![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...พระตถาคตสอนสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ให้พวกเธอทั้งหลายเห็นบาปโดยความเป็นบาป ข้อที่สอง เมื่อเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว ให้รู้จักโทษของมัน ให้เบื่อหน่ายในบาปนั้น...
หลงจิตกะล่อนถอดเทปจากคำเทศน์ ของ ชยสาโรภิกขุ
พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า พระตถาคตสอนสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ให้พวกเธอทั้งหลายเห็นบาปโดยความเป็นบาป ข้อที่สอง เมื่อเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว ให้รู้จักโทษของมัน ให้เบื่อหน่ายในบาปนั้น ให้คลายกำหนัด ละความยินดี ให้หลุดพ้นจากบาปนั้น คำสอนนี้สั้น แต่ก็มีความหมายที่น่าสนใจ
ข้อสังเกตข้อแรกก็คือ พวกเราทั้งหลายยังไม่เห็นบาปด้วยความเป็นบาป เห็นกิเลสด้วยความเป็นกิเลส เหมือนกับว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นบาป เรากลับเห็นว่าเป็นบุญ ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เป็นบุญก็กลับมองว่าเป็นบาป ก็ได้
เมื่อเราไม่เห็นบาป กำลังใจที่จะละบาปก็ไม่เกิดขึ้น ความเบื่อหน่าย ความกลัว ความละอาย ก็ไม่เกิดขึ้น งั้นท่านให้เราดูให้เห็น แล้วก็พยายามปฏิบัติ
นี่ในเรื่องของบาปกรรมหรือกิเลส เราอาจจะแยกได้ว่า กิเลสบางอย่างมันไม่ดีอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาก็เพราะมันยังมีอำนาจเหนือจิตใจเรา เรายังละไม่ได้ อยู่ในพวกรู้ว่าไม่ดี แต่อดไม่ได้ พวกนี้
ตรงนี้ก็ยังดีตรงที่ว่า เรารู้ตัวว่ามีปัญหา เราก็ยังยอมรับว่าตัวนั้นเป็นบาป แต่ก็ยังมีบางอย่างที่มันติดพันกับสิ่งที่ดีบ้าง หรือติดพันกับสิ่งที่จำเป็นบ้าง พวกนี้ที่จะยาก ยกตัวอย่าง หลวงพ่อชาท่านเคยสอนพวกเราเรื่องการฉันอาหารว่า การฉันมากเกินไปนี่มันง่าย การอดข้าวนี่มันง่าย ไม่ยาก แต่การฉันอาหารแต่พอดี ด้วยความสำรวม นี่ยาก
ผู้จะเลิกสูบบุหรี่ถึงจะยาก มันก็ยังง่ายอยู่ที่ว่า มีกำลังใจ ถึงพร้อมเมื่อไร มีเหตุผลกับตัวเอง พร้อมเมื่อไหร่ ดับได้ หลายคนนั้นพอถึงวันใดวันหนึ่งพร้อมแล้วก็ดับ ดับได้เลย หลังจากนั้นไม่สูบอีกต่อไป เพราะอะไร การสูบบุหรี่ไม่ใช่ส่วนจำเป็นของชีวิต เป็นส่วนเกิน
แต่ถ้ามีกิเลสเกี่ยวกับการทานอาหารเป็นต้น ละยากกว่า เพราะอะไร เพราะยังไง ๆ ต้องทานทุกวัน อดทานทีเดียวไม่ได้ งั้นการละสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจประจำที่เป็นส่วนสำคัญหรือส่วนจำเป็นของชีวิตได้ยาก แล้วเมื่อสิ่งที่ไม่ดี ผูกพันกับสิ่งที่ดี แต่สติเราไม่คมชัด จะแยกไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็ไม่เห็นส่วนที่ดีในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เห็นส่วนที่ไม่ดีในสิ่งที่ดี งั้นการมีสติกับตัวนี่สำคัญมาก จิตใจเราจึงจะละเอียด เพราะสติเราดีขึ้น จะสังเกตหลายสิ่งหลายอย่างที่แต่ก่อนมีอยู่ แต่ไม่เห็น
