นิตยสารรายสะดวก  Articles  ๐๔ มกราคม ๒๕๕๐
แรงบันดาลใจจากถนนจระเข้
ลุงเปี๊ยก
...นี่​​คืองานเขียนสิบนาที ​​ที่มีแรงบันดาลใจจากการ​​ได้อ่าน
หนังสือแปลชื่อ ถนนจระเข้ (The Street of Crocodiles)
อัน​​เป็นงานเขียนของบรูโน ชูลซ์ วรรณกรรมเซอร์เรียลิสม์
​​ที่ผมเพิ่งหยิบมาอ่าน​​เป็นรอบ​​ที่สามสิบ...
ก็อกน้ำเก่าคร่ำฉีดเส้นด้ายของสายน้ำเย็นเจี๊ยบออกมาสองเส้น ปากอุโมงค์คว่ำ ๆ​ ของมันถูกคราบเหลืองของหินปูนเกาะหุ้มจนแทบ​จะปิดทางน้ำไหล น้ำประปาหมู่บ้านจึงพุ่งออกมา​ได้เพียงแหวกออกจากซอกฟัน

​เขายืนตัวซีดอยู่​ภายใต้เงาของหลังคาห้องน้ำกลางแดดใกล้เ​ที่ยง มัน​เป็นวัน​ที่อากาศหนาว​ที่สุดส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แสงสว่างแลบเลียเข้ามาจากซอกประตูไม้ชื้น ๆ​ ​ที่งับ​ได้ไม่สนิท แถบสีขาวแคบ ๆ​ ยาว ๆ​ จึงทาบบนเงาร่างของมนุษย์เปลือย​ที่​กำลังมองสายน้ำเล็ก ๆ​ อย่างต่อรอง

ด้วยสัมผัสของฝ่าเท้าเปล่าเหยียบ​ความเย็นของพื้นซีเมนต์เปียก ​เขากลั้นใจตักน้ำเต็มขันราดตัวเร็ว ๆ​ บ่อสี่เหลี่ยม​ที่กินน้ำหน้าหนาว​เอาไว้จนพุงกางอย่างนี้ ไม่ต่างจากกระติกน้ำแข็ง​ที่เพิ่งละลาย เตรียมใจล่วงหน้าว่า​ต้องเย็นกรีดผิว ถึงกระนั้น​ยังรู้สึกชัดว่าท่อนแขนถูกหนามของขุมขนแทงออกมาจนกลาย​เป็นผิวส้มโอ

อย่างรวดเร็ว​เขาตักน้ำอีกขันราดเส้นผม​ที่ไม่​ได้สระมาหลายวัน วันพิเศษแบบนี้​ต้องเอี่ยมอ่อง ​แม้​จะหนาวจนอยาก​จะกอดกองไฟก็ตาม ​และจากนั้น​การพันตู​ระหว่าง​ความหนาวเยือก​กับภาระในการชำระร่างกายก็ปะทะกันตามวิถีของมัน ลงเอยด้วยกลิ่นสะอาดของสบู่​และแชมพูสระผม ​และการ​ที่คน ๆ​ หนึ่ง​​จะเกิดอาการสั่นสะท้านเหมือนหมา​ที่วิ่ง​ไปสบัดขนหลังถูกจับ​ไปอาบน้ำ...​

---​---​

คลิกดูภาพขยาย
ข้างบนนี้​คืองานเขียนสิบนาที(​ที่จริงเกิน) ​ที่มีแรงบันดาลใจจากการ​ได้อ่านหนังสือแปลชื่อ ถนนจระเข้ (The Street of Crocodiles) อัน​เป็นงานเขียนของบรูโน ชูลซ์ วรรณกรรมเซอร์เรียลิสม์​ที่ผมเพิ่งหยิบมาอ่าน​เป็นรอบ​ที่สามสิบ ​ต้องสารภาพก่อนว่า ผมยังอ่านไม่จบ​แม้​จะ​เป็นเพียงพ็อกเก็ตบุ๊คหนาแค่ ๒๐๕ หน้า ​และ​แม้​จะหยิบมาอ่านหลายสิบหนแล้ว​ก็เถอะ

การเขียนเลียนแบบวิธีเขียนบรรยายแบบเหนือจริง ​เป็นอะไร​​ที่สนุก​และท้าทายมาก ๆ​ ครับ​ ​แต่ด้วย​ความ​ที่ประสบการณ์น้อยนัก จึงเขียนออกมา​ได้แค่ไม่กี่ย่อหน้าในครั้งแรก ​แต่ก็อยาก​จะ​เอามาโพสต์ให้​เพื่อน ๆ​ ​ได้อ่าน​และอยาก​จะกระตุ้นให้พวกเราลองเขียนอะไร​​ที่แปลกออก​ไปดูสักหน่อย​ ถือว่า​เป็นการเขียนแบบทดลองดูก็แล้ว​กัน *: p

ผมซื้อหนังสือแปลเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือหลายปีก่อน ครั้งแรก​ที่หยิบมาอ่านยอมรับตามตรงว่า "อ่านไม่รู้เรื่อง​" ​และถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้เรื่อง​ราวว่ามันยังไงกันแน่ ​แต่ทุกครั้ง​ที่พยายามอ่าน ผม​จะ​ต้องเกิด​ความทึ่งในวิธีการเล่าเรื่อง​ของผู้เขียนทุกครั้ง ​และ​ความทึ่งนี้แหละ​ ทำให้อยาก​จะลองเขียนเลียนแบบดูสักตั้ง

​โดย​ส่วนตัว​แม้​จะ​ได้อ่านงานเขียนแนวเหนือจริงมาบ้าง ​และ​ส่วนใหญ่มัก​จะ​เป็นการบรรยายสิ่ง​ที่​เป็นนามธรรมให้เห็นภาพซ้อนทับกันในจินตนาการของผู้​แต่งมากกว่า อย่างเช่นการบรรยายนิมิตขณะบรรลุธรรมของเฮอร์มานน์ เฮสเสในเรื่อง​สิทธารถะ หรือ​แม้​แต่ผลงานโหด ๆ​ อ่านยากเช่นสเต็ปเปนวูฟ ​ที่มีการบรรยายแนวเหนือจริงแทบตลอดเล่ม ​แต่งานของบรูโน ชูลซ์แตกต่างออก​ไปมาก

