![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...พอเราปฏิบัติแล้ว มันจะแยกสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเรายังไม่ปฏิบัติก็มีแต่ reaction ปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่ถ้าเรามีสติ มันมี response คือ ตอบสนองในทางที่เหมาะสม ในทางที่ได้ผล...
ตอนอาตมาบวชใหม่ ๆ เคยเดินตามหลวงพ่อชาไปสำรวจวัด ท่านพูดถึงศาสตร์ ท่านพูดว่า ศาสตร์ทั้งหลายนี้พุทธศาสตร์สำคัญที่สุด ถ้าได้พุทธศาสตร์แล้ว ศาสตร์ทั้งหลายอย่างอื่นจะเป็นไปในแนวทางที่ดี ถ้าขาดพุทธศาสตร์แล้ว จะเรียนศาสตร์อื่นถึงระดับไหนก็ตาม ไม่แน่นอนว่าจะเกิดผลดีกับมนุษย์อาตมาว่า เรื่องนี้เราคงเห็นได้ไม่ยาก อย่างเช่น ดูคนที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา ทั้งฮาร์เวิร์ด เอ็มไอที พวกที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์ จะเข้าไปทำงานของรัฐบาล ทำด้านพัฒนาอาวุธเกือบครึ่งหนึ่ง ผู้จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจะไปทำงานเกี่ยวกับอาวุธเกือบครึ่งหนึ่ง นี่เรียกว่า ขาดพุทธศาสตร์เป็นหลัก
พุทธศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ไหม? ก่อนนี้คนก็ชอบบอกว่า พุทธศาสนามันเป็นวิทยาศาสตร์ อาตมาว่า มันเหนือวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ยังมีข้อบกพร่อง จุดอ่อนหลายอย่าง อย่างบอกว่า เข้าใจธรรมชาติส่วนวัตถุอย่างเดียว ไม่เข้าใจธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์ รู้จักศาสตร์นั้น ศาสตร์นี้ แต่ไม่รู้จักนักวิทยาศาสตร์ ถือว่านักวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยว แต่ทางพุทธศาสตร์บอกว่า ถ้าไม่มีนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีวิทยาศาสตร์
แล้ววิทยาศาสตร์เพื่อใคร ถ้าไม่เป็นไปเพื่อนักวิทยาศาสตร์ ในวิทยาศาสตร์จะถือว่า สิ่งที่เขารับได้ว่า วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่เราทำที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ฟังเผิน ๆ เหมือนกับอะกาลิโก เหมือนกับว่าเรามีทฤษฎี มีอะไร มีข้อตกลง มีสมมุติฐานแล้วเขียน นักวิทยาศาสตร์ที่อังกฤษทำตามแล้วก็ได้ผลเหมือนกัน นักวิทยาศาสตร์ที่อาฟริกา ที่ไหน เมื่อปีที่แล้ว ปีหน้า ทำตาม มันก็ต้องตามนี้ จึงเป็นวิทยาศาสตร์
แต่มันมีธรรมชาติอย่างหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง คือสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น การบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า นักวิทยาศาสตร์เงียบเลย และแม้แต่ชีวิตประจำวันในชีวิตธรรมดา ๆ เราก็จะเห็นว่าหลักนี้ เราใช้ไม่ค่อยได้
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเรามีนักกีฬา เอาเป็นนักกอล์ฟไทเก้อร์ วู้ดส์ แล้วกัน เป็นไทยครึ่งหนึ่ง เอาเป็นตัวอย่าง เมื่อไทเก้อร์ วู้ดส์ไปถึงหลุมสาม ได้โฮลอินวันเลย จริงไหม จริง อ้าว ถ้าจริงแล้วทำอีกที ไทเก้อร์ วู้ดส์จะทำซ้ำได้ไหม เท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีนักกอล์ฟในประวัติศาสตร์ทำซ้ำได้ ทำไมไม่ได้ อากาศสิ่งแวดล้อมก็เหมือนเดิม หลุมสามเหมือนเดิม ตัวผู้ตีกอล์ฟเหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม ทำไมครั้งหนึ่งได้ ครั้งที่สองไม่ได้ ฝากไว้เป็นข้อคิด
