นิตยสารรายสะดวก  Memorandum  ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
เรื่องเล่าจากซอกดอย : ปิดเทอมหน้าฝน
เชิงดอย
...​​แต่​​ถ้าฝนฟ้าไม่ดี น้ำน้อย ก็​​ต้องกินข้าวแดง หรือข้าวไร่ มัน​​เป็น​​ความทรมานอย่างยิ่งของเด็กอย่างผม​​ที่​​ต้องกินข้าวไร่ เม็ดสั้นๆ​​ป้อมๆ​​ เหมือนข้าวญี่ปุ่น แข็งแบบว่าปั้นไม่ติด เวลาจ้ำแกงทีนึง​​ต้องรีบยัดใส่ปาก...
สอบเสร็จเทอมแรกก็ปิดเทอม ไม่รู้ว่าเด็กสมัยนี้ยังเรียน 3 เทอมกันอยู่​หรือเปล่า ​แต่สมัยผมเรียนปฐมปีละ 3 เทอม เด็กชายดอยอย่างผมก็ตั้งหน้าตั้งตารอปิดเทอมแรก ตั้งแต่เปิดเทอม​ได้ไม่ถึงเดือน มานี มานะ ไม่เคยสนใจ สนใจ​แต่ปู ปลา ไก่ กุ้ง ​แต่น้ำเต้า​กับเสือสนใจ​เป็นบางครั้ง ปิดเทอมๆ​แรก​จะตรง​กับช่วง​ที่เค้า​ต้องทำนากัน​พอดี สมัยก่อนโน้น ข้าวน่า​จะ​เป็นของหายาก ​โดยเฉพาะข้าวนึ่งนุ่มๆ​ เม็ดยาวๆ​ อย่างข้าวสันกำแพงหรือข้าวเหนียวเขี้ยวงู อย่างมากก็มีข้าว​ที่เรียกว่าข้าวซิว ​ที่ หอม นิ่ม อร่อย ​แต่พอ​เป็นข้าวเย็น​เอา​ไปอุ่นอีกรอบมันก็​จะติดมืออีรุงตุงนัง เหมือนกะปิติดมือลิง​ไป

ปีไหนน้ำท่าดี น้ำห้วยแม่พร้า ห้วยแม่ต้านองซักสองรอบ ก็​จะมีน้ำเหลือพอทำนาให้ปลูกข้าวขาว​ได้ ​แต่​ถ้าฝนฟ้าไม่ดี น้ำน้อย ก็​ต้องกินข้าวแดง หรือข้าวไร่ มัน​เป็น​ความทรมานอย่างยิ่งของเด็กอย่างผม​ที่​ต้องกินข้าวไร่ เม็ดสั้นๆ​ป้อมๆ​ เหมือนข้าวญี่ปุ่น แข็งแบบว่าปั้นไม่ติด เวลาจ้ำแกงทีนึง​ต้องรีบยัดใส่ปากก่อน​ที่พวก​จะยุ่ยแล้ว​ก็ร่วง ต่อให้​เป็นข้าวเย็นกี่รอบๆ​ มันก็ไม่เคยนิ่ม

ข้าวไร่ เวลาปลูก​ต้อง​ใช้ไม้กระทุ้งดินให้​เป็นหลุม แล้ว​ก็หยอดเม็ดข้าวลง​ไปซัก 5-6 เม็ด แล้ว​ก็กลบปลูกแล้ว​ก็แล้ว​กัน ​ถ้าฝนส่งก็​ได้กินเยอะหน่อย​ ​ถ้าฝนไม่ค่อยมีเนี่ยก็พอ​ได้สิบกว่ากระสอบ พอกินเกือบ​ทั้งปี ​แต่​ถ้าให้กินข้าวไร่​ทั้งปีลิงทโมนอย่างผมยอมกินกล้วยน้ำว้าหรือเผือกมันแทนดีกว่า

เรื่อง​น้ำ ​เป็นปัญหาใหญ่ ไม่เคยมี​ใครคิดทำฝายหรือคลองส่งน้ำ ​ทั้งๆ​​ที่น้ำก็ไหลในห้วย​ทั้งปี ผมก็ยังสงสัยอยู่​ว่าทำไมเค้าไม่ทำกัน ​ทั้งๆ​ ​ที่สมัยนี้น้ำไม่​ได้เยอะแบบสมัยก่อน​แต่ก็ยังปลูกข้าว กข.6 หรือ กข.10 ​ได้สบายๆ​ คง​เป็น​เพราะว่าสมัยก่อนโน้นมีอาหารการกินเยอะมั้ง กล้วย เผือก มัน นกหนู สารพัดกินแทนข้าว​ได้ก็เลย​ไม่เดือดร้อนนัก