งานของบรูโน ชูลซ์ เรื่อง​นี้บรรยายภาพสิ่ง​ที่เราเห็น​ได้อยู่​แล้ว​ออกมา​เป็นแบบ​ที่เราไม่เคยคิด หรือมองเห็นแบบนั้น​มาก่อน ​และผู้อ่าน​จะ​ต้องพยักหน้ายอมรับตามภาพ​ที่​เขาวาดออกมาด้วยตัวอักษรนั้น​​ได้(หลังจากอ่านทวนสักหลายรอบ) ​และภาพ​ที่เห็นจากการอ่านนั้น​ ก็มัก​จะติดตากว่าภาพสามัญทั่ว​ไปซะอีก

​เอา​เป็นว่า​จะขอลอกบทแรกมาให้อ่าน​เป็นตัวอย่างสักเล็กน้อยดีกว่า ​เพื่อให้ท่าน​ได้สัมผัสสิ่ง​ที่ทำให้ผมทึ่งจน​ต้องมานั่งเคาะแป้นคีย์บอร์ดอยู่​นี่ ดังนี้

=====

---​ ในเดือนกรกฏาพ่อออก​ไปท่องเขตน่านน้ำ ปล่อยให้ผม​กับแม่​และพี่ชาย ​เป็นเหยื่อวันพร่าพรายด้วยแสงสีขาวแสบตาของฤดูร้อน เราชุบตัวลงในหนังสือมหึมาแห่งวันหยุดเล่มนั้น​ แผ่นหน้าของมัน​เป็นเปลวไหม้ด้วยแสงอาทิตย์ ​และออกกลิ่นละลายหวาน ๆ​ ของเปลือกลูกแพร์สีทอง

---​ ยามเช้า​สว่างจ้าเหล่านั้น​ อาเดลากลับจากตลาดเหมือน*โพโมนา(*เทพธิดาแห่งพืชผลไม้ในศรัทธาของชาวโรมัน)โผล่ออกมาจากเปลวเพลิงแห่งวัน ล้นจากตะกร้าของหล่อนด้วย​ความสวยหลากสีของดวงตะวัน เชอร์รี่สีชมพูสดวาวฉ่ำน้ำใต้ผิวใสโปร่งแสง มอเรลลอสสีดำลึกลับ​ที่ให้กลิ่นหอมมากกว่ารสชาติของมันมาก อาพริค็อท​ซึ่งเปลือกสีทองของมันวางไว้ด้วยแก่นของยามบ่ายอันยาวนาน

---​ ถัดจากบทกวีบริสุทธิ์แห่งผลไม้นั้น​ หล่อนยกออกมา - เนื้อ​กับแป้นคีย์บอร์ดของชายโครงอวบอิ่มด้วยพลังงาน​และ​ความแข็งแรง - สาหร่ายอันอุดมแห่งท้องทะเลอย่างปลาหมึกกระดอง ปลาหมึกกล้วย วัตถุดิบของมื้ออาหาร​ซึ่งรสยังไม่กำหนด ​ส่วนประกอบพืชพันธุ์​และแผ่นดินของมื้ออาหาร โชยกลิ่นดิบ ๆ​ บ้านนอก ๆ​ ออกมา

---​ ชั้นสองมืด ๆ​ ของอาคารบ้านในจตุรัสตลาด ถูกแทงเข้ามาใน​แต่ละวันด้วย​ความร้อนเปลือย ๆ​ ของฤดูร้อน ​ความเงียบแห่งระยิบของไออากาศ ตารางสี่เหลี่ยมของ​ความจ้า ​กำลังฝัน​ความฝันอันเขม็งของมันลงบนพื้น เสียงออร์แกนท่อแผดขึ้น​จากเส้นเลือดสีทอง​ที่ลึก​ที่สุดของวัน สองหรือสามห้องเสียงของท่อนประสาน เล่นอยู่​​กับเปียโนไกล ๆ​ ซ้ำแล้ว​ซ้ำเล่า ละลายลงในแดดบนทางเท้าสีขาว หาย​ไปในไฟของอาทิตย์ยามเ​ที่ยง

---​ หลังจัดเก็บเรียบร้อย​ อาเดลา​จะผลักห้องนั้น​เข้า​ไปในแสงกึ่งสลัวด้วยการปล่อยมู่ลี่ลินินลง สี​ทั้งหมดจางลงทันทีหนึ่ง​ระดับสี ห้องถูกใส่เข้ามาด้วยบรรดาเงา เหมือนจมลงสู่ก้นลึกของท้องทะเล แล้ว​แสงนั้น​ถูกสะท้อนออกมาจากกระจกเงาของน้ำสีเขียว ๆ​ ​ความร้อนของวันเริ่มหายใจขึ้น​บนมู่ลี่ ขณะพวกมันขยับเบา ๆ​ ในฝันกลางวันของมัน

---​ ในบ่ายวันเสาร์ผมเคยออก​ไปเดิน​กับแม่ จากแสงสลัว ๆ​ ในโถงทางเดินเราก้าวเข้า​ไปทันทีใน​ความจ้าของวัน เหล่าผู้สัญจรหรี่นัยน์ตา​กับแสงจัดจ้า อาบร่างอยู่​ในสีทองละลายราว​กับอาบโชคด้วยน้ำผึ้ง ริมฝีปากบนเริ่ดร่นเห็นฟัน ทุกคนในวันสีทองนี้ล้วนใส่ใบหน้าย่นเยินของ​ความร้อนนั้น​ ราว​กับ​พระอาทิตย์บังคับให้ผู้บูชาของตน​ต้องสวมหน้ากากเหมือน ๆ​ กันด้วยสีทองนั้น​ คนแก่​และคนหนุ่ม ผู้หญิง​และเด็ก ๆ​ ทักทายกัน​และกันด้วยหน้ากาก​ที่เขียนขึ้น​บนใบหน้าของพวก​เขาด้วยสีทองข้น ๆ​ พวก​เขายิ้มให้ใบหน้าไร้ศาสนาของกัน​และกัน ยิ้มอันดิบเถื่อนแห่งบัคคุส * (เทพแห่งไวน์​และการปลูกองุ่น) ...​..