เมื่อไม่นานมานี้อาตมามีโอกาสไปพักที่บ้านโยมที่อยู่บนยอดเขา ทิวทัศน์จากบ้านนั้นสวยมาก สามารถเห็นเกาะในอ่าวพังงามากมาย แต่วันแรกอากาศค่อนข้างจะพร่ามัว เห็นเกาะไม่กี่เกาะ วันที่สองอากาศชัดขึ้น ก็เห็นมากขึ้น วันสุดท้าย เห็นเยอะแยะเลย เกือบจะนับไม่ถ้วน เกาะมันก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่การเห็นเกาะขึ้นอยู่กับอากาศ
มีหลายอย่างที่มันอยู่ในจิตใจ ที่มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น เหมือนอากาศมันพร่ามัว สติเหมือนกับฝน ฝนตกแล้ว ทำให้อากาศใส สติให้ความชุ่มชื่นกับจิตใจแล้ว เราสามารถเห็นหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยสังเกต เช่น เราเห็นความขัดแย้งในความคิดของตัวเอง อย่างที่อาตมาเคยพูดบ่อย ๆ ว่า คนเราหลายๆ คนต้องการความสงบ ต้องการมาก แต่ในขณะเดียว ก็ไม่ยอมสร้างเหตุให้เกิดความสงบ ยังไม่กล้าละเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตใจเราไม่สงบอยู่บ่อย ๆ
อีกตัวอย่างที่พึ่งอ่านเจอไม่นานนี้ก็คือ นักสังคมศาสตร์ทำการวิจัยที่เครื่องถ่ายเอกสาร ผู้หญิงคนหนึ่งถือกระดาษสี่แผ่น ขอแซงคิว ขอถ่ายเอกสารของตนก่อนคนที่นั่งคอยอยู่ ครั้งแรกหรือว่าคนแรกขอโดยไม่มีเหตุผล เพียงแต่ว่าขอ แล้วก็มีคนยอมสักสามสิบเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ครั้งที่สองก็ขอมีเหตุผลว่า มีธุระด่วน ขอถ่ายก่อนได้ไหม ในกรณีนี้คนก็เห็นใจ ก็ให้ถ่ายก่อนถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ที่น่าสนใจคือครั้งที่สาม เขาขอถ่าย ขอถ่ายก่อน เพราะต้องการจะถ่ายก่อน แต่เขาใช้คำว่า "เพราะว่า..." "because ฉันขอถ่ายก่อนเพราะต้องการจะถ่ายก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล แต่ปรากฏว่าคนให้ตั้งหกสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีแต่กรณีแรก กรณีที่สอง เราสรุปแล้วว่า ถ้ามีเหตุผล คนจะให้ แต่เมื่อมีกรณีที่สาม ก็มีข้อสรุปว่า เพราะได้ยินคำว่า because นี่เป็นตัวกระตุ้นว่า คนนี้มีเหตุผล เราไม่ได้กลั่นกรองเหตุผล เอาแค่ว่า "เพราะว่า" ได้ยินก็ให้ไป จิตใจของเราทำงานแบบอัตโนมัติเสียส่วนมาก คนมีเหตุผลอาจจะไม่ใช่เหตุผล หรือฟังไม่ขึ้น แต่เพราะเรารีบ ๆ ไม่ค่อยจะตั้งใจ เพราะได้ยินคำว่า "เพราะว่า" โอเค ได้ คนนี้มีเหตุมีผล