เย็นวันศุกร์หลังเลิกเรียนผม​จะรีบวิ่งลงตลิ่งห้วยใกล้โรงเรียนหาขุดขี้คู้หรือไส้เดือนแหวนห่อใบตองกลับบ้าน ​ได้ไส้เดือนซักสามสิบตัวก็พอ คุ้ยๆ​เขี่ยๆ​ ไม่เกิน 10 นาทีก็​ได้ถม​ไป วิ่งตื๋อ​ไปร้านชำซื้อ(เซ็น)ถ่านแก๊สถุงนึง แล้ว​รีบกลับบ้านรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า หาบน้ำรดแปลงผัก เก็บผักบุ้งให้หมู ก็​เป็นอันเสร็จหน้า​ที่ผม อาบน้ำแล้ว​คว้าคันเบ็ดปักหรือ​ที่แถวๆ​ภาคกลางเค้าเรียก ‘คันทง’ มาตรวจดูซะหน่อย​ สายดูเหมือน​จะขาดก็ผูกใหม่ ตะขอ​เป็นสนิมก็ลับ​กับหินหรือ​เอามีดขูด แบบว่ากลัวบาดทะยักน่ะ

รีบกินข้าวแล้ว​ก็จุดตะเกียงแก๊ส​ไปปักเบ็ด​กับน้าชาย ​ที่ปักเบ็ดก็ห้วยข้างๆ​ม่อนดงซาง หรือไม่ก็กลางทุ่งนาข้างบ้าน สะพายข้องหิ้วเบ็ดปักเดินต่อง​แต่งตามน้า ปักริมคันห้วย​เป็นศิลปะอย่างนึง ​ต้องดูว่าร่องน้ำไหลทางไหน ตรงไหน​เป็นวังน้ำลึกน้ำนิ่งก็ใส่ไส้เดือนตัวโตๆ​ กะว่าเผื่อมีปลากดหรือปลาดุกตัวโตๆ​มากิน ระยะห่าง​ระหว่างคัน​ถ้าปักริมห้วยก็ประมาณ แสงไฟส่องถึง คงซักสิบเมตรต่อคัน เผลอๆ​ ​ถ้าเดิน​ไปตรงไหนแล้ว​มีกบกระโดดลงน้ำก็ปักกบมันซะเลย​ ​โดยปักบนดิน​เอามือกวาดหญ้าออกให้พ้นรัศมีคันแล้ว​​เอามือควักโคลนมา​แต่งพื้นใต้เบ็ดให้เตียน เกลี้ยงแว้บ แล้ว​ก็ตั้งระดับห่างพื้นซักฝ่ามือเด็กอย่างผม กะว่าให้กบตัวโตๆ​ กระโดดนิดนึงก็งับ​ได้ แล้ว​ก็เกี่ยวไส้เดือนให้เหลือหัวห้อยประมาณ 1 นิ้วให้ดิ้น​ไปมา​ได้ดูเย้ายวนน่ากิน ประมาณว่าให้ดูเหมือนสาวน้อยเกาะราวสแตนเลสเต้นโยกเย้าเร้าลีลา ล่อให้กบมางับอะไร​ทำนองนั้น​แหละ​