---​ เด็กมอมแมมโขยงหนึ่ง​ หลบไม้กวาดแห่งเปลวร้อนอยู่​ในมุมของจตุรัส ...​

---​ แม่​กับผมก้าวย่าง​ไปตามสองฝั่งจ้าแสงแดดของจตุรัสตลาด มันนำทางเงาแตก ๆ​ ของเรา​ไปยังเหล่าบ้าน เหมือนก้าว​ไปบนแป้นคีย์บอร์ด ใต้ย่างก้าวเบา ๆ​ ของเรา บนทางเท้าหินแผ่นสี่เหลี่ยมเรียงผ่านกัน​ไปช้า ๆ​ บ้าง​เป็นสีชมพูซีด ๆ​ เหมือนผิวมนุษย์ บ้าง​เป็นสีทอง ​และบ้าง​เป็นสีเทาน้ำเงิน ​ทั้งหมดแบน ร้อนอุ่น ​และออกกำมะหยี่ ๆ​ อยู่​กลางแดด เหมือนเส้นเงานาฬิกาแสงอาทิตย์ ​ที่เลื่อน​ไปสู่จุดของตำแหน่งโคจรเข้า​ไปใน​ความไม่มีอะไร​​ที่แสนดี ...​

---​ หลังผ่านบ้านเรือน​ต่อมาอีกไม่กี่หลัง ถนนก็หยุดรักษา​ความเสแสร้ง​เป็นเขตเมือง เหมือนคนผู้เดินทางกลับหมู่บ้านเล็ก ๆ​ ของตน ​ซึ่งถอดชุด​ที่ดี​ที่สุดสำหรับวันอาทิตย์ทีละชิ้น ทีละชิ้น ค่อย ๆ​ เปลี่ยนกลับ​ไปสู่การ​เป็นชาวนาขณะใกล้ถึงบ้านของ​เขาเข้า​ไปเรื่อย ๆ​

---​ บ้านแบบชานเมืองค่อย ๆ​ จมหน้าต่าง​ทั้งหมดลง​เป็นดงดอกอันยุ่งเหยิง​และมากมาย​ของการบานในเหล่าสวนเล็ก ๆ​ ของมัน มองอยู่​ด้วยแสงแห่งวัน วัชพืช​กับดอกไม้ป่าทุกชนิดละลานกันอยู่​เงียบ ๆ​ ดีใจ​กับช่วงคั่นสำหรับ​ความฝัน​ที่พ้นเลย​​ไปจากช่วงเหลื่อมของกาลเวลาบนเขตแดนของวันอันไร้​ที่สิ้นสุด

---​ ทานตะวันมหึมาดอกหนึ่ง​ ยกอยู่​ด้วยลำต้นทรงพลัง​และ​กำลังล้าด้วยน้ำหนัก ห่มห่ออยู่​ในชุดไว้ทุกข์สีเหลือง งอพับอยู่​ใต้การรั้งอันน่ากลัวในเหล่าวันแสนเศร้าสุดท้ายของชีวิต ​แต่เหล่าดอกระฆังไร้เดียงสา​กับดอกสร้อยสายไร้จริตต่างยืนต้นอย่างอดไม่​ได้ด้วยดอกสีชมพูสวยใส​และขาวพราว พวกมันไม่​ได้สนใจ​กับเรื่อง​รันทดของทานตะวัน

====

บรูโน ชูลซ์ (Bruno Schulz) ค.ศ. ๑๘๙๒ - ๑๙๔๒ ​เป็นชาวโปแลนด์ ทำงาน​เป็นครูสอนวิชาวาดเขียนในโรงเรียนมัธยม ​เขาทำงานเขียนภาพ​และเขียนเรื่อง​​โดยแทบไม่มีการติดต่อ​กับโลกภายนอก ถูกยิงตายในบ้านเกิด​โดยหน่วยเอสเอสของพวกนาซี งานวรรณกรรม​ส่วนใหญ่ของ​เขาหายสาปสูญ​ไป​พร้อมผู้เก็บรักษาต้นฉบับ​ ในช่วงสงครามโลกครั้ง​ที่สอง

"ถนนจระเข้" เล่มนี้​เป็นงานเรื่อง​สั้นชุด ๑๓ เรื่อง​ ​แต่ละเรื่อง​มี​ความต่อ​เนื่องกัน ​ต้องขอบคุณผู้แปล​คือ ดลสิทธิ์ บางคมบาง ​ที่เลือกหยิบงานยอดเยี่ยม​ที่แปลยากมาก(​และน่า​จะขายยาก)ชิ้นนี้มาทำ ​และลงทุนจัดพิมพ์ออกมาให้คนไทย​ได้โชคดีอ่าน นับว่า​เป็นการอุทิศแรงกายแรงใจต่อวรรณกรรมแปลควรต่อการสรรเสริญอย่างยิ่ง

 

F a c t   C a r d
Article ID A-2143 Article's Rate 5 votes
ชื่อเรื่อง แรงบันดาลใจจากถนนจระเข้
ผู้แต่ง ลุงเปี๊ยก
ตีพิมพ์เมื่อ ๐๔ มกราคม ๒๕๕๐
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มุมแนะนำหนังสือ
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๑๒๓๒ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๑๕ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๒๕
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : Rotjana Geneva [C-10353 ], [83.181.112.76]
เมื่อวันที่ : 04 ม.ค. 2550, 01.58 น.

ตามมาอ่าน​เพื่อ​เอาสินบน ๑๐ บาท​จ้า ห้า ห้า ห้า...​.

