![]() |
![]() |
เชิงดอย![]() |
ฝนห่าแรก เหมือนยาทิพย์ให้กับป่า จากป่าที่ใกล้ตายกับฟื้นขึ้นมาทันที ต้นไม้ที่สลัดใบเริ่มแทงตา แตกหน่อสีเขียวๆ ป่าคาที่โดนเผาตั้งแต่หลังหน้าเกี่ยวคาแทงหน่อเขียวๆ อวดกระต่ายป่าให้มาชิม นกเริ่มจับคู่สร้างรัง บ้างก็ออกลูกเล็กๆกำลังน่ารัก
ก่อนฝนห่าแรกจะลงผมจะหาซื้อถ่านแก๊ส ถ่านตรากบเก็บตุนๆไว้ คืนแรกที่ฝนลงก็จะพากันเดินไปตามสระมีน้ำขังอยู่ตามท้ายนา แบกหน้าไม้ไปด้วย จุดประสงค์หลักก็คืออึ่งอ่างหรือไม่ก็กบที่ได้น้ำแล้วมาร้องเพลงรอคู่อยู่ ยามสาดแสงไฟโดนตากบหรืออึ่งอ่าง ก็จะเห็นประกายสีแดง ถ้าเป็นอึ่งอ่างก็ตาเล็กๆ สะ้ท้อนแสงริบหรี่ไม่เป็นประกายมากนัก อึ่งอ่างจะชอบอยู่ตามแอ่งน้ำที่ใกล้ป่าไร่ แอ่งนึงอาจจะลอยคอร้องเพลงกันเป็นสิบๆตัว ส่วนกบชอบอยู่ตามสระหรือบ่อใกล้นา หรือไม่ก็กลางป่าโล่งๆหน่อย
อึ่งอ่างตัวเล็กกว่ากบหน่อย ตัวเมียไข่เต็มท้อง ตุ๊บหัวตัวละที แล้วล้างยางด้วยน้ำเกลือ แกงใส่ใบส้มป่อย กินได้ทั้งกระูดูก น้ำแกงเปรี้ยวๆ หน่อย กินกับน้ำพริกปลาแห้งหอมๆ อร่อยอย่าบอกใครเชียว ส่วนกบ ญาติผู้พี่ ควักไส้ โขลกขมิ้นตะไคร้ใส่เกลือ ทาถูๆ แล้วยัดไส้อีกที จับขึงพืดบนไม้ตะหีบ ย่างให้หอม อร่อยไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน ส่วนอึ่งอ่างถ้าเบื่อแกงก็ย่างเหมือนกบได้เหมือนกัน แต่กระดูกจะอ่อนกว่า เคี้ยวง่ายกว่า
รุ่งเช้า ผมกับน้าก็ได้ทีออกไปหาของอร่อยอีกอย่างจากท้องนาใกล้ๆบ้าน นาไร่ไหนที่น้ำขัง มีมะขี้อ้นอยู่กลางนาเยอะหน่อย คอยเดินสังเกตดูว่าต้นไหนมีไข่แมงดาเกาะติดอยู่มั่ง แล้วก็เอามือควานรอบต้น หรือไม่ก็ขยุ้มตรงต้น แม่แมงดาหรือไม่ก็พ่อมักจะอยู่ใกล้ๆไข่ให้เราได้จับเสมอ ถ้าไม่ขี้เกียจมากใช้แหหว่านครอบต้นมะขี้อ้นที่มีไข่อยู่ซะเลย แล้วทีนี้ละ แมงดาจะไปไหน ไข่แมงดาที่เกาะต้นอยู่ก็ทิ้งมันไว้อย่างนั้นแหละ ไม่งั้นเดี๋ยวปีหน้าไม่มีกิน
แมงดาที่จับได้มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย ตัวเมียจะโตกว่าตัวผู้หน่อย ตัวบางๆ ประมาณว่าคุณเธอคงจะรีดน้ำหนักมากไปหน่อย แต่ตัวผู้จะตัวเรียวๆ ท้องป่อง ลงพุงเล็กน้อยพองาม แต่ก็ไม่เสมอไปว่าตัวเล็กๆอ้วนๆจะเป็นตัวผู้ทั้งหมด มีหลายตำราเหลือเกินที่เค้าว่ากันไว้ บางคนก็บอกว่าตัวผู้ปีกมันขวาทับซ้าย ส่วนตัวเมียปีกซ้ายทับขวา สมัยผมเด็กๆ ผู้ใหญ่บอกว่าอยากให้รู้แน่ๆ ก็ต้องดมใต้ท้องมัน ถ้าเป็นตัวผู้จะมีกลิ่น ตัวเมียไม่มีกลิ่น ด้วยความซื่อ ผมจับขึ้นมาแล้วหงายท้องจ่อจมูกทันที...เท่านั้นก็จบ ผมนี่แหละที่จบ พวกเอาขาเกี่ยวจมูกผมแล้วก็ต่อยป้าบ.... น้ำตาเล็ด ใครบอกว่าแมงดาต่อยไม่เจ็บ ลองดมมันดูสิ แล้วจะรู้เองแหละว่าตัวผู้หรือตัวเมีย..
