![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...การบังเกิดขึ้นของตถาคตหรือพระพุทธเจ้านัน เป็นการเปิดหนทางให้มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนทุกวันนี้ มีโอกาสพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง...
ธรรมะเอ็มแปดถอดเทปจากคำเทศน์ของ ชยสาโรภิกขุ
วันนี้วันเพ็ญเดือนหก เรียกว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ชาวพุทธเราทั้งหลายได้ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ซึ่งถือว่าเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสามเหตุการณ์นี้เกิดในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนหก วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เราประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คือมีการเวียนเทียน ซึ่งที่วัดป่าเราจะเวียนเทียนตอนกลางคืน แต่เนื่องจากว่า อยู่ที่นี่อาจจะไม่สะดวก ก็เลยย้ายมาเวียนเทียนตอนเช้า
แล้วเวียนเทียนก็เป็นตัวอย่างของพิธีกรรมอย่างหนึ่งซึ่งถ้าเราให้ความหมาย มันก็มีความหมาย แต่ถ้าเราทำเฉย ๆ สักแต่ว่าทำ ความหมายก็น้อย ฉะนั้น ความหมายน้อย ประโยชน์ก็น้อย ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็อยู่ที่ตัวเราแต่ละคน
พิธีกรรมก็มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความรู้สึกต่อเนื่องในวัฒนธรรม หรือในสังคม ความทุกข์ที่ปรากฎชัดมากในสมัยปัจจุบัน คือ ความทุกข์ของมนุษย์ที่เห็นสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นหลักพึ่งได้ ปรากฏว่าพึ่งไม่ได้
ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องอาชีพการงาน สมัยก่อน ถือว่าถ้าเราตั้งใจทำงาน มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายและบริษัท เราก็คงมีความมั่นคง เราก็คงอยู่ในตำแหน่งตลอดจนเกษียณอายุ หมดงาน แต่สังคมเปลี่ยนไป ทุกวันนี้คนไม่มีความมั่นคงในอาชีพเหมือนแต่ก่อน สิ่งแวดล้อมไม่ว่าในด้านสิ่งก่อสร้างก็ดี ความยอมรับของสังคมก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง คนก็รู้สึกกลัว หวาดหวั่น ไม่รู้จะพึ่งอะไร แล้วความกลัวและความไม่มั่นใจในตัวเองหรือในหน้าที่ของตัวเอง ก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้
โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ผู้ชายจะเป็นปัญหามาก คือ เคยยึดมั่นถือมั่นว่าศักดิ์ศรีของตัวเองอยู่ที่ตำแหน่งการงาน แต่ตอนนี้ตำแหน่งการงานก็ไม่มั่นคง อยู่ที่การเป็นผู้ทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่ทุกวันนี้ ทางฝ่ายผู้หญิงก็ออกไปทำงานมากขึ้น อาจมีเงินเดือนสูงกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไป หน้าที่ต่าง ๆ ที่คนเคยยึดไว้ เป็นการพิสูจน์ว่าตัวเองมีความสำคัญ ก็ลดน้อยลง หรือหายไป
เมื่อมีความกลัว มีความกังวลมักเป็นเหตุให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชัง หาแพะรับบาป ที่ยุโรปก็เห็นชัดว่า ตลอดประวัติศาสตร์ของยุโรปว่า จะต้องมีพวกใดพวกหนึ่งเป็นแพะรับบาป ซึ่งเป็นพวกยิวทั้งหลายร้อยปีหรือพันกว่าปีสองพันปี ตอนหลังกลายเป็นคนผิวดำ คนอาหรับ ต้องการให้มีแพะรับบาป เพราะว่าการเป็นความเกลียดชัง ก็ทำให้เป็นเครื่องระบายอารมณ์บางอย่าง
ในการนี้ การที่ศาสนาคริสต์ลดอำนาจลดอิทธิพลลงไปมากก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยก็ได้ การที่เรามีศาสนา แล้วมีพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งตายตัวก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความรู้สึกมั่นคง เมื่อเราได้เวียนเทียนในวันวิสาขบูชา เราก็รู้ว่าปู่ย่าตายายหรือว่าบรรพบุรุษของเราก็เคยทำพิธีกรรมคล้าย ๆ อย่างนี้ มีความรู้สึกต่อเนื่อง นี้เป็นอานิสงส์ในระดับพื้นฐานของพิธีกรรมทางศาสนา ถ้าผู้ประกอบพิธีมีปัญญาและรู้จักความหมาย