เยี่ยมมากเลย​ค่ะ​ ลุงเปี๊ยก รจนาเพิ่งอ่านตำรานักเขียน​ที่​เขาสอนให้รู้จักเขียนแหวกแนว เขียนให้ต่าง​ไปจากเดิม ๆ​ เสียบ้าง...​.ก็​ได้เรื่อง​เลย​...​ลุงเปี๊ยกแหวกกรีดผ่านเคเบิ้ลใยแล้ว​​และดาราเทียมมาก่อน​ใคร​เพื่อนเลย​

สำนวนแบบนี้จับใจดี ทำให้ไม่ลืม ​และช่วยให้จินตนาการเติบโตเพริศพริ้ง​ไปด้วย...​คนแปลก็เก่งจริง ๆ​ คนถ่ายทอดก็เข้าใจเลือกสรรมาให้อ่านกัน

รจนาอ่านเข้าใจเยอะ​เพราะ​เป็นสภาพชีวิตแบบยุโรป นึกถึงสีสันของผลไม้ต่าง ๆ​ ออก นึกถึงสีสันของฤดูกาลตาม​ได้ ​และนึกภาพกิจกรรมต่าง ๆ​ พอเข้าใจ...​.​แต่วิธีเขียนแบบนี้คง​ต้องฝึกอีกนานกว่า​จะ​ได้เรื่อง​...​.

ขอบคุณสำหรับการแนะนำหนังสือดี ๆ​ ค่ะ​

รจนา(แก้ว)หน้าม้าลำดับ​ที่ ๑

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : Rotjana Geneva [C-10354 ], [83.181.112.76]
เมื่อวันที่ : 04 ม.ค. 2550, 02.03 น.

อ้อ ลืมบอกว่า ไตเติ้ล ๔ ย่อหน้าแรกมีเสน่ห์มากค่ะ​ เหมือน​กับลุงเปี๊ยก​จะจับทางวิธีการเขียนแบบนี้​ได้อย่างดี แล้ว​ผสม​กับ​ความนุ่มเย็นละเมียดแบบของลุงเปี๊ยกเอง (​เป็นตัวของตัวเอง) สะท้อนชีวิตแบบชนบท​กับฤดูกาล...​.พวกเราหลายคน​ที่เคยอาบน้ำตอนหน้าหนาวก็คงนึกออกว่า ​ความรู้สึก​เป็นอย่างไร ​แต่​จะนึก​ได้ละเมียดขนาดนี้ ยังไม่แน่ใจค่ะ​

มอบ ให้นะคะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : ลุงเปี๊ยก [C-10359 ], [203.146.63.187]
เมื่อวันที่ : 04 ม.ค. 2550, 07.21 น.

แฮ่ม ๆ​ ขอบคุณคุณรจฯ ​ที่ยอมเข้ามาอ่านตาม​ที่ผมเสนอสินบน​เอาไว้ คิก ๆ​

ผมพบจากการทดลองเขียนว่า งานเขียน​ที่ดูละเมียด หรือภาพวาด​ที่งามลออนั้น​ ถูกสร้างขึ้น​มาจากการเขียน หรือวาดแบบธรรมดา ๆ​ นี่เองครับ​ สี่ย่อหน้าแรก​ที่เขียนออกมานั้น​ ถูกเขียนขึ้น​มาอย่างลวก ๆ​ เร็ว ๆ​ ก่อน แล้ว​ค่อยถูกนำมา​แต่งเติมสีสันให้เจิดจ้าในขั้นตอนของการอ่านทวน ​และคราวนี้ผมออก​จะตั้งใจ"ใส่"ลง​ไปเยอะ ๆ​ เท่านั้น​

ฉะนั้น​ ​ที่คุณรจฯ เอ่ยออกมาว่า -- ​..​​แต่วิธีเขียนแบบนี้คง​​ต้องฝึกอีกนานกว่า​​จะ​​ได้เรื่อง​​.. -- นั้น​จึง​เป็นการคาดเดาล่วงหน้า​ที่ออก​จะสบประมาทตัวเองไม่น้อย ผมเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์เขียนมาหลายปีของคุณรจฯ หาก​จะลองเขียนออกมาจริง ๆ​ ย่อมทำ​ได้ ​และน่า​จะ​ได้ชนิดดีซะอีก

ผมเจตนาฝึกฝนตนด้วยการเลียนแบบงานของนักเขียน​ที่ชื่นชอบ ​ซึ่ง​เป็นหนทางหนึ่ง​​ที่เชื่อว่าน่า​จะเหลา​ความทื่อของตัวเองออก​ไป​ได้ ​แต่ก็มิ​ได้คิด​แม้​แต่น้อยว่า ​จะ​เป็นหนทาง​ที่ถูก​ต้อง มัน​เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง​ครับ​

ยังคงเชื่อใน​ความ​เป็นตัวของตัวเอง อย่าง​ที่คุณรจฯเขียนไว้ในบทบรรณาธิการล่าสุด​ที่ชื่อ ก็ใจมันอยาก​จะเขียน ​เพราะนั่น​คือปลายทางสุดของผู้สร้างสรรงานทุกชนิดนะแหละ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : add [C-10366 ], [203.188.6.91]
เมื่อวันที่ : 04 ม.ค. 2550, 13.51 น.

คุณเปี๊ยกเก่ง​ที่บรรยายออกมา​ได้ดี การเขียนแบบนี้ดิฉัน​ต้องขอยอมแพ้ อย่าว่า​แต่เขียนเลย​ ขนาดอ่านยัง​ต้องแปลอีกด้วย

​แต่​ที่เฮอร์มาน เฮสเส เขียนเรื่อง​สิทธารถะ ​ต้องยอมรับว่าเยี่ยมยอด ยังนึกแปลกใจว่าคนตะวันตก​แต่​สามารถเข้าถึงปรัชญาตะวันออก​ได้ลึกซึ้ง ช่างน่าทึ่งจริงๆ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๕ : pilgrim [C-10370 ], [158.125.1.113]
เมื่อวันที่ : 04 ม.ค. 2550, 18.34 น.

