![]() |
![]() |
SONG-982![]() |
...เพราะมัวแต่เอาใจเขามาใส่ใจเรา จนบางครั้งเผลอคิดไปว่า "อย่างเขา" น่าจะมีความสุขมีหน้ามีตากว่า "อย่างเรา" ลืมไปสิ้นว่า "สุขตามอัตภาพ" เป็นอย่างไร จนค่านิยมแบบลัทธิเอาอย่างเข้มข้นอยู่ในสายเลือดคนไทยอย่างไม่จืดจางไปได้ง่ายๆ...
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |

ในซอกเล็กๆ ของความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่คือที่พึ่งสุดท้าย คงได้แต่บ่นในใจไปตามแกน ทำไมท่านไม่คิดถึงลูกตัวเองก่อนลูกคนอื่นบ้างเล่า? มีวิธีพูดอะไรที่ดีกว่าจะยกเอาลูกคนอื่นมาข่มลูกของตัวบ้างไหม???
วัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันของคนไทย จึงเป็นดาบสองคมไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
เพราะมัวแต่เอาใจเขามาใส่ใจเรา จนบางครั้งเผลอคิดไปว่า "อย่างเขา" น่าจะมีความสุขมีหน้ามีตากว่า "อย่างเรา" ลืมไปสิ้นว่า "สุขตามอัตภาพ" เป็นอย่างไร จนค่านิยมแบบลัทธิเอาอย่างเข้มข้นอยู่ในสายเลือดคนไทยอย่างไม่จืดจางไปได้ง่ายๆ
เวลาใดคนไทยได้ผู้นำเป็นแบบอย่างในทางที่สร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ คนทั้งชาติก็พร้อมใจกันติดสอยห้อยตามความคิด เช่นกันกับที่เวลาใดคนไทยได้ผู้นำที่เห่อเหิมหลงอำนาจ แต่ละคนก็พลอยคิดไปว่าอำนาจจะนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง จนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มีอำนาจ และแทนที่จะแสวงหาอำนาจเพื่อความผาสุขสันติ กลับใช้อำนาจนั้นบ่อนทำลายความสงบร่มเย็น
ที่จริงเรื่องเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปในทุกสังคมทุกชนชาติ แล้วแต่ว่าใครจะรู้จักนำค่านิยมเช่นนี้มาสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติของตนได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของ "วิธีคิด" และ "วิธีมอง" ที่แตกต่างกัน
ใน "แม่น้ำยามศึก" ของ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534
นำเสนอมุมมองแบบรอบด้าน ด้วยสายตาอย่างชาวบ้านมองวิถีชาวบ้าน และเข้าใจในธรรมชาติของวิถีไทยอย่างแท้จริง โดยไม่ยอมให้ใครจำต้องเอาอย่างใคร ไม่ยอมให้ใครกลายเป็นคนเก่งคนดี เลิศเลอจนต้องทูนไว้เป็นบุคคลในอุดมคติ
แต่ละชีวิตในแม่น้ำยามศึกจึงมีความเป็นคนอยู่อย่างสมบูรณ์ คือมีทั้งข้อดีข้อด้อยด้วยกันทั้งหมด ที่สำคัญคือไม่ตัดสินตัวละครตัวใดด้วยรูปร่างหน้าตายศถาบรรดาศักดิ์ แต่กระซิบบอกผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอว่า คนที่จะมีความสุขที่สุดนั้นคือคนที่รู้จักตัวเองดีพอ
ฉากของ "แม่น้ำยามศึก" เป็นการฉายภาพชีวิตของสังคมเล็กๆ ในตลาดริมแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ช่วงสมัยที่สงครามโลกครั้งที่สองกรีฑาทัพย่ำมาถึงแผ่นดินสยาม แต่ด้วยความที่แม่น้ำสุพรรณ และสถานที่ในเรื่องไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ชาวตลาดริมน้ำจึงอยู่ในฐานะของผู้สังเกตการณ์ความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ กับพระราชอาณาจักรไทย โดยการมองผ่านมุมของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
งานเขียนชิ้นนี้จัดเป็นแบบผูกเรื่องราวของตัวละครขึ้น เพื่อนำเสนอสภาพความเป็นไปในบ้านเมืองเมื่อตกอยู่ในภาวะสงคราม คล้ายกับ "คำให้การชาวกรุงเก่า" ที่พม่าเคยจดบันทึกวิถีชีวิตและรูปแบบธรรมเนียมประเพณีนิยมของชาวสยาม เมื่อครั้งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพียงแต่เมื่อเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 นั่น เป็นการบังคับจดปากคำจากเชลยศึกผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามครั้งนั้น
หากผู้เขียนสร้างผลงานชิ้นนี้ไว้ตั้งแต่สมัยวัยหนุ่มคะนอง วิธีมองเหตุการณ์สถานการณ์นั้นโดยสุขุม เป็นกลาง และเข้าใจในธรรมชาติของคน คงเกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อ "แม่น้ำยามศึก" เกิดขึ้นในช่วงวัยที่ผู้เขียนผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนรู้ว่า
