![]() |
![]() |
พลอยพนม![]() |
...แถวบ้านผมไม่เคยปรากฏใครโดนงูเหลือมรัด จะมีก็แต่พวกโดน เสือ หมี ไล่งับเอาเท่านั้น ซึ่งผมกำลังจะเล่าอยู่ ณ บัดนี้...
ตอน หมีหวงลูกดังได้เล่าไว้ในตอนต้นว่า สมัยเด็ก ๆ ผมค่อนข้างจะกล้าหาญชาญชัยเกินอายุ พวกผู้ใหญ่จึงพากันไว้ใจ และคิดว่าหากพาผมเข้าป่าหรือลงทะเล เจอเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ไม่คาดฝัน ผมก็คงไม่ปอดแหกจนเสียขวัญ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ
ตอนนั้นผมเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่ 7 อายุ 12-13 ปี ใบหน้าเริ่มมีเม็ดสิวผุดขึ้นประปราย ไปเที่ยวไหนชอบพกมีดเหน็บทำเป็นนักเลง (เอาอย่างรุ่นพี่) พอถึงตอนปิดเทอมเข้าป่าไปตัดหวายกับญาติ ๆ มีดเหน็บเล่มนั้นผมก็พกติดตัวไม่วาง เพราะว่ากันว่า ในป่านั้นสัตว์ใหญ่อย่าง เสือ หมี ช้าง พวกนี้ไม่ต้องกลัว เพราะมันมีสัญชาติญาณหลบหลีกของมันอยู่แล้ว ถ้าไม่จนตรอกจริง ๆ มันก็จะไม่กล้าสู้หน้ากับมนุษย์... เพราะมันกลัว
ความจริงพวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ ต่างหากที่น่ากลัว และต้องคอยเฝ้าระวังให้ดี เหมือนอย่างงูพิษก็มักจะไม่ค่อยหลีกหนี แต่ก็จะส่งสัญญาณเตือน... เมื่อสัตว์ต่าง ๆ เข้าใกล้ก็จะส่งเสียงขู่ฟ่อ ๆ ให้ได้ยินเสียก่อน ส่วนงูที่ไม่ส่งเสียงเตือนและไม่คิดจะหลบหลีก ก็เห็นจะเป็นงูเหลือม งูชนิดนี้อันตรายมาก ขนาดกวางที่มีเขาระเกะระกะมันยังกลืนเข้าไปทั้งตัวได้สบาย นับประสาอะไรกับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างผมที่มันจะกลืนลงไปในท้องของมันไม่ได้ ผมจึงจดจำสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้กล่าวตักเตือนไว้ว่า เข้าป่าอย่างน้อยก็ต้องพกมีดด้ามสั้น ๆ ติดตัวไว้สักด้ามก็ยังดี เผื่อโดนงูเหลือมรัดก็จะได้งัดออกมาสู้กับมัน
แต่แถวบ้านผมก็ไม่เคยมีใครโดนงูเหลือมรัด จะมีก็แต่ เสือ หมี ไล่งับเอาเท่านั้น ซึ่งผมกำลังจะเล่าอยู่ ณ บัดนี้ และเป็นเรื่องที่ผมเห็นมากับตา
ขณะเข้าไปตัดหวายอยู่ในป่า ทุก ๆ เช้า...เราจะออกจากขนำแบบแยกย้ายกันไป ใครเดินไปเจอหวายกอใหญ่ ๆ ก็เคาะพอนไม้ หรือกู่ร้องให้เพื่อนมาช่วยตัด ถ้าเป็นกอเล็ก ๆ ก็ตัดไปคนเดียว ตัดไปเรื่อยเสาะหาไปเรื่อย ตัดเสร็จก็ม้วนที่โคนให้เป็นบ่วงสำหรับสอดเข้ากับบ่าแล้วลากไปกองไว้ตรงไหนสักแห่ง เสร็จแล้วทำเครื่องหมายสำหรับลากมากองรวมกัน โดยอาศัยดวงตะวันเป็นนาฬิกาบอกเวลา เพราะการเข้าป่าไปตัดหวายส่วนใหญ่จะไปกันหน้าแล้ง มองเห็นดวงตะวันส่องแสงอยู่ตลอดเวลา