ที่เขาบอกว่าปรากฏการณ์ทางจิต เรื่องการรู้วาระจิต งมงาย ถ้างมงายก็ทำเดี๋ยวนี้ให้ดู ธรรมชาติที่จะตั้งใจทำเดี๋ยวนี้ตามใจก็มี ที่มันจะต้องมีโอกาสสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยก็มี ที่เป็นเอง เหมือนนักกอล์ฟก็มี ถ้านักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไม่เชื่อว่าไทเก้อร์ วู้ดส์เคยได้โฮลอินวัน ไทเก้อร์ วู้ดส์ก็คงจะโกรธนะ บอกว่า อ้าว ก็ดูในทีวีเลย ไม่เชื่อทีวีหรอก เขาก็หลอกได้ เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์ ทำอะไรต่ออะไรก็ได้ เชื่อไม่ได้ ถ้าไทเก้อร์ วู้ดส์ทำได้จริง ทำเดี๋ยวนี้ให้ดู เขาก็ทำไม่ได้
งั้นธรรมชาติมันลึกกว่าวิทยาศาสตร์ส่วนมากจะยอมรับ โดยเฉพาะไม่รู้ธรรมชาติของด้านนามธรรม ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบเรียกว่า ปัจจัตตัง ต้องรู้เอง สันทิษฐิโก รู้ได้ และรู้ได้ในชาตินี้ด้วย แต่ปัจจัตตังก็เสริมว่า ต้องรู้เอง ไม่มีใครจะรู้ให้เราได้ แต่ไม่ใช่ธรรมะเท่านั้นที่ต้องรู้เอง ทุกอย่างก็เหมือนกันไม่ใช่หรือ เช่น รสหวาน อ้าว ลองอธิบายให้คนที่ไม่เคยกินของหวานว่ารสหวานมันเป็นอย่างไร เขาจะเข้าใจได้ไหม ถ้าเขาไม่เคยกินของหวาน ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ก็รู้คร่าว ๆ รู้พอเป็นทฤษฎี แต่ไม่รู้หรอกจนกว่าเขาจะมีโอกาสกินของหวาน เขาจึงรู้
ธรรมะก็เหมือนกัน ความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่เข้าใจหรือยัง ถ้าไม่เคยสงบก็ไม่เข้าใจ เหมือนคนไม่เคยกินของหวานก็ไม่เข้าใจว่า หวานมันเป็นอย่างไร ฟังแล้วน่าสนใจ ฟังแล้ว เล่าเรื่องขนมอย่างนั้นอย่างนี้ ฟังแล้วน่าสนใจ แต่มันไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร ธรรมะมันก็เป็นอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องรู้เอง
จะเล่านิทานให้ฟัง ตอนนี้รีทรีทจบ เล่าสบาย ๆ
นิทานจากอาฟริกา เคยฟังนิทานอาฟริกามาก่อนไหม คงจะไม่เคยนะ พระเอกเรื่องนี้ เป็นคนจน ทำงานในบ้านเศรษฐี เศรษฐีอาฟริกามีโรคประจำตัวเหมือนเศรษฐีทั่วโลก เป็นคนขี้เบื่อ เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างต้องหาอะไรไม่ให้เบื่อ ห่างจากเมืองมีเทือกเขาสูง สูงเป็นพันเมตร วันหนึ่งเขาปรารภกับคนใช้คนนี้ว่า ผมสงสัยว่ามนุษย์เราสามารถที่จะยืนบนยอดเขานั้นตลอดคืน เปลือยกาย ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ไม่มีไฟ ไม่จุดไฟ เป็นไปได้ไหม เขาจะคิดอะไรแปลก ๆ อย่างนี้ เขาไม่รู้จะคิดอะไร เขารวยมาก เขาไม่เคยเข้าวัด เพราะเขายังไม่แก่...อันนี้เสริมเอง ไม่ได้อยู่ในต้นฉบับ
คนใช้ก็ตามประสาคนใช้ ครับ ครับ ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังเท่าไร เศรษฐีก็บอกว่า เอายังงี้ดีไหม จะพนันกัน ฉันจะพนันว่า เธอทำไม่ได้ คนใช้ก็บอกว่า ผมไม่มีอะไรจะพนันกับเจ้านายครับ ไม่ต้องมีอะไรก็ได้ เอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าเธอสามารถยืนเปลือยกายบนยอดเขาตลอดคืน ไม่กินอะไร ไม่ดื่มอะไร ไม่มีไฟให้ผิง ไม่มีอะไร จะยกที่ดินให้สักสิบไร่ วัวสามสิบตัว เอาไหม เอาครับ ตกลง
พอตกลงกับเจ้านายแล้วกลับไปคิด กลัว กลัวตาย พอดีรู้จักกับหลวงพ่อรูปหนึ่งอยู่บนเขาอีกลูกหนึ่ง ก็ไปเยี่ยมหลวงพ่อ ไปเล่าให้ฟังว่า ได้ตกลงกับเจ้านายอย่างไร เพราะรู้ว่ายอดเขานั้นสูงสามสี่พันเมตร ตอนกลางคืนลมแรงมาก คงอันตราย หลวงพ่อก็บอกอย่างนี้ว่า ไม่ต้องกลัวหรอก ทำได้ คือหลวงพ่อจะขึ้นไปอยู่บนยอดเขาลูกนี้ แต่จะจุดไฟ แล้วจากยอดเขาที่เธออยู่จะมองเห็น จะมองเห็นไฟ ให้ยืนเพ่งที่ไฟของหลวงพ่อ แล้วให้ระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า หลวงพ่อผู้มีเมตตาต่อเรากำลังนั่งดูแลไฟอยู่ ครับ เลยตกลง
