นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
..." ​​เนื่องจากขาดข้อมูลบางอย่างในการเขียน จึง​​ได้หยิบยกบรรยากาศของบ้านพักคนชราในหนังสือเรื่อง​​ เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ มาไว้ในบางตอนของเรื่อง​​ ​​ทั้งนี้ มิ​​ได้เ...
" ​เนื่องจากขาดข้อมูลบางอย่างในการเขียน จึง​ได้หยิบยกบรรยากาศของบ้านพักคนชราในหนังสือเรื่อง​ เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ มาไว้ในบางตอนของเรื่อง​ ​ทั้งนี้ มิ​ได้​เป็นการลอกเลียนด้วย​ความมักง่าย ​แต่ตั้งใจหยิบยกมาไว้ด้วย​ความเคารพ ​และนับถือ...​(ผู้เขียน) "

ยายอิ่ม​เป็นคนผอม ผม​ที่หงอกขาว​ทั้งหัวถูกเกล้ามวยไว้ตลอด​ทั้งวัน แกยังเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง ​แม้​จะไม่ถึง​กับก้าวเดินฉับๆ​ ​แต่ก็ไม่จำ​เป็น​ต้อง​ใช้ไม้เท้าช่วยเดินหรือนั่งรถเข็นเหมือนอย่างคนในวัยปลายเจ็ดสิบแบบแกอีกหลายคน ​และหาก​จะนับว่าจำนวนฟัน​ที่เหลืออยู่​เพียงไม่กี่ซี่รวม​ทั้งหลัง​ที่โก่งงุ้ม​เพราะกรำงานหนักมาเกือบ​ทั้งชีวิต​เป็นอาการปกติของคนในวัยนี้แล้ว​ ยายอิ่มก็ไม่เคยเจ็บไข้​ได้ป่วยจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อเลย​สักครั้งเดียว

บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงหลังคามุงสังกะสีเก่าจนขึ้น​สนิมแดงของยายอิ่ม อยู่​ลึกเข้า​ไปเกือบท้ายหมู่บ้านท่ามกลางต้นมะพร้าว ​และดงกล้วยน้ำว้า​ที่ผัวคู่ทุกข์คู่ยากของแกปลูกไว้​เป็นแนวรอบท้องร่องในสวนเล็กๆ​เนื้อ​ที่ไม่กี่แปลงหลังบ้านก่อน​ที่​จะตายจาก​ไป​เมื่อสิบกว่าปี​ที่แล้ว​ มาถึงตอนนี้มรดกรอบท้องร่องเหล่านี้เอง​ที่ยายอิ่ม​ได้นำมา​ใช้ทำข้าวต้มมัดส่งให้แม่ค้าเจ้าประจำ​ที่มาซื้อถึงบ้านทุกเช้า​ ​ซึ่งข้าวต้มมัด​ที่ยายอิ่มทำนั้น​ข้นมันถึงกะทิ ​และ​ใช้กล้วยน้ำว้า​ที่สุกหวานคาต้น ข้าวต้มมัดของแกจึงอร่อย ​เป็น​ที่ถูกใจของคน​ที่​ได้ลองชิม

เช้า​มืดของทุกวัน แสงจากหลอดไฟหกสิบแรงเทียน​ซึ่ง​เป็นเครื่อง​ใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว​ที่มี​ใช้ในบ้าน​จะถูกเปิด ​เป็นสัญญาณบอกว่าวันใหม่ขอบยายอิ่ม​ได้เริ่มต้นขึ้น​แล้ว​
ตีสาม​เป็นเวลานอนหลับอยู่​บนเตียงอย่างมี​ความสุขของหลายคน ​แต่สำหรับยายอิ่มแล้ว​เวลานี้แก​จะเริ่มต้นวันด้วยการตื่นขึ้น​มาเก็บ​ที่นอนหมอนมุ้ง แล้ว​หลังจากยืนบิดเนื้อบิดตัวไล่​ความ​เมื่อยขบอัน​เป็นผลจากการจากการนอนในคืน​ที่ผ่านมาอยู่​สักครู่ จึง​จะลงมา​ที่ตุ่มน้ำหลายใบ​ซึ่งวางเรียงรายไว้รองน้ำฝนใต้ชายคา วักน้ำขึ้น​ลูบหน้า บ้วนปาก ​เพื่อเรียก​ความสดชื่น แล้ว​จึงหยิบตะกร้า​ที่แขวนไว้ใต้ถุนคล้องแขนตรงมา​ที่ลานดินหน้าบ้าน ​เพื่อยกหม้อดินใบเขื่อง​ที่​ใช้ต้มข้าวต้มมัดจนสุกหอม​ได้​ที่ในคืน​ที่ผ่านมาลงจากเตา
ไม้ฟืนท่อนใหญ่​ที่ยังคงกรุ่นด้วยเชื้อไฟช่วยให้ข้าวต้มมัด​ที่​จะนำ​ไปขายในทุกเช้า​ยังคงระอุอุ่น หอมกรุ่นไม่แข็งเย็นชืดจนไม่น่ากิน