ปักเบ็ดครบก็เดินอ้อมหน่อย​กลับมาเช็คเหยื่อตั้งแต่คันแรก อีตอนเช็ครอบแรกนี่แหละ​สนุก​ที่สุด ยิ่งเดิน​ไปแล้ว​​ได้ยินเสียงดิ้นโผงๆ​ สัณนิษฐานไว้ก่อนว่า​เป็นปลาช่อนตัวโตๆ​ เท่าแขนผมทีเดียว ​ถ้าดิ้นแค่ขลุกขลิกพอ​ได้ยินเสียงก็​เป็นปลาดุก ​แต่​ถ้าสายดิ้น​ไปมาก็​เป็นปลากด ​แต่​ถ้าสายตึงค้างเข้า​ไปเกี่ยวต้นไม้หรือกอหญ้าก็น่า​จะ​เป็นปลาไหล ​ส่วนกบเนี่ย ส่องไฟปุ๊บก็เห็นตาปั๊บ พวก​จะดิ้นกระแด่วๆ​ ชูขาหน้าอยู่​เหมือนบอกว่ายอมแพ้ สมัยก่อนโน้นปักเบ็ดคืนนึงก็​ได้ปลาดุก ปลาช่อน ปลากด ​เป็นข้อง ส่องกันซักสามสี่รอบก็ประมาณเ​ที่ยงคืน แล้ว​ก็ใส่เหยื่อให้เต็ม​ที่เสร็จแล้ว​ก็กลับบ้านนอนตั้งหน้าตั้งตาลุ้นรอว่าพรุ่งนี้เช้า​​จะมีปลาอะไร​ติด​ที่เบ็ดบ้างน้อ

เช้า​ไหน​ถ้าใส่เบ็ดไว้(ทงไว้) ผมก็​จะตื่นตั้งแต่เช้า​ เรียกว่าตื่น​พร้อมไก่นั่นแหละ​ จุดหมายหลักก็​คือเบ็ด​ที่วางไว้​เมื่อคืน จุดหมายรองก็​คือเบ็ดเหมือนกัน​แต่​เป็นคัน​ที่เราไม่​ได้ปักไว้ ตื่นเช้า​เดินตีนเปล่าลุยทุ่ง เดินคันนาหน้าฝนยามเช้า​เนี่ยมัน​เป็น​ความสุขอย่างนึงนะ น้ำค้างเย็นๆ​ เดิน​ไปก็จักกะจี๋​ไป เผลอๆ​เดิน​ไปไม่​ได้มองตีนเหยียบหนามจี้ยอบ(ไมยราพณ์)ก็เด้งดึ๋ง​ไปซักสองสามก้าว เจ็บ​ที่สุดน่า​จะ​เป็นหนามดิน ไม่รู้เหมือนกันว่าภาคกลางเค้าเรียกว่าอะไร​ ลูกมันกลมๆ​ มีหนาม 8 อันรอบตัว ตอน​เป็นเม็ดไม่น่ากลัว ​แต่ตอนมันแตกแล้ว​เนี่ยมัน​จะทำตัวเหมือน​กับเรือใบ หงายขึ้น​รับอุ้งเท้าเต็ม​ที่ ลิงอย่างผมต่อให้หนังเท้าหนาเท่าหนังหน้ายังไงโดนหนามดินเข้า​ไปก็​ต้องกระโดดโหยง แล้ว​ก็ยอบนั่งแงะออกก่อนเดินต่อ เด็กๆ​อย่างผมก็พอมีคุณธรรมอยู่​บ้างว่าไม่เคยขโมยเบ็ด​ใคร เจอเบ็ด​ใครปักไว้ไม่เคยถอน​ไปเก็บ เราเก็บ​แต่ปลา​ที่ไม่มีเจ้าของเท่านั้น​ เวลา​จะขโมยปลาเค้าเนี่ย​ต้องมีเทคนิคนิดหน่อย​ ​จะปลดมันเปล่าๆ​มันก็ไม่เนียน เรา​ต้อง​เอาสายเบ็ดเค้า​ไปพัน​กับกอหญ้าข้างๆ​ ให้ตึงๆ​ ​จะ​ได้ดูเหมือนว่าปลามันพา​ไปเกี่ยวกอหญ้าแล้ว​หลุดเองน่อ อิอิ แค่นี้เราก็ไม่โดนเจ้าของเบ็ดแช่งแล้ว​ เห็นมั้ย! มันอยู่​​ที่เทคนิค

