![]() |
![]() |
สร้อยดอกหมาก![]() |
...ยายคงคิดถึงเถียงนากลางทุ่งกว้างที่มีลมโชยเฉื่อยฉิว มีเสียงกบเสียงอึ่งระงมร้องยามค่ำคืนที่ฝนพรำ คิดถึงกอไผ่ที่เสียดส่ายไหวโอนตามแรงลม...
ตรงหน้าตึกร้างหัวมุมถนน ยายคนนั้นยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ยายในชุดผ้านุ่งไหมเก่า ๆ สีน้ำตาลอมเขียวกับเสื้อคอกลมแขนสั้นสีขาวมอ ๆ ผมสีเงินแซมสีเทาสั้นเกือบติดหนังหัว และดอกเข็มสีแดงดอกจิ๋วในรูที่ติ่งหูทั้งสองข้าง ทำให้เดาได้ไม่ยากว่ายายมาจากไหน ข้าง ๆ ตัวยายคือตะกร้าไม้ไผ่สานใบเล็ก ๆ มีผ้าสีแดงคล้ำโผล่ให้เห็นพอมองออกว่าเป็นผ้าเช็ดน้ำหมาก
เฉลาเห็นภาพนี้จนเจนตาชินใจ ราวกับมันคือสิ่งเดียวกับทุกอย่างที่นั่น สี่แยกที่รถติดเป็นแพทั้งเช้าสายบ่ายค่ำ ตึกร้างไร้ผู้คน และยายที่สอดส่ายสายตาตามผู้คนและรถราที่ขวักไขว่
ยายไม่ใช่ขอทานที่มานั่งรอเศษเงินจากผู้ใจบุญ ที่ ๆ ยายนั่งแทบจะไม่มีคนเดินผ่านเสียด้วยซ้ำ
.......
"เฉลา นี่น้าหลวงนะ ฉลวยหาไม่แล้ว"
นั่นคือเสียงดังมาจากโทรศัพท์มือถือถูก ๆ ที่เธอซื้อมาให้ตัวเองและพี่สาวเมื่อรับเงินเดือนเดือนแรก
"หา...น้าหลวงเฉิมว่ายังไงนะ"
เอ๊ะ ฝันหรือว่าตื่นอยู่หรือนี่ เธอยกมือขึ้นลูบหน้าขับไล่ความง่วงงุน พยายามรวบรวมสติให้อยู่กับปัจจุบัน
"พี่ฉลวยของเอ็งตายเสียแล้วลูก เมื่อกี้นี่เอง"
เสียงของน้าชายต่ำพร่า ย้ำว่าเธอไม่ได้ฝัน แต่ทำไมล่ะ ทำไมพี่สาวคนเดียวของเธอถึงตาย ก็พี่เขายังสาว ยังแข็งแรง
"งูกัดลูกเอ๋ย พาไปหาหมอไม่ทัน ดำหมดทั้งตัวเลย"
เสียงน้าชายบอกต่อไปเหมือนรู้ว่าเธอจะถาม
"พรุ่งนี้มาเลยนะลูก พี่ฉ่ำให้สวดสามวันแล้วเผา"
น้ายังคงพร่ำสั่งนู่นนี่ที่เธอต้องทำ แม่ว่าอย่างนั้นหรือ อ้อ...