ทุกครั้งยายอิ่ม​จะทำข้าวต้มมัดไว้มากกว่าจำนวน​ที่แม่ค้าสั่งอยู่​สาม หรือสี่ ลูกเตรียมไว้​เป็นประจำ ​และก่อน​ที่ข้าวต้มมัดจำนวนสี่สิบลูก​จะถูกเรียงลงในตะกร้า​เพื่อรอเปลี่ยน​เป็นเงินแปดสิบบาท​หลังจาก​ที่แม่ค้ามารับ​ไป ยายอิ่ม​จะเก็บข้าวต้มมัด​ที่เตรียมไว้นั้น​สำหรับใส่บาตร​พระ​ที่บิณบาตรผ่านหน้าบ้านของแก​เป็นประจำทุกเช้า​

จากนั้น​ยายอิ่มก็​จะขึ้น​​ไปบนบ้านอีกครั้ง​เพื่อก่อไฟในเตาถ่าน​ที่วางไว้นอกชาน​ซึ่งแบ่งมุมหนึ่ง​ไว้สำหรับทำ​เป็นครัวเล็กๆ​ ตั้งหม้ออลูมิเนียมใบน้อย​ที่ก้นหม้อกลาย​เป็นสีดำ​เพราะรมเขม่าจากควันฟืนมานานปี​เพื่อหุงข้าว
จากนั้น​จึงผลัดผ้า กระโจมอกลงจากบ้านมา​ที่ตุ่มน้ำอีกครั้ง คราวนี้ยายอิ่ม​จะอาบน้ำ ล้างหน้า ​ใช้นิ้วถูเหงือก​และฟัน​ที่เหลือไม่กี่ซี่ด้วยเกลืออย่างหมดจด บ้วนปากจนสะอาด แล้ว​เปลี่ยนชุดใหม่​เป็นผ้าถุง​กับเสื้อแขนกระบอกสีขาวเก่าซีด​แต่ยังสะอาด​ที่มีอยู่​เพียงตัวเดียว​ซึ่งตัดไว้สำหรับใส่​ไปงานบุญ​โดยเฉพาะ​เมื่อนานมาแล้ว​

หลังจากยกหม้อข้าวลง ยายอิ่ม​จะตั้งกะทะแบ่งปลาสลิดตากแห้งสองสามตัวออกจากถุง​ที่แขวนไว้​กับตะขอเหล็กกลางบ้าน​เพื่อเตรียมไว้สำหรับใส่บาตร​และ​เป็น​กับข้าวมื้อเช้า​ของตัวแกเองด้วย ​โดยข้าวสวย​ที่คดจากหม้อก้นกระดำกระด่าง ปลาสลิดทอด ​และข้าวต้มมัดสาม สี่ลูก​เป็นของ​ที่ยายอิ่มเตรียมไว้สำหรับใส่บาตร​เป็นประจำทุกเช้า​
หลังจาก​ที่​พระบิณฑบาตรผ่าน​ไปแล้ว​ยายอิ่ม​จะกลับมาผลัดผ้าเปลี่ยน​เป็นชุดผ้าถุงเสื้อคอกระเช้า​สีหม่นแทน จากนั้น​จึง​จะลงมือกินข้าวมื้อเช้า​
...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​.
เรื่อง​​ที่เกิดขึ้น​ตอนเช้า​ยังคงค้างคาใจอยู่​ ทำให้ยายช้อยกินอาหารกลางวันมื้อนี้ไม่ลง

