...

หลังจากได้รับอุปกรณ์การเรียนต่างๆพร้อมแล้ว ในช่วงที่แก้งานเขียนกลับไปกลับมาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ สิ่งที่ต้องเริ่มทำอีกอันหนึ่งก็คือการทำแลป...

หลังจากได้รับอุปกรณ์การเรียนต่างๆพร้อมแล้ว ในช่วงที่แก้งานเขียนกลับไปกลับมาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ สิ่งที่ต้องเริ่มทำอีกอันหนึ่งก็คือการทำแลป อาจารย์ Mike แกพาไปดูห้องแลปและฝากฝังไว้กับอาจารย์ Stella ก่อนที่แกจะเดินทาง เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางการทำแลปก็เริ่มดำเนินการขึ้น
งานวิจัยที่เราทำนั้นต้องใช้พื้นฐานความรู้หลักๆสำคัญสามอย่างคือเคมีฟิสิกส์และชีววิทยา ห้องแลปที่นี่มีอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ๆในสายตาเราเยอะมาก ที่บอกว่าใหม่ๆไม่ใช่เป็นของใหม่เอี่ยมนะคะ แต่เป็นของใหม่สำหรับสายตาและความคิดเนื่องจากไม่เคยเห็นอุปกรณ์แบบนี้มาก่อน กล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ส่องดูสิ่งที่มีขนาดเล็ก มีหน้าตาไม่เหมือนที่บ้านเรา การใช้งานมันง่ายกว่าของบ้านเรา อุปกรณ์ต่างๆส่วนใหญ่ใช้แล้วทิ้ง เช่นเพลทเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์หรือเซลล์ (Petri dish) หลอดดูดสารละลายต่างๆที่เด็กวิทย์อย่างเราเราเรียกว่าปิเปต (Pipette) อุปกรณ์เหล่านี้ตอนอยู่บ้านเราใช้เสร็จแล้วต้องแช่น้ำยาทำความสะอาด เสร็จแล้วนำไปเข้าหม้อนึ่งความดัน (autoclave) เพื่อทำลายเชื้อโรค แล้วต้องนำมาอบให้แห้งอีกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้งานครั้งต่อไป ซึ่งผู้ทำแลปต้องเสียเวลาไม่น้อยเลยกับเรื่องพวกนี้ เมื่อมีโอกาสได้มาทำแลปที่นี่พบว่าทุ่นเวลาเรื่องการทำความสะอาดอุปกรณ์ไปพอสมควร

พูดถึงปิเปตทำให้นึกถึงสมัยก่อนตอนเรียนปริญญาตรี พวกเราต้องทำแลปเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพวกเราต้องใช้ปากดูดปิเปตเหมือนใช้หลอดดูดโค้กหรือเป๊ปซี่ ต่างกันตรงที่ว่าน้ำที่ดูดคือน้ำของสารละลายเลี้ยงเชื้อ ป๊อปหนุ่มเสียง FM ประจำเอก (major) เกิดพลาดดูดแบคทีเรียเข้าปากไปด้วยเรียกว่าบ้วนออกมาเกือบไม่ทัน ส่งผลให้บ่ายวันนั้นป๊อปต้องกลับบ้านไปเนื่องจากฤทธิ์แบคทีเรียที่ตกค้างอยู่ทำให้ป๊อปเกิดอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงมาก โชคดีที่จุลินทรีย์ต่างๆที่ใช้ในการทำ
แลปปริญญาตรีนั้นไม่รุนแรงมากถึงแม้เราจะกินมันไปบ้างแต่ก็ยังอยู่รอดปลอดภัยกันอยู่ แต่ทางที่ดีต้องระวังไว้ก่อนก็จะเป็นการดี

ตอนมาที่นี่ใหม่ๆเกือบจะใช้ปากดูดเหมือนกันถ้าเผลอไปล่ะก็คงต้องถูกส่งตัวไปอบรมเป็นการใหญ่เพราะที่นี่เน้นเรื่องความปลอดภัยสูงมาก เมื่อก้าวเข้าห้องแลปรองเท้าที่ใส่ต้องหุ้มคลุมหมดทั่วทั้งเท้าจะเปิดเผยให้เห็นสีผิวของเท้าเราไม่ได้เด็ดขาด ใครคิดจะลากแตะหรือแม้แต่รองเท้าที่เป็นเพียงสายคาดแต่ไม่มีหุ้มปิดทั้งเท้าล่ะก็ไม่มีสิทธิ์ทำแลป และในขณะเดียวกันทุกครั้งที่ทำแลป ต้องสวมแว่นกันสารเคมี (safety glasses) ไม่ว่าจะทำกับสารเคมีธรรมดาก็ตามเมื่อเข้าไปแล้วต้องสวมแว่นอย่างเดียว เพราะเขาป้องกันในกรณีที่คนอื่นอาจจะทำการทดลองกับสารร้ายแรงแล้วมันพลาดมากระเด็นโดนได้ รวมทั้งต้องสวมถุงมือทุกครั้งด้วยเช่นกัน ถุงมือนี้จะสวมแล้วเดินเรื่อยเปื่อยนอกห้องแลปไม่ได้ เพราะเขามองว่ามือนี้จะไปสร้างการปนเปื้อนนอกห้องแลป ทำให้ผู้อื่นเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือเสื้อโค้ทหรือเสื้อกราวด์สีขาวซึ่งก็ต้องสวมใส่ทุกครั้ง สำหรับราคาก็แพงมากคือ 37$ AUD แต่โชคดีอาจารย์ให้เบิกได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องปรับตัวและเรียนรู้กันยกใหญ่เลยทีเดียว

เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆใหม่ทั้งหมดหน้าที่ของเราตอนนั้นคือเราต้องนำพื้นฐานจากการเรียนรู้แบบเก่าที่เมืองไทยมาประยุกต์และปรับใช้ที่นี่ ซึ่งตรงนี้สำหรับเราแล้วเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะการเรียนรู้จากวิธีที่พื้นฐาน จากเครื่องมือเก่าๆทำให้เราได้รับการเรียนรู้อีกแบบคือรู้ถึงรากของการพัฒนา เมื่อมาเจออุปกรณ์การใช้งานแบบเดียวกันแต่ทันสมัยกว่าจึงทำให้เข้าใจว่ามันมีที่ไปที่มาอย่างไร ห้องแลปที่นี่มีโทรศัพท์ติดไว้ทุกห้องเพื่อไว้ใช้ติดต่อในเวลาฉุกเฉิน โทรศัพท์สามารถใช้โทรออกภายนอกและโทรเข้ามือถือได้เช่นกัน ส่วนโทรศัพท์ภายในจะมีตั้งไว้ตามจุดใหญ่ๆของตึกเรียน (มองย้อนกลับไปที่ไทย โทรศัพท์ที่เราเรียนที่เมืองไทยมีอยู่หนึ่งเครื่องในห้องแลป หยอดเหรียญครั้งละ 5 บาท โทรครั้งหนึ่งก็ต้องคุยให้ได้หลายๆเรื่องถึงจะคุ้ม)

นักศึกษาที่นี่สามารถอยู่ทำงานได้กี่โมงก็ได้โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียนแบบวิจัยซึ่งก็คือนักศึกษา Honour , Master by research และ PhD เขียนมาถึงตอนนี้ก็อดนึกถึงตอนเรียนโทที่บ้านเราอีกไม่ได้ ช่วงเรียนโทพอเริ่มทำวิจัยตอนแรกก็อยู่ดึกได้ไม่มีปัญหาอะไร ตอนหลังเนื่องจากมีการก่อสร้างอาจารย์ก็เลยกังวลเรื่องความปลอดภัยดังนั้นถ้าใครอยู่ดึกต้องทำเรื่องทำราวร่างเป็นจดหมายให้ชัดเจน การทำแลปต้องใช้เวลาและความอดทนต้องทำหลายซ้ำไม่ใช่ครั้งเดียวผลออกมาสวยหรู โดยเฉพาะการทำงานกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะเข้าใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้พวกเราเด็กวิทย์ทั้งหลายรู้กันดี ไหนจะจำนวนอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอต้องเจียดแบ่งกันใช้งานอีก ซึ่งมีผลทำให้งานติดขัดบ้างเป็นครั้งคราว

ตัวเราเองนั้นก็ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับมาตลอด ให้ทำเรื่องอยู่ดึกก็ทำไม่เกี่ยงอยู่แล้ว หาคนมาอยู่เป็นเพื่อนก็เอาไม่มีปัญหา จนกระทั่งช่วงหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาท่านต้องบินไปอบรมที่ต่างประเทศเป็นเวลาหกเดือน เราก็มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลน้องๆปริญญาตรีในกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆด้วย รวมทั้งเป็นเสมือนภารโรงเพราะต้องถือกุญแจตึกและกุญแจห้องแลปรวมไปทั้งดูแลความเรียบร้อยของตึกก่อนกลับบ้าน จริงๆก็ไม่มีใครมอบหมายให้ทำแต่มันก็ตึกเรียนเราใช้มันอยู่ทุกวันก็มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบมันไปด้วย

อยู่มาวันหนึ่งการสนทนาระหว่างเรากับอาจารย์ท่านหนึ่งที่พึ่งจบมาจากประเทศที่อิตเลอร์เคยเป็นผู้นำก็เกิดขึ้น

อาจารย์: "นี่เธอทำไมต้องเธอต้องทำแลปกลับบ้านดึกๆดื่นๆ ทุกวันทำไมเธอไม่มาแต่เช้า"