วันนี้เราได้ระลึกถึงวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรมศาสนาของเรา ที่เราถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในรอบปี ก็เพราะว่าเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สามวัน คือว่า สำคัญที่สุดก็เพราะว่าการบังเกิดขึ้นของตถาคตหรือพระพุทธเจ้านั้น เป็นการเปิดหนทางให้มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนทุกวันนี้ มีโอกาสพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี
แล้วพระพุทธองค์ไม่เคยดูถูกดูหมิ่นศาสดาอื่น ศาสนาหรือลัทธิอย่างอื่น แต่ในขณะเดียวกัน แต่ท่านก็พูดตรง ๆ ว่า สมณะที่หนึ่ง สมณะที่สอง สมณะที่สาม สมณะที่สี่ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้ามีเฉพาะในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคยมีในอดีต และจะไม่มีในอนาคตในลัทธิศาสนาที่ไม่สอนอริยมรรคมีองค์แปด นั่นก็หลักประกัน ฉะนั้น การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ มนุษย์เราได้ของขวัญที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ หนึ่ง ได้ความรู้ ได้ความมั่นใจว่า มนุษย์เรามีศักยภาพมีความสามารถที่จะพ้นทุกข์และเข้าถึงความสุขที่แท้จริงด้วยความพากเพียรพยายามของตนเอง
ก่อนหน้านั้น ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครรู้ ก็ถือว่าชีวิตเราจะเจริญจะเสื่อมก็เพราะการดลบันดาลของเทวดามั่ง ของพระผู้เป็นเจ้าบ้าง เพราะถือว่ามนุษย์เราอ่อนแอ ไม่สามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริง นอกจากว่า ข้างบนจะเมตตาปรานี มนุษย์จึงมีหน้าที่ต้องอ้อนวอน มนุษย์มีหน้าที่จะต้องขอ มนุษย์จึงอยู่ในสภาพขี้ขออยู่ตั้งนานไม่รู้กี่พันกี่หมื่นปี
แต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการพิสูจน์ว่าคนเราเก่งกว่าที่เราคิด มีความสามารถมากกว่าที่เราเคยฝันเลย แต่การที่เราจะเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ ได้พิสูจน์ถึงความสามารถพิเศษของมนุษย์ได้ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนที่ท่านได้ค้นพบ คำสอนของพระพุทธเจ้า มีสองประเภท เรียกว่า ธรรม กับ วินัย
ธรรมเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติที่ท่านได้บรรลุถึง ซึ่งมีอยู่แล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตบังเกิดขึ้นก็ตาม ไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจสี่ ไม่ใช่ว่าเป็นทฤษฎีหรือเป็นปรัชญาที่พุทธองค์คิดขึ้นมาเองจากใจที่บริสุทธิ์ แต่เป็นสิ่งที่ท่านค้นพบ และเมื่อท่านค้นพบแล้ว ท่านก็ยังมีความปรีชาญาณในการอธิบาย ในภาษาธรรมดาที่มนุษย์ทั้งหลายสามารถเข้าใจได้ แล้วปฏิบัติตามได้
แตกต่างจากพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าบรรลุธรรมเหมือนกัน แต่เมื่อท่านเข้าถึงความลึกซึ้งที่อยู่เหนือภาษา ท่านก็ไม่สามารถที่จะแปลประสบการณ์ แปลความเข้าใจของคนเองเป็นภาษาคนได้ ไม่สามารถสร้างระบบ ไม่สามารถสร้างวิถีที่คนอื่นจะได้ปฏิบัติตาม เราจึงตั้งชื่อพระพุทธองค์ว่า พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้ชอบแล้วท่านก็ยังสามารถสั่งสอน
สิ่งที่ท่านสอนคือ หลักธรรม สิ่งที่ท่านสั่งก็คือ พระวินัย สิ่งที่ท่านสอนก็คือ ธรรมะ แต่สิ่งที่ท่านสั่งก็คือพระวินัย เพราะเป็นเรื่องบัญญัติ เป็นเรื่องการสร้างระบบ ระบบความเป็นอยู่ ระบบสังคมที่จะเอื้ออำนวยที่สุดต่อการเข้าถึงธรรม ถ้ารู้จักหลักธรรมแต่ไม่ฉลาดในการสร้างสิ่งแวดล้อม หรือบรรยากาศ หรือสังคมที่เอื้ออำนวย ก็คงจะได้ผลน้อย แต่พระพุทธองค์เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนได้ทั้งสองอย่าง ทั้งธรรมะด้วย ทั้งวินัยด้วย แล้วสิ่งที่พระพุทธองค์สอน เนื่องจากว่า เป็นเรื่องสัจจธรรมความจริง เป็นของกลางของธรรมชาติ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย เป็นคำสอนที่สากลอย่างแท้จริง