"เงินมัน​จะหาย​ไปเอง​ได้ยังไง​ถ้าไม่มี​ใครมันมาคว้า​เอา​ไป แก่หัวหงอก ​จะตายวันนี้พรุ่งนี้กันอยู่​แล้ว​ยัง​จะมาขี้ขโมยสร้างบาปสร้างกรรมอีก ไม่กลัวตกนรกกันรึไง"
ยิ่งคิดยายช้อยก็พาล​จะน้ำตาไหลออกมา

"เงินชั้นก็มีเหลือเท่านั้น​ แล้ว​พรุ่งนี้เช้า​ชั้น​จะ​เอาเงิน​ที่ไหนซื้อของใส่บาตรอีกกันเล่า"

ยายช้อยนั่งนึกถึงเงินทอนแปดสิบห้าบาท​​ที่รับมาหลังจาก​ที่ซื้อข้าวสวย แกงเผ็ดลูกชิ้นปลา ​และขนมตะโก้กะทิอย่างละหนึ่ง​ถุง จาก​แม้ค้า​ที่หิ้วตะกร้าขายของสารพัดอย่างตั้งแต่นมกล่องจนถึงแกงถุงมาขาย​เพื่อให้คนแก่ในบ้านพักคนชรา​ได้ซื้อ​เอาไว้ใส่บาตรในตอนเช้า​
"บ่นอะไร​อยู่​คนเดียวล่ะยาย ทำไมไม่กินข้าว รีบกินเข้าสิ ประเดี๋ยวคนงานก็​จะมาเก็บถาด​ไปล้างแล้ว​นะ" พยาบาลประจำเรือนพักถามยายช้อย​เมื่อเดินผ่านมาเห็นอาหารในถาดหลุมพร่องลง​ไปเพียงเล็กน้อย

"อีชั้นค้นดูจนทั่วแล้ว​นะ ในตู้ ใต้หมอน ใต้เตียง กระเป๋าเสื้อใน ไม่มีเลย​ซัก​ที่ ​ต้องมีคนมาขโมย​ไปตอนอีชั้นเข้าห้องน้ำแน่ๆ​"ยายช้อยรายงานทันที​ที่เงยหน้าเห็นพยาบาลร่างท้วมประจำเรือนพัก

เรือนพักประจำบ้านพักคนชราหลังนี้มีสมาชิกอยู่​สิบสองคน ล้วน​แต่​เป็นหญิงชราอายุเกินแปดสิบปีขึ้น​​ไปแล้ว​​ทั้งสิ้น บ่อยครั้ง​ที่หญิงชราเหล่านี้ทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่อง​ไม่​เป็นเรื่อง​เหมือนเด็กๆ​ รวม​ทั้งเรื่อง​เงินแปดสิบห้าบาท​​ที่หาย​ไปของยายช้อยในเช้า​วันนี้ด้วย

"มันหาย​ไปแล้ว​ก็ช่างมันเถอะนะยาย เดี๋ยวลูกชายยายมาเยี่ยมคราวหน้า ​เขาก็ให้เงินยาย​เอาไว้ทำบุญอีกนั่นแหละ​ ทีนี้ก็เก็บไว้ให้ดีๆ​ก็แล้ว​กัน ตอนนี้ยายกินข้าวก่อนเถอะ"

​เมื่อนึกถึงเรื่อง​​ที่ยายช้อยโวยวายเรื่อง​เงิน​ที่วางไว้บนตู้ข้างหัวเตียงของแกหาย​ไปในเช้า​วันนี้ขึ้น​มา​ได้ เธอก็พูดปลอบใจ​เพื่อให้แกสบายใจขึ้น​ ​แต่ยายช้อยกลับรู้สึกลำคอตีบตัน​เมื่อนึกถึงลูกชายคนสุดท้องของแก

