเกินไปและเจ้าของพระก็เป็นพวกกันเองด้วย สุดท้ายประธานกรรมการก็ตัดสินตามเสียงส่วนใหญ่ พระสมเด็จปลอมของเฒ่าหนูได้รางวัลที่ ๑
เฒ่าหนูกับเฒ่าเหมือนดีใจออกนอกหน้า เผลอตัวจับมือกันแสดงความสำเร็จ ผู้ใหญ่เริ่มผู้จะซื้อเห็นเข้าก็เอะใจ ประกอบกับเฒ่าโพล้งก็ไม่ยอมลงคะแนน จึงสับสนและคิดว่าอาจถูกหลอก ด้วยความลังเลจึงขอพระมาถือไว้ และขอเวลาคิดดูอีกที
ขณะที่ผู้ขายและผู้จะซื้อขึ้นรถโดยสารกลับหมู่บ้าน ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรุนแรง มีคนตายและคนเจ็บมากมาย เฒ่าหนูกับเฒ่าเหมือนก็เจ็บหนักแข้งขาหักถึงกับสลบไปทั้งสองคน ผู้ใหญ่เริ่มคนเดียวรอดมาได้ราวปาฏิหารย์ ทำให้เขาเชื่อหมดใจว่าเป็นเพราะเจ้าพระคุณสมเด็จฯองค์นี้ช่วยเอาไว้
ฝ่ายเฒ่าหนูกับเฒ่าเหมือน ฟื้นขึ้นจากสลบหน้าห้องรอผ่าตัด ต่างก็ตระหนักว่าชะตากรรมนี้เกิดจากการคิดโกงขายพระปลอม จึงพร้อมใจกันว่าจะขอยกเลิกการขายพระปลอมองค์นี้เสียดีกว่า แต่..ช้าไปแล้ว ผู้ซื้อคือผู้ใหญ่เริ่มเห็นคนเจ็บฟื้นขึ้น ก็รีบยัดเงินค่าเช่าพระจำนวน ๒ พันบาทใส่มือเฒ่าหนูตามสัญญา แม้ว่าทั้งเฒ่าหนูและเฒ่าเหมือนจะไม่อยากได้แล้วก็ตาม.
----
ถ้าอ่านเรื่องย่อจบแล้ว อยากอ่านฉบับเต็มเชิญดาวน์โหลด :
บทโทรทัศน์เรื่อง คนขี้โกง โดยลุงเปี๊ยก (ไฟล์ pdf บีบขนาดใน zip - ๒๐๕ kb.)
เมื่อวันที่ : 08 มิ.ย. 2553, 15.05 น.
บ๊ะ เรื่องเล่าเก่า ๆ แบบนี้สนุกมากเลยค่ะ
ถึงลุงเปี๊ียกจะไม่ชนะการประกวด แต่ก็ชนะใจคนอ่านนะคะ
สั้น กระชับ ตรงประเ้ด็น อ่านรู้เรื่องภายใน 3 นาที
เดี๋ยวมีเวลาจะเข้าไปอ่านตัวบทโทรทัศน์อีกทีนึงค่ะ
เข้ามาเป็นกำลังใจให้ก่อน