พิลมองว่าการเขียนแบบนี้ มันก็เหมือน​เป็นการเล่น​กับคำน่ะแหละ​ค่ะ​ ​จะเน้น​ที่การบรรยาย ​โดย​ใช้ภาษาให้ฉวัดเฉวียนหรือสละสลวย หรืออาจ​จะแรง ก็คงแล้ว​​แต่เนื้อหา​และ​ความตั้งใจ​ที่ผู้เขียนตั้งใจ​จะสื่อ
การบรรยายของชูลต์สม​กับ​ที่​เขา​เป็นจิตรกรด้วย จึงนำแสงสี เหลี่ยมมุม ​และเงาเข้ามาถ่ายทอด

แล้ว​เรื่อง​ถนนจระเข้นี้ ​เป็นเรื่อง​ของอะไร​คะ​

ลุงเปี๊ยกเก่ง​และมี​ความพยายามมากค่ะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๖ : ลุงเปี๊ยก [C-10380 ], [203.146.63.187]
เมื่อวันที่ : 05 ม.ค. 2550, 10.41 น.

ขอบคุณคุณแอ๊ด พิลกริม ​ที่มาแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยว​กับการเขียนด้วยกัน (​โดยมิ​ได้ติดสินบนซ๊าก.. บาท​ คิก ๆ​) ไม่อยากให้ชมว่าเก่งเลย​อะ ​ถ้า​ได้คำติมาก ๆ​ ​จะดีใจยิ่งขึ้น​​ไปอีก

คุย​กับคุณแอ๊ดก่อน ​เพราะเรื่อง​ของเฮสเส ​เป็นอะไร​​ที่ชอบมาก ๆ​ อัน​ที่จริงผมเริ่มอ่านหนังสือประเภท เสนอแนวคิดทางจิตวิญญาน หรือตามต่อ​ไปอ่านปรัชญาตะวันตก ก็​เพราะบังเอิญ​ได้อ่านเรื่อง​ของเฮสเส ​เป็นเล่มแรก ๆ​ ในชีวิต

เล่มแรกนั้น​​คือ อาร์ซีสซัส​กับโกมุนด์ เฮสเสเสนอวิถีชีวิตสองด้านตรงข้าม ผ่านตัวละคร​ทั้งสอง​ที่​เป็น​เพื่อนรักกันตั้งแต่เด็ก คนหนึ่ง​ใฝ่ทางธรรม ดำรงชีวิต​เป็นนักบวช จนเติบโต​เป็นเจ้าอาวาส​ที่มีผู้เคารพนับถือทั่ว​ไป ​เป็นตัวแทนของผู้ดำเนินตามขนบธรรมเนียม ​แต่ก็​เป็นนักคิด ​ที่​ใช้หลักเหตุผลเดินตามทาง​พระเจ้า ​ส่วนอีกคน​คือโกมุนด์ ​จะดำเนินชีวิต​ไปตามเสียงเรียกภายใน ตาม​แต่สถานการณ์​และอารมณ์กิเลสต่าง ๆ​ ​และมี​ความ​เป็นศิลปิน มีเสน่ห์ ​และพัวพัน​กับ​ความมืดดำทางโลกย์

เสน่ห์ของงานเขียนเฮสเส ​จะอยู่​​ที่ไม่ตัดสินว่าสิ่งใดผิด ​เขา​จะเว้น​ที่ว่างให้ผู้อ่าน​ได้คิดต่อเอง ​เพราะไม่ว่าวิถีชีวิตแบบใดล้วนมีรายละเอียด ​และ​ความต่างอันมีเหตุผลภายใน​ที่ลึกซึ้ง ล้วน​เป็นบทเรียน หรือหนทาง​ที่ส่องชี้ให้ชีวิตนั้น​ ๆ​ ​ได้ค้นพบอะไร​บางอย่าง​ซึ่ง​สามารถเปลี่ยนชีวิตคนให้ เติบโตทางจิตวิญญาน​ได้เหมือนกัน หากคน ๆ​ นั้น​มองเห็น​และประจักษ์ตัวตนเองมาแล้ว​

งานเขียนของเฮสเส จึงมีคุณค่ามากในแง่อาหารบำรุงจิตวิญญาน ผมแปลกใจเหมือนคุณแอ๊ด​ที่เฮสเส เข้าใจแก่นของชีวิตตามแนวคิดตะวันออกอย่างเรา ๆ​ ​ได้ลึกซึ้ง ​แม้​จะเกิดมาท่ามกลางระบบคิด​ที่ต่างออก​ไปสุดขั้ว

​แต่งานชิ้นสุดท้าย ​คือเล่ม​ที่​ได้รางวัลโนเบล "เกมลูกแก้ว" ต่างจากสิทธารถะครับ​ เหมือน​กับว่าแนวคิดของเฮสเส คิดเลย​ออก​ไปอีกทาง ​เพราะยังคง​ใช้ระนาบเหตุผลปกติมา​ใคร่ครวญต่อยอด กลาย​เป็นมองเห็นสถาบันหรือแหล่งรวมปัญญาชน รวมตัว​เป็นกลุ่มชนชั้นนำ เหมือนเกาะแห่งปัญญา​ที่ซ่อนตัวอยู่​บนมหาสมุทรของชาวโลก

​ซึ่งต่าง​กับเส้นทางพุทธะ ​ที่​จะละเลิกการคิด​ใคร่ครวญในระนาบของสมอง ​เมื่อผ่านเข้าสู่ระดับอภิปรัชญา ​พระพุทธเจ้าเสนอการเฝ้าดูภายใน ด้วยจิตอันสว่างด้วยสมาธิ ​และให้​แต่ละคน​ได้ประจักษ์รู้ด้วยตนเอง ใน​แต่ละขั้นตอนของพัฒนาการทางวิญญานว่า ​ได้เห็นตรงตาม​ที่​พระองค์พบมาก่อนหรือไม่ ​ซึ่งสิ่งนั้น​​คือ​คือ​ความ​เป็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่ง ​เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้าย ​คือการปล่อยวาง ละจากสิ่ง​ที่​เป็นกิเลส ​ซึ่งหุ้มห่อจิตใจให้เศร้าหมองให้เบาบาง ​และหมด​ไป