สองพันห้าร้อยปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ยังไม่เคยมีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงแม้แต่ข้อเดียว ถ้าเราเทียบกับนักปราชญ์คนอื่น หรือศาสดาคนอื่น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ในสมัยโบราณนั้น นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกตะวันตกคงจะเป็นอริสโตเติ้ล ที่จริงหลักปรัชญาของอริสโตเติ้ลในระดับศีลธรรมหรือจริยธรรมก็น่าศึกษา เพราะมีบางสิ่งบางอย่าง หลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราอ่านปรัชญาของอริสโตเติ้ลทั้งหมด ก็คงจะเกิดความรู้สึกว่า หลายอย่างที่ว่าไม่ใช่ หรือว่ามีหลายอย่างที่คนปัจจุบันเชื่อไม่ได้
ยกตัวอย่าง ในการเขียนเรื่องหลักการเมือง ปรัชญาการเมือง อริสโตเติ้ลบอกว่า คนที่เกิดในโลกนี้มีสองอย่าง หรือว่าสองประเภท ประเภทหนึ่งคือก็เป็นประเภทเจ้านาย เกิดแล้วพร้อมที่เป็นเจ้านาย อีกประเภทหนึ่งก็เป็นพวกทาส คือมีธรรมชาติอยู่แล้วว่า เกิดแล้วต้องเป็นทาส ดังนั้น สังคมของเรามีทาสไม่ใช่สิ่งผิดเลย มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะพวกนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นทาสของเจ้านายทั้งหลาย นี่คือความคิดของนักปราชญ์ที่เก่งที่สุดของโลกตะวันตก
อีกคนหนึ่ง เวลาต่อมาหลายร้อยปี คือ เดคาร์ต เดคาร์ตซึ่งมีผลต่อสังคมตะวันตกกันมาก เดคาร์ต ถือว่า สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายไม่มีเวทนาไม่มีความรู้สึก ถ้าทรมานสัตว์ สัตว์ร้องไม่มีความหมาย ถ้าเราถือว่าสัตว์นี่เจ็บปวดแล้ว นั่นเป็นแค่อุปาทานของเราเท่านั้นเอง เพราะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีเวทนา
นี่ก็ตัวอย่างของนักปราชญ์ตะวันตกแค่สองคน ตัวอย่างมีมากกว่านี้ แต่ก็เปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ในความรู้สึกของอาตมา ไม่มีที่ไหนที่เราจะบอกได้ว่า เออ คำสอนนี้ล้าสมัยแล้ว คงจะเป็นความคิดของคนสมัยนั้นในประเทศอินเดีย แต่คนสมัยนี้รับไม่ได้ แต่บางคนก็ยังถืออย่างนั้นอยู่เหมือนกัน ถือว่า คำสอนพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการเวียน ว่าย ตาย เกิด เป็นเรื่องความเชื่อถือของคนในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าสอนตามความเชื่อถือของคนอินเดียเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่
นี่อาตมาไม่เห็นด้วย ก็มีเหตุผลหลายประการ ประการที่หนึ่งก็คือ ในเรื่องอื่น พระพุทธองค์กล้าคัดค้านความคิดผิด หรือความเชื่อผิดของคนอินเดีย กล้าหาญมากที่จะวิจารณ์ระบบชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของสังคมอินเดีย ของศาสนาพราหมณ์ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า คนเราดีชั่วอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่ว่าเกิดเป็นพราหมณ์เกิดในตระกูลพราหมณ์จะเป็นคนดีทันที เกิดในครอบครัวยากจนจะเป็นคนไม่ดี ท่านว่าความดีอยู่ที่การกระทำ เราฟังแล้วน่าจะเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ในสมัยก่อน ในประเทศอินเดีย นี่เป็นคำพูดที่ขัดกับความเชื่อถือของคนทั่วไปกันมาก เพราะฉะนั้น ถ้าพระพุทธองค์มีนโยบายที่จะสอนแต่เรื่องที่ไม่ขัดกับศรัทธาของคนสมัยนั้น ทำไมท่านกล้าต่อต้านเรื่องชั้นวรรณะ ทำไมกล้าต่อต้านเวียนว่ายตายเกิด คำตอบง่าย ๆ ก็คือว่า พระพุทธองค์ต้องเห็นเอง ต้องบรรลุแล้ว
แล้วในวันที่ท่านตรัสรู้ที่พุทธคยา ในยามแรก คือตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม ญาณที่เกิดขึ้นคือ การระลึกชาติได้ และการระลึกของพระพุทธองค์ไม่ใช่สองสามชาติ ท่านระลึกชาติเป็นแสน แสน ๆ ชาติ นี่พวกที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ก็ถือว่าเป็นเรื่องอัตตา เกิดเชื่อว่าชาติก่อนเคยเป็นคนอย่างนั้น ตายแล้วเกิดมาเป็นคนอย่างนี้ ก็จะยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนผู้เวียนว่ายตายเกิด
แต่ในประสบการณ์ของผู้ที่เกิดญาณอย่างนี้ มันตรงกันข้าม เพราะเมื่อเราเห็นว่าเราเคยเกิดไม่รู้กี่แสนครั้งกี่ล้านครั้ง ความยึดมั่นถือมั่นในชาติปัจจุบันว่าเราเป็นคนชื่อนี้ เป็นคนนิสัยอย่างนี้ บุคลิกอย่างนี้มันก็ลดน้อยลงไปมาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจของพระองค์เจริญในธรรม