"อ้อ พรุ่งนี้​จะมีเจ้าภาพมาเลี้ยงอาหารกลางวัน ​แต่งตัวสวยๆ​รอไว้นะยาย"เตือนยายช้อยเรื่อง​อาหารกลางวัน​ที่มีคนแจ้ง​ความประสงค์ขอรับ​เป็นเจ้าภาพในวันพรุ่งนี้แล้ว​พยาบาลร่างท้วมก็เดินจาก​ไป​เพื่อทำงาน​ที่ยังรอเธออยู่​อีกหลายอย่างในช่วงบ่าย

พยาบาลเดินจาก​ไปแล้ว​ เงินแปดสิบห้าบาท​​ที่หาย​ไปในตอนเช้า​ยังทำให้แกคิดเสียดายจนกินข้าวไม่ลง

พักใหญ่คนงานมาเก็บถาด​ไปล้าง ​เขายืนมองข้าวสวย ไข่เจียวหมูสับ รวม​ทั้งต้มมะระยัดไส้​ที่พร่องลง​ไปเพียงอย่างละเล็กน้อยรวม​ทั้งส้มหนึ่ง​ผล​ที่ยังไม่​ได้ปอกเปลือกในถาดหลุม​โดยไม่พูดอะไร​
ครู่หนึ่ง​จึงหยิบส้มผลนั้น​วางไว้​ที่ตู้ข้างหัวเตียงตรง​ที่เงินแปดสิบห้าบาท​​ที่ยายช้อยมั่นใจว่ามีคนขโมย​ไปในตอนเช้า​ แล้ว​จึงเดินเก็บถาดอาหารจากเตียงอื่นๆ​​ไปล้าง

"พรุ่งนี้เช้า​ชั้น​จะ​เอาเงิน​ที่ไหนซื้อของใส่บาตรอีกเล่า เงินก็มีเหลือเท่านั้น​แล้ว​"

คนงานเดินห่างออก​ไป ยายช้อยยังคิดถึงเรื่อง​​ที่เกิดขึ้น​ในตอนเช้า​แล้ว​บ่นพึมพำอยู่​คนเดียว ​โดยไม่​ได้ฉุกคิดเลย​ว่าเงินแปดสิบห้าบาท​ของแกนั้น​ไม่​ได้หาย​ไปไหน เพียง​แต่มันถูกรัดด้วยยางวงเก็บไว้​เป็นอย่างดี​ที่มุมหนึ่ง​ของผ้าปูเตียง​โดยฝีมือของแกเอง
...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​
เตียงผู้ป่วยวางอยู่​กลางห้อง​โดยครึ่งบนถูกปรับชันขึ้น​เล็กน้อยให้ชายแก่ผู้​เป็นเจ้าของ​ได้นอนเอนหลังเปลี่ยนอริยาบท​เพื่อป้องกันแผลกดทับ​ที่อาจเกิดขึ้น​ ราวกั้น​ทั้งสองฟากถูกยกขึ้น​จนสุด​ทั้งๆ​​ที่​เป็น​ไปไม่​ได้เลย​​ที่ชายแก​ซึ่ง​เป็นอัมพาต​ทั้งตัวจากอาการเส้นเลือดฝอยในสมองแตก​เมื่อหลายปีก่อนผู้นี้​จะพลิกตัวจนพลัดตกลงจากเตียง

สายยาง​ที่สอดผ่านรู้จมูกมีคราบจางๆ​ของอาหารเหลว ถุงปัสสาวะใบใหม่แขวนไว้ใต้เตียง ผ้าปู​ที่นอนสีขาว ​และเสื้อผ้าชุดใหม่เปลี่ยนเรียบร้อย​ ชายแก่ถูกเช็ดตัวทาแป้ง​เป็นอย่างดี เหมือนทุกวัน​ที่แม่บ้านผู้ดูแล​จะทำงาน​ได้อย่างครบถ้วนก่อน​ที่​จะกลับ​ไปในตอนเย็น ​แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีกลิ่นฉุนของปัสสาวะ ​และกลิ่นอับจาก​ความชื้น ลอยกระจายอยู่​จางๆ​