แฮ่ ๆ​ ...​ ผมเลย​​ไปกันใหญ่ กลับมาคุย​กับพิลกริมดีก่า *: )

ในประเด็น​ที่พิลกริมเอ่ยว่างานเขียนของชูลซ์​เป็นการเล่น​กับคำ ผมคล้อยตามเล็กน้อย ​เพราะ​สามารถมองเช่นนั้น​​ได้จริง ๆ​ (​ถ้าดูจากสี่ย่อหน้าแรก​ที่ผม​เป็นคนเขียนเอง) ​เพราะผมนำคำกริยา หรือคำวิเศษณ์บางคำในต้นร่างสิบนาที มาขยายให้ใหญ่ขึ้น​ เติมสีสัน ​และ​ความเปรียบ​เพื่อให้เกิดภาพอันจดจำ​ได้

​แต่งานเขียนของบรูโน ชูลซ์​จะไม่ใช่การเล่นคำแน่ ๆ​ ครับ​ หากเรามองว่า วรรณกรรม ​คือ หนึ่ง​ในห้าแขนงของศิลปะ ศิลปะ​แต่ละแขนง​จะมีหนทางในการเสนอด้วยเครื่องมือ​ที่ต่างกัน งานจิตรกรรมมีภู่กัน มีสี ​และแสงเงา ​ที่​สามารถวาดลงบนแผ่นพื้นให้เห็นด้วยตา​ได้ตรง ๆ​ ​แต่ไม่​สามารถบรรยายใต้รูป​เป็นตัวอักษร ​เพื่อบอก​ความคิดของจิตรกรออก​ไป​ได้อย่างวรรณกรรม

ขณะ​ที่วรรณกรรม ก็ไม่​สามารถ​ใช้ภู่กัน​และสี วาดลงบนแผ่นกระดาษ​ได้ มีก็เพียงตัวอักษร​ที่​จะถ่ายทอดภาพ​และ​ความคิดออกมา (เว้น​แต่งานศิลปะแบบผสมผสาน ​ที่​จะไม่​เอามาถกกันในตอนนี้) ดังนั้น​การบรรยาย​ความคิดอัน​เป็นนามธรรม ด้วยการ​ใช้​ความเปรียบ​กับสิ่งของ หรือลักษณะอาการของสิ่งของ​เป็นสัญลักษณ์ทดแทน จึง​เป็นสิ่งจำ​เป็น ​เพื่อสร้างภาพประทับ หรือสร้างการสื่อ​ความ​ที่ชัดเจนขึ้น​

งานของชูลซ์ มีเอกลักษณ์ตรง​ที่​ใช้​ความเปรียบ​กับสิ่ง​ที่​เป็นรูปธรรมปกติอยู่​แล้ว​ ด้วยภาพของสิ่ง​ที่เกินจริงออก​ไป ​และ​ใช้​ความเปรียบแบบนี้ทั่ว​ไปแทบ​จะทุกประโยค จึงทำให้อ่านค่อนข้างยาก ​เพราะ​ต้องนำประโยคมาตี​ความก่อนอย่าง​ที่คุณแอ๊ดว่าไว้ข้างต้น แถมยังมีลักษณะของประโยคซ้อนประโยคตลอดเวลาเสียด้วย (ตรงนี้ออก​จะผิดกฏของการเขียน​ที่สอน ๆ​ กันทั่ว​ไปในตำราว่า ควรหลีกเลี่ยงการ​ใช้ประโยคซ้อน​เพราะผู้อ่าน​จะสับสน​ได้)

ต่อคำถามของพิลกริมว่า -- เรื่อง​ถนนจระเข้นี้ ​เป็นเรื่อง​ของอะไร​คะ​-- บอกตามตรงว่าผมเองก็ยังไม่รู้ ​แม้​จะอ่าน​ไปแล้ว​ค่อนเล่ม (ยังอ่านไม่จบเลย​ครับ​ แฮ่ ๆ​) ผมมองว่าหนังสือเล่มนี้​เป็นอะไร​​ที่แตกต่างครับ​ คล้าย ๆ​ ​กับการปีน​เขา ​ที่ปลายทาง​คือยอด​เขา อาจ​จะไม่​ได้มีอะไร​มากนัก ​แต่​ระหว่างทาง​ที่ปีนป่ายสูงขึ้น​​ไปทีละน้อยนั้น​ บรูโน ชูลซ์​ได้ประดับเส้นทาง ด้วยอะไร​​ซึ่ง​สามารถซึมซับ​และประทับอยู่​ในจิตใจคนอ่าน​ได้มากมาย​ ​และอะไร​​ที่ว่านั้น​ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า มัน​คืออะไร​?

​แต่ก็เถอะ มันอาจ​จะ​เป็น​ความไม่มีอะไร​​ที่แสนดีก็​ได้ *: )

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๗ : Rotjana Geneva [C-10451 ], [83.180.93.228]
เมื่อวันที่ : 09 ม.ค. 2550, 19.15 น.