ตอนกลางคืนก็ขึ้นเขา ก็มีลูกน้องของเศรษฐีอีกสามสี่คนไปเพื่อเป็นพยาน ไปถึงยอดเขา ถอดเสื้อผ้า ยืน ลมพัด วู้ วู้ วู้ หนาวววว สั่นนนน ก็เพ่งไปที่ยอดเขาลูกนั้น ก็เห็นไฟ ก็อบอุ่นใจ สบายใจ โอ หลวงพ่อท่านเมตตาเรามาก หลวงพ่อก็ยังอุตส่าห์นั่งบนยอดเขา ดูแลไฟตลอดเวลา เป็นเพื่อน ก็ได้สองอย่าง ได้เพ่งที่ไฟแล้วพยายามนึกถึงความร้อนของไฟ ก็เป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เอาธาตุไฟ ที่ตาเห็น มาพิจารณา แล้วก็นึกถึงเมตตาของหลวงพ่อผู้จุดไฟด้วย อบอุ่นใจ ทรมานมากเกือบทนไม่ไหว แต่อยู่ได้ตลอดคืน
ชนะแล้ว รวยแล้ว ใส่เสื้อผ้า เดินลงไป ไปหาเศรษฐี เศรษฐีก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ทำได้ครับ ลูกน้องคนอื่นก็เป็นพยาน ทำได้อย่างไร เศรษฐีก็งง เขาก็อดพูดไม่ได้ อธิบายด้วยความภาคภูมิใจว่า หลวงพ่อของผมไปอยู่บนภูเขาอีกลูกหนึ่ง ไปจุดไฟ นั่งอยู่ตลอดคืน ผมก็เพ่งที่ไฟก็เลยอุ่นเอาตัวรอดได้ตลอดคืน เศรษฐีบอกว่า ผิดสัญญา ฉันบอกว่าไม่มีไฟ คุณมีไฟ ผิดสัญญา ไม่ให้ ที่ดินก็ไม่ให้ วัวก็ไม่ให้ เศรษฐีอย่างนี้ก็มีนะ นี่อาฟริกานะ ไม่ใช่เมืองไทย
เขาเสียใจมาก อดทนถึงขนาดนี้ไม่ได้อะไรเลย โกรธมาก ฟ้อง ขึ้นศาล ปรากฏว่า ผู้พิพากษาเป็นเพื่อนของเศรษฐี ตัดสินว่า ไม่ได้หรอก ไม่ได้ มีไฟ พนันกันว่าไม่มีไฟ มองดูที่ไฟ เพ่งอยู่ที่ไฟ แสดงว่ามีไฟ ตามกฎหมาย พยัญชนะของกฎหมาย หมดหวัง ไปปรับทุกข์กับหลวงพ่อ หลวงพ่อว่า ไม่เป็นไร มีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นเศรษฐีเหมือนกัน กลุ่มเดียวกับพวกนี้ เดี๋ยวจะเรียกมาปรึกษากัน
หลวงพ่อก็เลยเล่าให้ลูกศิษย์คนนี้ฟัง เขาลงไปถึงเมือง เขาประกาศว่าพรุ่งนี้จะมีปาร์ตี้ ทุกคนก็ตื่นเต้นเพราะรู้ว่าปาร์ตี้ของคนนี้สนุกมาก แล้วอาหารอร่อยมาก ทุกคนก็อยากไป เศรษฐีเจ้านายของพระเอกได้บัตรเชิญ ผู้พิพากษาก็ได้ ทุกคนไปแต่หัวค่ำ แล้วก็นั่งอยู่ในห้องรับแขก ก็มีกลิ่นโชยมา สงสัยจะมีอันนั้น อันนี้ มีความสุขกับกลิ่นนาน แต่นานเข้า เอ๊ะ ไม่เห็นเขาเอาอาหารมาสักที เอ๊ะ ทำไม ทำไม มีอะไรหรือเปล่า เจ้าของบ้านอยู่ที่ไหน ไม่ทราบ ไม่รู้อยู่ที่ไหน นั่งทนอยู่ ทุกข์มาก ท้องก็จ๊อก ๆ เพราะกลางวันไม่กล้าทานอะไรมากเพราะกลัวว่าตอนกลางคืนจะทานไม่ได้ อดตอนกลางวัน โอ๊ย ทุกข์
สุดท้ายเจ้าของบ้านเดินเข้ามา เอ้า อาหารอยู่ที่ไหน พวกเรามานั่งคอยกันแย่ อ้าว พวกเธอก็ได้กลิ่นแล้วไม่ใช่หรือ กลิ่นก็ไม่มีความหมายอะไร ยังหิวอยู่ อาหารไม่ใช่กลิ่นหรอก อ้าว ก็เหมือนกับลูกน้องของเศรษฐีคนนี้ไม่ใช่หรือ อยู่บนยอดเขา หน้าวหนาว ไม่มีความอบอุ่นแม้แต่นิดเดียว ถูกตัดสินว่ามีไฟ เศรษฐีก็อายหน้าแดง ผู้พิพากษาก็อายหน้าแดง จากนั้นก็เอาอาหารมา จากนั้น เศรษฐีก็เรียกพระเอกมา ยกที่ดินให้ วัวให้
เรื่องนี้สอนเรื่องปัจจัตตัง เห็นเอง หิวเอง รู้เอง จึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร
การที่เรารู้ความจริงเรื่องปัจจัตตังนี่สำคัญ ก็ควรจะทำให้เราไม่ประมาท พุทธองค์บอกว่า อย่ามัวแต่นับโคของคนอื่น ต้องมีโคต้องมีวัวของตัวเอง อย่ามัวแต่ไปนับของดีของคนอื่น ต้องมีของตัวเองบ้าง พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องอริยทรัพย์ อริยทรัพย์เราก็ทราบ แต่ไม่ค่อยกระตือรือร้นเหมือนทรัพย์ที่เป็นวัตถุ
อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะถามตัวเองว่า เรามีมรดกอะไรบ้างที่จะให้ลูกหลานที่ไม่ใช่วัตถุ มีไหม ไม่ได้พูดถึงที่ดิน ไม่ต้องพูดถึงเงินทอง แล้วมีอะไรไหมที่เป็นมรดกที่เราภูมิใจที่จะฝากไว้กับลูกกับหลาน มรดกที่เป็นนามธรรม มีอะไร มีอยู่ในใจของเราที่เราบอก นี่แหละ ที่เราอยากให้ลูกได้จากเรา มีคุณธรรมอะไรไหม ถ้าลูกได้สิ่งนี้ เขาจะไม่จน ลูกเขาจะมีความสุข นี่ก็เรียกว่า มรดกทางใจ อาตมาว่า มรดกอย่างนี้มีคุณค่ามาก
งั้นธรรมะที่เป็นมรดกที่เราจะฝากให้ลูกหลาน เราทุกคนก็สะสมได้ ทุกคนเสมอภาคในเรื่องการแสวงหาคุณธรรมทางใจ เพียงแต่ว่าเราต้องตั้งใจ ธรรมะ การหลุดพ้น ท่านเรียกว่า อมตะธรรม เมื่อวานมีใครถามเรื่องนี้ ไม่ได้ตอบ วันนี้มาตอบ อมตะธรรม ไม่เกิดไม่ตาย
อมตะธรรมในประสบการณ์ของนักปฏิบัติ เราก็สัมผัสได้ในเมื่อจิตใจเราไม่หลงใหล ไม่เกิดไม่ดับกับสิ่งเกิดดับ หมายถึงว่า มีสิ่งชวนให้โลภ แต่จิตใจของเราหนักแน่น ไม่โลภ มีสิ่งไรชวนให้โกรธ เราก็ไม่โกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ เราก็ไม่หลงในสิ่งที่ชวนให้หลง เพราะฉะนั้น เราไม่เกิดเป็นผู้โลภ ไม่ตายจากการเป็นผู้โลภ เราไม่เกิดเป็นผู้โกรธ ไม่ตายจากการเป็นโกรธ ไม่เกิดเป็นผู้หลง ไม่ตายจากการเป็นผู้หลง
นี่ก็ความหมายหนึ่งของการเกิดดับในชีวิตประจำวัน เกิดเป็นคนนั้น เกิดเป็นคนนี้ เกิดเป็นคนใจดี เกิดเป็นคนใจร้าย เกิดเป็นคนอิจฉา เกิดเป็นคนเมตตา มันก็มีเกิดดี เกิดชั่ว เกิดมาก ตายมาก ถ้าจิตใจเรารู้เท่าทัน รู้สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของมัน ไม่หลงใหล ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้สึกอะไรเลย แต่เราสามารถหยิบอารมณ์ที่สร้างสรรค์มาปฏิบัติได้ ไม่เกิดเป็นผู้เมตตา แต่ว่ามีเมตตาอยู่ประจำใจ เป็นอย่างไร
ถ้าเกิดเป็นผู้เมตตา หมายถึงว่า มีความรู้สึกว่าตัวเองเมตตา ถ้ามีคนมาหาว่า เราคนใจร้ายใจดำ ทุกข์ ถ้าถูกกล่าวหาว่า เราเป็นคนนั้นคนนี้ คนอย่างนั้นคนอย่างนี้ ทุกข์ แสดงว่าเราไปเกิดแล้ว ถ้าเราถือว่าเราเป็นผู้ซื่อสัตย์ แล้วก็มีใครมาหาว่าเราโกง ก็เป็นเรื่องธรรมดาว่า คนซื่อสัตย์ที่ถูกหาว่าโกงจะต้องไม่สบายใจ แต่บางทีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมันเกินเหตุ มันมากใช่ไหม ถ้าเรารู้สึกตัวว่ามีปฏิกิริยาเกิดเอง ไม่รู้มันมาจากไหน ทำไมอารมณ์เรารุนแรงอย่างนั้น มันมีแรงเกิดจากการยึดมั่นถือมั่น ว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์ เราเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ดี แต่เราอย่าให้ไปเกิดเป็นคนซื่อสัตย์ เพราะพอเกิดเป็นคนซื่อสัตย์แล้วจะต้องมีความทุกข์ของคนซื่อสัตย์
หากเราปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต ด้วยเห็นความดีความงาม โดยเห็นว่าเป็นมรดก เป็นมรดกธรรมที่เรากำลังสะสมอยู่ในใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเองในปัจจุบัน เป็นประโยชน์แก่คนอื่นด้วย เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะฝากให้กับลูกกับหลาน
คนเราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในโลกอีกกี่ปี อีกกี่วัน อีกกี่ลมหายใจ เราต้องการมีสิ่งดีงามปรากฏในใจเรา เพื่อเป็นที่ประทับใจของลูกของหลาน ของคนรอบตัวบ้าง สังเกตไหมว่า ผู้หลักผู้ใหญ่พลัดพรากจากเราไป สิ่งที่เราจะจำได้ ถ้าเป็นคน เราก็จะจำได้ คุณธรรมของเขา มากกว่าว่าเขามีบ้านกี่หลัง มีรถกี่คัน เราจะจำว่า ระลึกถึงคน ๆ นั้นเมื่อไร ก็จะระลึกถึงว่า คนนั้นเขาใจดีนะ เมตตานะ คือเราจะไม่คิดถึงวัตถุหรือความสำเร็จทางโลกเท่าไร เราจะคิดถึงบุคลิก คิดถึงความดีความงาม งั้นเราสร้างความดีความงามอยู่ในใจ ก็ทำให้เรางาม แล้วก็เป็นวิธีการที่ตรงที่สุดที่แน่นอนที่สุดที่จะสร้างเสริมสังคมที่งาม เพราะเราจะเริ่มที่ไหน ถ้าเราไม่เริ่มต้นกับเรากับครอบครัวของเรา