เรา: เงียบไม่พูดอะไรแต่คิดอยู่ในใจทุกวันนี้ก็มาถึงมหาวิทยาลัยก่อนอาจารย์ อาจารย์จะให้เอาเช้าขนาดไหนเนี่ย

อาจารย์: "เธอควรจะมีการวางแผนงานว่าเธอจะทำอะไรแค่ไหนอย่างไร"

เรา: "อาจารย์คะหนูวางแผนแล้วค่ะหนูมีสมุดวางแผนงาน หนูเร่งงานเพราะหนูอยากจบไวไวค่ะ" พูดไปพร้อมยิ้มไปด้วยหวังลึกๆว่าอาจารย์จะได้เลิกถามซะที

อาจารย์ : "เธอจะรีบจบไปถึงไหน สมัยครูเรียนครูไม่เห็นเร่งรีบเลย ครูก็เรียนของครูไปเกือบ 5 ปี. (อาจารย์ท่านนี้แกได้ทุนไปเรียนค่ะ)

เรา: มองหน้าแกพร้อมตอบแกกลับไปด้วยเสียงที่เครือพร้อมน้ำตาที่คลอเบ้าเนื่องจากไม่คิดว่าคนเป็นอาจารย์จะพูดอะไรแบบนี้ออกมา เสียงสั่นเครือที่ตอบกลับไปคือ "บ้านหนูไม่ได้รวย พ่อแม่หนูไม่ได้มีเงินมากมายที่จะส่งให้หนูมาใช้ชีวิตนักเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยได้เป็นเวลาหลายปี"

อาจารย์: เงียบไปพักหนึ่งแกคงไม่คาดคิดว่าจะเจอคำตอบแบบนี้ แล้วก็เริ่มต่อด้วยคำถามใหม่ "เธอไม่กลัวผีเหรอเธออยู่ดึกๆ"

เรา: น้ำตาที่คลอเบ้าอยู่แห้งไปในทันทีเพราะผิดหวังอย่างแรง เราโกรธมากจนต้องนับตัวเลขในใจเพื่อควบคุมสียงตัวเองก่อนที่เอ่ยอะไรออกไป "หนูไม่กลัวค่ะหนูเข้าใจว่าพวกเขาทราบว่าหนูอยู่ที่นี่หนูทำอะไร หนูอยู่ทำงานไม่ได้อยู่นั่งเล่น หนูคิดว่าพวกเขาช่วยดูแลคุ้มครองหนูค่ะ"
อาจารย์ถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ไม่มีคำพูดใดๆตอบกลับมา (แกคงคาดไม่ถึงว่าบุคคลิก
อย่างเราจะตอบกลับไปอย่างนั้น) ส่วนเราเดินออกจากที่ยืนสนทนาเลย เพราะขืนอยู่ต่อเกิดแกถามอะไรอีก เราไม่อยากคุยด้วยแล้ว หลังจากนั้นพักหนึ่งอาจารย์เดินตามมาคุยอีก แต่คราวนี้มาดีคือแกมาบอกว่าเดี๋ยวแกจะให้คนมาซ่อมโทรศัพท์(เครื่องหยอดเหรียญครั้งละ 5 บาท) เพราะเห็นว่าโทรศัพท์ใช้ไม่ได้ เราก็ตอบแกไปสามพยางค์ คือ ขอบคุณค่ะ เพราะโทรศัพท์มันเสียมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว แจ้งไปแล้วก็เงียบ ไม่มีใครสนใจ วันรุ่งขึ้นเจอแกแกก็ยิ้มให้แถมรอดูจังหวะว่าเรายังโกรธแกอยู่รึเปล่า เรายกมือสวัสดีและทักทายตามปกติ หลังจากนั้นแกก็ไม่มาวุ่นวายเรื่องเราทำแลปอีก ส่วนเราถึงแม้จะจำเรื่องนี้ได้ไม่ลืมแต่ก็ไม่ได้เอามาติดใจอะไร หลังจากจบตอนอยู่ไทยแกแวะเวียนไปสวัสดีปีใหม่แกเกือบทุกปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ท่านนี้ทำกับเราทั้งๆที่แกไม่เคยสอนเราด้วย เฮ้อแปลกใจจริงๆ.....