ยามที่สองก็ตอนกลางคืน ตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสอง พระพุทธองค์ก็เกิดญาณรู้ถึงเรื่องความจุติความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย คือ ความระลึกชาติตัวเองเกิดขึ้นก่อน จากนั้นก็เกิดตาทิพย์เห็นความเกิดความตายของสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิต่าง ๆ ทำให้มีความเข้าใจแห่งหลักกรรมอย่างลึกซึ้ง เมื่อมียามที่หนึ่งที่สอง ยามสุดท้ายของคืนนั้น ท่านเกิดญาณรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือกิเลสทั้งหลายทั้งปวง
ถ้าเราบอกว่า เรื่องการระลึกชาติ เรื่องตาทิพย์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือการมีปัญญา ตัดกิเลสได้ ก็จริงอยู่ แต่เราจะแยกออกจากกันไม่ได้ ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การที่ระลึกชาติได้ การที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงกฎแห่งกรรม ถึงการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าพร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมด้วยพลังของปัญญา
ดังนั้น เราจึงถือว่าคืนนั้นเป็นคืนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะเป็นครั้งที่มีใครสามารถดับกิเลสหรือว่าฆ่ากิเลสได้ทั้งหมด แล้วเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ท่านก็ทบทวนตั้งหลายวัน พยายามหาทางที่จะอธิบาย เพราะท่านรู้ว่าจะยากแสนยาก จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คงจะไม่ไหว คงไม่สามารถจะอธิบายให้ใครเข้าใจแล้ว มันยากเกินไป แต่พรหมสามปติขอร้อง ยืนยันว่า ยังมีผู้มีกิเลสในตาน้อย มีกิเลสน้อย มีความสามารถพอที่จะเข้าใจ พอที่จะทำตามได้ และพระสาวกทั้งหลายตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันเป็นพยาน เป็นผู้พิสูจน์ว่า การตรัสรู้ธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นกรณีพิเศษ คือไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธเจ้าจึงจะตรัสรู้ได้
พระพุทธองค์เคยยืนยันตั้งหลายครั้งว่า ความบริสุทธิ์ในจิตใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่แตกต่างเลยกับความบริสุทธิ์ในจิตใจของพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้าก็เป็นอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นอรหันต์องค์แรก แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ความสามารถในการสั่งสอน ไม่ใช่อยู่ในสิ่งที่ท่านเข้าถึง พระอรหันต์ทั้งหลายก็เข้าถึงสิ่งเดียวกัน
การประพฤติปฏิบัติธรรมจึงไม่ขึ้นกับยุคสมัย เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าใหม่อยู่เสมอ
แต่เนื่องจากการเข้าถึงสิ่งสูงสุดนี้ต้องการใช้ความพากเพียรพยายามมาก ต้องใช้ปัญญามาก ก็เป็นเรื่องธรรมดาว่า คนส่วนมากจะรู้สึกท้อแท้ใจ หรือว่ารู้สึกว่ายังไม่พร้อม แล้วก็เนื่องจากว่า จะต้องศึกษาอย่างจริงจัง ปฏิบัติอย่างจริงจังจึงจะเข้าใจหลักธรรมได้ถูกต้อง เป็นเหตุผลว่า คำสอนพุทธศาสนามักจะผิดเพี้ยนอยู่เรื่อย โดยเฉพาะในสังคมที่ชนชั้นนำไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างเช่นเมืองไทยในสมัยปัจจุบันนี้
ดูคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านยกย่องว่าสำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม ท่านจะเล่าถึงโยนิโสมนสิการเป็นประจำ คำนี้ก็เป็นศัพท์บาลีที่ยาวและยาก แปลง่าย ๆ ว่า ความคิดแยบคาย การรู้จักคิดวิเคราะห์ คิดพิจารณา พระพุทธองค์สอนว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ฉะนั้น หน้าที่ของเราเมื่อเกิดปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ให้เราทำความเข้าใจในตัวปัญหาก่อน เมื่อเข้าใจในตัวปัญหา แสวงหาสาเหตุของปัญหา แล้วก็ตั้งเป้าหมายที่ดับปัญหาอย่างชัดเจน แล้วก็ดำเนินไปตามหนทางสู่ความดับปัญหานั้น