"หนูขอพูดกับแม่หน่อยนะน้าหลวง"
เธอรวบรวมสติขึ้นมาได้เมื่อน้าชายเอ่ยถึงแม่ แม่จะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อพี่ฉลวยมาจากไปกะทันหันอย่างนี้
"โหล ๆ" เสียงแม่ดังมาตามสาย "เหลาหรือลูก หลวยไม่มีแล้วลูกเอ๋ย"
เสียงนั้นสงบราบเรียบเหมือนพูดเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกวัน เฉลาฟังแล้วใจชื้น แม่เป็นอย่างนี้เอง ไม่มีอะไรที่แม่หวาดหวั่น รวมทั้งความตายของลูกในไส้ด้วยหรือ
"ทำไมล่ะแม่ ทำไมพี่เขาถึงตายได้ล่ะ"
เฉลาไม่ได้เข้มแข็งอย่างแม่ ตั้งแต่เล็กจนโตเธอถูกเลี้ยงมาอย่างตัวเล็กของบ้าน เป็นลูกคนเล็กของแม่ เป็นน้องสาวคนเล็กของพี่ คำยืนยันของแม่ทำให้เธอกลัวจนตัวสั่น มือที่ถือโทรศัพท์เย็นชื้นด้วยเหงื่อ น้ำตาทะลักทะลายออกมาเหมือนทำนบพัง
"เขาไปรายเบ็ดเมื่อหัวค่ำ แล้วไม่กลับมาสักที แม่ก็เลยออกไปตาม พบนอนอยู่บนคันนาไม่หายใจแล้ว"
ฤดูฝนน้ำเจิ่งนองทั่วท้องทุ่ง พี่ฉลวยคงออกไปธงเบ็ดหาปลาเหมือนกับที่เคยทำมาชั่วตาปี
"แม่จะอุ้มกลับมาก็อุ้มไม่ไหว จึงไปตามเณรเฉิมมาช่วย เพิ่งหามมาถึงเรือนเดี๋ยวนี้เอง ให้พวกนี้เขาช่วยกันหาไม้กระดานมาทำโลงอยู่ หนูมาพรุ่งนี้ก็ได้นะ ลางานอะไรเสียให้เรียบร้อย แม่ไม่เอาไว้นานหรอก สวดสามคืนก็พอ หนูจะได้รีบกลับมาทำงาน ไม่ต้องลาหลายวัน เท่านี้ก่อนนะลูก เดี๋ยวแม่ต้องไปเตรียมผ้าอาบน้ำให้พี่เขา"
แม่วางสายไปแล้ว แต่เฉลายังใจสั่นริก ๆ ทำอะไรไม่ถูก พี่สาวคนเดียวของน้องตายเสียแล้วอย่างนั้นหรือ
........
"ไปเถอะ ไม่ต้องห่วง พี่ยังอยู่ทั้งคน"
นั่นคือคำมั่นสัญญาของพี่ เมื่อวันที่เธอได้บรรจุเป็นครูในกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หาไม่ได้เลยในหมู่บ้านของเธอ
ที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฉลาไปกรุงเทพ เมื่อเธอเรียนจบมัธยมหกจากโรงเรียนประจำอำเภอ คะแนนของเฉลาสามารถเข้าสถาบันราชภัฏที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศในกรุงเทพได้ เธอเกือบจะต้องสละสิทธิ์เพราะไม่สามารถไปเรียนได้ พี่ฉลวยคนนี้เองที่ใจใหญ่คิดจะจำนองที่นาเอาเงินมาส่งเสียเธอ ดีที่อาจารย์ใหญ่สาวโสดยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ให้ยืมค่าหน่วยกิต และค่าหอพักจนกว่าเธอจะเรียนจบ มีเพียงค่ากิน และค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพียงเล็กน้อยที่ต้องออกเอง แต่ก็คือรายได้เกือบทั้งหมดจากการทำงานหนักของแม่และพี่สาวคนเดียว