เข้ามาแจมอีกแล้ว​อ้ะ ​โดยไม่​ได้รับสินบนสิบบาท​นะเนี่ย

รจนา​เป็นคนถนัดหาจุด​ที่​จะชม มากกว่าหาจุด​ที่​จะติค่ะ​...​.​แม้ว่า​จะมิใช่ว่า มองไม่เห็นจุดอ่อน...​เลย​ไม่ค่อย​จะวิจารณ์หนัก ๆ​ เท่าไร...​นาน ๆ​ ก็มีทีนึง...​.มิ​ได้ว่า​จะละเลย​หรือ​ต้องการยกยอกันจนลืมทำหน้า​ที่บรรณาธิการ​ที่ดี...​.​เนื่องจากงานเขียนบางแบบ เห็นแล้ว​ว่า ไม่มีอะไร​​ต้องให้ติมาก คนเขียนตั้งใจจริง ๆ​ ​ความหลงลืมเล็ก ๆ​ น้อย ๆ​เกิดขึ้น​​ได้ ​ความสะเพร่าสะกดผิด​เป็นของธรรมดา ​ซึ่ง​จะพัฒนาลดน้อยลงตามชั่วโมงบิน...​.บ่อยครั้ง เจ้าของงาน​เป็นผู้​ที่วิจารณ์ตัวเอง​ได้อยู่​แล้ว​...​ก็​จะปล่อย​ไปตามนั้น​...​ บางทีคนเราก็เติบโตด้วยตัวเอง​ได้ดีกว่ามีคน​ไปคอยช่วยพยุง...​.อาจ​จะชี้เส้นทางให้​ได้นิดหน่อย​...​.

​ส่วนเรื่อง​งานเขียนของ ชูลซ์ นั้น​ แปลกจริง ๆ​ ​ที่รจนาอ่านรู้เรื่อง​ค่ะ​ ​แต่ละท่อน​ที่ลุงเปี๊ยกยกมา...​รจนานึก​เป็นภาพวาดค่ะ​...​.เกิด​ความรู้สึกว่า​ ชูลซ์​กำลังถ่ายทอดภาพวาดลงมา​เป็นคำพูด...​.

เช่น...​..ท่อน​ที่บอกว่า "​แม้​แต่---​ บ้านแบบชานเมืองค่อย ๆ​ จมหน้าต่าง​ทั้งหมดลง​เป็นดงดอกอันยุ่งเหยิง​และมากมาย​ของการบานในเหล่าสวนเล็ก ๆ​ ของมัน มองอยู่​ด้วยแสงแห่งวัน วัชพืช​กับดอกไม้ป่าทุกชนิดละลานกันอยู่​เงียบ ๆ​ ดีใจ​กับช่วงคั่นสำหรับ​ความฝัน​ที่พ้นเลย​​ไปจากช่วงเหลื่อมของกาลเวลาบนเขตแดนของวันอันไร้​ที่สิ้นสุด"

รจนามองเห็น ภาพวาดบ้านชนบทในฤดูร้อน​ที่มวลดอกไม้เบ่งบานเต็มสวนรอบบ้าน ​และกรอบหน้าต่าง-ประตู​ทั้งหลาย เลย​​ไปถึงดอกไม้ในทุ่งข้างบ้านด้วย...​คำว่า "วันอันไร้​ที่สิ้นสุด" นั้น​ เปรียบ​ได้​กับวันในฤดูร้อน​ที่ยาวนานมาก แดดออกก็ตั้งแต่ตีห้ากว่า ๆ​ ​และกว่า​จะมืดก็สี่ทุ่ม...​..นึก​ได้เลย​ว่าในภาพวาด(ด้วยถ้อยคำ)นี้​จะ​ต้องมีแสงแดดออกสีทองอร่ามจับ​ต้องหลังคาบ้าน​และทุ่งดอกไม้...​..

สิ่งเหล่านี้​จะนึก​ได้ยากมาก หากไม่เคย​ใช้ชีวิตในยุโรป หรือเมืองหนาว​ที่มีการผันเปลี่ยนของฤดูกาลอย่างชัดเจน...​..

ด้วยเหตุนี้ก็​ได้ พออ่านสิ่ง​ที่ลุงเปี๊ยกเขียนเอง หรือชูลซ์เขียน...​ก็เหมือน​กับมองภาพเขียน มีอารมณ์คล้อยตามก็จริง ​แต่ไม่จำ​เป็น​ต้องสรุป​เป็นสาระว่า​ใคร-ทำอะไร​-​ที่ไหน...​.เหมือนแค่มอง​เพื่อเห็นเท่านั้น​เอง...​.นี่แหละ​ค่ะ​ อาจ​จะฟังดู​เป็นคนคิดตื้น ๆ​ สักหน่อย​นะคะ​...​.

​ส่วนเรื่อง​สไตล์การเขียน ​ที่บอกว่าอีกนานกว่า​จะเขียน​ได้แบบนี้ ​เพราะว่า รจนาไม่ค่อย​จะ​เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ก็เลย​ไม่คิดว่า​จะเขียน​ได้ดีแบบนั้น​...​.​แต่เขียนให้ดีแบบอื่น(ของตัวเอง)คง​จะ​ได้...​​จะสังเกตว่า รจนาไม่เขียนงานแบบโรแมนติก...​.​แม้ว่า​จะ​เป็นคนโรแมนติกหน่อย​ ๆ​ (คาดว่าก็​เป็นกันทุกคนนิ)...​.

​จะว่า​ไปก็​คือ ชื่นชอบภาพเขียน ตี​ความ​ได้นิดหน่อย​ ​แต่ให้วาดเองก็วาดไม่​ได้เหมือน​เขาค่ะ​...​.

ลุงเปี๊ยกอ่าน "ถนนจรเข้" ใกล้จบหรือยังคะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๘ : ดาวเคียงเดือน [C-10513 ], [203.113.17.131]
เมื่อวันที่ : 13 ม.ค. 2550, 13.54 น.

แวะมาเยี่ยมชมงานเขียนของลุงเปี๊ยกค่ะ​

เห็นด้วย​กับ​ที่คุณรจนาเขียนนะคะ​

ดาวเคีนงเดือนลองอ่านเรื่อง​ถนนจรเข้แล้ว​ยังคิดภาพตามไม่ค่อยออกค่ะ​ หรือ​ถ้าคิดภาพออก ก็​เป็นช่วงขณะหนึ่ง​ค่ะ​ (ประสบการณ์น้อยค่ะ​) ​แต่​เป็นสำนวน​ที่แปลกมาก

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๙ : jasminek-กัลปจันทรา [C-12443 ], [65.73.216.145]
เมื่อวันที่ : 28 ส.ค. 2550, 21.35 น.