นี่หลักอริยสัจสี่ ซึ่งเราต้องใช้ในทุกด้านของชีวิต ตั้งแต่ด้านธรรมดาในชีวิตประจำวัน จนถึงด้านลึกซึ้งในด้านจิตใจ การที่ต้องใช้การวิเคราะห์ทั้งด้านนอกทั้งด้านใน ศึกษาเรื่องเหตุปัจจัยให้รู้ว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไร เหตุปัจจัยอะไรบ้างที่เราแก้ไม่ได้ต้องปล่อยวาง เหตุปัจจัยอะไรบ้างที่เราพอจะเข้าไปแก้ไขได้ และในบรรดาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เราแก้ได้ ควรจะแก้ที่ไหนก่อน แก้ที่ไหนล่ะ นี่จัดลำดับการแก้ปัญหา นี่คือเรื่องที่ท่านสอนย้ำเหลือเกิน ท่านสอนแต่เรื่องนี้เป็นประจำตลอดสี่สิบห้าปี
แต่ทำไมในสังคมพุทธของเรา คำวิพากษ์วิจารณ์ที่เราได้ยินบ่อยที่สุด คือ เด็กนักเรียนไม่ค่อยมีความคิดของตัวเอง มันเป็นไปได้อย่างไรในสังคมพุทธ เมื่อเราว่า จุดอ่อนที่สุดของเรากลายเป็นจุดเด่นของพุทธศาสนา ทำไมมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ ทีนี้เราบางทีก็มองว่า การสอนให้เด็กท่องจำเฉย ๆ เป็นแบบของไทย ทางฝรั่งสอนให้เด็กคิด มีความคิดสร้างสรรค์อะไร
แต่ต้องถามว่า ระบบนี้ ระบบที่ว่าท่องจำเฉย ๆ มาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากเมืองนอก แต่มาจากเมืองนอกยุคโน้น แต่ระบบเดิมของเราน่าจะเป็นระบบพุทธ ที่สอนให้ทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่ลำเอียง พอโลภ พอโกรธ พอหลง พอกลัว รู้จักวิเคราะห์ปัญหาโดยไม่มีความยินดียินร้าย ซึ่งจะสิ่งที่ทำให้การรับรู้การตัดสินผิดเพี้ยนไป ให้เรารู้จักวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ อย่าหวังพึ่งสิ่งภายนอก อย่าไปอ้อนวอนให้ใครมาช่วย แต่รู้จักช่วยตนเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราพัฒนาตัวเองจากคนที่ต้องพึ่งอาจารย์ พึ่งคนอื่น ให้เป็นผู้ที่ช่วยตัวเองได้มากขึ้นมากขึ้น
เราถือว่า ความสามารถช่วยตัวเอง พึ่งตนเอง รับผิดชอบ แก้ปัญหาของตัวเองได้ นั่นคือเครื่องวัดความเจริญในธรรม หรือว่าเข้าใจพุทธศาสนาได้มากขึ้น คำสอนพระพุทธเจ้านี่เป็นระบบที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ด้านร่างกาย ด้านการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติต่อสังคม ด้านการปฏิบัติด้านจิตใจ ด้านปัญญา ท่านก็สอน
อริยมรรคแปด เป็นคำสอน เป็นอาวุธที่ต้องใช้ในการสู้กับกิเลส มรรคแปด เรียกว่า เป็นเอ็มแปด เป็นอาวุธสงครามที่ต้องใช้ในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องใช้เอ็มสิบหก ใช้เอ็มแปดก็ได้ผลแล้ว เรียกว่า มีมรรคแปดสามารถชนะเกิเลสได้ทั้งปวง แต่ถ้าเราไม่ใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่รู้จักใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์
นี่พระพุทธองค์บังเกิดในโลกเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่พวกเราทั้งหลาย แต่เมื่อท่านประทานยารักษาโรค แต่ถ้าเราไม่ทาน เราจะไปโทษท่านก็ไม่ถูก เรามีวิธีเรามีความสามารถ และเขาก็ขอให้เราสังเกตตัวเองแล้วกันว่า เราทุกคนก็คงจะเคยมีกิเลส เคยมีนิสัยเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพยายามละเท่าไรก็ละไม่ได้ ตอนหลังละได้ มีไหม อย่างเช่น เคยสูบบุหรี่ ตอนหลังก็เลิกได้ ก็เคยมีนิสัยชอบนินทาเพื่อนลับหลังตอนหลังก็รู้สึกว่าไม่ดี ก็เลิกได้ หรือทำน้อยลงไปมาก
เรื่องธรรมดา ๆ ในชีวิตนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราสามารถละสิ่งที่ไม่ดีได้ ถ้าเราเคยติดยาเสพติด เคยสูบบุหรี่ เคยมีนิสัยเสียอย่างหนึ่ง แต่ตอนหลังเราเลิกได้ เลิกได้เพราะอะไร เลิกได้เพราะเทวดาไหม เลิกได้เพราะดวงไหม เลิกได้เพราะพระผู้เป็นเจ้าไหม หรือเลิกได้เพราะเห็นโทษ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจ เกิดกำลังใจที่สู้ได้ ชนะได้