เฉลาเรียนจบภายในเวลาเพียงสามปีครึ่งด้วยความสำนึกในความยากลำบากของทุก ๆ คน เธอไม่ลงชื่อเข้าพิธีรับปริญญา เพราะนั่นเท่ากับหยาดเหงื่ออีกมากมายของแม่และพี่ เธอไปขอรับปริญญาจากฝ่ายธุรการของสถาบันฯ นำมันมาวางลงบนฝ่ามืออันหยาบกร้านของทั้งสองที่บ้าน แม่อมยิ้ม แต่พี่ฉลวยฉีกยิ้มเสียจนแก้มดำ ๆ บานแฉ่ง ความภูมิอกภูมิใจที่พี่ฉลวยแสดงออกนั้นลึกล้ำฉ่ำเย็นอยู่ในใจเฉลาอย่างแนบแน่น
เงินเดือนข้าราชการครูปริญญาตรีเมื่อต้องอยู่ในกรุงเทพนับว่ากระเบียดกระเสียรอย่างมาก เฉลาวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ รายการค่าใช้จ่ายของเธอมีไม่มากอย่าง ค่าหอพักถูก ๆ ย่านชานเมือง ค่ารถเมล์ต่อเดียวถึงที่ทำงาน ค่าข้าวเช้าไม่มี ซึ่งเธอก็ทำมาแล้วตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ค่าข้าวเที่ยงไม่ต้องเพราะทางโรงเรียนเลี้ยง ค่ามื้อเย็นเท่านั้นที่เธอตั้งงบไว้สำหรับแกงและข้าวอย่างละถุงหิ้วมากินที่ห้อง บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นกล้วยน้ำว้าที่ซื้อมาเป็นหวี ปลิดกินวันละสองลูกแทนข้าว
ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเธอคือเงินที่จะใช้คืนอาจารย์ใหญ่ และส่งให้แม่กับพี่ ที่เหลือจึงเก็บไว้สำหรับตัวเองเพียงเล็กน้อย ไม่มากกว่าที่เคยใช้เมื่อเป็นนักศึกษา ด้วยหวังว่าแม่และพี่จะได้สบายขึ้นบ้าง ทดแทนสิ่งที่ทั้งสองทำให้กับเธอตลอดมา
"โอ๊ย พี่ไม่เอาตังค์ของหนู พี่กับแม่อยู่บ้านไม่อดหร็อก ข้าวเราก็มีกิน ปูปลาก็หาได้ถมไป เคยเกลือก็นิด ๆ หน่อย ๆ หาปลาไปขายเอาตังค์มาซื้อก็เกินพอ"
พี่บอกอย่างนั้น น้ำเสียงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองพูดอย่างแน่นหนัก
"หนูนั่นแหละเอาไว้ใช้เอง ซึ้อเสื้อผ้าใส่มั่งสิ พี่เห็นเดี๋ยวนี้เขาใส่เสื้อยืดกางเกงขายาวกันสวย ๆ ของหนูไม่เห็นมี"
ดวงตาสุกใสบนใบหน้าอวบกลมนั้นฉายประกายแห่งความสุข ความสุขที่น้องได้ดี
พี่ฉลวยเป็นคนร่างท้วม อวบกลม เดินเหินว่องไวคล่องแคล่ว ญาติพี่น้องเรียกเธอว่า "เณรหลวย" ด้วยเธอทำงานอย่างผู้ชายได้ทุกอย่าง น้ำใสใจคอเล่าก็กว้างขวางซื่อตรง เป็นหลักให้น้องพึ่ง เป็นคู่ชีวิตให้แม่อบอุ่นนับจากสิ้นพ่อ
วันเวลาที่สวยงามลงตัวเพิ่งเกิดขึ้นไม่ทันถึงปี
......................
