![]() |
![]() |
SONG-982![]() |
...เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า โดยทั่วไปแล้วนวนิยายผูกเรื่องขึ้นโดยอาศัยมิติเวลา ส่วนภาพวาดนั้นอาศัยมิติสถานที่ แน่ละงานศิลปะทั้งสองประเภทนี้ ย่อมผูกพันกับมิติทั้งสองในงานชิ้นเดียวกันได้ แต่โดยที่มิติเวลาจะปรากฏเด่นชัดในนวนิยาย...
การอ่านปุริมบทนวนิยายถ้าจะขึ้นต้นบทความนี้ว่า นวนิยายเริ่มต้นเรื่องอย่างไร หรือผู้แต่งเริ่มต้นนิยายอย่างไร ผู้อ่านก็คงจะเข้าใจชื่อบทความเรื่องนี้ ปุริมบทหมายถึง ตอนต้น หรือตอนต้นๆ ของนวนิยาย โดยปกติแล้วผู้แต่งจะอาศัยเสียงผู้เล่าเรื่องนำผู้อ่านเข้าสู่ตัวบทด้วยการตอบคำถามสามประการ ได้แก่ เมื่อใด (เวลาที่เกิดเรื่อง) ที่ไหน (สถานที่ที่เกิดเรื่อง) และใคร (ตัวละคร)
ที่เรียกว่าตอนต้น หรือตอนต้นๆ หรือปุริมบทนั้น จะตัดตอนที่ตรงไหน ไม่มีคำตอบตายตัว ปุริมบทอาจยาวเพียงแค่หนึ่งย่อหน้า หนึ่งหน้า หรือหลายหน้า หรือบทแรกทั้งบท ปุริมบทอาจตอบคำถามทั้งสามประการไม่ครบ ผู้อ่านอาจทราบว่าเรื่องเกิดที่ใด ตัวละครเป็นใคร แต่ไม่ทราบว่าเรื่องเกิดเมื่อใดก็ได้ หรืออาจจะทราบตัวละคร ทราบเวลา แต่ไม่ทราบสถานที่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้แต่งว่าจะให้ทราบแต่แรก (ในช่วงปุริมบท) หรือในภายหลัง ให้ทราบโดยบอกชัดเจน หรือบอกอย่างคลุมเครือ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะปะติดปะต่อข้อมูลขึ้นเอง
เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า โดยทั่วไปแล้วนวนิยายผูกเรื่องขึ้นโดยอาศัยมิติเวลา ส่วนภาพวาดนั้นอาศัยมิติสถานที่ แน่ละงานศิลปะทั้งสองประเภทนี้ ย่อมผูกพันกับมิติทั้งสองในงานชิ้นเดียวกันได้ แต่โดยที่มิติเลาจะปรากฏเด่นชัดในนวนิยาย ในการศึกษาปุริมบท คำถามแรกจึงเป็นคำถามเกี่ยวกับเวลา
การเล่าเรื่องก็คือการนำเรื่องทีเกิดขึ้นแล้วในอดีตมาเป็นเรื่องเล่าในเวลาปัจจุบัน มิติเวลาและเรื่องเล่าจึงมีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่องหนึ่งๆ ย่อมแสดงช่วงเวลา (ชีวิตทั้งชีวิตของแม่พลอยในสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เวลาสองวันกันหนึ่งคืน ใน ทางเสือ ของศิลาโคมฉาย ช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมง ในการดูละครเรื่องหนึ่งใน เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ) แต่มิติเวลาที่ปรากฏในปุริมบทนั้น เป็นเรื่องของชั่วขณะที่เริ่มเรื่องเล่า และของความห่างของช่วงเวลา กล่าวคือ ความห่างระหว่างเวลาที่เรากำลังอ่านนวนิยายกับเวลาที่เขียนหรือตีพิมพ์นวนิยาย และเป็นความห่างระหว่างเวลาขณะเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริงกับเวลาที่ผู้เล่าเรื่องนำมาเหล่า
คำพูน บุญทวี ขึ้นต้น ลูกอีสาน ของเขาดังนี้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
"๔๗ ปี ครั้งกระโน้น... มีเรือนเสาไม้กลมหลังหนึ่ง ยืนอาบแดดอันระอุอ้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าวอันสูงลิ่ว ยามลมพัดฉิวมาแรงๆ ผู้เป็นพ่อจะบอกลูกเล็กทั้ง ๓ คน ให้รีบลงไปอยู่ที่อื่น มะพร้าวต้นนี้อาจจะหักลงมาทับเรือนเอาก็ได้ เด็กๆ ที่อยู่บนเรือนอาจจะแขนขาหัก
ถ้าลมพัดไม่แรงนัก เด็กทั้งสามก็จะพากันนอนฟังเสียงซู่ซ่าตามข้างฝาและมองหลังคาสายตาเขม็ง ฝากั้นตับหญ้าคามุงหลังคาถูกแดดเผาจนแห้งกรอบ เมื่อโดนลมพัดมันจึงมีเสียงซ่าๆ ถ้ามีเสียงพ่อบอกว่า แล่นลงไปไวๆ ก็จะได้วิ่งลงไปเร็วที่สุด..."
ผู้แต่งขึ้นต้นเรื่องคล้ายนิทาน "ในกาลครั้งหนึ่ง ยังมีปราสาทหลังหนึ่ง" ในที่นี้เป็น " ๔๗ ปีครั้งกระโน้น....มีเรือนเสาไม้กลมหลังหนึ่ง" ผู้แต่งไม่ได้เขียนว่า "เมื่อ ๔๗ ปีที่แล้ว ในครั้งกระโน้น" แต่ก็พอจะอ่านความได้เช่นนั้น การขึ้นต้นทำนองนิทานนี้ อาจเป็นเพราะตัวละครเอกของเรื่องเป็นเด็กชายตัวน้อยๆ
นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยสำนักพิมพ์บรรณกิจ จากวลีแรกของนวนิยาย " ๔๗ ปี ครั้งกระโน้น" เมื่อบวกลบตัวเลขแล้วก็พอจะตีความได้ว่าเรื่องเกิดประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๒
พ.ศ. ๒๔๗๒ ให้ความหมายแก่ผู้อ่านมากมาย เรื่องเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีพ.ร.บ.ว่าด้วยการศึกษาทวยราษฎร์แล้วแต่การกระจายการศึกษายังไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัด ถนนหนทางยังมีไม่มาก การคมนาคมในชนบทยังอาศัยเกวียน และเมื่อนำมิติเวลามาผูกพันกับมิติสถานที่ -- ในที่นี้คืออีสาน สภาพชีวิตในนวนิยายก็เด่นชัดขึ้น ความแห้งแล้ง ความร้อนการขาดแหล่งน้ำ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของอีสานเป็นสิ่งอธิบายคุณภาพชีวิตของคนอีสานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้อย่างดี ในขณะเดียวกัน ผู้อ่านที่อ่านเรื่องนี้ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ ย่อมมีภาพ "อีสานเขียว" อยู่ในใจที่ต่างไปจากผู้อ่านใน พ.ศ. ๒๕๑๙
ผู้เล่าเรื่องไม่ได้ระบุเวลาเริ่มต้นเรื่องชัด ผู้อ่านทราบเพียงแต่ว่ามีแดดจัดแล้วเด็กๆ นอนในเรือน คน ที่รู้จักอีสานย่อมรู้ว่าในช่วงแดดจัดนั้นไม่มีอะไรจะดีกว่าการนอนพักหลบแดดเพื่อสู้กับความร้อนในที่ๆ มีร่มบัง เนื่องจากเรื่องนี้เล่าโดยมีเด็กน้อยเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เขากำลังเรียนรู้การดำรงชีวเตจากพ่อ การเล่าจึงผูกพันกับลักษณะเด่นของภาคอีสานคือ ลักษณะภูมิอากาศ เขาจะต้องเรียนรู้การหลบภัยจากธรรมชาตินี้
ชาติ กอบจิตติ ขึ้นต้น คำพิพากษา ด้วยบทนำให้ภูมิหลังตัวละครเอกและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนตอนเริ่มนวนิยาย ในการศึกษาปุริมบทนี้จะศึกษาย่อหน้าแรกๆ ของ บทที่ ๑ ผู้แต่งเริ่มเรื่องดังนี้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
"ภายในห้องสี่เหลี่ยมมืดสลัว....
