แบคทีเรียตัวร้ายถูกจับโดยเทคโนโลยีจิ๋ว |
 |
โดโรที
 |
...

วันนี้มีบทความเก่าแต่น่าสนใจอีกแล้วมาให้อ่านกัน เมื่อพูดถึงแบคทีเรีย ในวงการวิทยาศาสตร์ทางอาหารหรือนักจุลชีววิทยาไม่มีใครที่จะไม่รู...

วันนี้มีบทความเก่าแต่น่าสนใจอีกแล้วมาให้อ่านกัน เมื่อพูดถึงแบคทีเรีย ในวงการวิทยาศาสตร์ทางอาหารหรือนักจุลชีววิทยาไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก
E. Coli O157 : H7 เชื้อตัวนี้เรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทางชีวภาพหรือที่เรียกว่า Bioterrorism เลยทีเดียว เพราะมันก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อพวกเรานั่นเอง
มันร้ายอย่างไร ? จริงๆแล้ว E. Coli เป็นเพื่อนซี้กับพวกเราและมันก็อาศัยอยู่ในลำไส้ของพวกเรา แต่ต่อมามีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมันเกิดมาได้อย่างไรนั้นเราไม่ทราบรายละเอียด เจ้าสายพันธุ์นี้คือ
E. Coli O157:H7 ซึ่งมันมีความสามารถพิเศษในการสร้างสารพิษ Verotoxin (VT) ส่งผลต่อเยื่อบุผนังลำไส้ หากมีใครโชคร้ายได้รับเชื้อตัวนี้เข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ต่อมาก็ท้องร่วงอย่างรุนแรง ระบบปัสสาวะและไตอักเสบ และร้ายแรงที่สุดคือการติดเชื้อขั้นรุนแรงที่ส่งผลทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบจนยากที่จะเยียวยารักษา

การตรวจสอบ แต่เดิมมาการตรวจเช็คเชื้อตัวนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล โดยจะต้องเสียเวลาในการเลี้ยงเจ้าตัวร้ายให้มันโตขึ้นมาแล้วจึงนำไปตรวจสอบอีกครั้ง Weithong Tan และคณะจาก University of Florida ได้ร่วมกันคิดค้นวิธีที่จะตรวจการปนเปื้อนของเจ้าเชื้อตัวนี้ในอาหารให้เร็วขึ้น ซึ่งวิธีที่พวกเขาค้นพบใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น ในขณะที่แต่เดิมต้องใช้เวลา 48 ชั่วโมงหรือสองวันกว่าจะรู้ผลซึ่งอาจจะไม่ทันการ

Andrew Brabban ผู้ซึ่งทำงานกับเจ้าเชื้อร้ายที่ Evergreen State Washington ได้กล่าวว่าการใช้วิธีดั้งเดิมในการตรวจถือว่าเป็นการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย

วิธีที่พวกเขากำลังศึกษานั้นคือใช้ silica nanoparticle (อนุภาคขนาดเล็กของซิลิกา)ติดกับ fluorescent dye (สีย้อมเรืองแสง) แล้วเชื่อมติดกับ antibody ที่มีความจำเพาะสามารถเข้าคู่กับ antigen ของแบคทีเรียตัวร้าย และแล้วนำไปใส่ในตัวอย่างอาหารที่ต้องการตรวจสอบ เมื่อเจ้าก้อนตรวจสอบ silica nanoparticle ที่มีทั้งสีเรืองแสงและ antibody อยู่ในตัวเดียวกัน (Three in one) ถูกใส่ลงไปในตัวอย่างที่เราต้องการตรวจสอบ ก้อนๆนี้จะไปเกาะติดกับแบคทีเรียที่มี antigen ซึ่งจำเพาะกับ antibody ทันที หลังจากนั้นพวกเขาจัดการแยก silica nanopartilce ที่ไม่ได้เกาะติดกับแบคทีเรียออกไปโดยการปั่นแยกตะกอนที่ความเร็วรอบที่เหมาะสม แบคทีเรียซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าและมีสีเรืองแสงติดแล้วจะตกตะกอนอยู่ที่ก้นหลอดทดลอง เมื่อนำไปตรวจเช็คด้วย spectrofluorometer ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับความเข้มของสารเรืองแสง

จัดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ บางคนอาจสงสัยว่าทำไม่ต้องใช้ silica nanoparticle ด้วย เอาแค่สีเกาะติดกับ antibody ไม่ได้รึ?