ปลา​ที่​ได้มา​ถ้า​เป็นปลาดุกก็ย่างเกลือ หอมฉุย เบื่อย่างก็แกงใส่ก้านตูน ไม่รู้เหมือนกันว่าภาษากลางเรียกว่าอะไร​ ต้นเหมือนบอน​แต่สีเขียวสดกว่า ก้านโปร่ง ลอกเปลือกแล้ว​ก็หั่น​เป็นท่อนๆ​ พอคำ ตำน้ำพริก ใส่พริกหนุ่ม ตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด หอมแดง ขมิ้นซะหน่อย​ ใส่ปลาร้าสับซักช้อน รวนน้ำพริก​กับเนื้อประหลาดุก แล้ว​ก็ใส่น้ำต้มสักพักพอสุก ใส่ก้านตูน สุกก็บีบมะกรูดใส่พอเปรี้ยวนิดๆ​ เติมน้ำปลาขวดละสองบาท​ห้าสิบซักสองจึ๊ก ​ถ้าเบื่อตูน​ที่แสนอร่อยก็ยังมีตำลึง​กับผักบุ้งนา​ที่ใบเล็กๆ​เรียว ก้านแดงๆ​ ยางเยอะๆ​ แกงออกมาน้ำ​จะข้นคลั่ก ​แต่มีเทคนิคว่า​ถ้า​เป็นแกงผักบุ้งเนี่ย​ต้องตำพริกหนุ่มให้ละเอียดน้อยหน่อย​ให้เปลือกพริกลอย​ไปทั่วหม้อ ตักผัก​กับเนื้อหมดหม้อเหลือ​แต่น้ำแกง ผมชอบ​เอาข้าวเหนียวคลุกแฉะๆ​ เหมือนคลุกข้าวให้หมา แล้ว​ลิงอย่างผมก็ตักกิน แหม...​มันอร่อยเหลือเกิน

สารพัดปลา​ที่​ได้มาไม่เคยเหลือ ยายชอบ​เอามาทำปลาแห้ง หรือไม่ก็แช่เกลือตาก แล้ว​ก็​เอาใส่ชะลอมหรือกระด้งห้อยไว้บนเตาไฟ รมควันไว้ เก็บไว้กิน​ได้​ทั้งปี ปลาแห้งก็ย่างตำน้ำพริกตอนหน้าแล้ง กิน​กับใบชะพลู ใบโกศล ชะอม ตำลึงลวก อร่อยเหมือนกัน ญาติพี่น้องเยอะๆ​ ​ใคร​ไป​ใครมาอยากกินก็แบ่งกัน​ไปกิน ไม่​ได้หวงไว้กินเอง เราให้แกงปลาเค้า​ไปถ้วยนึง อีตอนเค้า​เอาถ้วยมาส่งเค้าก็​ต้องส่งมา​พร้อมแกงไม่นกก็หนู หรือไม่ก็น้ำพริกอะไร​ซักอย่างนึง เหมือน​กับว่าแบ่งกันกิน แบ่งกัน​ใช้ เงินมันก็เลย​ดูเหมือนว่าไม่จำ​เป็นซักเท่าไหร่นัก ไม่รู้เหมือนกันว่า​ที่อื่นเค้า​จะมีธรรมเนียมอย่างแถวบ้านผมหรือเปล่า

นอกจากปักเบ็ดแล้ว​ ช่วงข้าวตั้งท้องผมยังมีกิจกรรมสนุกๆ​ ทำในนาข้าวนอกจากการปักเบ็ด ตกกบไงครับ​ คันเบ็ดตกกบเนี่ย​ต้องทำจากไม้รวกคัดอย่างดี ปล้องยาวๆ​ ตรงๆ​ ตัดยาวกะว่า​เอาให้ยาว​ที่สุด​ที่ผม​จะยกไหวละกัน ​ได้คันมาก็​ต้อง​เอา​ไปให้น้าชายช่วยลนไฟดัดให้ ลิงอย่างผมเนี่ยดัดเองไม่​ได้หรอก ลน​ไปลนมาใจร้อนไหม้​พอดี ดัดเสร็จก็ผูกโคนไม้รวกติดกิ่งไม้ แล้ว​ผูกหินห้อยไว้ปล่อยซักสองอาทิตย์ รับรองยังไงมันก็ตรง ทโมนอย่างผมขี้เกียจหาหินให้​เมื่อยก็เล่น​เอาโม่ของยายนี่แหละ​ห้อยซะเลย​ ผูกก็ง่ายมีรูเจาะอยู่​แล้ว​ น้ำหนักก็​พอดี ​แต่อย่าให้แม่รู้เชียวนะ ลิง​จะ​ได้วิ่งหนีไม้เรียวแทบไม่ทัน โทษฐานทำอะไร​ขึด (มันแปลว่าอะไร​ผมก็ไม่รู้แฮะ หาภาษากลางเหมาะๆ​มาแทนไม่​ได้)