หน้าต่างบานแรกเปิดแง้มออกกว้าง แสงสีเหลืองอ่อนสาดส่องเข้ามา เห็นเงารำไรของโต๊ะเรียนรายเรียงเป็นแถว หน้าต่างบานที่สิงเริ่มเปิดออก แสงสว่างเพิ่มมากขึ้น สีสันภายในห้องเริ่มชัดเจนแยกออกจากกันที่กระดานดำ (สีเขียว) หน้าห้องเรียน ด้านบนสุดตามความยาวของกระดานมีตัวอักษรเขียนว้า : วันที่ .......เดือน........พ.ศ. ๒๕..... ด้วยสีขาว รางไว้ชอล์กด้านล่างสุดสีดำ เศษชอล์กแท่งสั้นๆ คลุกปนกับฝุ่นสีขาวอยู่ในราง แสงสว่างเพิ่มขึ้นอีกเมื่อหน้าต่างบานที่สามเปิดออก โต๊ะครูประจำชั้นอยู่ด้านขวาของกระดานดำ เก้าอี้ ถูกดันเก็บไว้ในลักษณะชิดกับตัวโต๊ะ บนโต๊ะมีกล่องชอล์กสีกากี และแจกันแก้วสีแดงซึ่งเสียบไว้ ด้วยดอกเยบิร่าสีแดงคล้ำ ดอกเหี่ยวห้อยกลีบดอกลู่ย้อยลงพาดกันกลางแจกัน แสงสว่างส่องเข้ามาอีก ทำให้เงาของแจกันแก้วที่ระนาบลงบนโต๊ะ มีสีแดงเรื่อเจืออยู่ด้วย มุมห้องด้านหลังชั้นเรียนมีตะกร้าผงไม้กวาด ที่ตักผง วางสงบอยู่ เหนือมุมนี้ขึ้นไปคือหน้าต่างบานสุดท้ายที่กำลังจะถูกเปิดออก....
ปุริมบทนี้ขึ้นต้นด้วยสถานที่ ("ห้องสี่เหลี่ยม") และทราบว่าเรื่องเกิดที่โรงเรียน ("โต๊ะเรียน" "กระดานดำ" "ห้องเรียน") ก่อนที่จะทราบเรื่องเวลา ภายในย่อหน้าเดียวกัน ผู้แต่ได้ระบุเวลาไว้ด้วยตัวหนังสือบนกระดานดำ "วันที่.... เดือน.....พ.ศ ๒๕....." ผู้อ่านทราบว่าเรื่องเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ร่วมพุทธศตวรรษเดียวกับผู้อ่าน เมื่อมาดูปีที่พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๔ ก็พอจะตีความได้ว่าเรื่องนี้เกิดใน พ.ศ. ใดก็ได้ระหว่าง ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๒๕ ผู้แต่งไม่ต้องการระบุชัดเจน เพราะ "โศกนาฏกรรมสามัญที่มนุษย์กระทำและถูกกระทำอย่างเยือกเย็นในภาวะปกติ" นี้เกิดขึ้นในเวลาใดก็ได้ เกิดขึ้นซ้ำซากเมื่อใด (และที่ไหน) ก็ได้ทั้งนั้น
เรื่องเริ่มในยามเช้า "แสงสีเหลืองอ่อนสาดส่องเข้ามา" การเปิดประตุหน้าต่างห้องเรียนเป็นภารกิจที่ระบุเวลาปฏิบัติงาน คือยามเช้า ในย่อหน้าที่ ๒ ถัดมา ผู้แต่งยังได้ระบุเวลาเริ่มนวนิยายอย่างชัดเจนว่า "เช้านี้" ในย่อหน้าที่ ๖ ให้รายละเอียดว่า "เช้านี้เป็นเช้าที่สดใสอบอุ่นด้วยแสงแดด" และในย่อหน้าที่ ๑๑ กล่าวว่า "แต่ในตอนนี้ เป็นฤดูหนาว จึงไม่เคร่งครัดอันใดนักกับการล้างเท้า" มีการย้อนเวลาในย่อหน้าที่๑๐ เพื่อบอกภารกิจพิเศษเฉพาะฤดูกาลของตัวเอกชาย "ถ้าเป็นฤดูฝนฟักต้องยืนประจำเคยเฝ้าอ่านล้างเท้า"
กฤษณา อโศกสิน ขึ้นต้น ปูนปิดทอง ดังนี้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
บ้านติดลูกไม้ แลเห็นอยู่ตรงนั้น ....ใกล้เนื้อที่ว่างๆ สองสามแปลง แต่ไม่ไกลจากตึกรามขนาดและลักษณะต่างๆ บ้างถูกเรียกว่า บ้านหินอ่อน หรือ บ้านศิลาแลง ตามชนิดของวัสดุก่อนสร้างที่เจ้าของตกแต่งไว้ จนมองปราดก็รู้ว่าเขาชอบอะไรมากที่สุดหรือหายใจเป็นอะไร
แน่เหลือเกินว่า เจ้าของบ้านติดลูกไม้ คงหมายใจเป็นลวดลาย ฉลุสลักของไทยโบราณ บ้านของเขาขาว...ด้วยทรวงทรงงดงาม ไม่เชิงสมัยใหม่อย่างทรงลาดต่ำของบ้านแบบยุโรป มุงหลังคากระเบื้องโมเนียสีต่างๆ เพื่ออวดหลังคา แต่ไม่ใช่เทอะทะอย่างใหญ่เข้าว่า เหมือนบางบ้าน มองดูผาดๆ เหมือนจะเล็ก แต่ความจริงแล้วใหญ่ทีเดียว สูงตระหง่านสง่า มีลูกไม้ติดระบายอยู่รอบชายคา รอบหน้าต่าง และตามโค้งบางโค้ง
มีต้นปาล์มขวด สนฉัตร พุ่มใบของเถาไม้เลื้อย และกิ่งก้านของไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น มะม่วง ประดู่แดง ตาเบบูย่า ฯลฯ โผล่ขึ้นมาให้เห็นทั่วไป
คำในทั้งสามย่อหน้าแรกที่ยกมานี้ระบุสถานที่มากกว่าเวลา อย่างไรก็ตามหลายๆ คำที่ใช้พรรณนาสถานที่ได้บ่งชี้เวลาไว้ด้วย เช่น "บ้านหินอ่อน" (การสลักหินอ่อนใช้เองในประเทศไทยเกิดขึ้นในระยะเวลาร่วมสมัย) "บ้านศิลาแลง" (คนโบราณไม่ใช้ศิลาแลงสร้างบ้าน ใช้สร้างวัดหรือวังเท่านั้น) "กระเบื้องโมเนีย" (วัสดุมุงหลังคานี้ปรากฏในธุรกิจก่อสร้างในช่วงระหว่าง 10-15ปีมานี้...[บทความนี้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2538/ผู้พิมพ์]) "ตาเบบูย่า" (ต้นไม้ชนิดนี้หรือชมพูพันธุ์ทิพย์ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นผู้นำเข้ามาในประเทศไทยในช่วง ประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว) สรุปได้ว่าเรื่องเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้เช่นกัน และเมื่อดูปีที่พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ทำให้ทราบว่าเรื่องควรจะเกิดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๕