เมื่อเดือนที่แล้ว พบชาวต่างประเทศคนหนึ่งกำลังเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ ชาวต่างชาตินิยมมาเรียน Thai studies กันมาก เขาก็เล่าว่า นักศึกษาไทยเหมือนกับมีสองชั้น คือ ชั้นหนึ่ง คือ เด็กที่เคยอยู่เมืองนอก หรือเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก ที่พูดอังกฤษได้คล่อง แบบที่สองคือ เด็กที่ยังไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ จะถือว่า เด็กที่พูดภาษาอังกฤษคล่องจะเก่ง เขาไปคลุกคลีกับเด็กที่พูดภาษาอังกฤษคล่อง ปรากฏว่ามีคุณธรรมได้รับความยกย่องมากกว่า เป็นเด็กที่กล้าแสดง แล้วก็แสดงในภาษาอังกฤษที่ชัดเจน เสียอย่างเดียวว่า สิ่งที่แสดงแทบจะไม่มีเหตุผล ดังนั้น ถ้าเราสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงออก แต่ไม่ฝึกให้เขามีสติปัญญา ก็กลายเป็นว่า ส่งเสริมให้เด็กพูดพล่อย พูดพล่อยมากขึ้น ก็ไม่น่าจะเป็นเครื่องวัดความเจริญ พูดเก่ง พูดดี พูดได้ แต่ว่าสิ่งที่พูดนั้นไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์
งั้นเหตุผลก็ต้องมีเหตุผลจริง ไม่ใช่เหตุผลที่เราหามาที่หลัง การที่เราหาเหตุผลมาสนับสนุนความต้องการของเราเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรศึกษา อาตมาเคยพาพระไปหาหลวงพ่อแบน แล้วพระท่านต้องการจะไปธุดงค์ หลวงพ่อแบนไม่ค่อยเห็นด้วย ถามว่า ทำไมจึงอยากไป พระท่านให้เหตุผล ท่านบอกว่า นั่นคือเหตุผลของคนอยากไป ถ้าไม่อยากไป เหตุผลนี่ก็คงจะไม่มี คือ ความอยากไปเกิดก่อน เหตุผลที่จะไปเกิดที่หลัง ท่านว่าอยากนั้น ตกลงว่า สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนเป็นสมัยที่อยู่ง่าย ไปยาก ทุกวันนี้เป็นสมัยที่อยู่ยาก ไปง่าย แต่เรื่องนี้มันก็มีทุกคน
มีอาจารย์ที่อยู่มหาวิทยาลัย รู้สึกจะ UCLA ท่านก็ทำวิจัยเรื่องการสะกดจิต ท่านสะกดจิตอาสาสมัคร ในขณะที่เขาถูกสะกดจิต ก็สั่งว่า เมื่อออกจากภาวะสะกดจิตแล้ว ปกติแล้ว ถ้าอาจารย์ชวนทานน้ำชา ให้ลุกขึ้นไปกางร่มที่อยู่หลังประตู เสร็จแล้วก็ให้ออกจากภาวะสะกดจิต กลับไปอยู่ภาวะปกติ นั่งคุยกัน แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ทานน้ำชาดีไหม พอพูดทานน้ำชาปั๊บ คนนี้ลุกขึ้น เดินไปที่ประตู กางร่ม อาจารย์ก็ถามว่า กางร่มทำไม เขาบอกว่า เออ เมื่อกี้นี้ ผมรู้สึกจะได้ยินเสียงฝนตก หรือว่า เมื่อเช้านี้รู้สึกครึ้ม ๆ กลัวว่าขากลับกลับบ้านจะเปียก ก็มาดูร่มนี่ว่าใช้ได้ไหม คือมีเหตุผลพร้อม ทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเลย แต่สามารถผลิตเหตุผลที่น่าฟังภายในไม่ถึงหนึ่งวินาทีโดยตัวเองไม่รู้ตัว
มันเป็นเรื่องน่ากลัวไหม อย่าไปเชื่อ อย่าไปเชื่อใจตัวเองนะ เรื่องการไปหาเหตุผลที่หลังนี่ไม่ใช่เรื่องนั่งคิด ทำไมเราจึงจะมีเหตุผล มันไม่ใช่อย่างนั้น มันปุ๊บปั๊บเลย เป็นอัตโนมัติ นี่คงเป็นปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน งั้นให้เราได้ดูได้เรียนรู้จากจิตใจของคนเอง