ธรรมะเรียกว่า สันทิษฐิโก เป็นสิ่งที่ทุกคนศึกษาและปฏิบัติได้ ได้ผลได้ ถ้ามีเสียงกระซิบอยู่ในหูว่า ทำไม่ได้หรอก มันยากเกินไป ลำบากเกินไป ทรมานเกินไป ก็ขอให้ทราบว่า นั่นเป็นตัวมาร มารไม่ได้อยู่ไหนหรอก มันอยู่ที่กำหนดไป อย่างว่า เช้าเกินไป ดึกเกินไป ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หิวเกินไป อิ่มเกินไป มันอยู่ในโลกที่มันเกินไปตลอดเวลา มันมีแต่ขาดมีแต่เกิน เรื่องการปฏิบัติสำหรับคนทั่วไป ขาดก็คือยังไม่พร้อม
สมัยก่อนนะมีราชประเพณีในประเทศอินเดียว่า พอพระราชาเห็นผมหงอกเส้นแรก ลาออกจากตำแหน่ง เข้าป่าปฏิบัติ แต่ตอนหลังก็มีการย้อมผม ประเพณีนี่เลยหายไป นี้น่ะธรรมทูตนะ ถ้าเรามองหน้าในกระจกเห็นผมหงอก นี่ควรจะสอนว่า ได้เวลาเร่งความเพียร ไม่ใช่ว่า เดี๋ยวต้องไปทำผมอีกแล้ว ความรู้สึกความคิดมันไม่เหมือนกันนะ คนเรา นี่การปฏิบัติมันอยู่ที่เรา มันไม่ได้อยู่ที่อื่น
อย่างว่า มีสำนวนที่ชอบว่า Count your blessing ก็คือระลึกถึงเสมอซึ่งสิ่งที่ดี เราก็อยู่ในฐานะที่ไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยสี่ ฐานะของเราพออยู่ได้ สุขภาพร่างกาย อาจมีโรคประจำตัวอยู่ได้ ก็ยังพอนั่งได้ พอเดินได้ พอฟังได้ พอพิจารณาได้ เรียกว่ามีบุญ มีบุญมาก เอาแค่นั่งกับพื้นได้ นี่ก็ยังมีบางคนอยู่ข้างหลังเขานั่งกับพื้นไม่ได้ แหม เราก็ยังดีนะ เรานั่งกับพื้นได้ โรคประจำตัวเราอาจมีน้อย โอกาสจะปฏิบัติจะมีมาก
ถ้าวันไหน เราอยู่ที่ไหน เรากำลังซึมเศร้า เบื่อหน่าย ก็มีข้อวัตรปฏิบัติ ให้ใช้คำว่า ดีนะ คำบริกรรม ดีนะ พยายามคิดถึงสิ่งที่ดีในเหตุการณ์นี้สักสามข้อ ว่าร้อน อ้าว ก็ยังดีว่าเรามีหลังคา ถ้าไม่มีหลังคาก็แย่ นั่งรถติด ดีนะ เรามีรถที่จะติด เอ้า คนหลายล้านคนไม่มีรถเลยใช่ไหม เขาเห็นคนนั่งในรถ รถติด เขาก็อิจฉาก็ได้นะว่า โอ้ คนนั้นเขาก็ไม่ต้องเดินเหมือนเรา รถไม่ไป เขาก็มีแอร์ เราเดิน มันก็ดีกว่า ดีกว่าต้องใช้ไม้ค้ำ ดีกว่านั่งรถเข็น รู้จักคิด รู้จักพิจารณา
ในทางตรงข้าม เรื่องไหนที่เรากำลังเหลิง มันกำลังฟู ตัวเองเก่ง ตัวเองดี ระวังนะ ดูโทษสามข้อ เพื่อจะดึงจิตกลับมาสู่ทางสายกลาง ไม่แน่นอนนะ ไม่แน่นอนอย่างไร มีหลายอย่าง ทุกวันนี้เราเอาแน่ไม่ได้ใช่ไหม ยิ่งในโลกปัจจุบัน โลกาภิวัติ บางทีเกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ปัญหาในบ้านนั้นก็ส่งถึงเราได้ มันถึงกันหมด
เรียนรู้เรื่องที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่ก็เคล็ดลับของการมีปัญญาในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันจึงเป็นอย่างนี้ แล้วจะไปโกรธทำไม จะไปอะไรมันทำไม เมื่อเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ จะให้มันเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เมื่อมีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้ มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอก สมมุติว่า เราจะทานกาแฟ แล้วก็ใส่น้ำตาลสามช้อน ใส่ลงไปแล้วมันหวาน ทำไมมันหวานอย่างนี้ อ้าว ก็ใส่น้ำตาลตั้งสามช้อน อ้าว เมื่อเราประมาท เราก็เป็นคนใจร้อน ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยได้คิด ทำก่อนคิด พูดก่อนคิด ตอนหลังก็ผิดพลาด ตอนหลังมีคนไม่พอใจเรา เราจะไปน้อยใจทำไม จะไปโกรธทำไม อ้าว เหมือนเราใส่น้ำตาลมากเกินไป เหมือนเราทำอะไร มันมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ มันจะต้องเป็นอย่างนี้