วกกลับมาที่เรื่องแลปต่างแดนต่อ แลปแรกที่ทำเน้นไปทางเคมีคือการนำทองมาทำให้มีขนาดอนุภาคเท่ากับ 20 นาโนเมตร สารละลายทองนี้ถูกเตรียมเก็บเป็นสต็อคเอาไว้ ซึ่งสารละลายตัวนี้เตรียมมาจากทองคำแท่งซึ่งมีแร่ทองเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 99% กว่าๆ David เป็นผู้ดูแลรักษาทองคำแท่งอันนี้ไว้ เราเองได้มีโอกาสไปสัมผัสจึงเกิดความรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อที่ทองแท่งไม่ใหญ่มากแต่น้ำหนักนี่หนักจริงๆ เรานัดหมายกับ David เรื่องการเตรียมตัวทำแลปเพราะช่วงแรก David ต้องโชว์ก่อนเพราะเรายังไม่คุ้นเคย David เป็นคนสอนและอธิบายเทคนิคต่างๆให้ฟังเหมือนเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ ซึ่งเรียกว่าดีมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าปฏิกิริยาทางเคมีจะเปลี่ยนทองคำแท่งให้กลายเป็นสารละลายสีเหลืองอร่าม และสุดท้ายกลายเป็นสารละลายที่ประกอบด้วยโมเลกุลของทองระดับนาโนเมตรเป็นสีแดงขี้นกที่เรียกว่า burgundy
หลังจากนั้นเราต้องนำสารตัวนี้ไปส่องดูขนาดว่ามันใช่ 20 นาโนเมตรจริงหรือไม่ รวมทั้งต้องดูลักษณะรูปร่างมันด้วยว่ามันใช่เหมือนที่เราต้องการคือเป็นรูปทรงกลมหรือไม่ ซึ่งคราวนี้ทำให้เกิดปัญหาใหม่สำหรับเราคือเราต้องไปเรียนรู้การใช้กล้องพิเศษที่เรียกว่ากล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน คนอื่นๆที่เป็น Native English เขาคงเรียนรู้กันเพียง 1 อาทิตย์ก็เข้าใจ แต่สำหรับเราใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าจะเข้าใจมันและเริ่มใช้งานได้ด้วยตัวเอง กล้องที่ว่านี้ถูกเก็บไว้ที่อีกหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยเรียกว่า MAU (Micro Analysis Unit)
หน้าตาของกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนรุ่นล่าสุดมีเพียง 2 มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย

วันแรกที่ไปใช้ไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเองเลย งงมาก คนสอนพูดเร็วมาก แกชื่อ Ric สำเนียง Aussie ของแท้แน่นอน ซึ่งส่งผลให้ฟังไม่ออกไม่รู้เรื่องเลย สิ่งที่ทำคือต้องดูมือเขาอย่างเดียวว่าเขาจับกดปุ่มไหนบ้างแล้วจำเอา แต่ Ric แกเป็นคนน่ารักแกบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องช่องว่างระหว่างภาษา จะไม่กังวลได้ไงล่ะ ก็มันไม่รู้เรื่องเลย วันนั้นกลับมาบ้านเครียดมาก ร้องไห้ ร้องอย่างเดียวให้ความเครียดออกมาพร้อมกับน้ำตา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือทำไมเรียนเมืองนอกมันยากอย่างนี้ เรื่องภาษาสำคัญมากทำให้นึกโกรธตัวเองว่าตอนเป็นเด็กๆน่าจะให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากกว่านี้ เราสงสาร Ric ที่อธิบายจนคอแหบคอแห้งเราก็ไม่เข้าใจและก็สงสารตนเองด้วยเช่นกันที่ฟังเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง

ในที่สุดเราต้องไปเข้าคอร์สเรียนอุปกรณ์ทุกตัวใน MAU ทั้งภาคทฤษีและภาคปฏิบัติ เรียนหนักพอสมควรตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นทุกวันเป็นเวลา 1 อาทิตย์ โดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนก็มีทั้งเด็กปริญญาตรี และจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาขอใช้เครื่องมือของมหาวิทยาลัย เราเป็นเอเชียคนเดียวในชั้นเรียนนั้น รวมทั้งอ่อนภาษาอังกฤษที่สุด ที่เหลือแกเป็น Aussie กันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามพวกเราทุกคนให้ความช่วยเหลือกันดี การทำการบ้านก็ทำร่วมกันแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ไม่เข้าใจตรงไหนพวกเพื่อนๆก็อธิบายให้ ประเภทที่หวงวิชานั้นไม่มีเลย เรียกว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมชั้นกับคนดีดีอีกแล้ว วันสุดท้ายของการเรียนพวกเราก็เลยถือโอกาสได้ทานมื้อเที่ยงใหญ่ร่วมกันทั้งคนเรียนคนสอน แต่อย่างไรก็ตามขอฝากย้ำท้ายว่าภาษาสำคัญมากๆ ถ้าใครสนใจจะมาเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ขอให้เริ่มฝึกฝนภาษากันให้พร้อมเลยค่ะ จะได้ไม่เป็นปัญหาแบบเรา เพราะทุกวันนี้เราต้องทำการบ้านหนักกว่าคนอื่นๆค่ะ.......เหนื่อยจัง !!!!!!!!!!!!!

เมื่อวันที่ : 22 มี.ค. 2549, 19.23 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...