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นเรื่องนั้นเป็นเวลาบ่ายจัดแล้ว ผู้เล่าเรื่องระบุไว้ในหน้าที่ ๓ ในคำบรรยายต้นชวนชม "ดอกสีชมพูอมแดงบานกระจ่างอยู่ในแสงแดดตอนห้าโมงเย็น" และผู้อ่านก็ทราบว่าเรื่องเริ่มในวันศุกร์จากคำพูดของตัวเองชายในหน้าเดียวกันในช่วงต่อมาว่า "พรุ่งนี้ยังมีน่านา......วันอาทิตย์อีกทั้งวัน" ผู้แต่งเปิดตัวละครเอกชายในบ่ายวันศุกร์หลังเลิกงานเพื่อที่จะให้ผู้อ่านเริ่มรู้จักเขาในด้านชีวิตส่วนตัว
นิคม รายยวาเริ่มต้น ตลิ่งสูง ซุงหนัก ดังนี้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคือ มันตัวสูงใหญ่ ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้างห่อใบตองขึ้นไปให้เขา
"ขอพร้าด้วย มะจัน" ควาญหันไปบอกขณะเธอคล้อยหลังจะขึ้นเรือน ช้างน้าวกิ่งมะขามเหนือหัว ใบร่วงพรู เรารับมีดพร้าเหน็บเข้าสะเอว คลี่ผ้าขาวม้าโพกหัว แล้วกระตุ้นช้างออกจากร่มเงาสู่แดดเช้าที่สดใส มันระหญ้าเปียกน้ำค้างเลาะไปตามขอบตลิ่ง มะจันกำลังหาบถังเปล่าเดินอยู่ข้างหน้า ลมหนาวพัดแรง ผมเธอปลิวสยาย แก้มแดงเรื่อ เธอเบนไม้คานบนบ่า แล้วยกเท้าก้าวลงบันได หายลับไปข้างล่างตรงที่ผิวน้ำสะท้อนแสงขึ้นมายิบยับ
ในคำบรรยายเริ่มเรื่องนี้ ผู้เล่าเรื่องให้ข้อมูลด้านตัวละคร (ช้าง ควาญ และหญิงบนเรือน) ก่อน ตามด้วยข้อมูลด้านสถานที่ (เรือนมีบันได ต้นมะขาม ขอบตลิ่ง) และข้อมูลบอกเวลาขณะเริ่มเรื่อง (แดดเช้าที่สดใส หญ้าเปียกน้ำค้าง ลมหนาวพัดแรง) นับว่าเป็นการเริ่มต้นเรื่องที่ตอบคำถามทั้งสามประการ (เมื่อใด ที่ไหน ใคร) ครบถ้วน ในประเด็นมิติเวลา การเริ่มเรื่องในตอนเช้าอาจเป็นเพราะผู้แต่งต้องการแสดงชีวิตในแต่ละวันของตัวละครเอกทั้งสาม เหมือนชีวิตประจำวันของฟักในคำพิพากษา ในแง่ของความห่างระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับช่วงเวลาที่ผู้แต่งเขียนนั้น ผู้แต่งจงใจที่จะไม่กล่าวถึงทั้งในปุริมและตลอดเรื่อง การแสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต อันเป็นแก่นเรื่องหลักของนวนิยายเรื่องนี้มีสภาวะเป็นอนันต์และมีความเป็นสากลจนผู้แต่งไม่จำเป็นต้องยึดติดกับมิติเวลา ผู้อ่านที่อยากทราบว่าเรื่องเกิดในสมัยใดจึงต้องอาศัยปีที่เขียน หรือปีที่พิมพ์ครั้งแรกเป็นหลัก (ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๗)
มาลา คำจันทร์ เริ่มต้น เจ้าจันท์ผมหอม ดังนี้
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เดือนตกไปแล้ว ดาวแข่งแสงขาว ยิบๆ ยับๆ เหมือนเกล็ดแก้ว อันสอดสอยร้อยปักอยู่เต็มผ้าดำผืนใหญ่ วูบวาบวิบวับส่องแสง ใหญ่แลน้อย ใกล้แลไกล บางดวงแสงหนาวดูเย็นยิ่ง บางดวงกระพริบพร่องพร้อย ดั่งดาวใหญ่น้อยแย้มยิ้มหยอกเอินกัน บางดวงสุกขาวเหมือนตาสาวน้อยลอบแลบ่าวหนุ่มอยู่หลังแม่ บางดวงก็เก่าหม่นเหมือนถ่านไฟหมกเถ้าก็มีพร้อมแล้ว
หนาวๆ นกร้อง ลมหัวรุ่งเลียบเลาะราวไพรดังหวือๆ ป่าไม้ลั่นเสียงอื้ออึง มืดดำคล้ำเข้มอยู่นัก ยังอีกนานกว่าแสงแรกจะรุ่งเรื่อระบายฟ้า ลูกนกคงหนาวจึงอ้อนอกแม่ ว่าแม่เอ๋ยแม่ ลูกนี้หนาวขอเข้าซุกอกแม่ สักน้อยหนึ่งเทอะ
ในคำพรรณนาท้องฟ้าและป่าอันบ่งบอกมิติสถานที่นี้ มีมิติเวลาแฝงอยู่อย่างชัดเจน "เดือนตกไปแล้ว ดาวแข่งแสงขาว" "ผ้าดำผืนใหญ่" "หนาวๆ" "ลมหัวรุ่ง" "มืดดำคล้ำเข้ม" ล้วนแต่บอกเวลาที่ค่อนข้างมาทางใกล้รุ่ง คำพรรณนาที่ว่า "ยังอีกนานกว่าแสงแรกจะรุ่งเรื่อระบายฟ้า" เป็นคำบอกเวลาที่ชัดเจนที่สุด สองย่อหน้าแรกของปุริมบทนี้ บอกช่วงเวลาเริ่มเรื่อง
ผู้แต่งเรื่อง เจ้าจันทร์ผมหอมฯ ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาที่เกิดเรื่องในบทแรกนั้นระบุ พ.ศ. ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเป็นปีเกิดของตัวละครเอก "เจ้าจันทร์เกิดเมื่อปีเปิกเส็ด พ.ศ. ๒๔๔๑ คนเกิดปีเส็ดหรือปีจอ มีพระธาตุมหาจุฬามณีบนสวรรค์เป็นพระธาตุประจำปีเกิด" การบอกปีเกิดนี้ เมื่อผู้อ่านมาบวกกับอายุของตัวละครในขณะเริ่มเรื่อง ก็จะทราบว่าเรื่องเกิด พ.ศ.ใด การระบุ พ.ศ. ครั้งที่สองอยู่ในคำพูดของตัวละครเอก กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คือ การเลิกทาส "พี่ก็ ใช่ข้าใช่ทาสกันที่ไหน เจ้าพ่อบอกว่าอำนาจอาชญาชาวใต้ขึ้นมา ปล่อยทาสไปหมดแล้วแต่เมื่อปี ๒๔๔๓ โพ้นแล้ว"
การระบุ พ.ศ. อย่างชัดเจนนี้ ผู้อ่านจะได้ทราบต่อมาว่ามีความเกี่ยวกันพับเนื้อเรื่อง ภูมิหลังของตัวละครเอก และการตัดสินใจของตัวละครเอก