"แม่ไปอยู่กับหนูเถอะ พี่ฉลวยไม่อยู่แล้ว แม่อยู่คนเดียว หนูเป็นห่วง"
เฉลาอ้อนวอนแม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่องานศพเสร็จลง ญาติพี่น้องที่มาช่วยงานต่างพากันกลับบ้าน เหลือกันอยู่แค่สองคนแม่ลูก บ้านเหมือนไม่ใช่บ้านเมื่อไม่มีพี่ฉลวยคอยทำนู่นทำนี่อยู่ใกล้ ๆ เฉลาหยิบจับอะไรแทบไม่ถูกเมื่อไม่มีพี่คอยแนะนำ แม้แต่แม่เองถึงจะทำทุกอย่างได้อย่างเคย แต่ก็นิ่งขึงพูดไม่ออกเป็นพัก ๆ
"ก็ดีเหมือนกันนะพี่ฉ่ำ ลองไปอยู่กับเฉลามันสักพัก ก็เหลือกันอยู่แค่นี้ อยู่ด้วยกันดีกว่า ลูกมันก็ทำมาหากินได้แล้ว มันเลี้ยงพี่ได้อยู่หรอก"
น้าเฉิมมองเห็นความเปล่าเปลี่ยวของเราสองแม่ลูก
"อยู่ทางนี้ ฉันจะคอยดูแลให้ นาของพี่ฉันจะทำให้แล้วขายข้าวส่งค่าเช่าให้เป็นเงิน พี่ไม่ต้องเป็นห่วง บ้านนี่ก็ปิดไว้ ไม่มีอะไร อยู่ใกล้กันแค่นี้ ว่าง ๆ ก็จะมานอนให้"
น้าชายช่วยแม่คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ
แม่ยังพูดอะไรไม่ออก ดูเหมือนสมองแม่หยุดคิดไปหลังจากไม่มีพี่ฉลวย เฉลาไม่เคยเห็นแม่เป็นอย่างนี้ เมื่อครั้งพ่อตายเธอก็ยังเด็กเกินไปที่จะซึมซับอารมณ์เศร้าหมองของผู้เป็นแม่ แต่เมื่อพี่มาจากไป เฉลาเห็นซึ้งถึงความเงียบเหงาวังเวงใจของแม่ เธอจะทิ้งแม่ในสภาพนี้ไปได้อย่างไร
"แม่ไปอยู่กับหนูเถอะ หนูลาต่อไม่ได้แล้ว เด็กกำลังจะสอบ หนูต้องไปสอน"
เฉลาพะว้าพะวัง เธอไม่กล้าเสียประวัติการทำงาน ชีวิตเธอกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้นั้น ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนักทั้งของตนเองและคนรอบข้าง ถ้าต้องมาเสียไปเธอจะมีปัญญาที่ไหนหามาได้อีก
"ไปก็ไป"
แม่พูดแค่นั้น แล้วเดินเข้าใต้ถุนไปเงียบ ๆ เฉลาสงสารแม่จับใจ แต่เธอไม่มีเวลาคิดเป็นอย่างอื่น
........
"แม่ หนูซื้อข้าวกับแกงไว้ให้แม่ อยู่ในถุงนี้นะ น้ำกินก็ในขวดนี้ แม่หิวตอนไหนก็กินตอนนั้น ไม่ต้องคอยหนูนะ ตอนเย็นหนูกลับมาจะซื้อมาอีก"
เฉลาต้องย้ายห้องพักจากห้องเตียงเล็กอยู่คนเดียวไปเป็นห้องเตียงใหญ่สำหรับสองคน เพิ่มค่าเช่าอีกเกือบเท่าตัว แต่มันก็เป็นเพียงห้องเล็ก ๆ แคบ ๆ มีหน้าต่างบานเล็กเปิดออกไปเป็นที่ตากผ้า ดีที่มีห้องน้ำห้องส้วมอยู่ในห้อง แม่จะได้ไม่ต้องลำบากออกไปข้างนอก
เรื่องอาหารการกินนั้น มื้อเช้า ปกติเมื่ออยู่ที่บ้านแม่จะกินตอนสาย ๆ อยู่แล้ว เพราะต้องออกไปนาแต่เช้ามืด เธอจึงซื้อเพียงกับข้าวมื้อเดียวให้แม่กินใกล้เที่ยง ตอนเย็นเธอจะซื้อมาอีกครั้งสำหรับสองคน