สวัสดีค่ะ​

อยากเรียนว่าดิฉันมีหนังสือเล่มนี้ มี​เพื่อน​ที่​เป็น ยิวอเมริกันให้นานมาแล้ว​(​เขาภูมิใจ​ที่นักเขียนคนนี้​เป็นยิวโปแลนด์ ​แต่ก็ยิวเหมือนกัน) ไม่เคยอ่าน​ได้จบ เห็นคุณเขียนถึงนึกอยากเห็น​ที่แปล​เป็นไทย คนแปล​ต้อง​เป็นคนเข้าใจภาษา​ที่เขียนมากๆ​นะคะ​ อย่าง​ที่คุณว่า​เขาเขียนแปลก บรรยายแปลกๆ​ดี ​ที่อ่านไม่จบ​เพราะเรื่อง​นั้น​...​ตาม​ความเห็นของดิฉัน...​ไม่​ได้ติ ​แต่​เป็นคำวิจารณ์​คือ เดินเนื้อเรื่อง​ไม่ทำให้สนใจพอ...​​ที่​จะอ่านต่อให้จบ ​แต่ยังมีหนังสืออยู่​ คงอ่านจบสักวันแหละ​ค่ะ​ ​ที่จริงนักเขียนสำนวนอย่างนี้ทำให้นึกถึง รงค์ วงศ์สวรรค์นะคะ​

ด้วย​ความปรารถนาดี

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๐ : ลุงเปี๊ยก [C-12457 ], [202.91.19.192]
เมื่อวันที่ : 30 ส.ค. 2550, 06.39 น.

แฮ่ ๆ​ คุณกัลปจันทราครับ​.. หนังสือเล่มนี้คงมีไว้​เพื่อเก็บกระมัง สารภาพ(อีกครั้ง)ว่ายังอ่านไม่จบครับ​ ​แม้​จะผ่าน​ไปอีกหลายร้อยว้น นับจากวัน​ที่เขียนบท​ความชิ้นนี้

​ถ้า​เอามาเฉลี่ย​เป็นหน้า ๆ​ "ถนนจระเข้" เล่มนี้ ​ใช้เวลาอ่านหน้าละหลายวันครับ​

ขอบคุณ​ที่แวะมาอ่านคร๊าบบบ

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๑ : anan [C-12536 ], [124.121.138.108]
เมื่อวันที่ : 06 ก.ย. 2550, 16.26 น.

เรียก​ได้ว่าผมชอบ ถนนจระเข้​ที่สุด เท่า​ที่อ่านวรรณกรรมมาเลย​

ผมว่า​จะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้หลายครั้งแล้ว​ ​เพราะแวดวงวรรณกรรมไทยยังกล่าวถึง
งานเล่มนี้อยู่​น้อยกว่าคุณค่า​ที่มันควร​ได้รับ

​พอดีค้นกูเกิ้ล ​เพื่อหาหนังสือเล่มนี้อยู่​ก็เลย​มาเจอเว็บนี้เข้า จึง-แนะนำตัวเลย​ว่า
ชื่อสุขพงศ์ครับ​ www.ananbrogrevo.com

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๒ : ลุงเปี๊ยก [C-12545 ], [202.91.18.206]
เมื่อวันที่ : 07 ก.ย. 2550, 13.36 น.

คุณสุขพงศ์ ยินดี​ที่​ได้รู้จักครับ​ ผมแวะ​ไปเว็บ www.ananbrogrevo.com ตะกี้เผื่อว่า​จะ​ได้รู้จักกันมากขึ้น​ บังเอิญว่าเข้าไม่​ได้ ไม่รู้ว่าเขียนชื่อโดเมนผิดหรือเปล่า?

อย่างไรก็ดี ยินดี​ที่​ได้เฉียดใกล้บนเวิ้งไซเบอร์ครับ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๓ : anan [C-12613 ], [124.121.139.35]
เมื่อวันที่ : 13 ก.ย. 2550, 12.04 น.

ใช่ เขียนผิดจริงๆ​ครับ​ http://anan.blogrevo.com/ ไม่มี www. นี่!

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๔ : anan [C-13346 ], [124.121.138.48]
เมื่อวันที่ : 06 ธ.ค. 2550, 15.16 น.

สวัสดีครับ​คุณลุงเปี๊ยก-ขออณุญาตเรียกเช่นนี้ด้วยคน ขอบคุณ​ที่อังหน้า​ไปหน้าต่างบานของผมครับ​ ในเรื่อง​ถนนจระเข้นั้น​ ตาม​ความเห็นผมคิดว่ามัน​เป็นอะไร​​ที่มากกว่าการบรรยายให้เห็นภาพครับ​, สาระมันอยู่​ตรง​ที่ว่าภาพนั้น​​ที่เราเห็นมี​ความ​เป็นอัตวิสัยของมนุษย์อย่างชูลส์ด้วย-ดวงตา​ที่​สามารถเจาะเข้าสู่ก่อนการปรากฏของภาพนั้น​ ข้อเขียนของ​เขาในแง่​ที่บรรยายภาพนั้น​​เป็น​ความพยายาม​ที่​จะทำให้รูปสติกลมกลืน​กับสิ่งแวดล้อม​ที่สัมผัสให้มาก​ที่สุด นักเขียนคนนี้สัมผัสสรรพสิ่งด้วยภาษาไม่ใช่ผัสสะ

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๑๕ : กานต์ติ [C-15543 ], [125.26.43.174]
เมื่อวันที่ : 19 มี.ค. 2552, 10.04 น.

งานเขียนสิบนาทีของลุงเปี๊ยก นับรวม ...​...​...​. (จุดประๆ​ๆ​) ​ได้สิบบรรทัด ค่ะ​

กานต์ติ​จะรออ่านบรรทัด​ที่ 11 เขียนแล้ว​บอกด้วย

see you บรรทัด​ที่ 11 ^_^

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น