สายเบ็ดกบสมัยก่อนไม่มีสายเอ็นตราระฆัง ใหม่ๆ​ก็​ต้องอ้อนแม่หรือยายให้ปั่นเชือกว่าวให้ตีเกลียวพันกันซักสองเส้น หลังๆ​ก็ครูพักลักจำทำเองซะเลย​ ตะขอก็​ต้องอาศัย​ความรู้มาก แอบจิ๊กตะปูสองจากกระป๋องเครื่องมือตา แล้ว​​เอามาช่วยกันเผา ตียืดหน่อย​ แบนตรงปลายแล้ว​​ใช้ตะไบ​แต่งเงี่ยง ​แต่งคม แล้ว​ก็เผาให้แดง ค่อยๆ​ดัด กว่า​จะ​ได้เบ็ดตัวงอโค้งสวยๆ​ซักตัว หมดตะปู​เป็นสิบ ​ถ้าโชคดีมากๆ​ ก็หาก้านร่มมาทำ​ได้ เหล็กก้านร่ม​จะ​เป็นเหล็กสปริง ชุบ​ได้แข็ง แล้ว​ก็คมนาน ​แต่เวลาทำ​ต้องอย่าให้เสีย ไม่งั้นพรรคพวกในแก็งค์บ่นกันงึมงำ ​เพราะกลัวเศษ​ที่เหลือ​จะไม่พอทำตะขอ​ได้ทุกคน ทำกัน​ไปก็คุยข่มกัน​ไปว่าตะขอตัวเอง​ทั้งสวย​ทั้งดี แหม​แต่พอ​ไปตกกันจริงๆ​ วัดหลุดๆ​ กันทุกทีนะแหละ​

เหยื่อตกกบก็ไม่มีอะไร​มาก เด็ดดอกชบามั่ง ดอกมะเขือมั่ง เผลอๆ​ หาอะไร​ไม่​ได้ก็เล่นดอกเข็มนี่แหละ​ เด็ดดอกบานๆ​​ไปซักช่อนึง ล่อกบ​ได้​ทั้งวัน ​แต่พอโตขึ้น​มาหน่อย​ผมชอบ​ใช้เชือกฟางทำ​เป็นพู่ แล้ว​​ต้อง​เป็นเชือกฟางสีแดงเท่านั้น​ ไม่รู้เหมือนกันว่าสีอื่นมันกินหรือเปล่า ไม่เคยลองสักที ​ถ้าไม่ขี้เกียจผมก็​จะหาไส้เดือนแหวนนี่แหละ​เกี่ยวมันซะเลย​

ตกกบเนี่ยทำง่ายๆ​ เดินเบาๆ​ ตามคันนาตาก็จ้องตามป่าข้าว ตรงไหนน้ำ​เป็นห้วงๆ​ แล้ว​มีเนินโคลนหน่อย​ก็หย่อนเบ็ดลง​ไป​ระหว่างกอข้าว กระดกขึ้น​ลง ​ถ้ามีกบอยู่​ใกล้ๆ​หยกซักสองสามครั้งมันก็งับ เดิน​ไปก็สุ่มหยก​ไปเรื่อยๆ​ หยกเบื่อๆ​ก็เดิน​ไปนอนเล่นข้างห้วย หาเรียวไผ่ยาวประมาณวานึง เสี้ยมปลายให้แหลม ​ใช้คู่​กับหนังสะติ๊ก​เอาไว้ยิงปลา สมัยนั้น​ปลาหมอยังไม่มี ​จะมีก็ปลาขาว ปลาปก ปลาบี้ ยิงปลาเบื่อก็ตกกบต่อ บ่ายสามบ่ายสี่แก็งค์ทโมนไพรก็สะพายข้องแบกคันเบ็ดยาวๆ​กลับบ้านกัน กบ​ได้มาก็แบ่งกัน ​ใคร​ได้หลายตัวก็แบ่งกบตัวเล็กๆ​ให้​เพื่อน​ที่​ได้น้อย ยังไงก็​ได้​กับข้าวกลับ​ไปกินกันทุกคน ขาเดินกลับบ้านก็หาผักบุ้ง ผักแว่น ตำลึงตามข้างทาง หรือไม่ก็ขโมยข้างรั้วชาวบ้านเค้า สนุกตามประสาเด็กๆ​ ไม่เห็น​ต้องกลัววว่า​จะติดเกมกด เกมคอมพิวเตอร์เหมือนสมัยนี้ ​ถ้า​จะติดก็ติดอย่างเดียว​คือติดป่า อาทิตย์ไหนไม่​ได้​ไปเดินเล่นม่อนดงซางมันเหมือนว่าขาดอะไร​​ไปซักอย่าง อย่างน้อยก็​ต้อง​ไปหายิงนกยิงหนู​ไปตามประสา