อาตมาเคยพูดว่า คนในโลกนี้ตั้งหกพันล้าน หกพันล้านหนึ่ง หกพันล้านสอง มันขึ้นตลอดเวลา หกพันล้านสาม ถ้าเราดูพฤติกรรมความเป็นอยู่ของคน อาตมาว่า วิถีชีวิตของคนเกือบทั้งหมดในโลกเป็นวิถีพุทธโดยเขาไม่รู้ตัว เพราะอะไร เพราะคนทำอะไรก็ทำตามเหตุตามปัจจัย คนที่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม มีที่ไหนไหมในโลกนี้ที่ว่า นั่งเพ่งที่หม้อข้าว ขอให้ข้าวของฉันมันสุกเถอะ ขอให้พระผู้เป็นเจ้าจงดลบันดาลข้าวของลูกสุกเถอะ มีไหม คือในชีวิตประจำวัน เขาก็รู้ว่า เขาต้องการอะไร เขาก็ต้องทำถูกต้องตามเหตุปัจจัย เขาต้องการกินข้าว ก็ต้องมีข้าว มีหม้อ มีน้ำ มีไฟ เรียกว่า เขาทำตามแนวตามพุทธศาสนาแท้ ๆ
คนอยากมีงานทำก็ต้องฝึกงาน ไม่ใช่มาขอพระเจ้าให้มีความสามารถต่าง ๆ อยากฉลาดก็ต้องไปเรียนหนังสือ ไม่มีอะไรมาด้วยการดลบันดาล นอกจากความเพียรพยายามของเรานั่นแหละเป็นตัวดลบันดาล เราเป็นผู้ทำ เราเป็นผู้ได้ผล ไม่มีที่ไหนที่ชีวิตของคนที่เป็นไปตามดวงหรอก คิดเอาเอง ถ้าเป็นไปตามริดสีดวงอาจจะมีสิทธิมากกว่า เพราะเป็นอุปสรรคมากกว่าดวงที่อยู่บนท้องฟ้า ผู้มีริดสีดวงเป็นอุปสรรคน่าสงสารกว่า เรื่องดวง อาตมาไม่เชื่อหรอก ไม่เป็นจริง
ให้เราเป็นนักศึกษาชีวิต โดยเฉพาะเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ อย่ากลัวทุกข์ ให้ดูว่าทุกข์มันเกิดจากอะไร ไม่ต้องไปในอ่านหนังสือ ไม่ต้องไปเชื่อใคร ดูเอง เพราะป็นเอหิปัสสิโกธรรม ธรรมที่ชวนเรามาดูมาพิสูจน์ ถือว่าพระพุทธองค์ฝากไว้เป็นสมมุติฐานก็ได้ พระพุทธองค์บอกว่าทุกข์เพราะตัณหา ท่านไม่บังคับให้เชื่อ ท่านให้เทียบเคียงกับชีวิตตัวเองว่า ใช่ไหม
พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า เราเจอคนแปลกหน้า เขาจะให้ก้อนทองคำ ก็ไม่มีใครจะเชื่อง่าย ๆ ใช่ไหม สิ่งมีค่าขนาดนั้น ทำไมเขาจะให้เราฟรี ๆ เราก็ต้องสงสัยบ้าง เราก็ต้องชั่งน้ำหนัก อาจจะต้องไปกัด ไปทำอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะได้แน่ใจว่าทองคำจริง พระพุทธองค์ว่า ธรรมะของพระองค์เหมือนทองคำ เป็นสิ่งล้ำค่า แต่ว่าต้องทดลองก่อน ทดลองอย่างไร ก็ทดลองดูในชีวิตของตัวเอง
ทบทวนในอดีตที่เราเคยเป็นทุกข์ทางใจมาก ๆ ลองวิเคราะห์ดูว่า ทำไมจึงเป็นทุกข์กับเรื่องนั้น ทุกข์เพราะเขา ใช่ไหม ทุกข์เพราะเขา เพราะเราคิดว่า เขาไม่น่าจะทำอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ทุกข์เพราะเราอยากให้เขาเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่อยากให้เขาเป็นคนแบบนั้น ทุกข์มันอยู่ตรงไหน
พอเราปฏิบัติแล้ว มันจะแยกสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเรายังไม่ปฏิบัติก็มีแต่ reaction ปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่ถ้าเรามีสติ มันมี response คือ ตอบสนองในทางที่เหมาะสม ในทางที่ได้ผล อันนี้ระหว่างนักปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติจะเห็นชัดเลยว่า นักปฏิบัติได้พัฒนามีวิวัฒนาการจากชีวิตแห่งปฏิกิริยาโต้ตอบไปสู่ชีวิตแห่งการตอบสนองโดยสติปัญญา นี่ก็เกิดจากการปฏิบัติ