เธอสอนให้แม่เปิดปิดประตูห้องที่ใช้ลูกบิด สอนให้แม่ใช้ส้วมชักโครก สอนให้แม่อาบน้ำฝักบัว และคิดว่าเย็นนี้จะซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใบเล็ก ๆ กับข้าวสารมาให้แม่ได้หุงข้าวกินเองตอนมื้อเที่ยง
เงินเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพียรสะสมมาตั้งแต่เริ่มทำงานรวมกับเงินทำบุญงานศพที่เหลือคงจะหมดไปในคราวนี้ เฉลาไม่คิดเสียดาย ถึงเวลาที่เฉลาจะได้ดูแลแม่บ้างแล้ว เธอตั้งใจจะทำอย่างเต็มที่
แม่เงียบกริบ ไม่ตอบคำ สีหน้าเรียบเฉยของแม่ทำให้เธอห่วงหน้าพะวงหลัง ออกจากห้องไม่ใคร่ได้ ห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แทบไม่มีที่ว่างเช่นนี้ แม่ต้องไม่คุ้นเคย แต่งานในหน้าที่ก็ฉุดกระชากเธอไปจากความห่วงใย หวังเพียงว่าแม่จะอยู่ได้ถ้าทำทุกอย่างตามที่เธอสอนไว้
เย็นนั้น เฉลาต้องอยู่เคลียร์งานที่ฝากเพื่อนครูไว้ตอนลา เธอมองแสงสีส้มของกลางวันที่ค่อยจางหายปล่อยให้แสงสีเทาของกลางคืนโรยตัวลงมาปกคลุมแทนอย่างไม่สบายใจ แม่จะเป็นอย่างไรบ้าง จะกลัวไหมถ้ามืดแล้วไม่เห็นเธอกลับ
กว่าเธอจะได้ออกจากที่ทำงาน นั่งรถเมล์จนกว่าจะถึงหอพักเวลาก็ล่วงเลยเป็นค่ำมืด ถึงอย่างไรเธอก็ยังต้องแวะซื้อข้าวมื้อเย็นให้ตัวเองกับแม่ ไหนยังจะหาซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ซื้อข้าวสาร อาจจะต้องซื้อน้ำปลาไว้ให้แม่สักขวด เผื่อแกงจะจืดไป หรือจะซื้อพริกขี้หนูด้วย สมองเธอคิดหาทางให้แม่อยู่ได้อย่างมีความสุข
"แม่ แม่ หนูกลับมาแล้ว"
เธอเคาะประตู พร้อมกับส่งเสียงเรียก โล่งใจที่ได้กลับถึงที่พักเสียที ข้าวของสองมือพะรุงพะรังหนักอึ้งนิ้วจะขาด
ภายในห้องเงียบกริบ แม้แต่แสงไฟก็ไม่ลอดออกมา เฉลาใจหายวาบ
"แม่ แม่ เปิดประตูสิแม่"
ความกลัวเกาะกินใจเธออย่างรุนแรง รีบวางข้าวของในมือลงกับพื้น สองมือระดมทุบประตูอย่างขวัญเสีย
"มีอะไรหรือน้อง"
เพื่อนร่วมหอโผล่หน้าออกมาดู
"แม่หนูค่ะพี่ แม่หนูอยู่ในห้อง แต่หนูเรียกแล้วแม่ไม่เปิดประตู ไฟก็ไม่เปิด"
เธอพร่ำบอกเสียงขาดเป็นห้วง ๆ น้ำตาพรั่งพรูทำอะไรไม่ถูก เธอผู้นั้นจึงมาลองขยับลูกบิดประตู มันติดล็อคข้างในอย่างที่เฉลาทำให้แม่เมื่อเช้านี้
"น้องมีกุญแจห้องหรือเปล่าล่ะ"
"มีค่ะมี"
เธอลนลานล้วงกระเป๋าหยิบกุญแจห้องส่งให้เพื่อนไขประตู