มีคนถามอาจารย์คนนี้ว่า ทำไมคนสะกดจิตง่ายเลย พูดไม่กี่คำก็เคลิบเคลิ้ม สะกดจิตได้เลย เขาบอกว่า ฉันเชื่อว่าเป็นเพราะว่า จิตใจของคนธรรมดามันก็ห่างจากภาวะสะกดจิตนิดเดียว เหมือนอยู่ชายแดนของภาวะนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มีคำพูดโน้มน้าวจิตใจไป มันก็ไปได้ง่าย เพราะมันพร้อมอยู่แล้ว
การฝึกจิตมันจึงมีอานิสงส์ให้เราไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่หลงอะไรง่าย ๆ ถ้ามีใครหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ เราก็รู้ได้เร็วขึ้น เพราะอะไร เพราะเรารู้ต่อความรู้สึกในกายและใจอยู่ตลอดเวลา บางทีใครทำอะไร ใครพูดอะไร เรายังไม่ทันคิดคัดค้าน แต่จะมีความรู้สึกอยู่ในท้อง หรือในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย บางทีร่างกายยังฉลาดกว่าจิตใจ ร่างกายยังมีสัญญาณว่าไม่ใช่ ระวังนะ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ ถ้าเราคอยสังเกตร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ เราก็จะสังเกตเห็น ร่างกายกำลังส่งสัญญาณ รู้เท่าทันร่างกาย รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของจิตใจ
เมื่อกี้นี้เขาบอกว่า กิเลสที่เกี่ยวพันกับการเอาตัวรอดของร่างกายนี่จะเห็นและจะละยาก ขณะเดียวกัน กิเลสบางตัวขึ้นอยู่กับการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน หลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าต้องใช้ความคิดมันก็ไม่ทัน บางสิ่งบางอย่างก็ต้องทำไปอัตโนมัติ แต่ภาวะอัตโนมัตินั้นมีทั้งผลดีผลเสีย เพราะถ้าเราไม่ระวังจะทำให้เราผิดพลาดได้ แต่เราจะเลิกทีเดียวไม่ได้ อย่างเช่น บางอย่างเราก็ไม่รู้ทำยังไงดี เราก็ดูคนอื่นว่า เขาทำอย่างไร ก็ถือว่า เป็นอาการของความฉลาด ก็เข้าไปในสถานที่ใหม่ เราก็ดูคนอื่นที่เขาเก่งแล้วเป็นตัวอย่าง มันก็เป็นอัตโนมัติของจิตใจเหมือนกัน แต่มันก็เกิดปัญหาได้
มีเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่นิวยอร์ค เดินตามถนนตอนกลางคืน ถูกผู้ชายจี้ แล้วก็แทง เขาวิ่งหนี ผู้ชายก็วิ่งตาม แล้วก็แทงครั้งที่สอง เขาก็ออกไปได้ วิ่งหนี แทงครั้งสุดท้ายก็ตาย แทงครั้งแรกจนแทงครั้งที่สามนั้นเกือบสามสิบนาที วิ่งตามถนน ปรากฎว่ามีคนเห็นเกือบสี่สิบคน แต่ไม่มีใครทำอะไรเลย ถึงคนที่อยู่ในบ้านแค่หยิบโทรศัพท์ โทรเก้าหนึ่งหนึ่ง ไม่มีใครทำ หลังจากเรื่องนี้เป็นข่าว ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนสมัยนี้ใจดำ ไปอยู่ในเมืองใหญ่ไม่มีน้ำใจต่อกัน เห็นความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ไม่คิดจะช่วย นี่คือความเสื่อมของมนุษย์ที่ปรากฏชัด