เที่ยงวันนั้น...หลังจากเสียงเคาะพอนไม้และเสียงกู่ร้องดังขึ้น พวกเราก็ลัดเลาะออกสู่ทางด่าน อันเป็นจุดกองหวายและทางเดินกลับขนำ เพื่อจะกลับไปกินข้าวมื้อเที่ยง
ผมเดินออกมาถึงจุดหมายเป็นคนที่สอง คนแรกคืออาของผม ซึ่งผมเรียกอาหลวง เพราะแกผ่านการบวชเรียนมาแล้ว คนต่อมาก็ตารุ่ม-น้องเขยของย่าผม คนสุดท้ายคือตาจิตร ซึ่งก็เป็นญาติห่าง ๆ กับผมเหมือนกัน
ตารุ่มถามตาจิตรว่า ทำไมออกมาช้า สงสัยจะเจอหวายมาก- -ตัดไม่หมด
ตาจิตรไม่ตอบตารุ่ม แต่ชูห่อผ้าขาวม้าที่สะพายติดบ่าข้างหนึ่งให้ตารุ่มดู
"อะไรละนั่น?" ตารุ่มถาม
"ลูกหมี" ตาจิตรตอบ "ฉับพบมันตามทาง"
"เฮ้ย" ตารุ่มร้องเสียงหลง "เอามันมาทำไม ประเดี๋ยวได้วิ่งกันป่าราบ"
"ไม่หรอก" ตาจิตรว่า "แม่ของมันคงหนีลูกไปหากินตามลำพังเสียแล้ว"
"ปล่อยมันไปเสีย... ปล่อยเดี๋ยวนี้เลย" อาหลวงของผมก็ทำท่าตกใจขึ้นมาบ้าง
"ปล่อยก็โง่นะซีอย่างน้อยก็ได้ไม่ต่ำกว่าร้อย เงินมากขนาดนั้นจะหาไหนได้" ตาจิตรยังดื้อ และคิดถึงเงินที่จะได้มาจากการขายลูกหมีตัวนั้น พูดจบแกก็รวบผ้าขาวม้าห่อมัดลูกหมีตัวนั้นให้แน่นยิ่งขึ้น คล้ายกับว่ามันจะดิ้นหลุดกลับเข้าป่าไปอีก
วี๊ด วี๊ด !
ลูกหมีแหกปากร้อง เพราะมันคงจะอึดอัดและหายใจไม่ออก ที่โดนตาจิตรรัดกับผ้าขาวม้าเสียแน่น
วี๊ด วี๊ด- - วี๊ดดดด
เสียงร้องของลูกหมีดังขึ้นกว่าเก่า ผมได้ยินแล้วใจไม่ดี หันซ้าย หันขวา อย่างไม่ค่อยสบายใจ เพราะรู้ว่าสัตว์ทุกชนิดจะหวงลูกของมัน ซึ่งก็จริงดังคาด ถัดไปทางซ้ายมือที่เรายืนอยู่นั้น ห่างออกไปประมาณ 10 วา หมีควายขนสีดำเหมือนตอไม้โดนไฟลวกตัวหนึ่งกำลังพวยแน่บเข้ามาหาพวกเรา
"ไอ้ถึก หลบมาทางนี้ก่อน - -เร็ว" อาหลวงหันมาคว้าข้อมือผม กึ่งลากกึ่งจูงตรงไปยังโคนไม้หลุมพอต้นใหญ่
ตารุ่มกับตาจิตรต่างก็กระโจนกันไปคนละทิศคนละทาง ผมได้ยินเสียงตารุ่มร้องด่าตาจิตรไม่ขาดปาก แต่ก็ด่าออกมาแบบซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วยความตื่นตกใจกลัว
"กูว่าแล้ว... กูว่าแล้ว... กูว่าแล้ว"
เจ้าหมีตัวนั้นได้ยินเสียงลูกร้อง ก็รู้ว่าลูกของมันอยู่กับใคร มันจึงไล่งับตาจิตรไม่เลิก แต่เคราะห์ดีที่ตาจิตรแกได้อาศัยโคนขนุนป่าต้นใหญ่ คอยหลบหลีกเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับมัน หลายครั้งหลายหนที่แกรอดคมเขี้ยวและเล็บมือที่มันพยายามตะปบคว้าไปได้อย่างหวุดหวิด จึงทั้งแม่หมีและตาจิตรซึ่งยังคงสะพายลูกหมีอยู่บนบ่า ก็วน ๆ เวียน ๆ หลอกล่อกันอยู่รอบ ๆ โคนขนุนป่าต้นนั้นกันไปเรื่อย