มาถึงเมนูกบกันดีกว่า กบเนี่ยถือว่า​เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี มีแคลเซี่ยมสูง ​เพราะว่ากิน​ได้​ทั้งกระดูก กบแถวบ้านเวลาทำ​กับข้าว​จะไม่ลอกหนัง​แต่​จะเผาให้หนังไหม้เกรียมล้างน้ำ ควักกระเพาะออก แล้ว​ก็สับ ‘ขาโอ้’ หรือ 'ขาปุ่ม' ออกมา ​ที่เหลือก็สับ​เป็นชิ้นเล็กๆ​ ​จะคั่ว ​จะยำกบก็ตามใจ ยำก็ทำเหมือนงู ​ต้อง​เอากบ​ไปต้มตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้นก่อน ​แต่ไม่​ต้องแกะเนื้อเหมือนงู ตำน้ำพริกลาบ คั่วซะหน่อย​แล้ว​เทหม้อ​ได้เลย​

เด็กๆ​อย่างผมมีอภิสิทธิ์ในการกินสูง ผม​จะจองขากบไว้ ​โดยเฉพาะ แล้ว​ดูเหมือนยาย​จะรู้ใจ ​เอา​แต่ขากบมาใส่ในถ้วยแกงของผม​ที่เผ็ดน้อยหน่อย​ อื้อหือ!!! ขาอวบๆ​ กระดูกอ่อนๆ​ คิดแล้ว​น้ำลายสอ

มาถึงยุคนี้​ที่กบนาตัวเหลืองๆ​ หายากเต็มที มี​แต่ก็กบบลูฟ็อกซ์หัวเขียวๆ​ ไม่น่าเชื่อว่ากบ​ที่หา​ได้ถมเถหลังบ้าน​จะกิโลละ​เป็นร้อย ไม่เชื่อลอง​ไปกินขากบน้ำแดง​ที่สิงคโปร์ แถวๆ​เกลังดูสิ จานนึงหลายร้อย กินทุกมื้อจนตาย​พอดี!!!

 

F a c t   C a r d
Article ID A-1280 Article's Rate 13 votes
ชื่อเรื่อง เรื่องเล่าจากซอกดอย : ปิดเทอมหน้าฝน
ผู้แต่ง เชิงดอย
ตีพิมพ์เมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ฉันเขียนให้เธออ่าน
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๘๒๕ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๗ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๕๔
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-6441 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 28 พ.ย. 2548, 11.03 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : แสนรัก [C-6449 ], [133.70.6.184]
เมื่อวันที่ : 28 พ.ย. 2548, 18.42 น.

น่าสนุกนะคะ​ ​แต่ดู​จะโลดโผนเกิน​ที่เด็กผู้หญิง​จะเล่นอ่ะนะ ...​ไอ้หนามดินเนี่ย..ไม่แน่ใจว่าใช่​ที่​เขาเรียก โคกกระสุน หรือเปล่า ต้นมัน​จะอยู่​ติดๆ​พื้น คล้ายๆ​ไมยราพ ดอกสีเหลืองๆ​เล็กๆ​ ​แต่ลูกมันน่ะหนามแหลม มาก เคยขี่จักรยานล้ม​ไปทับมันที...​โห...​​ได้เลือดเลย​อ่ะค่ะ​...​​ส่วนเมนูกบนั้น​..ไม่ไหวค่ะ​ เคยเห็นตอน​เขาทำมันแล้ว​กินไม่ลง สงสารมัน...​แถวบ้าน​เขา​ใช้ไฟส่องแล้ว​​เอาฉมวกแทงอ่ะ...​.​ส่วนปลานั้น​​ที่บ้านติดแม่น้ำน้าชาย​ต้องลอยข่าย​เป็นประจำ...​ทำน้ำยามั่ง ย่างมั่ง..แล้ว​ก็..ทำน้ำปลาน่ะค่ะ​ ...​

ช่วงแรกๆ​พิมพ์ตกเยอะเหมือนกันนะคะ​...​​เป็นเหมือนกันเวลารีบๆ​พิมพ์ สงสัยงานนี้เจ้านาย​จะอยู่​ใกล้อีกแน่ๆ​เลย​...​อิอิ

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : กางเขนดง [C-6450 ], [161.200.40.6]
เมื่อวันที่ : 28 พ.ย. 2548, 19.30 น.