แต่ก็มีนักสังคมศาสตร์เหมือนกันที่ไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เขาเลยทำการวิจัยด้วย เอานักแสดงสองคนทำเหมือนกับเป็นการจี้การแทงกันอยู่กลางถนน ทำต่อหน้าคนเดินผ่านแค่คนเดียว ปรากฏว่าในกรณีที่คนเห็นคนเดียว คนนั้นจะวิ่งมาช่วยเกือบเก้าสิบห้าในร้อย แต่ถ้าเพิ่มจำนวนคนที่เห็น ความช่วยเหลือจะน้อยลง เขาสรุปออกมาว่า ไม่ใช่ว่าคนใจดำ แต่เมื่อคนจำนวนมากแล้วก็เห็นอะไรแปลกประหลาด เขาจะมองคนอื่นว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง ควรช่วยหรือไม่ช่วย และเมื่อต่างคนต่างไม่รู้ ในเมืองใหญ่ต่างไม่รู้จักซึ่งกันและกัน เห็นคนนั้นเฉย คนนี้เฉย ทุกคนก็เฉย กลายเป็นว่าไม่มีใครทำอะไร ไม่ใช่เพราะเขาไม่หวังดี ถ้าเขาเห็นคนเดียว เขาจะช่วย แต่เมื่ออยู่ในหมู่คนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ชัด เขาไม่รู้จะทำตัวอย่างไร
คนเขียนเรื่องนี้บอกว่า บทเรียนที่ได้ก็คือ ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ถูกจี้ แล้วเห็นคนหลาย ๆ คน ต้องชี้ที่คนใดคนหนึ่งว่า "คุณ ช่วยผมหน่อย" ให้เขารู้ว่าเป็นหน้าที่ของเขา ไม่งั้นเขาจะคิดว่า คนอื่นจะช่วยหรือช่วยไปแล้ว มันเกิดจากความไม่แน่ใจ แต่อัตโนมัติ เขาเรียกว่า การที่จิตใจมองคนอื่น เพื่อรู้ว่าควรจะทำอย่างไร อันนี้เราจะยกเลิกไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ว่าเราต้องระมัดระวัง เพราะถ้าไม่ถูกกาละเทศะ เดี๋ยวก็จะเป็นปัญหา
ที่ยกตัวอย่างอย่างนี้เพราะจะเห็นว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเราที่เราจะชี้ตรงนี้ว่า นี่ไม่ดีนะ เป็นกิเลสนะ ต้องเลิกนะ มันไม่ได้ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งดี ๆ ที่เราต้องการรักษาไว้ หรือสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตที่เราเลิกไม่ได้ ฉะนั้น ต้องมีสติให้มาก ให้รู้เท่าทัน ให้รู้ว่านี่คืออะไร มันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร เราจะเอาแต่ส่วนนี้ ไม่เอาส่วนนี้ได้ไหม หรือถ้าเราต้องยอมรับว่า ส่วนนี้ต้องมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์กับสิ่งนี้
อย่างเช่น เรื่องความเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และการเปรียบเทียบมีประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่ฉลาดในความเปรียบเทียบ ก็จะเกิดปัญหาได้มาก เพราะเมื่อเราเอาสองอย่างเปรียบเทียบ สมมุติว่า เรามีสิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีมาอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติจะทำให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่ดี ดีกว่าเป็นจริง สิ่งที่เลวก็เลวกว่าความเป็นจริง จะเอาของสวยของไม่สวยมาอยู่ด้วยกัน ในความรู้สึกของผู้เห็น ความสวยเพิ่มมากขึ้น ทำให้สวยกว่าที่เป็นจริง สิ่งที่ไม่สวยก็จะดูไม่สวยมากกว่าที่เป็นจริง