ประตูเปิดผลัวะพร้อมกับร่างของเฉลาที่ผวาตามบานประตูเข้าไป แม่นั่งชันเข่าอยู่กับพื้นในความมืดนิ่งเฉย สติของเฉลาก็ขาดผึง
"แม่ ทำไมแม่ทำอย่างนี้ล่ะ ทำไมไม่เปิดประตู"
เธอตะโกนอย่างระงับอารมณ์ไม่อยู่ น้ำเสียงเช่นนั้น เฉลาไม่เคยพูดกับแม่ หรือกับใครเลยก็ว่าได้ แต่คราวนี้ วันนี้ มันหลุดออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจที่เหน็ดเหนื่อย หวาดกลัวที่สู้ทนเก็บข่มมาหลายวัน
"ใจเย็น ๆ น้อง ใจเย็น"
เพื่อนส่งเสียงเตือนเบา ๆ แล้วเดินมาเปิดไฟให้
เมื่อนั้นเองที่เฉลาได้เห็นสีหน้าของแม่ สีหน้านั้นของแม่ เฉลาก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน มันช่างไร้ชีวิต เหนื่อยล้า สิ้นหวัง เศร้าสร้อย ทุกข์ตรม เหมือนไม่ใช่แม่คนเข้มแข็งของเธอ
"แม่อย่าทำอย่างนี้ แม่อย่าทำ หนูกลัว"
เฉลาผวาเข้ากอดแม่ เขย่าร่างนั้นสะอื้นไห้จนตัวโยน แม่ค่อย ๆ อ้าแขนออกโอบเธอ ตบหลังให้เบา ๆ เหมือนเมื่อเธอเป็นเด็ก แต่ดูเหมือนแม่จะเป็นใบ้ไปเสียแล้ว ไม่มีคำพูดใด ๆ หลุดจากปากแม่มาให้เฉลาได้ยิน
แม่คงกลัว ดูเหมือนแม่จะนั่งอยู่ที่เดียวกับที่เฉลาเห็นเมื่อเช้าไม่ได้ขยับไปไหน โถแม่...
"พี่ไปนะ"
เสียงเพื่อนเอ่ยขึ้นเบา ๆ ทำให้เฉลาได้สติ เธอหันไปขอบคุณเพื่อน
"ไม่เป็นไรหรอกน้อง มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะ แม่พี่ก็เคยมานอนค้างกับพี่เหมือนกัน"
เธอบอกอย่างคนเข้าใจสถานการณ์
............
แม่ยังคงเงียบเฉยหม่นหมองจนเฉลาทำงานแทบไม่ได้ กลางวันแม่กินข้าวเท่าที่เฉลาจัดไว้ให้ แม่ไม่แตะต้องสิ่งอื่น ไม่ว่าน้ำปลาหรือพริกขี้หนูที่แม่เคยเกร็ดกินกับข้าวอย่างเอร็ดอร่อยเมื่อครั้งอยู่ที่บ้าน แม้แต่หมากที่แม่ต้องเคี้ยวอยู่ตลอดเวลา เฉลาก็เห็นมันอมค้างอยู่ในปากแม่
เฉลาพยายามเร่งทำทุกอย่างในที่ทำงานให้เสร็จทันเวลาเลิกงานทุกวัน เพื่อจะได้รีบกลับมาอยู่กับแม่ ซื้อหมากพลู ซื้อกับข้าวมาให้แม่ ตอนเช้าก่อนออกจากห้องก็จะซักผ้า ถูพื้นไว้เรียบร้อย ไม่ให้แม่ต้องทำอะไร แต่แม่ก็ไม่ดีขึ้น บางคืนเฉลายังได้ยินเสียงแม่ละเมอเรียกชื่อพี่
แล้ววันหนึ่ง เฉลาก็เห็นแม่ออกมานั่งหน้าประตูห้องคอยเธอกลับจากทำงาน
บนทางเดินยาวเหยียดหน้าห้องพักที่ติดกันเป็นแถวของแสงยามเย็น หญิงวัยกลางคนร่างผอมคล้ำดูร่วงโรยในผ้าถุงดำตัวเก่ากับเสื้อคอกระเช้าสีน้ำตาลที่นั่งชันเข่าพิงประตูห้อง หันหน้ามาทางถนนเข้าหอพักอย่างรอคอย สะเทือนร้าวเข้าไปในหัวใจของเฉลา