อ่ะจ้าก เบรคเอี้ยดด โดนคุณแสนรักปาดหน้า ฮ่า ๆ​
ใจเดียวกันเลย​ค่ะ​ ​กำลัง​จะบอกว่า ไอ้หนาม ๆ​ ​ที่ว่า หนะเค้าเรียกโคกกระสุนหรือเปล่า ฟังจาก​ที่คุณเชิงดอยบรรยาย เคยเห็นค่ะ​ ​แต่ยังมิเคยโดน ​เพราะ ​เป็นเด็กเมือง คริก ๆ​

ขอสมัคร​เป็นลูกน้อง เดินตามลูกพี่เชิงดอยดีกว่า ลูกพี่พาลุยเ​ที่ยวไหน ลูกน้อง​จะขอตาม​ไป มอมแมม ดินเลอะหน้าก็ไม่ว่ากัน นะลูกพี่นะ

ตะก่อนตอนเด็ก เคยตามลูกพี่คนนึง ​ไปตกปลา ในเมืองนี่หละค่ะ​ ไส้เดือน มัน​เอายาก บรรดา ตั๊กแตน แมลงสาบ เลย​ตก​เป็นเหยื่อ (ตอนเด็กใจร้ายจัง ก็ตามลูกพี่อ่ะ) ​ได้​แต่ปลาสลิด ปลาหมอ

ฟังบรรยาย เรื่อง​ข้าว แกงตูน (หิวจัง) แล้ว​ทำให้นึกถึง แกงเหลือง​ที่ใส่ คูน หรือ ทางใต้​จะเรียก ออดิบ ต้นเหมือนบอนค่ะ​ กินใส่ส้มแขกหน่อย​ เปรี้ยวปริ๊ดส์ สะใจ ว่ากันว่า แกงเจ้านี่​ต้องเปรี้ยว ไม่งั้นกินแล้ว​คัน ​เป็นงั้นป่ะคะ​ ลูกพี่เชิงดอย

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : Rotjana Geneva [C-6451 ], [83.176.37.130]
เมื่อวันที่ : 28 พ.ย. 2548, 19.52 น.

"​แต่อย่าให้แม่รู้เชียวนะ ลิง​จะ​ได้วิ่งหนีไม้เรียวแทบไม่ทัน โทษฐานทำอะไร​ขึด" สงสัยคำว่า "ขึด" น่า​จะตรง​กับคำว่า "พิเรน" ในภาษาภาคกลาง พอ​จะรับไหวไหมคะ​ ลูกพี่เชิงดอย เอ๊ย คุณเชิงดอย

แหะ แหะ ไม่รู้จักลูกหนามดิน ​และอะไร​หลาย ๆ​ ​ที่บรรยาย ​แต่มาอ่าน​เป็น​ความรู้ค่ะ​

สมัยเด็ก ๆ​ รจนาโตในเมือง เลย​ยิงนกตกปลาตกกบไม่​เป็น ขี่ควายไม่​เป็น แม่ทำขนม​กับ​กับข้าวเก่งก็เลย​ถนัด​ไปทางนั้น​ ​แต่บ้านเราก็ทำน้ำปลาปลาสร้อยเอง (เหมือนบ้านแสนรักก็ทำน้ำปลานิ) แล้ว​ยังทำปลาร้าปลาช่อน มะม่วงแผ่นเองด้วย

ห้าห้า ไม่รู้ว่าต่อ​ไปกางเขนดง​จะกลาย​เป็น "ลูกพี่กางเขนดง" ด้วยคนหรือเปล่า

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๕ : เชิงดอย [C-6456 ], [203.153.169.104]
เมื่อวันที่ : 29 พ.ย. 2548, 00.10 น.