และสิ่งที่ดีหลายสิ่งหลายอย่างที่แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าทำได้ อาจเป็นการตื่นแต่เช้า สวดมนต์ ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือการถือศีลแปดเป็นครั้งคราว อะไรก็แล้วแต่ บางสิ่งบางอย่างที่แค่สองสามปี หรือห้าปีไม่เคยคิดว่า ในชีวิตของเราจะทำได้ แต่ทำไมทุกวันนี้เราทำได้ ที่ทำได้เพราะอะไร เพราะเทวดาช่วยไหม เพราะดวงไหม เพราะพระผู้เป็นเจ้าไหม เพราะเราไม่ใช่หรือ ชีวิตเราเจริญ ชีวิตเราเสื่อม เพราะคุณธรรมที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่ต้องยอมรับว่า ในเบื้องต้นเราต้องอาศัยเพื่อนช่วย และต้องเป็นเพื่อนที่สนับสนุนสิ่งที่ดีในคนอื่น
คนเราแต่ละคนมีกิเลส เราต้องรับรู้หลักธรรมชาติว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่เห็นกิเลสของคนอื่น เราไม่ต้องไปเพ่งโทษมาก ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราสนับสนุนในสิ่งที่ดีของเขา มันจะได้ผลมากกว่าการที่จะเพ่งโทษในสิ่งที่ไม่ดี ตัวเองก็เหมือนกัน เราเห็นกิเลสต่าง ๆ เราต้องฉลาด แล้วมันจะหายจากจิตใจของเราได้เพราะปัญญา ไม่ใช่ว่า ทำไมกิเลสตัวนี้มันละยากเหลือเกิน
กิเลสหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นอาการ เราต้องถามตัวเองว่า เราได้อะไรจากกิเลสนี้ เราจึงละไม่ได้ มันต้องมีอะไรสักอย่าง สรุปว่า ต้องได้ความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งจากนิสัยเสีย หรือกิเลสตัวนี้ เราจึงเลิกไม่ได้ เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมากกว่าความสุข ความสุขไม่คุ้มค่า เราเลือกที่จะได้ชนะแล้ว พระพุทธองค์สั่งสอนให้เราเห็นความสำคัญของจิตใจ ให้เรามีปัญญาในเรื่องของจิต
สมัยนี้ มีปัญหาทางจิตก็จะใช้เทคโนโลยีมากกว่า ใช้ยารักษามากกว่าที่จะแก้ที่เหตุ แต่ตอนหลังก็เริ่มจะเห็นโทษของการปฏิบัติอย่างนี้
ทุกวันนี้ ระบบจิตบำบัดมีมากมายเหลือเกิน แล้วก็มีหลายสาขาที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่กำลังมีชื่อมากในตะวันตกเรียกว่า การรักษาจิตบำบัดแบบคอกนิทีฟ Cognitive therapy คอกนิทีฟ แปลว่า การรับรู้ ซึ่งมีทฤษฎีว่า คนเราจะมีปัญหาทางจิตใจเพราะความคิดผิด แนวความคิดการมองตัวเอง แล้วถ้าแก้ที่มุมมอง แก้ที่ทัศนะ ท่าทีต่อชีวิตของตนเอง มันก็จะได้ผล นี่ก็ได้จากพุทธศาสนาอย่างชัดเจน
เร็ว ๆ นี้มีการประกาศผล เขาเปรียบเทียบระหว่างคนเป็นโรคซึมเศร้า ระหว่างผู้ที่ทานยาพวกโปรแซ็คพวกอะไรต่าง ๆ กับพวกที่ไปรักษาจิตบำบัดคอกนิทีฟอย่างนี้ ปรากฎว่า ภายในหนึ่งปี คนที่ทานยาแล้วหาย กลับมาเป็นอีกตั้งเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ แต่คนที่รักษาแบบนี้เป็นอีกแค่ยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ ได้ผลมากกว่า เพราะการทานยาก็ไม่แก้ไขที่ความคิดผิด เพียงแต่ว่าทำให้ได้พักผ่อนเสียบ้าง หรือทำให้เปลี่ยนการมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ร้ายได้บ้าง แต่การแก้ที่ตัวความคิดผิดจะได้ผลมากกว่า
นี่ในทางพุทธศาสนาจะเห็นว่ามีคำสอนที่วิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้งมาก พระพุทธเจ้าท่านเป็นอัจฉริยบุคคลจริง ๆ คือ เห็นความเข้าใจอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน และที่อื่นไม่เคยมี ยกตัวอย่างที่เพิ่งนึกได้ ทำไมกามราคะจึงสูง ทำไมผู้ชายจึงหมกมุ่นแต่เรื่องผู้หญิงมากเหลือเกิน ทำไมผู้หญิงจึงหมกมุ่นเรื่องผู้ชายมากเหลือเกิน
พระพุทธองค์ทรงวิเคราะห์ว่า หากผู้หญิงสนใจชอบคิดชอบหมกมุ่นในเรื่องความเป็นผู้หญิงของตนเอง จะรู้สึกว่า ความเป็นผู้ชายของผู้ชายจะน่าสนใจมาก คือจะดึงดูดมาก คือการที่รู้สึกความเป็นผู้ชายของผู้ชายนี้น่าดึงดูดเพราะหมกมุ่นในความเป็นผู้หญิงของตนเอง ผู้ชายที่หลงในการเป็นผู้ชายของตัวเอง จะรู้สึกความเป็นผู้หญิงของผู้หญิงดึงดูดมากเหลือเกิน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาของพระพุทธเจ้าที่ลึกซึ้งที่ชวนคิดที่ให้เข้าใจบางสิ่งบางอย่าง
เช่น การวิเคราะห์เรื่องจริยธรรม พระพุทธองค์ก็มีเป็นข้อ ๆ ให้เราคิด อย่างเช่นที่เคยสอนอยู่เรื่อย ๆ เรื่องสุภาษิต การพูดที่ดี ไม่ได้สอนแต่ว่าพูดดี ๆ นะ พระพุทธเจ้าบอกว่า การพูดที่ดีต้องพูดแต่เรื่องที่เป็นจริง สองสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่ผู้ฟัง สามถูกกาลเทศะ สี่พูดด้วยความหวังดี สี่พูดอย่างสุภาพอ่อนโยน มันลึกซึ้งใช่ไหม ต้องดูแต่ละข้อ