ตัวอย่างการแสดงมิติเวลาในปุริมบทนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรท์ทั้งห้าเรื่องนี้คงพอจะชี้ให้เห็นแล้วว่า นักประพันธ์แต่ละคนมีวิธีการไม่เหมือนกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ของนวนิยาย ได้แก่ แก่นเรื่อง เนื้อเรื่อง และตัวละคร นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการอ่านมิติเวลาในคำพรรณนาสถานที่นั้นเป็นสิ่งทีกระทำได้ เพราะเวลาและสถานที่ร่วมมิติกันอยู่เสมอ
ที่ไหน
สถานที่ในนวนิยายย่อมเป็นสถานที่สมมุติหรือสถานที่ที่สร้างขึ้นด้วยอักษร นักประพันธ์แนวสัจจนิยมมุ่งเสนอภาพสถานที่ให้ดูสมจริงที่สุด จึงนิยมพรรณนาเลียนตามความเป็นจริง เป็นการสร้างภาพลวงตาให้ผู้อ่านเชื่อตั้งแต่เริ่มแรก ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้นๆ เป็นเรื่องจริง นอกจากการพรรณนาตามลักษณะสถานที่จริงแล้ว นักประพันธ์ก็นิยมใช้ชื่อเฉพาะของสถานที่จริง (คลองสาน ใน สองฝั่งคลอง ของ ว.วินิจฉัยกุล แถวเต๊งใน สี่แผ่นดิน เป็นต้น) เป็นชื่อที่อ้างอิงได้ ซึ่งสร้างความสมจริงให้กับบรรยากาศของเรื่องทันที นอกจากนี้ชื่อและนามสกุลย่อมบอกที่มาของตัวละครว่าเป็นคนภาคใด บอกการสืบเชื้อสายว่าเป็นไทยแท้หรือไทยโดยสัญชาติ
ในคำพรรณนาสถานที่ เมื่อพูดถึงต้นลั่นทมที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวผู้อ่านย่อมตระหนักว่า เรื่องเกิดในบริเวณวัด เมื่อพูดถึงสวนยางพารา ผู้อ่านก็จะตั้งข้อสมมุตไว้ในใจถึงสถานที่สองแห่ง คือจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง หรือจังหวัดจันทบุรีในภาคตะวันออก
ในการศึกษามิติสถานที่ คำถามที่จะช่วยผู้อ่านให้เข้าใจนวนิยายมาขึ้นก็คือ คำถามที่ว่า เหตุใดจึงเป็นสถานที่นั้น ในส่วนของปุริมบทผู้อ่านย่อมตั้งคำถามเดียวกันต่อสถานที่แรกที่ผู้แต่งเลือกเสนอได้เช่นกัน
ในสองย่อหน้าแรกของปุริมบทเรื่อง ลูกอีสาน ที่ยกไว้ข้างต้นนี้ คำบ่งบอกสถานที่ได้แก่ "เรือนไม้เสากลม" "ฝากั้นตับหญ้าคามุงหลังคา" "ต้นมะพร้าว" คำเหล่านี้ไม่อาจบ่งชี้ว่าเรื่องเกิดในภาคใดของประเทศ เพราะลักษณะเสาบ้านและต้นไม้ชนิดนี้มีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย สำหรับวลี
ที่ว่า "แดดอันระอุอ้าว" ซึ่งบอกมิติเวลามากกว่ามิติสถานที่ แต่วลีนี้ก็ยังบ่งบอกว่าเรื่องเกิดในสถานที่ ๆ แห้งแล้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้แต่งตั้งชื่อนวนิยายเรื่องนี้โดยอาศัยมิตรสถานที่อยู่แล้ว ผู้อ่านก็ซึมทราบตั้งแต่ก่อนเริ่มอ่านว่ากำลังจะอ่านเรื่องที่เกิดขึ้นในอีสานอันเป็นดินแดนแห้งแล้ง ชื่อบทที่ ๑ "หมู่บ้านเริ่มร้าง" ยิ่งช่วยตอกย้ำปรากฏการณ์ที่คนกรุงเทพยังตะหนักอยู่ถึงทุกวันนี้ คือการย้ายถิ่นฐานของชาวอีสาน ย้ายเป็นการถาวรในครั้งกระโน้น ย้ายชั่วคราวเฉพาะฤดูแล้งในปัจจุบัน
ผู้แต่งเองคงจะได้ตระหนักดีว่าคำพรรณนาในสองย่อหน้าแรกต้องอาศัยชื่อนวนิยายช่วยสื่อความหมาย จึงได้ระบุชื่ออีสานในย่อหน้าที่สาม และบรรยายสภาพหมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ
เรือนหลังนี้อยู่ในหมู่บ้านทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง ทุกครัวเรือนมีสภาพเหมือนกันคือ มียุ้งข้าวอยู่ใกล้ตัวเรือน และคอกวัวควายอยู่ใต้ถุนเรือน รอบๆ หมู่บ้านก็เป็นทุ่งนาและหนองน้ำซึ่งจะแห้งขอดบ่อยๆ เลยหนองน้ำไปอีกหน่อยก็จะเป็นป่าโปร่ง ที่ชาวบ้านเรียกมันว่าโคกอีแหลว วันไหนแดดร้อนจัดจะไม่มีเด็กๆ วิ่งในถนน เพราะพื้นดินส่วนมากเป็นทราย แต่การไปมาที่ไหนๆ ก็ต้องเดินด้วยตีนเปล่า ไม่ว่าดินทรายจะร้อนสักเพียงใด ผู้ที่มีม้าขี่ในบ้านนี้ก็มีเพียง ๓ คน ถ้าจะไปทอดแหหาปลาในที่ไกลๆ ก็จะใช้เกวียนเทียมวัวไปกันหลายๆ เล่ม กว่าจะกลับมาก็กินเวลาเป็นยี่สิบวันเลยไป
จะเห็นได้ว่าผู้แต่งเสนอภาพสถานที่ด้วยเทคนิคของการถ่ายรูป เริ่มด้วยการเสนอภาพที่ปรับระยะชัด คือเรือนเสาไม้กลม ซึ่งผู้อ่านจะทราบในย่อหน้าที่ ๔ ต่อมาว่าเป็นบ้านของเด็กชายผู้เป็นตัวละครเอก จากนั้นก็เลื่อนจุดสนใจออกเป็นภาพมุมกว้างฉายให้เห็นหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ เป็นภาพชัดลึกเท่ากันทั้งภาพ สถานที่ของนวนิยายเรื่องนี้จึงเด่นชัดต่อสายตาผู้อ่านตั้งแต่ในสามย่อหน้าแรก