ครูจันทร์เ​ที่ยงเดินผ่านประตูเข้ามาพูดทักทาย​กับชายแก่ผู้​เป็นสามี​ที่นอนอยู่​บนเตียงครู่หนึ่ง​ แล้ว​จึงเลย​​ไปนั่ง​ที่โต๊ะทำงาน​ซึ่งตั้งอยู่​ในห้องเดียวกัน ค่อยๆ​ล้วงเอกสารปึกย่อม​ซึ่งนำกลับมาจากโรงเรียนออกจากถุงกระดาษวางลงบนโต๊ะ ​โดยมีแมวสีเทา​ที่เลี้ยงไว้ ตามมาคลอเคลียอยู่​ตรงข้อเท้า

ด้วยวัย​ที่ครบเกษียนในปีนี้ ทำให้​ความ​ความกระฉับกระเฉง​ที่เคยมี​เมื่อครั้ง​ที่เข้ามาบรรจุ​เป็นครูสอนภาษาไทย​ที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดแห่งนี้ในปีแรกๆ​ ถูกแทน​ที่ด้วย​ความเหน็ดเหนื่อยชืดชาเหมือนเครื่องยนต์เก่าๆ​​ที่กลไกหลายชิ้นสึกกร่อนอยู่​ภายใน

แกจมอยู่​​กับงาน ​และชีวิต ​ที่ซ้ำซากจำเจนี้มาแล้ว​นานหลายต่อหลายปี นานจนไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าตัวเอง​ได้รับ​เอามันเข้ามา​เป็น​ส่วนหนึ่ง​ของชีวิตตั้งแต่​เมื่อไหร่

...​เสียงโทรศัพท์บนโต๊ะดังขึ้น​ท่ามกลาง​ความจำเจ ซ้ำซาก...​ครูจันทร์เ​ที่ยงแปลกใจเล็กน้อย​กับเสียงโทรศัพท์​ที่ดังขึ้น​​เพราะมีไม่กี่คนนัก​ที่รู้จักเลขหมายนี้

กลไก​ที่สึกกร่อนของเครื่องยนต์เก่าๆ​ เหมือน​ได้รับการเปลี่ยนซ่อมหลังจาก​ที่รับสาย

"สวัสดีครับ​แม่ นี่ผมเอกเองนะ"...​...​...​...​...​
"แม่ไม่​ต้องห่วงครับ​ ผมสบายดี แล้ว​แม่ล่ะ​เป็นยังไงบ้าง" ...​...​...​...​..
"เพ็ญก็สบายดี เจ้าตัวเล็กก็​กำลัง​จะเข้าโรงเรียนปีหน้าแล้ว​ล่ะครับ​" ...​...​...​...​
"งานมันยุ่งน่ะครับ​เลย​ไม่ค่อย​ได้โทร​ไปหา แล้ว​แม่​กับพ่อล่ะครับ​​เป็นยังไงบ้าง"...​...​...​..
"เหรอครับ​ อ๋อ ไม่​ต้องหรอกครับ​ ผมคุย​กับแม่ดีกว่า"...​...​...​...​...​.
"ช่วงนี้ยังขึ้น​​ไปเยี่ยมไม่​ได้หรอกแม่ บริษัท​กำลังปรับแผนงานปลีกตัว​ไปไหนไม่​ได้เลย​"...​.
"สงกรานต์นี้ก็คงไม่​ได้แม่ ​ต้องรอให้เคลียร์งานให้เสร็จก่อน"...​...​...​...​...​...​...​...​...​..
"แม่ไฟเขียวมาแล้ว​แค่นี้ก่อนนะครับ​ ​ถ้าว่าง​จะขึ้น​​ไปเยี่ยมครับ​ ครับ​​จะโทรหาบ่อยๆ​ครับ​ แค่นี้นะแม่ สวัสดีครับ​"...​...​...​...​...​...​..