ผู้ไม่ปฏิบัติ โอ๊ย ทุกข์มาก ทุกข์มาก เพราะนั่นเพราะนี่ เหมือนกับถูกบังคับให้เป็นทุกข์ เขาหักหลังเรา เขาว่าเรา เขาอะไร เขาทำให้เราเป็นทุกข์มาก นักปฏิบัติไม่คิดอย่างนั้น ไม่มีใครจะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ อย่างมากที่สุดก็บอกว่า เขาทำอะไรที่ชวนให้เราเป็นทุกข์มาก เป็นการชักชวนให้เป็นทุกข์ที่มีน้ำหนักมาก แต่ว่าไม่ใช่บังคับนะ เพราะต้องขาดสติ ขาดธรรมะอยู่ในใจมันจึงจะเกิดทุกข์ได้ เหมือนปฏิกิริยาทางเคมี มันต้องมีเหตุปัจจัยภายนอกเหตุปัจจัยภายในผสมกันมันจึงจะระเบิด ถ้ามีสารหรือวัตถุภายนอก แต่วัตถุดิบภายในที่จะผสมไม่มี ปฏิกิริยาทางเคมีทางระเบิดไม่เกิดขึ้น
นี่เรารับผิดชอบตัวเองอย่างนี้ ก็สบายใจสิ เราก็รู้ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นยังไงก็ตาม เราก็ยังไม่ต้องเป็นทุกข์กับมันได้ สิ่งแวดล้อมชวนให้โลภ เราก็ต้องไม่โลภก็ได้ ถ้าเรามีสติ เรามีธรรมะอยู่ในใจ นั่นก็ชวนให้โกรธเท่าไร ถ้าเราฉลาด มีคุณธรรมก็ไม่ต้องโกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ ไม่ต้องหลงในสิ่งที่ชวนให้หลง เรียกว่าเป็นอิสระ ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของมนุษย์ วิวัฒนาการทางกายมันเกิดขึ้นเอง แต่วิวัฒนาการทางจิตเราต้องใช้ความตั้งใจเป็นส่วนประกอบ อยู่ที่การกระทำของเรา เราทำไปเถอะ มันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างที่เคยว่า อย่างคนที่มองตัวเองในแง่ร้าย แหม อาจารย์ ไม่ไหวหรอก มันมืด มืดแปดด้าน อาตมาก็ว่าไม่เป็นไร พัฒนาให้มันมืดเจ็ดด้านเสียก่อน มันก็ยังดีนะมืดเจ็ดด้านแล้ว มันมีหวังแล้วนะ มืดหกด้าน มืดห้าด้าน ไม่ต้องสงสัยในความสว่างต้องเพิ่มขึ้น สว่างจ้าหมดความมืดซะแล้ว ก็ทำได้ มืด มันไม่มืดสนิทหรอก แหม ฉันซึมเศร้าตั้งสามวันแล้ว จริงหรือ ซึมเศร้าทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออกจริงหรือ ไม่ใช่ใช่ไหม เพียงแต่มันเป็นอารมณ์เด่นกว่าอารมณ์อื่น ก็ไปสำคัญมั่นหมายเอาเป็นตัวเป็นตน คิดผิด อยู่กับความคิดผิด
งานหลายสิ่งหลายอย่างเราโทษภายนอก แต่ว่ามีส่วนหนึ่งจากภายใน แต่ขอย้ำในที่นี้ว่า พุทธศาสนาไม่ได้ละเลยปัญหาภายนอกว่า ไม่สำคัญ ทำใจให้ดี ก็ดีแล้ว ไม่ใช่ ส่วนที่ควรแก้ เราก็แก้ไป อย่างรอบคอบ เท่าที่จะแก้ได้ แต่เราต้องแก้ภายในด้วย เพราะหลายสิ่งหลายอย่างมันเกิดจากภายใน
มีชาวนาคนหนึ่งทุกข์มากเพราะว่าจน จนมาก กลัวว่าถ้าค่าข้าวสารตกไปเมื่อไร จะไปไม่รอด กังวลเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกข์มาก ว่าจะไม่มีอะไรให้ลูกหลาน ไม่มีมรดก เป็นหนี้สิน นั่งทุกข์ทุกวัน ไม่มีกำลังใจจะทำอะไร เพราะไม่มีกำลังใจจะทำอะไร งานก็ไม่เดิน มันก็เลยแย่ลงไปเรื่อย
วันหนึ่งก็มีคนเดินทางผ่านหน้าบ้าน แวะมาขอทานน้ำ เจ้าของบ้านก็เลี้ยง แขกผู้เดินทางก็เห็นหน้าเศร้า ถามว่าเป็นอย่างไร โอ๊ย ผมแย่มาก ดูสิ สิ่งแวดล้อมผมเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรเลย จนที่สุด เป็นหนี้เขาด้วย อนาคตก็ไม่ดี มีลูกเยอะ ต่อไปลูกต้องแต่งงาน ก็ไม่มีอะไรจะให้เขา โอ๊ย หมดกำลังใจ
แขกคนนี้เขาสงสาร เดี๋ยว ผมมีทางจะช่วย วันหลังเขากลับมา เอาแท่งทองคำมา นี่ ฉันได้สิ่งนี้จากผู้หวังดีคนหนึ่ง เขาให้ผมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่จำเป็นที่สุด ห้ามเอาไปขายนะ เก็บไว้ดี ๆ ถ้าจำเป็นจริง ๆ แล้วจึงค่อยขาย ผมใช้ได้ยี่สิบปี ผมก็เก็บไว้ได้ยี่สิบปี ไม่เคยได้ใช้ คุณเก็บไว้ให้ดี ถ้าไม่ถึงที่สุด อย่าเพิ่งขายนะ อย่างน้อยก็จะสบายใจว่า ถ้าแย่ที่สุดเมื่อไร อย่างน้อยที่สุดก็มีทองคำแท่งหนึ่งอยู่