ต่อคำถามที่ว่า ทำไมผู้แต่งจึงเลือกสถานที่นี้ คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของชาวอีสาน สถานที่แรกในปุริมบทเป็นการเลือกเสนอภาพบ้านของตัวละครเอก ในสภาพภูมิอากาศเฉพาะของท้องถิ่น บ้านที่ถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลาด้วยภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับชาวอีสานทั้งภูมิภาค
ชาติ กอบจิตติ เริ่มต้นเรื่อง คำพิพากษา ด้วยมิตรสถานที่ คำแทบจะทุกคำในย่อหน้าแรกช่วยกันสร่างภาพห้องเรียน ภาพนี้ชัดเจนขึ้นตามแสงสว่างที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อหน้าต่างถูกเปิดออกทีละบานเพิ่มขึ้น ผู้แต่เลือกเสนอภาพห้องเรียนเพราะเขาเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นภาระหน้าที่ประจำวันของตัวละครเอก
ภาพห้องเรียนย่อมสร้างภาพโรงเรียนตามมาในมโนสำนึกของผู้อ่าน คำว่า "บ้านพักครู" อันเป็นที่มาของเสียงไวโอลินที่แววมาถึงห้องเรียนในย่อหน้าที่สอง ย่อมบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าโรงเรียนนี้คงจะเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัด ในย่อหน้าที่แปด มีการพรรณนาถึงพระ "เดินสะพายบาตรออกมาจากสวนมะพร้าวลัดสนามหญ้าโรงเรียนกลับไปทางวัด" ผู้อ่านก็ยิ่งแน่ใจว่าเรื่องเกิดในต่างจังหวัด แต่จะในจังหวัดใดภาคใดนั้น ความยังไม่ชัดในช่วงปุริมบท (ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องชัดทันทีในช่วงนี้)
สำหรับปุริมบทเรื่อง ปูนปิดทอง ถ้าผู้เขียนบทความเรื่องนี้เข้าใจไม่ผิด กฤษณา อโศกสิน เป็นผู้สร้างคำว่า "บ้านติดลูกไม้" เรียกบ้านที่สร้างเลียนตามแบบบ้านยุโรป ซึ่งมีชื่อว่าเรือนขนมปังขิง อันมีไม้ฉลุลวดลายตกแต่งตามชายคา ในสามย่อหน้าแรกของเรื่อง ผู้แต่ซ้ำคำ "บ้านติดลูกไม้" ถึงสี่ครั้ง และเสนอคำนี้อย่างเด่นชัด ด้วยการใช้ตัวอักษรหนา (คำแรกของเรื่อง) และตัวอักษรเอน (สามคำถัดมา)
บ้านหลังนี้เป็นบ้านของตัวเอกชาย เป็นบ้านที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันบรรจง บ้านย่อมผูกพันกับครอบครัว บ้านเป็นวัตถุ ตัวเอกชายเลือกสร้างอย่างประณีต แต่การสร้างครอบครัวไม่ใช่เรื่องที่จะกำหนดได้ตามใจเหมือนสร้างบ้าน แก่นเรื่องของนวนิยายว่าด้วยสถาบันครอบครัว สถานที่เปิดเรื่องผูกพันกับแก่นเรื่องอย่างแน่นแฟ้น
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ เมื่อใด ว่า นิคม รายยวาตอบคำถามทั้งสามประการ (เมื่อใด ที่ไหน ใคร) ในสองย่อหน้าแรกเริ่มเรื่อง คำที่ระบุสถานที่ประกอบด้วย "เรือน" "ต้นมะขาม" และ "ขอบตลิ่ง" ประโยคสุดท้ายของย่อหน้าที่ ๒ กล่าวถึงตัวละครเอกหญิงที่ "หายลับไปข้างล่างตรงที่ฝั่งน้ำสะท้อนแสงขึ้นมายิบยับ" ความนี้แสดงให้เห็นว่าตลิ่งนั้นสูง
ย่อหน้าที่ ๓ ของปุริมบท มีความว่า
ช้างลงตลิ่งทางช่องแคบ แล้วลุยน้ำข้ามไปฝั่งข้างโน้น พอขึ้นตลิ่งสูงชันถึงข้างบน ก็เห็นโรงแกสลักและสตัฟฟ์ เป็นเรือนไม้โปร่งแสงหลังคาสังกะสี มีต้นฉำฉาใหญ่แผ่กิ่งใบบังแดดอยู่ข้างหน้า ควาญกระตุ้นช้างเข้าไปใต้ร่มนั้น
ผู้แต่ตอกย้ำความสูงของตลิ่งด้วยคำว่า "ตลิ่งสูงชัน" ในย่อหน้านี้ คำว่า ตลิ่งสูงปรากฏในชื่อนวนิยาย มีความหมายที่จะตีความได้มากมายและเกี่ยวพันกับแก่นเรื่อง
ย่อหน้าที่ ๓ นี้ระบุสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตของตัวละครเอกชายเช่นกันคือ โรงแกะสลักและสตัฟฟ์ ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ จะเห็นได้ว่าบ้านซึ่งเป็นสถานที่แสดงชีวิตครอบครัว ตลิ่งสูงซึ่งเป็นสถานที่แสดงภาระงาน และโรงแกะสลักและสตัฟฟ์ซึ่งเป็นสถานที่แสดงภาระงานอีกอย่างหนึ่งของตัวละครเอกใช่ได้ถูกนำเสนอตั้งแต่ในสามย่อหน้าแรกแล้ว
ต้นมะขามใหญ่ย่อหน้าแรกและต้นฉำฉาในย่อหน้าที่ ๓ มีบทบาทอะไรในการพรรณนานี่
ต้นไม้ทั้งสองให้ร่มเงาแก่ช้าง ตัวเอกชายรักและใส่ใจต่อทุกข์สุขของช้าง เขาเลือกสถานที่ที่จะให้ช้างได้พักสบายเสมอ เขา "กระตุ้นช้างออกจากร่มเงา" เพราะจำเป็นที่จะต้องพาไปทำงาน ซึ่งก็แปลว่า ก่อนหน้านี้ขาได้พักช้างไว้ในที่ร่ม เมื่อถึงสถานที่ลากซุง เขาก็ยังหาสถานที่ใช้ช้างพักก่อนเพราะงานยังไม่เริ่ม
เมื่ออ่านนวนิยายมาตลอดทั้งเรื่อง ผู้อ่านก็จะได้สัมผัสกับความรักความผูกพัน ความเห็นใจและความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างควาญกับช้าง ผู้ประพันธ์จงใจ "ปลูก" ต้นไม้ไว้ในคำพรรณนาเพื่อแสดงความรู้สึกนี้แต่แรกเริ่ม
มาลา คำจันทร์ เปิดเรื่อง เจ้าจันทร์ผมหอม ด้วยฉากในป่า การพรรณนาเป็นไปในลักษณะแนวดิ่ง กล่าวคือจากบนลงสู่ล่าง จากฟ้า (ย่อหน้าแรก) ลงสู่ป่า (ย่อหน้าที่สอง) นกบนต้นไม้และเสือบนพื้นดิน (ย่อหน้าที่สาม)