"แม่ ทำไมมานั่งอยู่ตรงนี้ล่ะ ประตูล็อคข้างใน เข้าห้องไม่ได้หรือ"
เฉลาผวาเข้าไปหาแม่อย่างตื่นตกใจ
"เหลา พาแม่กลับบ้านนะลูก"
แม่เอื้อมมือมาคว้ามือเฉลา เงยหน้าขึ้นพูดอย่างอ้อนวอน น้ำตาเต็มนัยน์ตาของแม่ เหมือนไม่ใช่แม่คนเดิม
เฉลานิ่งอึ้ง พยักหน้ารับ
"จ้ะแม่"
คืนนั้นสองแม่ลูกนอนกอดกันเหมือนเมื่อครั้งอยู่บ้าน เนื้อตัวของแม่ดูมีชีวิตชีวาแข็งแรงและอบอุ่นขึ้นมาทันตาเห็น สีหน้าแช่มชื่นมีความหวัง ดวงตาสุกใสเป็นประกาย
เฉลาพาแม่ไปส่งในวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น นอนค้างกับแม่หนึ่งคืนแล้วกลับมาทำงาน เธอเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายลงไปในงบประมาณประจำเดือนสำหรับการกลับบ้านมานอนกับแม่เดือนละหนึ่งครั้ง ในโอกาสนี้เธอยังได้ไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ใหญ่ผู้มีพระคุณด้วยตนเอง บางครั้งก็ได้ไปงานบุญงานบวชของญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด
แม่เองก็ได้กลับไปอยู่บ้านของแม่ ที่มีญาติพี่น้อง ต้นไม้ไร่นา ปลาในหนอง น้ำในห้วย และฟ้ากว้างที่ครอบทุ่งโล่งสวยงามสุดสายตา แม้ไม่มีพี่ฉลวย แม่ก็มีเฉลาที่จะมาหาแม่ทุกเดือนไม่ได้ขาด หน้านาแม่ก็ยังทำนาปลูกข้าวบนผืนดินเล็ก ๆ ของตัวเอง ยามเจ็บไข้ก็มีหลาน ๆ ญาติ ๆ ใกล้ชิดมาประคับประคองรอเวลาเฉลามาถึง
แม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่แม่คุ้นเคยอย่างมีความสุข แข็งแรง สดชื่น เต็มปรี่ไปด้วยพละกำลังและความหวังเหมือนที่เฉลาเคยเห็น ในวันใช้ชีวิตคู่ของเฉลาแม่บอกกับเธอว่าจะอยู่รอดูหลานคนโต และเมื่อได้หลานคนแรกเป็นผู้ชายแม่ก็ต่ออายุขัยของตัวเองออกไปอีกว่า จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้อุ้มพานแว่นฟ้าใส่ผ้าไตรส่งหลานยายเข้าโบสถ์ในงานบวช
........
เฉลาทอดสายตามองยายหน้าตึกร้างพร้อมกับภาวนาเอาใจช่วยทุกวัน
ที่นี่ไม่ใช่บ้านของยาย ไม่ใช่ที่ทางสำหรับยายเลยใช่ไหมจ๊ะ
ยายคงคิดถึงเถียงนากลางทุ่งกว้างที่มีลมโชยเฉื่อยฉิว มีเสียงกบเสียงอึ่งระงมร้องยามค่ำคืนที่ฝนพรำ คิดถึงกอไผ่ที่เสียดส่ายไหวโอนตามแรงลม คิดถึงหน่ออ่อนของต้นไม้ที่เสียดแทงขึ้นมาจากผืนดินหลังฝนตก คิดถึงรวงข้าวสีทองที่อ่อนค้อมรอเกี่ยว
ยายเป็นแม่ของใครกันนะ พายายกลับบ้านเถอะ
เมื่อวันที่ : 10 มิ.ย. 2551, 08.36 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...