จากนั้น เจ้าของบ้านมีกำลังใจ สบายใจแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงอนาคต มีกำลังใจ สดชื่นเบิกบาน ออกไปทำงาน ขยันขันแข็ง ไม่นานเศรษฐกิจดีขึ้น รวยขึ้นทุกวัน ๆ สบาย กลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง ตอนหลัง ก็มีคนเดินทางหน้าบ้าน หน้าเศร้า เขาก็รู้สึกว่า เป็ฯโอกาสของเราแล้ว เขาก็เชิญเข้ามาในบ้าน เป็นไง โอ๊ย ผมหมดตัวแล้ว เศรษฐกิจตกต่ำ หุ้นเราตกหมดเลย ไม่มีเหลือ เจ้าของบ้านบอกว่า ผมมีทางช่วย เคยมีคนช่วยผม ผมจะช่วยคุณต่อ เขาเอาแท่งทองคำออกมา นี่ ผมจะฝากคุณนะ คุณเก็บไว้นะ ถ้าไม่จำเป็นที่สุดนะ อย่าเพิ่งขายนะ เอาไว้ ถ้าไม่มีอะไรจริง ๆ ไม่มีอะไรจะกิน แล้วจึงขาย อย่างน้อยจะได้สบายใจ
เขาหยิบขึ้นมา เขาขอบคุณ แต่คนนี้เขาเคยเป็นพ่อค้าชั้นผู้ใหญ่ เขารู้เรื่องเกี่ยวกับทองคำ เขาดูไปดูมา อันนี้ไม่ใช่ทองคำจริงนะ เขาดูข้างล่าง ก็มีคนเขียนตัวเล็ก ๆ "อย่ากังวลมาก จะเป็นทุกข์เปล่า ๆ" ที่เขาได้นั้น ไม่ใช่เพราะอะไร เขาไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่ใช่ทองคำจริง แต่เขาทำใจได้ เพราะเขาทำใจได้แล้ว ไม่คิด ไม่กังวล เขาก็สามารถทำงานได้ดี
เรื่องนี้สอนว่าอะไร ฝากไว้ให้โยมเป็นการบ้าน แต่ทุกข์เพราะความคิด เห็นไหม ทุกข์เพราะความคิด ไม่ใช่ทุกข์เพราะสิ่งแวดล้อม เพราะเศรษฐกิจมากเท่าทุกข์เพราะความคิด ทำจิตใจให้เราดี แก้ไขในสิ่งที่แก้ไขได้ ไปเรื่อย ๆ
ในเรื่องอริยสัจสี่ ทุกข์เพราะสมุทัย ทุกข์เพราะตัณหา หลวงพ่อชาท่านสอนดีมาก แต่ท่านไม่ค่อยได้สอนเป็นหลักทฤษฎี แต่ท่านจะใช้วิธีอย่างไร ลูกศิษย์ต้องการอะไร ท่านไม่ให้ ลูกศิษย์ไม่ต้องการอะไร ท่านก็ให้ อ้าว แล้วก็ปัจจัตตัง หลวงพ่อก็ทำให้เราเป็นทุกข์ เอ๊ะ จริงหรือเปล่า หลวงพ่อทำให้เราเป็นทุกข์หรือ ไม่ใช่ เพราะเราอยาก เราอยากได้อะไร ท่านไม่ให้ มันเป็นพราะความอยากของเรา เราจึงเห็นว่าหลวงพ่อท่านมีเมตตา
จริง ๆ ถ้าเราปฏิบัติคนเดียวก็คงไม่อยากจะฝืนถึงขนาดนั้น อย่างเช่นต้องการ เราก็ฉันท์มื้อเดียว ตื่นแต่เช้าตีสามตีห้า ออกบิณฑบาตแล้วก็เดินไกลหลายกิโล แต่ก่อนบาตรของอาตมาใหญ่กว่านี้มาก หากเต็มไปด้วยข้าวเหนียวมาก บาตรหนักมากนะ บาตรหนักแล้วก็ร้อนก็ร้อน กลับมาก็ต้องมานั่งสมาธิก่อน หลวงพ่อมานั่ง แล้วก็แจกอาหาร หลวงพ่อก็จะคุยกับญาติโยม รู้สึกว่าคุยกับญาติโยมสองสามนาทีเหมือนชั่วโมง นี่คือตัณหา หลวงพ่อคุยกับญาติโยมเสร็จแล้ว หลวงพ่อก็จะกระแอม อะแฮ่ม (ก่อนสวด) ยัตถา.... ทุกคนเครียด รอว่า เมื่อไรหลวงพ่อก็จะกระแอม เอ๊ะ ทำไมวันนี้ญาติโยมมาเยอะ ไม่ค่อยยินดีในการทำบุญของโยมเท่าไร วันธรรมดาไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ ทำไมมาเยอะ เมื่อไรนะ
แล้วก็บางวันหลวงพ่อก็จะคุย คุย คุย แล้วก็ กระแอม พวกเราก็ฮืมม์ (จะได้ฉันแล้ว) แล้วก็คุยต่อ บางทีสองสามครั้ง ท่านก็แกล้ง แต่ท่านไม่ใช่ซาดิสม์นะ ท่านต้องการให้เราเห็นใจตัวเอง ไม่ต้องรู้ภาษาไทยอะไรมาก ให้เรารู้ว่าทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร นี่คือการสอนธรรมะของหลวงพ่อชา มีคนชอบถามพระฝรั่งว่าไปอยู่แรก ๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ หลวงพ่อสอนอย่างไร สอนอย่างนี้แหละ สอนเรื่องการทรมานกิเลส สอนเรื่องอริยสัจจ์สี่
ถ้าเราทุกข์ในชีวิตประจำวัน ให้ถือว่าพระพุทธเจ้ากำลังสอนเรา เหมือนหลวงพ่อชาเคยสอน คิดว่าธรรมชาติกำลังสอนเรา ทุกข์ แสดงว่ามันต้องมีตัณหาอะไรสักอย่าง มาดูอยู่ตรงนี้ ปล่อยวางอยู่ตรงนี้ นี่ก็ข้อวัตรปฏิบัติ วันนี้ก็พอสมควร มีทั้งนิทานทั้งโจ๊ก ทั้งหลายรสชาติ
(ถอดเทปโดย รจนา เจนีวา)
เมื่อวันที่ : 24 ส.ค. 2548, 19.36 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...