อ้าแม่นแล้ว​ครับ​ โคกกระสุนนั่นแหละ​ ต้นติดดินดอกเหลืองๆ​
ไอ้เจ้าตูนเนี่ยน่า​จะ​เป็นอย่าง​ที่ว่านั่นแหละ​ครับ​ ไม่รู้ว่าเค้าเรียกว่าอะไร​ คันไม่คันแล้ว​​แต่คนครับ​ บางคนไม่คัน บางคนกินแล้ว​ก็คันปากยิบๆ​

ขึดเนี่ยรู้สึกว่า​ภาษาอีสานเค้าเรียกว่าขะลำหรืออะไร​ทำนองนี้แหละ​ จำมาจากลูกอีสานอีกที มันหมาย​ความประมาณว่า ทำแล้ว​หากินไม่ขึ้น​ ผิดรีต ผิตธรรมเนียม...​.ผิดผีก็น่า​จะเกี่ยวนิ

น้ำปลานี่แม่ผมทำประจำ หลังจาก​ที่ทำปลาร้าไม่สำเร็จแล้ว​มันดันเค็ม​ไปหน่อย​หนอนน้อยก็เลย​ไม่กล้าขึ้น​ หมักไว้ซักครึ่งปี กรองน้ำใสออกมาต้มใส่ขวดแม่โขงทิ้งไว้ ​ได้น้ำปลาสดๆ​ ขนมจีนสดๆ​ทำจากข้าวจ้าวหมัก กระซวกน้ำปลาสามจึ๊ก โรยผักชี ใบหอม สะระแหน่ ซะหน่อย​ อร่อยซะไม่มี

อย่าให้ผม​เป็นลูกพี่เลย​ เดี๋ยว​ได้พาหัวร้างข้างแตก หรือไม่ก็เข้ารกเข้าพงแน่ๆ​ ผมขอ​เป็นลูกน้องละกันครับ​ คนมาหลังเนาะ ให้เดินข้างหน้า​ได้ยังไง เดี๋ยวขึดตายเลย​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๖ : pilgrim [C-6652 ], [82.3.32.76]
เมื่อวันที่ : 06 ม.ค. 2549, 05.32 น.

เพิ่งมาตามเก็บอ่านค่ะ​ คุณเชิงดอย อ่านทีไร หิวทุกที เรื่อง​กบก็เคย​ไปกิน​ที่แม่ฮ่องสอนนะคะ​ รู้สึก​จะ​เป็นขากบทอด ​เขาบอก​เป็นเมนูดังของทางโน้น ​แต่นาน จนจำรสชาติไม่​ได้แล้ว​ค่ะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๗ : พรานเก่า [C-16598 ], [61.7.253.2]
เมื่อวันที่ : 15 ธ.ค. 2552, 14.18 น.

มา​เป็นคนเมืองซะนาน อยากกลับ​ไปล่าไก่ ไล่หมู นั่่งห้างยิงกวาง ดักแย้ ดักกระต่ายจัง ...​.. สมัยนี้มัน​จะ​เป็น​ไป​ได้มั้ย ...​...​ อยากกินแกงผักหวาน​กับเห็ดถอบเห็ดขอนยังหากินไม่​ได้เลย​ ...​...​. สมัยนี้คน​ที่​จะมีโอกาสนั่งห้างส่องสัตว์ (​เขาส่องกันด้วยกล้องราคาแพงๆ​) ​กับกินอาหารป่ารสเด็ดๆ​ คง​จะมี​แต่คนมีกะตังค์​ที่มีเงินซื้อรถเก๋งติดแอร์​ไปพักตากอากาสตามรีสอร์ทหรูๆ​ตามป่าตาม​เขาล่ะมั้ง คนบ้านป่าบ้านดง พอหมดป่าก็แทบ​จะหมดหนทาง ชีวิตบ้านป่าของญาติพี่น้องผมก็เลย​กลาย​เป็นชีวิตโรงงาน​กับนักธุรกิจ โดนขังอยู่​ในรั้วโรงงาน​กับงานๆ​ๆ​ๆ​ จนลืมบ้านเกิดลืมชีวิตป่าไม่มีเหลือ ...​...​ โชคดี​ที่ผม​ได้มารับราชการมันก็เลย​ยังเหลือ​ความทรงจำบ้าง ...​...​. ขอบคุณ​ที่ยังมีคนช่วยเขียนเรื่อง​แบบนี้ไว้ให้อ่าน ...​...​.

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น