นอกจากพวกตัวเล็กตัวน้อย ตัวจ้อยที่หาได้ตามท้องนาแล้ว หลังฝนอย่างนี้ยังหาเก็บผักจากป่าได้อีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นผักสาบ ผักสลิดหรือดอกขจร ผักหวานป่า ดอกก้าน ผักพ่อค้า
ดอกก้านน่าจะอยู่ตระกูลเดียวกับบุก หัวอยู่ในดิน หน้าแล้งก็ยุบลง เหลือแต่หัวในดิน พอฝนตกก็แทงก้านออกมาเป็นดอก ดอกคล้ายดอกหน้าวัวแต่ก้านมีสีเขียวหรือเขียวลายพรางขนาดก็ประมาณนิ้วก้อยหรือถ้างามๆหน่อยก็นิ้วชี้ ดอกมีสีเขียว หัวฝังอยู่ในดิน เวลาเก็บมากินก็เก็บดอกอ่อนๆ ที่แทงยอดขึ้นมาแล้วยังไม่บาน หรือบานแล้วแต่ก้านยังไม่แข็ง ส่วนคู่ซี้ของดอกก้านก็คือผักพ่อค้า(ตีเมีย) แถวบ้านผมเรียกว่าผักงอดแงด หลังฝนหนักๆ ห่าแรกซักอาทิตย์นึง ผักพ่อค้าก็จะแทงยอดสีเขียวๆก้านแดงๆ ต้นเล็กเท่าไม้จิ้มฟัน เก็บแต่ก้านอ่อนๆ ที่ยังไม่ทันคลี่ใบแบ่งเป็นกำ ผูกด้วยตอกเส้นเล็กแกงใส่ดอกก้าน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า เพิ่มโปรตีนด้วยปลาแห้งซักนิดก็อร่อยได้แบบลูกป่า ผักงอดแงดได้ชื่อมาจากเวลาเคี้ยวจะมีเสียงงอดแงดๆ เพราะมันอุดมด้วยไฟเบอร์ แกงยังไงก็ไม่นุ่ม ผิดกับดอกก้าน แกงนานก็เละ แกงแป๊บเดียวก็คันปาก แต่พอเอามาแกงด้วยกันแล้วมันเข้ากันเหมือนหยินกะหยาง อ่อนซ่อนแข็ง แหม..ใครกันนะคิดเอามาแกงรวมกันได้ลงตัวดีจริงๆ
ของกินอย่างสุดท้ายก็คือเห็ดถอบหรือที่แถวๆกรุงเทพเค้าเรียกกันว่าเห็ดเผาะมั้ง เห็ดถอบลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ ขนาดตั้งแต่นิ้วก้อยจนถึงนิ้วโป้ง ถ้าอยู่ใต้ดินจะสีขาวขุ่นๆ ถ้าโผล่พ้นดินถูกลมก็จะสีดำเหมือนเม็ดยาลูกกลอน เห็ดถอบแถวบ้านผมชอบขึ้นอยู่ตามป่าแพะ อย่าพึ่งงงนะครับ ป่าแพะก็คือป่าเต็งรังหรือแถวอีสานเรียกป่าโคก เป็นป่าที่อยู่บนดินลูกรัง หรือดินทรายมีธาตุอาหารน้อย มีธาตุเหล็กเยอะสังเกตได้จากมักเป็นดินสีแดงๆ ต้นไม้ก็ที่ขึ้นก็พวกต้นเหือง ต้นตึง ไม้เปา ไม้แงะ (ไม้เต็ง ไม้รัง)ไม่ค่อยมีต้นใหญ่ๆให้เห็น นอกจากนั้นแต่ละต้นยังดูหงิกๆงอๆพิกล ยังไงถ้าเพื่อนๆคุณเค้าจะไปแพะเมืองผีก็อย่าเผลอบอกให้เค้าจับมาให้ดูซักตัวก็แล้วกัน ไก่หายเกลี้ยงหมดเล้าเลยนะนั่น
เห็ดถอบชอบขึ้นตามรากต้นไม้ หรือไม่ก็ข้างไม้ผุๆ เวลาหาก็ต้องใช้ไม้เขี่ยๆ แคะๆ ไปเรื่อย นั่งยองๆ แคะ เขี่ยไปเรื่อยๆ ถ้าเจอเม็ดนึงก็มีอีกหลายเม็ดอยู่รอบๆ แต่ผมขี้เกียจไปหน่อย ส่วนมากก็ด้อมๆมองๆ หาตามรากไม้ มองหาพวกที่โผล่พ้นดินนั่นแหละ เจอเมื่อไหร่ก็นั่งแคะ แคะหมดเมื่อไหร่ก็เดินด้อมๆมองๆต่อ