พอตาจิตรโผล่หน้ามาทางซ้าย เจ้าหมีตัวนั้นก็กระโจนมาสกัดทางซ้าย พอแกโยกไปทางขวา เจ้าหมีตัวนั้นก็โยกตาม
แรก ๆ ผมก็กลัว ต่อพอนานเข้า ๆ ก็นึกขำ
ผมหัวเราะและตะโกนไปว่า "ตาจิตร โยนลูกของมันให้ไปซี้"
ตาจิตรก็ตะโกนกลับมาว่า "กูแก้มัดไม่ได้" ซึ่งจะว่าไปแล้ว แกก็คงไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องนั้นหรอก เพราะลำพังเล่นเอาเถิดเจ้าล่อคอยหลบหลีกเอาตัวรอดอยู่นั้น ก็แทบจะไม่มีเวลาหยุดหายใจอยู่แล้ว
"ก็กูว่าแล้ว กูว่าแล้ว..."
ตารุ่มก็ยังคงร้องด่าตาจิตรออกมาอย่างไม่ได้สติอยู่เหมือนเดิม จนผมต้องร้องตะโกนว่า เรามาช่วยกันเคาะพอนไม้ไล่หมีกันเถอะ นั่นแหละตารุ่มจึงหยุดส่งเสียงเอะอะ แล้วเอามีดพร้าในมือเคาะพอนไม้โห่ร้องขึ้นเสียงดัง จนแม่หมีเกิดอาการลังเล และหยุดชะงัก
อาหลวงก้มลงรวบใบไม้แห้งได้มากำมือใหญ่ แล้วจุดด้วยไฟเช็คจนเกิดเปลวไฟลุกวาบ ทำให้แม่หมีตัวนั้นตกใจแล่นเตลิดเข้าป่า แต่มันก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้น จนเมื่อตาจิตรแก้ห่อผ้าขาวม้าปล่อยลูกเล็กของมันลงกับพื้น และเราได้เดินถอยห่างออกมานั่นแหละ จึงได้เห็นมันวิ่งออกมาพร้อมกับแลบลิ้นเลียแผล็บ ๆ ไปตามสีข้างของลูกมันอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ชวนกันเดินคลอเคลียหายเข้าไปในป่า
"ไอ้ถึกเอ๋ย ถ้าไม่ติดมึงคิดช่วยแก้ไขสถานการณ์- กูตายแน่"
ตาจิตรพูดกับผมแล้วหัวเราะ หึ หึ อย่างชอบใจ
ใช่ครับ! สมัยนั้นนอกจาก "ไอ้ไข่นุ้ย" ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายตั้งให้แล้ว พวกผู้ใหญ่หลายคนจะเรียกผมว่า ไอ้ถึก ซึ่งหมายถึงสัตว์ตัวผู้ที่อยู่ในวัยคึกคะนอง แต่ทว่าปัจจุบันผู้ที่เรียกชื่อผมแบบนั้นเหลืออยู่ไม่กี่คนแล้ว ส่วนใหญ่ได้ชวนกันเดินทางไปตัดหวายรอผมอยู่ในป่าแห่งโน้น...กันหมดแล้ว (ฮา ฮา)
****************************************************************************************
เล่าสู่กันฟังเพื่อความเพลิดเพลินวันละนิดละหน่อย แต่อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ หากมีอะไรผิดพลาดก็ท้วงติงกันได้ ไม่ต้องเกรงใจผมนะครับ
เมื่อวันที่ : 03 มิ.ย. 2553, 20.42 น.
สนุกดีค่ะ เรื่องเล่าเยาว์วัยสนุกดีนะคะ รออ่านตอนต่อไปค่ะ