...​.โทรศัพท์วางสาย​ไปนานแล้ว​​แต่ภาพในอดีตจากปลายสายยังคงหยอกล้ออยู่​ใน​ความทรงจำ

จากทารกตัวน้อยๆ​ โตขึ้น​​เป็นเด็กชายซุกซนอยู่​ไม่สุขชอบขีดเขียนจนผนังรอบบ้านเต็ม​ไปด้วยรูปการ์ตูน​และตัวหนังสือโย้เย้ จนบางครั้ง​ต้องปราบกันด้วยไม้เรียว จากเด็กชายกลาย​เป็นหนุ่มน้อยช่างสงสัย ชอบแกะ ชอบรื้อ ชอบค้น จนกล้องถ่ายรูปตัวโปรดของพ่อพัง​ไป​กับมือ จากหนุ่มน้อยก้าวมา​เป็นวิศวกรหนุ่มอนาคตไกล​ที่จบจากรั้วมหาวิทยาลัยด้วยคะแนนเกียรตินิยม ถูกจองตัวด้วยเงินเดือน​ที่สูงลิ่วให้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่อันมั่นคง​และ​เป็นลูกชายคนเดียว​ที่น่าภาคภูมิใจ

เลย​เวลาอาหารเย็นมานานแล้ว​ ​แต่ครูจันทร์เ​ที่ยงยังไม่นึกหิวอาหาร อัลบั้มรูปเก่าๆ​ ​ที่​เอาออกมาดูกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อถูกกางออกทับปึกเอกสารบนโต๊ะ รูปแม่​กำลังอุ้มทารกตัวน้อยๆ​นั่งบนเก้าอี้หวาย หรือรูปเด็กชายใส่แว่นดำวางมาดกอดอกยืนคร่อมอยู่​บนอานรถจักรยานสามล้อ​ที่ถ่าย​โดยฝีมือของพ่อ รูปพ่อนั่งโอบไหล่แม่ยิ้มอยู่​บนชิงช้าหน้าบ้าน​แต่ลูกชายตากล้องตัวน้อยกลับถ่าย​ได้แค่ช่วงขา หรือรูป​ที่พ่อแม่ถ่าย​กับลูกในชุดครุยในวันสำเร็จการศึกษา

บางรูปเก่าจนออก​เป็นสีแดงจางๆ​ ​แต่​เมื่อไดก็ตาม​ที่ครูจันทร์เ​ที่ยงหยิบมันออกมาดู สีสัน​ที่สดใส ​และเสียงหัวเราะ​ที่มีชีวิตชีวาก็​จะผุดพรายขึ้น​ใน​ความทรงจำแทนรูปภาพสีซีดแดงในรูปถ่าย

...​แมวสีเทาตัวเดิมโก่งตัวบิดขี้เกียจอยู่​ใต้โต๊ะ ก่อน​ที่​จะเข้ามาคลอเคลีย​เอาสีข้างถู​ที่ข้อเท้า​เพื่ออ้อนขออาหาร ปลุกครูจันทร์เ​ที่ยงให้กลับสู่ปัจจุบัน...​

ครูจันทร์เ​ที่ยงปิดอัลบั้มรูป ลุกจากโต๊ะทำงาน ไม่ลืม​ที่​จะแวะพูด​กับชายแก่ผู้​เป็นสามี​ที่นอนอยู่​บนเตียงครูหนึ่ง​ ก่อนก้าวออกจากห้อง แมวสีเทาตามออก​ไป

​เมื่อลมยามเย็นพัดผ่าน ขนุนต้นใหญ่หน้าบ้านโบกใบเบาๆ​ เหมือนคนแก่​ที่เรี่ยวแรงอ่อนล้าหลังจาก​ที่ยืนต้นต่อสู้​กับแดดฝนลมแรงมาอย่างยาวนาน
...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​
เวลาผ่าน​ไปอย่างรวดเร็ว ชั่วแว่บเดียวสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้าในยามเย็นก็เปลี่ยน​เป็นมืดครึ้ม

ผมหักพวงมาลัยพารถผ่านประตูบ้านเข้า​ไปเก็บในช่องเก็บรถ บ้าน​ทั้งหลังเงียบสนิท ไม่มีไฟเปิด​แม้​แต่ดวงเดียว ​แต่ประตูหน้าบ้านกลับถูกเปิดทิ้งไว้
"อีกแล้ว​สินะ" ผมพึมพำเบาๆ​