คำตอบก็คือว่าเจ้า silica nanoparticle มันช่วยทำให้เกิดการดูดซับโมเลกุลของสีเรืองแสงที่ว่าได้มากมายหลายพันโมโลกุลซึ่งช่วยทำให้เราสามารถอ่านผลได้ง่ายและชัดเจนขึ้นนั่นเอง

งานวิจัยอันนี้ดูแล้วน่าสนใจและมีประโยชน์มาก เมื่อเทียบกับกระแสเสื้อนาโนของบ้านเราที่ออกมาแข่งกันถึงสองหน่วยงาน ตามความคิดเห็นของเราเราไม่เห็นด้วยมากนักกับเรื่องเสื้อนาโน ราคาแพง กว่าเสื้อปกติ ใส่ได้เพียงประมาณ 30 ครั้งก็กลายมาเป็นเสื้อธรรมดาแล้ว ที่ต่างประเทศมีการผลิตออกมานานหลายปีแล้วและก็เป็นปัญหากับลูกค้าเช่นกันเกี่ยวกับเรื่องความไม่คงทนของคุณสมบัติของตัวเสื้อ เราเป็นคนหนึ่งที่จะไม่เสียเงินซื้อเสื้อนาโนเด็ดขาดไม่ว่าจะผลิตจากบริษัทใด ประเทศไหนก็ตาม แต่มองอีกมุมกลับถ้านำหลักการเดียวกับการทำเรื่องเสื้อนาโนมาใช้ผลิตผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ยาน่าจะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากกว่า ซึ่งหวังว่าคงมีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์พวกนี้จากบ้านเราบ้างในไม่ช้า............

สุดท้ายนี้ขอย้อนกลับมาที่การทานอาหารของพวกเรา โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทานแฮมเบอร์เกอร์ เลือกซื้อจากร้านที่สะอาดนะคะ หรือถ้าจะทำเองก็ต้องปรุงให้สุกเพราะเนื้อทั้งหลายที่นำมาทำนั้นเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียตัวร้ายนี้เป็นอย่างดี คนที่ชอบเนื้อน้ำตกกึ่งสุกกึ่งดิบๆก็ควรระวังด้วยเช่นกันค่ะ เมื่อวานนี้พึ่งไปทานแฮมเบอร์ไก่ที่มหาวิทยาลัยมาเป็นมื้อเที่ยง ผลปรากฏว่าเกิดอาการปวดท้องอย่างหนัก เรียกว่าท้องเสียเข้าห้องน้ำไปหลายรอบเลยค่ะ ขณะที่นั่งพิมพ์อยู่ก็ยังโครกครากอยู่เหมือนเดิมค่ะ วันจันทร์นี้ Nadine ชวนไปแจ้งร้านค้าให้ปรับปรุงค่ะเพราะเราทั้งคู่เจอปัญหาเดียวกัน ยังไงก็อย่าลืมป้องกันตัวเองกันก่อนนะคะ
*** แปล เรียบเรียง ดัดแปลงเพิ่มเติมจาก
http://www.newscientist.com/channel/mech-tech/nanotechnology/dn6513
ใครสนใจอยากอ่านงานวิจัยฉบับเต็มเข้าไปดูได้ที่
http://www.pnas.org/cgi/reprint/101/42/15027
**โฉมหน้าเจ้าตัวร้ายจาก
www.goshen.edu

เมื่อวันที่ : 04 ก.พ. 2549, 10.21 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...