คนขายบ้านขายเรียลเอสเตทที่อเมริกา เล่าว่า เขาจะพาลูกค้าไปดูบ้านที่ไม่สวยเลยไม่ดีเลยสักสองบ้านก่อน แล้วก็ค่อยพาไปบ้านหลังที่สามที่เขาต้องการขาย ก็เปรียบกับสองบ้านแรกว่า สวยมาก เขาจะใช้หลักนี้เพื่อหลอกคน และเพื่อได้ประโยชน์ที่ต้องการ
ทุกวันนี้ เรากำลังเป็นทุกข์กับการโฆษณามาก ที่จริงเป็นปัญหามานานแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะว่าส่วนมากก็จะใช้รูปผู้หญิงโฆษณามากกว่ารูปผู้ชาย ฉะนั้น จะเห็นรูปผู้หญิงสวยงามอยู่ทุกวัน ๆ มองทางไหนมีแต่รูปผู้หญิงที่หุ่นดีสวย กลับมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ก็ไม่พอใจกับสังขารตัวเอง เพราะมีเปรียบเทียบตลอดเวลา
ตอนนี้ผู้ชายก็เริ่มจะเป็น ที่อังกฤษ ยาเสพติดล่าสุดที่กำลังเป็นห่วงกันมากคือ พวกสเตียรอยด์ ไม่ใช่พวกยาอี ยาบ้า ยาอะไร แต่เป็นยาสเตียรอยด์ เด็กหนุ่มทานยาสเตียรอยด์กันมาก เพราะต้องการมีหุ่นเหมือนนักแสดง เหมือนนายแบบที่มีกล้ามเนื้อเยอะ ๆ เพราะว่าไม่พอใจกับสังขารตัวเอง เพราะไม่เหมือนสังขารที่เขาเห็นในใบโฆษณา นี้คือเป็นการเปรียบเทียบมที่มีโทษมาก
สมัยก่อน ทางอุบลฯ ในชนบท ไฟยังไม่เข้า ที่สาขาวัดป่านานาชาติ ที่อำเภอโขงเจียม ภูจอมก้อม หมู่บ้านที่อยู่เชิงเขานั้น ตอนที่เราไปอยู่ใหม่ ๆ นี่ยังไม่มีไฟฟ้า แล้วอาตมาสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านหลังจากได้ไฟฟ้า เปลี่ยนเร็วมาก และที่ชัดที่สุดคือ เกิดความไม่พอใจในวิถีชีวิตของตน เพราะว่า มีไฟแล้ว ต้องซื้อทีวี ดูทีวี แล้วรายการทีวี ข่าวอะไร ไม่มีผลต่อจิตใจเขามากเท่าการโฆษณา เพราะเขาเห็นการโฆษณา นั่นก็เป็นการสร้างภาพของชีวิตที่สมบูรณ์ให้เขาเห็น
เมื่อเขาเทียบวิถีชีวิตของตัวเอง กับวิถีชีวิตของเด็กยิ้มแย้มแจ่มใสในการโฆษณา รู้สึกว่าสู้เขาไม่ได้ การแต่งตัว เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ไม่มีเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น อาตมาว่า สำหรับชาวบ้าน เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก วัตถุต่าง ๆ น้อยก็จริง แต่เขาก็มีความสุขพอสมควร หลังจากมีทีวีแล้ว สิ่งแวดล้อมก็เหมือนเดิม ไม่แตกต่างกัน แต่ความสุขน้อยลงทันที เพราะเขาเปรียบเทียบตัวเขาเองกับเด็กในจอทีวี
นี่ก็เป็นตัวอย่างของโทษของสิ่งที่เราละไม่ได้ เรื่องการเปรียบเทียบต้องมีแน่ และการเปรียบเทียบทำให้เราฉลาดขึ้นได้ ถ้าเรามีปัญญา เราเปรียบของเรากับคนอื่น อาจเห็นข้อบกพร่องของเราได้ เราควรปรับปรุงแก้ไขตรงนี้ ๆ ถ้าเราเปรียบไม่เป็น กลายเป็นอิจฉา รู้สึกตัวมีปมด้อย หรือถ้ารู้สึกว่าของตัวเองดีกว่า ก็กลายเป็นถือตัวถือตน ฉะนั้น การเปรียบเทียบเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ แต่ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องรู้เท่าทัน