คำพรรณนาของแต่ละย่อหน้า จากสูงลงสู่ต่ำนั้น มีการส่งต่อและสอดรับอย่างแนบเนียนดังนี้
การใช้คำที่แสดงความหนาว จาก "บางดวงแสงหนาวดูเย็นยิ่ง" บนท้องฟ้า ส่งลงมาในสายลมเหนือราวป่า "หนาวๆ นกร้อง" "ลูกนกคงหนาวจึงอ้อนอกแม่ ว่าแม่เอยลูกนี้หนาว ขอเข้าซุกอกแม่สักน้อยหนึ่งเทอะ" และส่งต่อถึงพื้นดิน เป็น ความหนาวอันเกิดจากความกลัวเมื่อได้ยินเสียงเสือ "ร้องขู่คุกคาม" ความหนาวนี้แสดงออกในเสียงร้องของนกก้องก๋อย "เสียงก๋อยๆ หวอยๆ เยือกเย็นพึงขนหัวลุก"
การใช้คำในลักษณะปุคคลาพิษฐานคือ นำคำกริยาที่ปกติใช้กับคนมาใช้กับสิ่งไม่มีชีวิต ในย่อหน้าแรก "ดาวใหญ่น้อยแย้มยิ้มหยอกเอินกัน" ประโยคนี้ทำให้สามารถสร้างอุปลักษณ์เปรียบดาวกับบุคคลในประโยคถัดมาได้ "บางดวงสุกขาวเหมือนตาสาวน้อย ลอบแลบ่าวหนุ่มอยู่หลังแม่" ในย่อหน้าที่ ๒ "ลมหัวรุ่ง" ทำกริยา "รุ่งเรื่อระบายฟ้า"
ภาพป่าที่เสนอนั้น แม้ฟากฟ้าจะงามด้วยระยับดาวอยู่เหนือยอดไม้ แต่คนก็ยังต้องทนความหนาวและความน่ากลัวจากสัตว์ร้ายบนพื้นดิน ตัวละครเอกหญิงพักแรมในระหว่างการดินทางในป่างามที่น่ากลัวนี้เพื่อไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน
ผู้แต่งพรรณนาสถานที่ในปุริมบทของ ลูกอีสาน คำพิพากษา ปูนปิดทอง และเจ้าจันทร์ผมหอม รอการเดินทางเข้าสู่ฉากของตัวละคร กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เมื่อมีการพรรณนาสถานที่ ผู้อ่านก็ทราบว่านั่นคือที่ๆ ใช้เป็นฉากของเรื่อง และตัวละครจะปรากฏกายแสดงการกระทำในไม่ช้านี้ แต่ในเรื่อง ตลิ่งสูง ซุงหนัก นั้นเปิดเรื่องต่างไป ตัวละครปรากฏตัวก่อนฉาก ถ้าจะกล่าวว่าช้างเป็นสถานที่ให้แก่ควาญก็ได้ สถานที่ที่เคลื่อนไหวได้ มีความเป็นพาหนะเหมือนรถ แต่เมื่ออ่านนวนิยายต่อ ผู้อ่านจะพบว่าช้างมีบทบาทในเรื่องในฐานะตัวละครเอกตัวหนึ่งทีเดียว
ใคร
ตัวละครในนวนิยายถูกสร้างขึ้นด้วยอักษรเช่นกัน ศิลปะการสร้างตัวละครให้ดูสมจริง
ลวงผู้อ่านมานักต่อนัก และมีผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่หลงคิดไปว่าตนเองคือตัวละครเอกในเรื่อง
การที่ผู้อ่านจะ "รู้จัก" ตัวละครตัวหนึ่งได้ดี เขาจำเป็นต้องอ่านนวนิยายเรื่องนั้นๆให้จบ การศึกษาเฉพาะช่วงปุริมบทจะแสดงเพียงแต่ว่าตัวละคร "ถือกำเนิด" มาอย่างไร
คำพูน บุญทวี เสนอตัวละครที่เป็นพ่อโดยใช้คำว่า "ผู้เป็นพ่อ" "เสียงพ่อ" ตัวละครที่เป็นลูก ใช้คำว่า "ลูกเล็กทั้ง ๓ คน" "เด็กๆ ที่อยู่บนเรือน" "เด็กทั้งสาม" จะเห็นได้ว่าในสองย่อหน้าแรกนี้ผู้แต่งเสนอตัวละครในลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัว ยังไม่มีชื่อ ไม่มีรูปร่างหน้าตาหรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ สิ่งที่ผู้อ่านทราบก็คือ ผู้เป็นพ่อมีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องอันตรายจากธรรมชาติ เขาจะเป็นผู้เตือนภัยให้แก่ลูก ฝ่ายลุกนั้นก็จะเชื่อฟังคำสั่งและทำตาม
ตัวละครเอกของเรื่องนี้คือ เด็กชายซึ่งเป็นหนึ่งในเด็กทั้งสามข้างต้นนี้ ผู้อ่านจะได้รู้จักเขามากขึ้นในย่อหน้าที่ ๔
เด็กเล็กๆ ๓ คน ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในเรือนหลังที่ว่านี้ ก็มีเด็กชายคูนผู้เป็นพี่พอจะรู้อะไรได้บ้าง ส่วนเด็กหญิงผู้เป็นน้อง ๒ คน ยังไม่ชอบนุ่งซิ่นกันนัก
ผู้อ่านได้ทราบจากการบรรยายของผู้เล่าเรื่องว่า เด็กชายผู้นี้ชื่อคูน เป็นพี่คนโต น้องสาวสองคนยังไม่มีชื่อ ผู้เป็นพ่อก็ยังไม่มีชื่อ จาก "ผู้เป็นพ่อ" เหลือ "ผู้พ่อ" และ "พ่อ" ตามลำดับ จาก "เด็กชายคูน" ก็จะเหลือ "คูน" นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึก "คุ้นเคย" กับตัวละครมากขึ้น ในบรรทัดแรกของย่อหน้านี้มีตัวละครเพิ่มอีกหนึ่ง คือ แม่
ชาติ กอบจิตติ เปิดตัวละครด้วยการกระทำ ในสองย่อหน้าแรกแม้จะไม่มีการบรรยายถึงตัวละครผู้กระทำ มีแต่ "หน้าต่างบานแรกเปิดแง้มออกกว้าง" "หน้าต่างบานที่สองเริ่มเปิดออก" จนถึง "หน้าต่างบานสุดท้ายที่กำลังจะถูกเปิดออก...." หน้าต่างย่อมเปิดออกเองไม่ได้ จะต้องมีผู้เปิด ผู้อ่านถูกกระตุ้นให้อยากรู้ว่าเป็นใคร
ตัวละครที่ยังไม่เปิดเผยตัวผู้นี้ทำหน้าที่ได้ยิน "เสียงไวโอลินดังแว่วมา" ในย่อหน้าที่ ๒
และทันทีทันใดในย่อหน้าที่๓ ผู้เล่าเรื่องก็เปิดเผยตัวละครผู้นี้ทันที โดยเรียกเขาว่าฟัก "ฟักก้าวออกมาจากประตูห้อง หลังจากที่เปิดหน้าต่างประตูทุกบานเรียบร้อยแล้ว" ผู้เล่าเรื่องมิได้บอกตำแหน่งงานของฟักโดยตรง แต่ภารกิจที่เขาปฏิบัติทำให้ทราบว่าเขาเป็นภารโรงในโรงเรียนแห่งหนึ่ง