ท่านวิเคราะห์ว่าตัณหามันมีโทษต่อเราอย่างไร เพราะว่าตัณหาทำให้เกิดการแสวงหา การแสวงหาก็คือได้ ได้แล้วก็เกิดความชอบ ความรักในสิ่งที่ได้ ทำให้เกิดความฝังใจ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา มีการกำหนดว่านี่คือของเรา ความรู้สึกเข้มข้นขึ้น เกิดมีความหวงแหน เกิดความตระหนี่ เกิดความปกป้อง สุดท้ายคือก็เกิดการรบราฆ่าฟันกัน คือพระพุทธองค์ท่านพิจารณาปัญหาทางสังคม ด้วยดูเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดจากจิตใจของมนุษย์ ท่านพิจารณาจากภายในไปหาภายนอก จากภายนอกไปหาภายใน เห็นความสำคัญอาศัยกัน
พระพุทธองค์ไม่ได้สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่จิตนะ ท่านบอกว่าจิตนี้สำคัญมาก แต่สิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญมากด้วย อย่างเช่นเราบอก ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่จิตนะ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องสังคมเรื่องการเมือง ก็พูดได้ แต่ถ้าเราอยู่ในบ้านในเมืองที่อาชญากรรมสูง ออกไปหน้าบ้านอาจจะถูกผู้ร้ายทำร้ายตัว หรือว่าขโมยของไป หรือว่ามีคนปล้นบ้านอยู่เรื่อย ๆ อยู่ในบ้านแล้วเราก็รู้ว่าไม่ต้องไปสนใจ แต่ว่าเราเครียด ได้ออกไปนอกบ้าน ไม่กลับตรงตามเวลาก็เครียด กลัวอยู่ตลอดเวลาว่าเด็กลูกของเราจะติดยาเสพติด ใช่ไหม พูดได้ เออ ไม่ต้องไปคิดหรอก ไม่ต้องไปคิดปรุงแต่งอะไรมาก อะไรจะเกิดให้มันก็เกิด เราก็ทำจิตใจเราให้สบาย
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านสอนพระธรรมพระวินัยว่าต้องสร้างควบคู่กัน พร้อมกัน เราต้องการเจริญในธรรม เราต้องสร้างชุมชนที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงธรรม ต้องสร้างชุมชนสร้างสังคมที่มีความรู้สึกว่า คนทำดีได้ดี คนทำชั่วได้ชั่ว สร้างสังคมที่มีสัมมาทิษฐิ ที่เชื่อมั่นว่าชีวิตของเราเจริญก็เจริญด้วยคุณธรรม
และคุณธรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างขึ้นมาได้ ที่เราเชื่อมั่นได้เพราะมีพระพุทธองค์เป็นผู้พิสูจน์ พราะมีพระอาริยสาวก เป็นผู้พิสูจน์เป็นพยาน และจากตัวเราเอง จากการที่เราเคยละบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดี แล้วที่เราได้บำเพ็ญบางสิ่งบางอย่างที่ดี ถึงไม่ถึงขั้นอริยมรรคอริยผลก็ดี เป็นการไปสู่ขีดศักยภาพของเรา เพียงแต่ว่าทำให้มากขึ้นมากขึ้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า ก่อนตรัสรู้ท่านอาศัยคุณธรรมสองข้อ ข้อที่หนึ่ง ความพากเพียรพยายาม ที่ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค ข้อที่สอง ความไม่สันโดษไม่พอใจกับคุณธรรมที่ท่านได้แล้ว คือได้แล้วแต่ยังไม่หยุด ไม่พอใจว่า ได้แล้วพอแล้ว แต่ทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงสอนเราเสมอว่า อย่าประมาท ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน ท่านย้ำธรรมะข้อไหน ท่านย้ำเรื่องไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ใครในโลกนี้ที่เราจะไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเกิดก็เกิดคนเดียว แก่ก็แก่คนเดียว เจ็บก็เจ็บคนเดียว ตายก็ตายคนเดียว การที่เราจะพ้นทุกข์ เราต้องพ้นด้วยความพากเพียรพยายามของตัวเอง ไม่มีใครช่วยเราได้ เหมือนการว่ายน้ำ อาจารย์สามารถสอนวิธีว่ายน้ำ แต่เราจะว่ายได้หรือว่ายไม่ได้ มันอยู่ที่เรา ไม่มีเทวดาที่ไหนที่จะช่วยได้ในเราขณะที่เราลงน้ำ มันอยู่ที่ว่าเรากล้าไหม เราจำคำสอนได้ไหม เราทำตามได้ไหม ก็แค่นั้นเอง
เราทุกคนต้องพยายามศึกษาพยายามปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธองค์ท่านสอน เรียกว่านี่คือการไม่ประทุษร้ายพระตถาคต ใครฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วฝืนไม่ทำตามเรียกว่าเป็นผู้ประทุษร้ายพระตถาคต ผู้ที่ฟังแล้วพยายามทำตามเต็มความสามารถ เป็นผู้ที่มีเมตตาต่อพระพุทธองค์ เป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์ เป็นผู้ที่ไม่ประทุษร้ายพระพุทธองค์
เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายถือว่ามีบุญ มีบุญที่ว่าเราเกิดในประเทศที่ยังนับถือพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ โอกาสที่จะศึกษา โอกาสที่จะปฏิบัติก็มีพอสมควร เราจะบ่นว่าไม่เหมือนสมัยก่อน ทุกวันนี้มีแต่การแข่งดี ไม่ต้องพูดไม่ต้องคิด ถึงแม้ว่ามีอุปสรรคก็ไม่มีอุปสรรคอันใดที่จะทำให้เราปฏิบัติธรรมไม่ได้ ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนมีจริงหรืออุปสรรคที่จะทำให้เราละบาปไม่ได้ มีอุปสรรคบังคับไม่ให้ทำความดี จริงหรือ ไม่มีหรอก อาตมาว่าไม่มี
งั้นเราเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง เราก็เจริญด้วยบารมีธรรมตลอดเวลา ยินดีในการให้ทาน ตั้งมั่นในศีลธรรม เป็นผู้รู้จักเสียสละในความสนุกสนานที่เกินขอบเขต เกินพอดี หรือที่ทำให้จิตใจเราว้าวุ่นขุ่นมัว รู้จักใช้ปัญญาแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้อารมณ์ เป็นผู้ที่มีความอดทน อดกลั้น เป็นผู้มีความเพียรพยายามในสิ่งที่สมควร ไม่หวังพึ่งคนอื่นจนเกินไป หรือสิ่งอื่นจนเกินไป มีสัจจะ ความจริงใจกับตนเอง ความจริงใจกับพระศาสนาของเรา มีการอธิษฐานบังคับให้จิตใจทำในสิ่งที่เหมาะสมไม่เหลือวิสัย มีความเมตตาที่ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ความเมตตาปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีที่สุด อันนี้ก็เป็นคุณธรรมอันเลิศ อันประเสริฐ
และมีอุเบกขา พยายามช่วยสังคม ช่วยคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ แต่ในเมื่อเราช่วยไม่ได้ เราต้องทำใจให้เป็นกลาง รู้จักความเป็นกลางของจิตใจ อยู่ในโลกธรรม มีสรรเสริญบ้าง นินทาบ้าง สรรเสริญเกินเหตุก็มี นินทาเกินเหตุก็มี การใส่ร้ายก็มี มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่ของใหม่เพิ่งจะเกิดกับเราคนเดียว มีทุกคนมีทุกยุคทุกสมัย สรรเสริญมีที่ไหน นินทาอยู่ที่นั่น สุขอยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่นั่น เจริญที่ไหน เสื่อมอยู่ที่นั่น เราก็รู้เท่าทัน นี่ก็โลกธรรม
วางใจให้เป็นกลาง ความรู้สึกเป็นกลางแล้วไม่ใช่ว่าเฉย ๆ ว่า แต่เมื่อรู้สึกเป็นกลาง ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย สิ่งที่ควรไม่ควรก็จะปรากฏ ถ้าจิตใจเรายังวุ่นวายคิดอะไรไม่ออก ทำจิตใจให้เป็นกลาง เออ เป็นเรื่องธรรมดา พอเรายอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตใจเย็นลง โอ ควรจะแก้ไขอย่างนั้น หรือว่าควรจะทำอย่างนี้หรือไม่ควร
ปัญญาเกิดขึ้นเมื่อจิตใจอยู่ในภาวะปกติ ภาวะปกติจะเกิดขึ้นจากการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ผู้มีสติสามารถดำรงความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ในปัจจุบัน จะเป็นผู้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ จะเป็นผู้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติได้ทุกเวลา
ขอให้เราทั้งหลายตั้งอกตั้งใจ วันนี้วันวิสาขบูชา พยายามระลึกถึงพระพุทธคุณให้มาก แล้วก็คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าข้อใดข้อหนึ่งที่เราประทับใจ ก็พยายามทำตามข้อนั้นให้มากที่สุดที่เราทำได้ วันนี้เป็นวันที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยการฝึกจิตในขั้นละเอียด ดังนั้น วันนี้ก็เป็นเวลาในการทำสมาธิภาวนาให้จิตใจเราได้สงบระงับบ้าง
วันปรินิพพานก็เป็นวันที่พระพุทธองค์ย้ำเรื่องความไม่ประมาท ดังนั้น ก็ทบทวนชีวิตของตนเอง ทุกวันนี้เราประมาทในเรื่องอะไรบ้าง ควรจะตั้งอกตั้งใจใหม่ได้ไหม ให้ทบทวน เราทุกคนสามารถ เราทุกคนมีศักยภาพพอ
วันนี้อาตมาก็ได้ให้ข้อคิดบ้างเล็กน้อยในการที่ญาติโยมได้มาร่วมในวันวิสาขบูชา คงจะพอสมควรแก่เวลาเพียงแค่นี้ เอวังฯ
เมื่อวันที่ : 22 มิ.ย. 2548, 03.25 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...