ภรรยา พาลูกๆ​สองคนลงจากรถเข้าบ้าน​ไปแล้ว​ ​ส่วนผมเดินออกมายืนหน้าบ้าน มองออก​ไปจนสุดถนน​ทั้งซ้าย​และขวา ​เมื่อมองไม่เห็นในสิ่ง​ที่คาดว่า​จะเห็นจึงเลื่อนประตูปิดแล้ว​หันหลังกลับเข้าบ้าน

ไฟในบ้านเปิดสว่างแล้ว​ ผมทิ้งตัวลงนั่งบนโซฟาในห้องนั่งเล่นอย่างเหนื่อยล้าหลังจาก​ที่​ต้องขับรถฝ่าการจราจร​ที่คับคั่งบนท้องถนนพาภรรยา ​และรับลูกจากโรงเรียนกลับบ้านหลังเลิกงาน
"คุณพ่อ​ไปไหนก็ไม่รู้อีกแล้ว​ คุณ​จะไม่ออก​ไปตามหาหน่อย​เหรอ?" เสียงภรรยาถามขึ้น​ ​พร้อม​กับยื่นแก้วใส่น้ำเย็นส่งมาให้
"แก่แล้ว​หลงๆ​เลอะๆ​ ก็คงเดินเล่นอยู่​ข้างนอก เดี๋ยวคนแถวนี้ก็พามาส่งเหมือนทุกทีเองนั่นแหละ​" ผมยกแก้วน้ำขึ้น​ดื่มพลางชำเลืองมองเอกสารบนโต๊ะข้างโซฟาอย่างทบทวน​ความจำ

ลูกสองคน แย่งกันเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์อยู่​บนชั้นสองเสียงเจี๊ยวจ๊าว ภรรยา​เอาแกงถุงสาม-สี่อย่าง​ที่ซื้อมาจากปากซอยเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟ พลางติดเตาแก๊สตั้งกะทะ​เพื่อทำไข่เจียว​เป็น​กับข้าวมื้อเย็นเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง​ ​ส่วนผมเอื้อมมือหยิบเอกสารบนโต๊ะขึ้น​มาอ่านอีกครั้ง​โดย​ใช้​ความคิดอย่างหนักในการตัดสินใจ

ไม่นานนักโต๊ะอาหารก็​พร้อม

"คุณ ​กับข้าวตั้งโต๊ะแล้ว​นะออก​ไปตามคุณพ่อเถอะ ลงมากินข้าวกันเดี๋ยวนี้​ทั้งสองคนนั่นแหละ​ เรียกตั้งกี่ทีแล้ว​" ประโยคแรกภรรยาพูด​กับผม ​ส่วนประโยคหลังตะโกนเรียกลูก​ทั้งสองคน​ที่ยังคงแย่งกันเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์อยู่​​ที่ชั้นบน

...​เหลือบดูนาฬิกาติดผนัง เกือบสองทุ่มแล้ว​ ผมวางเอกสารคำร้องเรื่อง​การขอเข้าพักในบ้านพักคนชราลงไว้​ที่เดิม ใน​ที่สุดผมก็ตัดสินใจ​ได้อย่างเด็ดขาดเสียที
...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​...​..

 

F a c t   C a r d
Article ID A-2011 Article's Rate 4 votes
ชื่อเรื่อง บั้นปลาย
ผู้แต่ง เม็ดทรายใต้ฝ่าเท้า
ตีพิมพ์เมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องสั้น
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๖๑๗ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๓ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๑๖
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-9672 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 12 พ.ย. 2549, 23.44 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : Rotjana Geneva [C-9718 ], [83.180.103.119]
เมื่อวันที่ : 15 พ.ย. 2549, 19.04 น.

น่าอ่านมากค่ะ​ ​และสะท้อนอะไร​​ได้หลาย ๆ​ อย่าง​ที่​กำลัง​เป็นจริงมากขึ้น​ทุกทีในสังคมไทย

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : UHU [C-9827 ], [203.146.37.41]
เมื่อวันที่ : 22 พ.ย. 2549, 22.35 น.

ขอขอบคุณสำหรับ​ความคิดเห็นครับ​ นับว่า​เป็นรางวัลอันมีค่า​ที่แสนงดงามสำหรับ​ความพยายาม​ที่​จะเขียนของผม​โดยแท้จริงครับ​

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น