กฤษณา อโศกสิน เริ่มเสนอตัวละครเอกชายด้วยคำว่า "เจ้าของบ้านติดลูกไม้" ในคำพรรณนาเริ่มเรื่อง จากนั้นก็อาศัยปากตัวละครที่โผล่ออกมาชุดแรกซึ่งเป็นตัวละครที่จะไม่มีบทบาทต่อไป โผล่ออกมาเพียงครั้งเดียว เพื่อร่วมกันเจรจาให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอกชายก่อนที่เขาจะปรากฏตัว ตัวละครชุดนี้เป็นพ่อแม่ลูกฝ่ายหนึ่งและสถาปนิกอีกฝ่ายหนึ่ง จากคำสนทนาของพวกเขา ผู้อ่านได้รับทราบอีกครั้งว่า บ้านนั้นสวยและแพง ซึ่งย่อมสื่อว่าเจ้าของบ้านมีรสนิยมและรวย ข้อมูลต่อมาก็คือเจ้าของบ้านเป็น "ผู้ชายหนุ่ม ไม่มีครอบครัว"
จาก "เจ้าของบ้าน" ผู้เล่าเรื่องเรียกตัวละครเอกว่า "เจ้าของรถ" หญิงสาวที่เขาพามาด้วยเรียกเขาว่า "คุณเมือง" เขาเรียกเธอว่าคุณ "คุณไล" จากนั้นผู้เล่าเรื่องเอ่ยชื่อเธอว่า "กำไลวง" บอกอายุตัวละครเอกฝ่ายชายผ่านความคิดของกำไลวง เอ่ยชื่อและนามสกุลของตัวเอกฝ่ายชายเป็นครั้งแรกในหน้าที่ ๓ ว่า สองเมือง มธุรา
กฤษณา อโศกสิน "ให้กำเนิด" ตัวละครเอกชาย โดยเสนอภาพบ้านของเขาก่อน ดังที่ได้กล่าวถึงในมิติสถานที่ จากนั้นก็อาศัยบทเจรจาของกลุ่มตัวละครชุดแรกให้ปูมหลังตัวละครเอกชายแก่คนอ่าน เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวละครชุดแรกนั้นเป็นตัวละครครอบครัวที่ยังไม่มีบ้าน ในขณะที่ตัวเอกชายมีบ้านแล้วแต่ยังไม่มีครอบครัว จากบทเจรจาของกลุ่มตัวละครชุดแรก ก็มาถึงบทเจรจาของตัวเอกชายกับตัวละครหญิงที่มากับเขา ปูมหลังของตัวเอกชายก็ชัดขึ้นอีก ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้เพิ่มข้อมูลอีกครั้ง
นิคม รายยวา เปิดนวนิยายด้วยตัวละครเอกและการกระทำของพวกเขาทันที ช้าง ควาญและหญิงบนเรือนยังไม่มีชื่อในย่อหน้าแรก แต่คำว่าควาญบอกอาชีพของตัวเอกชายแล้ว ควาญเป็นผู้เรียกชื่อหญิงบนเรือนในย่อหน้าที่ ๒ ผู้อ่านจึงรู้ว่าเธอชื่อ มะจัน จากนั้นผู้เล่าเรื่องก็บรรยายภาพเธอ โดยใช้ชื่อของเธอขึ้นต้นประโยค "มะจัน กำลังหาบถังเปล่าเดินอยู่ข้างหน้า" ผู้อ่านจะทราบชื่อควาญในย่อหน้าที่ ๔ เมื่อช่างแกะสลักกล่าวทักทาย และเอ่ยชื่อเขา "กลับมาแล้วรึ คำงาย" ในบทสนทนาระหว่างคนทั้งสอง ผู้อ่านก็ได้ทราบชื่อของช่างแกะสลัก ช่างแกะสลักเป็นผู้เรียกชื่อช้างในหลายย่อหน้าต่อมาว่า "พลายกุด" แต่ผู้เล่าเรื่องบรรยายความรู้สึกของควาญที่มีต่อช้างที่เขาดูแลว่า "คำงายคิดถึงภาพพลายสุด เมื่อครั้งยังมีงาขาวเด่น" ในอีกสองสามย่อหน้าต่อมาผู้เล่าเรื่องเป็นผู้ให้ข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับชื่อของช้าง "ที่จริงมันชื่อ สุดสง่า คนทั่วไปเรียกติดปากว่า พลายสุด แต่พองาถูกตัด คนที่พบเห็นมักเรียกพลายกุด มากกว่าที่จะเรียกชื่อเดิมของมัน"
จะเห็นได้ว่าผู้แต่งอาศัยการสร้างบทสนทนาเฉพาะและคำบรรยายของผู้เล่าเรื่องให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครแก่ผู้อ่าน
มาลา คำจันทร์ ใช่ชื่อและลักษณะเฉพาะของตัวละครเอกเป็นชื่อนวนิยาย เธอจึงปรากฏตัวต่อผู้อ่านก่อนปุริมบท ผู้แต่งเตรียมการเปิดตัวละครเอกในฉากอย่างประณีตบรรจง เขาให้เวลาแก่ผู้เล่าเรื่องที่จะค่อยๆ บรรยายภาพป่าในยามใกล้รุ่ง หมู่กระโจมกลุ่มใหญ่ที่พักแรมในป่า พรรณนาความงามวิจิตรของกระโจมหลังซ้าย ตลอดจนการปกป้องคุ้มกันกระโจมหลังนี้อย่างระแวดระวัง ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของบุคคลที่พักในกระโจม แล้วผู้เล่าเรื่องก็บรรยายว่า "แม่นแล้ว แม่นแท้แล้วดวงแสงแก้ว รัตนะประเสริฐในกระโจมรุ้งหลาก หากเป็นราชหงส์เหินสูงยูงทองย่างฟ้อน หากเป็นเจ้าอ้อนแอ้นหล้าแน่งน้อยผู้หนึ่งงามนัก
ในฉากภายในกระโจม ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครเอกหญิงผู้นี้มากขึ้นทั้งจากบทสนทนาระหว่างเจ้าจันท์กับนางพี่เลี้ยง และจากข้อมูลชีวประวัติที่ผู้เล่าเรื่องบรรยาย