งั้นในการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีคำสอนที่สำคัญคือ อริยสัจสี่ ฟังเรื่องหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่ชอบเทศน์ ท่านเทศน์ ท่านขึ้นนธรรมาส ท่านพูดไม่กี่คำก็ลง ครั้งหนึ่งท่านขึ้นธรรมาสเทศน์ให้พระฟัง ท่านบอกว่า "ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้" กลับกุฏิเลย ไม่พูดกับใคร ก็จริงของท่านนะ ทั้งหมดมันอยู่ในสี่ข้อนี้
สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตลองพยายามดูว่า อยู่ในข้อไหน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตจะลงในข้อใดข้อหนึ่ง อย่างเช่นเรื่องการโฆษณาและการเปรียบเทียบอยู่ในข้อไหน อยู่ในข้อแรก คือ ข้อทุกข์ ที่นี้พอเรารู้ว่า อยู่ในข้อไหนแล้ว เราก็รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไร ข้อแรกก็คือสิ่งที่ควรจะรู้เท่าทัน ดังนั้น กิจกรรมในชีวิตต่าง ๆ ก็ล้วนแต่อยู่ในข้อแรก คือสิ่งที่ควรรู้เท่าทัน แต่สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยนั้นก็คือข้อที่สอง สมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรละ สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยของความทุกข์ที่ละได้
ความทุกข์บางอย่างก็เป็นส่วนของธรรมชาติ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ไม่ใช่เรื่องของกิเลส หรือจะเป็นเรื่องของกิเลสในชาติก่อนที่ทำให้เราเกิดเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน เมื่อเรากำหนดว่า อะไรคืออะไร มันอยู่ในอริยสัจข้อไหน เราก็มีแนวทางปฏิบัติขึ้นทันที รู้ว่าควรจะทำอะไรกับสิ่งนี้ รู้ว่าอะไรเป็นของที่ควรยอมรับ ไม่ควรยอมรับ ตัวบาปอยู่ตรงไหน ตัวกิเลสอยู่ตรงไหน แยกแยะได้ไหม
เช่น การเปรียบเทียบต้องระวังมาก เช่นการอุปมาอุปมัย นี่ทำให้เราหลงได้ง่าย ถ้าเราอุปมาสิ่งใดกับภาพพจน์ที่ชัดเจน เราก็มีโอกาสหลง หนึ่ง เพราะว่าในขณะที่เรารู้สึกว่าไม่เข้าใจสิ่งใด สิ่งที่มันสลับซับซ้อน มันยาก ในขณะที่เรารู้สึกว่า ไม่เข้าใจ รู้สึกยาก มันมีความรำคาญใช่ไหม อยากจะรู้อยากจะเข้าใจ ไม่อยากอยู่แบบนี้ ไม่เข้าใจ ตัวนี้ วิภวตัณหา มันพร้อมที่จะยึดคำอธิบายที่ง่าย ที่เห็นชัด เหมือนกับที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า แค่คำว่า "เพราะว่า" ก็พอใจแล้ว พอใจว่าตัวเองมีเหตุผล ทั้ง ๆ สิ่งที่เป็นเหตุผล อาจจะไม่ใช่เหตุผล บางทีคำอุปมาอาจจะชัดมาก อืมม์ เข้าใจแล้ว ชัดมาก แต่การอุปมานี่อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่อุปมาก็ได้
ตัวอย่าง เอาอย่างนี้แล้วกัน คนไม่ดี คนไม่ดีพยายามเปลี่ยนนิสัย นาน แล้วก็ยังเหมือนเดิม แล้วใครก็บอกว่า เสือไม่ทิ้งลาย เสือไม่ทิ้งลายเป็นคำพูดโบราณ เราเห็นภาพชัดใช่ไหม เสือมันก็เป็นเสืออย่างนี้จนมันตาย เสือไม่มีลายไม่มี มันทิ้งลายไม่ได้ อ้าว ก็เห็นชัด แต่เป็นจริงไหมที่คนนั้นเปลี่ยนไม่ได้ มันไม่เป็นจริงใช่ไหม ไม่ขึ้นอยู่กับคำอุปมา