"ความเป็นมนุษย์นั้นวัดกันที่ปัญญาการรู้อยู่ และรู้จักพอ"
แต่ละตัวละครในเรื่องจึงแสดงภาพพฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ระดับต่างๆ ไว้ได้อย่างครบถ้วนเป็นธรรม ช่วยพาผู้อ่านให้หันมามองหาสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต บกพร่องไปจากวิธีคิด และจืดจางไปจากสังคมเมือง
การใช้สายน้ำเป็นแกนการดำเนินเรื่องช่วยบรรเทาความสาหัสจากภัยสงครามลงไปได้มาก เพราะผู้เขียนสามารถผ่อนปรนบรรยากาศของเรื่องได้ด้วย "คุณของธรรมชาติ" ซึ่งสงบร่มเย็นและพร้อมจะหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่บังเอิญผ่านเข้ามาพึ่งพิง ผ่อนพักหรือแสวงหาผลประโยชน์
ตอนหนึ่งในคำนำของผู้เขียน บอกไว้ว่า
"...แม่น้ำเป็นสายโลหิตของชาวนา เป็นที่หากินของชาวเรือ เป็นบ่ออาหารของคนตกปลาทอดแห บางทีมันก็เป็นหลุมศพสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของคนอยากหนีนรกในชีวิต อาศัยก้นบึ้งของมันลาโลกเดินทางไปสู่สวรรค์
แม่น้ำลำเลียงปุ๋ยอันมั่งคั่งมาจากตีนป่าตีนดอยไหลเรื่อยมาแจกจ่ายในฤดูน้ำ และท่วมท้นอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในช่วงสงคราม เป็นการทดสอบความอดทนของมนุษย์ว่าจะแกร่งพอที่จะอยู่กับมันได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็หาทางย้ายครอบครัวขึ้นดอนไป แต่ก็ไม่เห็นมีใครเคยย้าย
แม่น้ำเปิดกว้างให้เครื่องบินข้าศึกจับเส้นทางเข้ามาบอมบ์กรุงเทพฯ แล้ววันรุ่งขึ้นมันก็เป็นเส้นทางอพยพอันราบรื่นให้แก่คนที่หนีภัย...."
ด้วยวิธีการมองสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวดังนี้ ทำให้การอ่านบันทึกสงครามจากสายตาของผู้ประสบเหตุการณ์จริง ทั้งได้อรรถรสและยังสามารถย้ำเตือนคติสำคัญของสากลโลกไปได้พร้อมกัน คือ
ทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง มันมีเหตุมีผลในตัวของมันเอง มันเกิดขึ้นทรงอยู่และดับไปเองตามกาลเวลาของมัน
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
ขอเพียงแต่ให้เรารู้จักเปิดใจ ยอมรับความเป็นธรรมชาติ ยอมรับสัจจธรรมเหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึกยึดเหนี่ยว ก็จะสามารถพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แล้วหันกลับมายิ้มให้กับมุมมองอื่นๆ ของชีวิตได้อย่างไม่รู้ตัว
ดังนั้น นอกจากที่เราจะได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิต วิธีการปกป้องรักษาชาติทั้งทางบนดินและใต้ดิน รู้จักกับรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตของผู้คนระดับชาวบ้านในสมัยนั้นแล้ว เราก็ยังจะได้ซึมซับถึงน้ำใจไมตรีคุณธรรมน้ำมิตร ที่เต็มบ้างพร่องบ้างตามประสาปุถุชนคนธรรมดา
มีตัวอย่างชีวิตเลวๆ ไว้เป็นอุทาหรณ์ พอๆ กับมีตัวอย่างชีวิตดีๆ ไว้เป็นที่หมายที่ควร พร้อมกับแสดงคุณค่าที่มีอยู่ในชีวิตชั้นเลวเหล่านั้นกับการแสดงความอัปลักษณ์ของชีวิตชั้นดีควบคู่กันไปตลอดเรื่อง
เรื่องราวใน "แม่น้ำยามศึก" จึงเป็นเสมือนกระจกเงา ที่สามารถสะท้อนภาพชีวิตในอดีตไว้ได้อย่างแจ่มชัด ทั้งสภาพสังคมวิถีชีวิตและน้ำจิตน้ำใจของคนไทยสมัยสงคราม ขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนภาพความลักลั่นของชีวิตคนเมืองยุคปัจจุบันไว้ได้อย่างแยบยล
เมื่ออ่าน "แม่น้ำยามศึก" จบลง เราอาจเลิกน้อยใจเสียใจ กับคำปรามาสหรือการคาดหวัง ที่คนใกล้ตัวมีต่อเรา เราอาจมีกำลังใจ มีไฟฝันเอาไว้ฝ่าฟันอุปสรรคสิ่งขัดข้องกีดขวางที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต เราอาจสำนึกรู้จักและรักษาตัวเองได้ดีกว่าแต่ก่อน และที่สำคัญ
เราอาจเป็นคนไทยที่สามารถยืดอกภูมิใจกับการได้เกิดเป็นคนไทยได้มากกว่าครั้งไหนๆ ในชีวิต
*********************************
เมื่อวันที่ : 21 ต.ค. 2548, 19.15 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...