จากการศึกษาปุริมบทนวนิยายซีไรท์ทั้งห้าเรื่องข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่านักประพันธ์ใช้กลวิธีใกล้เคียงกันในการเปิดเรื่องของตน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แก่นเรื่องเป็นตัวกำหนดลำดับการเลือกเสนอองค์ประกอบทั้งสาม (มิติเวลา มิติสถานที่ และตัวละคร) ลูกอีสาน เสนอแก่นเรื่องชีวิตชาวอีสานในครั้งกระโน้น มิติเวลาและมิติสถานที่จึงสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและชะตาชีวิตของตัวละคร คำพิพากษา เสนอโศกนาฏกรรมสามัญของชีวิตมนุษย์ โดยอาศัยตัวอย่างคนผู้ประกอบอาชีพชั้นล่าง การกระทำของตัวละครจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปูนปิดทอง เสนอความสำคัญของสถาบันครอบครัว บ้าน (มิติสถานที่) เป็นส่วนสำคัญของแก่นเรื่องนี้ ตลิ่งสูง ซุงหนัก เสนอการแสดงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต ตัวละครเอกทั้งสามเป็นผู้แสวงหา ตัวละครจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ เจ้าจันท์ผมหอม เสนอการต่อสู้ภายในจิตใจระหว่างหน้าที่กับความรัก ระหว่างความจริงแท้กับภาพมายา ตัวละครเอกหญิงเดินทางเพื่อหาคำตอบให้กับการต่อสู้ภายในใจของตนนี้ เรื่องจึงเปิดด้วยมิติสถานที่เพื่อนำเข้าสู่การเดินทางนั้น
ผู้อ่านบทความนี้อาจคิดแย้งว่า โดยแก่นเรื่องเดียวกันนี้ ผู้แต่งอาจเปิดเรื่องโดยสลับลำดับองค์ประกอบก็ได้ ขอตอบว่า ใช่! แต่ผู้แต่งก็จะต้องคิดหากลวิธีที่จะเสนอให้รับกับแก่นเรื่องอยู่นั่นเอง
(สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม)
ที่มา: วัลยา วิวัฒน์ศร "วรรณวินิจ" สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘
เมื่อวันที่ : 29 ต.ค. 2548, 23.27 น.
เปิดเรื่องในนิยาย จะดูให้ง่ายก็เหมือนกับการเปิดเรื่องหนัง
คืออยู่ที่วิธีการเลือกใช้ภาพที่ตรึงใจเป็นแรงดึงดูดเริ่มแรก อาจจะใช้ภาพมุมกว้าง แสดงสถานที่ของเรื่องก่อน แล้วค่อยๆเคลื่อนใกล้เข้าไปหาตัวละคร ใกล้เข้า ใกล้เข้า หรือจะเริ่มด้วยมุมแคบโฟกัสที่ตัวละครกำลังทำอะไรสักอย่าง แล้วถอยออกมาให้เห็นบรรยากาศภายรอบ จากนั้นก็เคลื่อนต่อไปให้เห็นความสัมพันธ์ของของตัวละครกับสถานที่นั้น
การเปิดเรื่องแบบกว้างเข้าหาแคบ เป็นเหมือนการตะล่อมผู้ดู (ผู้อ่าน) ให้ค่อยหลุดจากสภาพความจริงปัจจุบัน ค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในบรรยากาศ จากนั้นก็เข้าหาบุคลิกของตัวละคร ในทางกลับกัน การเปิดเรื่องด้วยมุมแคบออกมากว้างนั้น คล้ายๆกับเซอร์ไพรส์ คืออยู่ๆก็กระชากให้ผู้อ่านให้เข้าไปอยู่ร่วมกับตัวละครเลยโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แล้วค่อยๆเผยคลี่คลายเรื่องราวออกมา การเปิดเรื่องแบบหลังนี้เห็นได้จากเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ที่เปิดเรื่องด้วยโฟกัสที่ก้อนน้ำแข็ง แล้วค่อยๆถอยออกมาเห็นตัวละครสองตัวอยู่ด้วยกัน
การเลือกให้ผู้ใดเล่าเรื่องก็เป็นศิลปะเช่นกัน จากตำราในวิชาวรรณกรรมวรรณคดี เขาว่ามุมมองของผู้เล่าเรื่องมีอยู่สองแบบ คือ
๑. ใช้บุคคลที่หนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง คือ "ฉัน" หรือ "ผม" หรือ "ข้าพเจ้า" นั่นเอง ผู้เล่ากับตัวเองของเรื่องคือคนๆเดียวกัน เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นหนังก็อาจจะเป็นแบบที่มี Voice Over หรือเสียงเล่า "แล้วหลายปีต่อมา ฉันก็เข้าเรียนต่อ..." เป็นการเล่าแบบส่วนตัว เหมือนแอบอ่านไดอารี่คน
๒. ใช้บุคคลที่สามเป็นผู้เล่าเรื่อง บุคคลที่สามคือผู้ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ แต่ใช้ผู้ดู (หรือกล้อง) เป็นผู้เล่าเรื่องนั่นเอง บุคคลที่สามนี้มีหลายมิติด้วยกัน ตามตำราเขาว่ามีอยู่ ๔ มิติ
มิติแรก: ผู้เล่ารู้หมด คือรู้ว่าใครทำอะไรที่ไหน เห็นความรู้สึกนึกคิดตัวละครทุกตัว เป็นมุมมองแบบพระเจ้ามอง ส่วนมากใช้ในนิทานสอนใจ นิทานอีสป เรื่องกาพย์โยราณ รามเกียรติ์ มหาภารตะ
มิติที่สอง: ผู้เล่ามองผ่านตัวละครเอก คือมองผ่านแค่ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอกเพียงผู้เดียวเท่านั้น นิยายไทยโดยมากใช้อันนี้ เช่น แม่พลอย ก็เป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอก ตัวอื่นจะทำอะไรก็ทำไป แต่ผู้อ่านไม่รู้ใจคนอื่นๆเท่าแม่พลอย
มิติที่สาม: ผู้เล่ามองผ่านตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ตัวละครเอก อันนี้ไม่ค่อยเห็นในนิยายไทย เคยเห็นจากเรื่องสั้นฝรั่ง วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ที่ใช้ "เรา" เป็นผู้เล่าเรื่อง "เรา" ในที่นี้คือใครก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆคือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วเอามาเล่าต่อ
มิติที่สี่: ผู้เล่ามองแบบกลางๆ คือไม่รู้จิตใจของใครเลย เป็นการเล่าจากภายนอก เล่าจากสิ่งที่เห็น โดยแสดงความรู้สึก ด้วยบทพูด และสีหน้าของตัวละคร แบบนี้เห็นได้ในเรื่องสั้นทั่วไป ทั้งไทย และเทศ
พอรู้มาบ้าง เลยอยากแชร์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์