อย่างเช่นพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่เคยประมาท ผู้ที่เคยทำความเชื่อในอดีต ตอนหลังรู้สึกตัว สำนึกบาป ปรับตัว งดงามมาก เหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่พ้นจากเมฆนั้น ฉะนั้น มีคำอุปมาสองอย่าง อุปมาหนึ่งก็คนไม่ดีเหมือนกับเสือที่ทิ้งลายไม่ได้ อุปมาข้อที่สองของพระพุทธเจ้า ก็คือ คนเรา คนไม่ดีเหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่ถูกเมฆปิดบังไว้ มันชัดทั้งสองภาพ แต่ว่า ภาพที่สอง เราถือว่าถูกต้องตามความเป็นจริง ภาพแรกไม่ตรงตามความเป็นจริง
เราทุกคนก็ชอบให้มันง่าย แหม ชอบ ท่านเทศน์ ท่านพูดให้มันง่าย แต่สิ่งที่ง่ายมันอาจจะไม่จริงก็ได้ บางทีสิ่งที่ยาก อาจจะยากเพราะจำเป็นต้องยาก บางสิ่งบางอย่างมันยากเพราะคนพูดขาดความสามารถในการสื่อสาร บางทีมันยากเพราะว่าง่ายกว่านี้ไม่ได้ ถ้าเรามีเงื่อนไขว่า อะไร ๆ มันต้องง่าย ฉันจึงจะเอา อันนี้เรามีโอกาสจะหลงได้ ถ้าเราว่าเห็นภาพชัด อันนี้ก็ยังไม่เป็นการพิสูจน์ว่าจริง ว่าใช่ บางทีภาพชัด แต่ไม่จริงก็มี
เพราะฉะนั้น ผู้มีสติจะรู้ตัวว่า ฟังอะไร หรือว่าศึกษาอะไร เราก็ยังมองไม่เห็น ยังไม่เข้าใจ เราจะระวังตัว ระวังเพราะว่า โอกาสที่วิภวตัณหา ความรำคาญ การอยากหาคำตอบที่ง่าย ๆ เร็ว ๆ จะทำให้การพิจารณาของเราคลาดเคลื่อนไปได้ ผิดพลาดไปได้ ถึงจะทำตัวให้เย็น ๆ รอบคอบ เมื่อมีคำอุปมาอุปมัย ใจหนึ่งก็รับรู้รับทราบในความชัดเจนของคำอุปมา ข้อที่สองก็ดูว่า อุปมาตรงตามข้อมูลหรือเปล่า หรือบางทีอาจเป็นการอุปมาที่จริงในบางแง่ แต่ไม่จริงในบางแง่ นี่เราต้องระวัง
ดังนั้น สติ การเจริญสติเป็นเงื่อนไขของความละเอียดของจิต เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยเห็น คือมีอะไรศึกษาอยู่เรื่อย มันสนุก สนุกที่เราเห็นจิตใจ เห็นการเคลื่อนไหวของจิตใจ เห็นความกะล่อนของจิตใจ การเข้าข้างตนเอง เหตุผลเทียม เหตุผลปลอมที่จิตใจผลิตขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ เห็นบาปด้วยความเป็นบาป ถ้าเห็นกิเลสด้วยความเป็นกิเลส ความรู้สึกถอนออกมา ความรู้สึกกลัวมันก็ย่อมเกิด ถ้าเห็นกิเลสตัวเองแต่ไม่เกิดความรู้สึกว่ากลัว ก็ยังไม่เห็นจริง ก็พยายามดู พยายามสอนตัวเองทุกวัน เป็นกัลยาณมิตรกับตัวเองทุกวัน อย่าเป็นบาปมิตร พยายามน้อมจิตไปในทางที่ดีที่งาม ค่อย ๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
วันนี้ก็คงจะได้ให้ธรรมะสมควรแก่เวลา คงจะพอเพียงแค่นี้
เมื่อวันที่ : 19 มิ.ย. 2548, 00.15 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...