หลังจากหาเห็ดถอบมาทั้งวันแล้ว ด้อมๆมองๆหาเห็ดถอบไปก็หมายตารูแย้ไปด้วย เจอรูก็จำไว้ว่าเจอตรงไหนบ้าง บ่ายสี่โมงก่อนกลับบ้านก็แวะกลับมาช็อปปิ้งแย้ไปย่างกินแกล้มแกงเห็ดถอบใส่ใบมะเม่า แหม! แย้ย่างหอมๆ เค็มๆ มันๆ แกงเห็ดถอบใส่ใบมะเม่ารสชาติเปรี้ยวๆนิดๆ พับเผื่่อยเหอะมันเหมือนมันเกิดมาคู่ักันจริงๆ
นอกจากแกงใส่ใบมะเ่ม่า ก็ยังเอามานึ่ง หรือต้มใส่ใบส่มป่อยหน่อยตักเกลือโยนใส่ซักช้อนให้ออกเค็มปะแล่่มๆ กินกับน้ำพริกแมงดาก็เข้ากั๊น เข้ากัน
นอกจากพวกผักแล้วก็ยังมีพวกหน่ออีกอย่าง เรียกว่าหน่อไม้ฮุนไฟ ผมชอบเรียกว่าหน่อไม้พ่นไฟ เป็นหน่อไม้หรือเรียกว่าตาไผ่ก็ได้ หลังจากกอไผ่ไร่ถูกเผาช่วงหน้าแล้ง พอโดนฝนก็แตกตาเขียวอี๋ เวลาเก็บก็หักเอาจากกอ หน่อฮุนไฟพวกนี้ดิบๆจะขมปี๋ แต่พอสับแล้วแกงใส่ผักเจ้านาง(ย่านาง) รสชาติน้ำแกงจะออกหวานอมขื่นนิดๆ ตักน้ำปูคนๆซะหน่อยให้น้ำแกงข้นๆ อุ๊ยลำขนาด ถ้าจะให้ครบเครื่องก้ต้องหาผักหนาม ใบมะตูมกินแกล้ม ได้กบหรืออึ่งหรือแย้ย่างกินแกล้มอีกอย่างละเอาไก่ผู้พันเซนเดอร์มาแลกก็ไม่ยอม
ชีวิตบ้านป่าที่อยู่กับป่าอย่างพึ่งพาอาศัย ต่างพึ่งพาอาศัยกัน มีกิน มีใช้ อยู่อย่างพอเพียง แต่ไม่ใช่ตามมีตามเกิด กับข้าวข้างรั้ว ข้างบ้าน จนถึงป่าหลังบ้านมีเหลือเฟือ ได้นกได้หนูก็แกงใส่ผัก เบื่อนกเบื่อหนูก็เอาไปแลกกับผักบ้านข้างๆ แบ่งกันใช้ แบ่งกันกิน แกงเยอะก็ใส่ถ้วยกาไก่แบ่งส่งข้ามรั้วไปให้บ้านข้างๆ พรุ่งนี้มะรืนนี้ก็มีแกงอะไรซักอย่างส่งคืนมาให้เหมือนเดิม
สงกรานต์ที่ผ่านมาผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความเปลี่ยนแปลงที่ดูน่ากลัวว่าซักวันนึงความเป็นคนเมืองจะเปลี่ยนไป กระแสวัฒนธรรมเงินตราที่เชี่ยวกรากกลืนกินทุกอย่าง เหลือไว้ก็เพียงซากเศษของความสวยงามของวิถีชีวิตดั้งเดิม บ่าวน้อยไม่เคยเดินเก็บผักหวาน ไม่เคยหาเห็ดถอบ ไม่เคยแบกปืนเข้าป่า มีแต่กำเงินเข้ากาด....
แลกเปลี่ยนไม้ให้กลายเป็นเงินแบ็งค์ แลกตั้งแต่ไม้ท่อน ไม้แป้น จนถึงปีกไม้ ไปยันตอไม้ ถึงรากไม้ .... ลูกหลานเอ๋ย... หมดตอไม้แล้วมึงจะขายอะไร?
เมื่อวันที่ : 11 พ.ค. 2550, 16.37 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...